STEM CELL, IT’S IN YOU TO GIVE

การบริจาคสเต็มเซลล์ การทำความดีทางเลือกใหม่ที่คุณเองก็ทำได้

สวัสดีครับ ผมเปียง ยินดีต้อนรับเข้าสู่เดือนมีนาคมครับ หลังจากที่เราห่างหายจากเรื่องหมอๆ มาซักพัก ผมอยากจะมาแนะนำให้ทุกท่านได้พบกับช่วงใหม่ของผม ‘AS YOUR DOCTOR’S ROLE’ หรือในชื่อไทยที่ว่า ‘ในฐานะหมอ’ อยากจะพาทุกคนไปรู้จักเรื่องต่างๆทางการแพทย์ที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับแฟนเพจทุกๆคน

Stem cell donation หรือก็คือการบริจาคสเต็มเซลล์ เรียกได้ว่าเป็น hot issue ของวงการแพทย์ในตอนนี้ ที่มีการรณรงค์เพื่อหาผู้บริจาคกันทั่วโลก เพราะการบริจาคของคุณครั้งนี้อาจเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาโรคบางโรคให้หายขาดได้ หรือพูดง่ายๆ ว่าเปลี่ยนทั้งชีวิตของคนไข้ได้นั่นเอง

‘Stem cell คืออะไร?’
สเต็มเซลล์ คือ เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดครับ เซลล์ชนิดนี้สามารถกลายร่างเป็นเซลล์เม็ดเลือดชนิดต่างๆได้หลากหลาย ซึ่งเซลล์ตัวนี้นั่นเอง โดยปกติแล้ว เราจะพบเซลล์ชนิดนี้ได้มากในไขกระดูก และพบได้บ้างในกระแสโลหิตของพวกเรา เราปลูกถ่ายเซลล์นี้เพื่อรักษาโรคทางโลหิตบางโรค ที่มีการสร้างเซลล์เกี่ยวกับเม็ดเลือดผิดปกติ

‘ถ้ามันดีขนาดนั้น ก็น่าจะมีคนอยากช่วยเยอะอยู่แล้วหรือเปล่า?’
คำตอบคือ ‘เปล่า’ เลยครับ เพราะการบริจาคสเต็มเซลล์ ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายขนาดนั้น ผู้ป่วยไม่ได้สามารถนำเซลล์ตัวนี้ไปใช้ได้ทุกคน และไม่ได้บริจาคกันได้ง่ายๆ แบบการบริจาคเลือดทั่วไป แต่ต้องมีกระบวนการหลายขั้นตอน และต้อง ‘เจ็บตัว’ เพื่อให้ได้มาซึ่งสเต็มเซลล์ที่เราต้องการครับ ถ้าเจ้าของเซลล์ไม่ได้ตั้งใจจะบริจาคจริงๆ ก็จะไม่สามารถเก็บตัวอย่างได้

วันนี้ผมเข้าไปที่สภากาชาดไทยครับ เพื่อเข้าไปแสดงให้ทุกคนดูกันว่า สเต็มเซลล์ที่ว่ามันสำคัญอย่างไร ในสถานที่จริงเขาทำอะไรที่นั่นบ้าง และ ถ้ามีคนสนใจอยากจะบริจาคกันจริงๆ ต้องรู้อะไร ทำอะไร และเตรียมตัวอย่างไร

ตอนนี้ผมอยู่ที่หน้าสภากาชาดไทยแล้วครับ ตามผมไปดูข้างในกันดีกว่า

เปียง

สนใจเป็นอาสาสมัคร ติดต่อได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และจัดหาผู้บริจาคโลหิต ศูนย์บริจาคโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย
02 263 9600 ต่อ 1770, 1771 และ 1761
www.stemcellthairedcross.com
Fanpage ปฏิบัติการตามหาคู่แท้สเต็มเซลล์


Stem cell ของเราทุกคนมีคุณสมบัติพิเศษครับ ก็คือ การให้กำเนิดตัวเองใหม่ได้ตลอดเวลา เมื่อบริจาคไปแล้ว ร่างกายเราจะสร้างมันขึ้นมาใหม่ได้ไม่มีวันหมดจากร่างกาย สามารถบริจาคได้ และถ้าเกิดสุดท้ายสามารถเข้าคู่กับผู้ป่วยได้ จะมีบทบาทในการรักษาโรคเรื้อรังได้มากมาย เช่น Thalassemia, Leukemia ฯลฯ ถ้าการปลูกถ่ายสำเร็จ และได้ผลดี เท่ากับสามารถเปลี่ยนทั้งชีวิตของผู้ป่วยได้ 1 คน


ด้วยความที่ผมได้เป็นผู้ดูแลผู้ป่วยโรคเลือดเหล่านี้อยู่เรื่อยๆตั้งแต่สมัยที่ผมเป็นนิสิตแพทย์ จนถึงปัจจุบัน ทำให้ผมเข้าใจจริงๆ ว่ากระบวนการพวกนี้สำคัญอย่างไร และมันช่วยผู้ป่วยได้อย่างไร


วันนี้ผมมาเจอกับ 2 ท่านที่จะมาให้ความรู้ และ แชร์ประสบการณ์ดีๆกับพวกเราครับ
คุณอี๊ด อารยา ตัตวธร (ขวา) ตำแหน่ง ผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายห้องปฏิบัติการพิเศษ ผู้ดูแลเกี่ยวกับการหาผู้บริจาค stem cell และ คุณแอม ศศิธร หาญวังม่วง (ซ้าย) ตำแหน่ง นักเทคนิคการแพทย์ประจำที่สภากาชาดไทย และ ยังเป็นผู้ที่เคยบริจาค stem cell ตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนที่คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมระยะเวลานาน 4 ปีมาแล้ว


คุณอี๊ดเล่าหลายๆเรื่องให้ผมฟังครับ เกี่ยวกับความเป็นมาของที่นี่ ผมจะสรุปย่อๆให้ฟัง ศูนย์บริจาคโลหิตสภากาชาดไทย เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวที่ได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดหาผู้บริจาค stem cell ของไทย ผ่านโครงการธนาคารเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตแห่งชาติ (Thai National Stem Cell Donor Registry) ร่วมกับองค์การอนามัยโลก มาตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน


โอกาสที่เลือดของเราจะตรงกับผู้ป่วยมีไม่ได้บ่อยครับ ในกรณีที่เป็นพี่น้องกับผู้ป่วยเอง มีโอกาสจับคู่ได้ 1 ใน 4 แต่กรณีที่เป็นคนบริจาคทั่วไปมีโอกาสเพียง 1 ใน 10000 รายเท่านั้น ดังนั้น ยิ่งมีผู้สนใจบริจาคมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะมี stem cell ในคลัง ที่จะสามารถจับคู่ได้สำเร็จมากเท่านั้น


นับเป็นการทำความดีที่ยิ่งใหญ่ครับ เพราะต้องเสียเวลา และเจ็บตัวจากการบริจาค ดังนั้น เพื่อเป็นเกียรติแก่ความดีในครั้งนี้ ผู้บริจาคจะได้รับเหรียญพระราชทานกาชาดสมนาคุณชั้นที่ 1 เทียบเท่าการบริจาคเลือดปกติถึง 100 ครั้ง จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี


โดย ปัจจุบันมีอาสาสมัครขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 200,000 ราย และมีผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายเป็นผลสำเร็จกว่า 200 ชีวิต พวกเรากำลังหาแนวทางเพื่อเพิ่มผู้บริจาคขึ้นในทุกๆปี


ใครที่บริจาคได้บ้าง?
โดยทั่วไปแล้ว คนที่สามารถบริจาคเลือดได้ ก็จะมีคุณสมบัติที่บริจาค stem cell ได้ด้วย ต้องลงทะเบียนพร้อมบริจาคเลือด แล้วแจ้งจำนงว่าต้องการบริจาค stem cell ครับ จะมีการเก็บตัวอย่างเลือด เพิ่ม 1 หลอด ไม่เกิน 5 cc ไปตรวจชนิดของเนื้อเยื่อเอชแอลเอ (HLA) และขึ้นทะเบียนรอการจับคู่ต่อไป

สุขภาพแข็งแรง
อายุ 18-50 ปี
45 กิโลกรัม ขึ้นไป
ไม่มีโรคประจำตัว
ไม่มีโรคติดต่อร้ายแรง
ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยง

กลุ่มชายรักชาย สามารถบริจาคได้หรือไม่?
โดยทั่วไป กลุ่ม MSM เป็นกลุ่มเสี่ยงเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จากสถิติทั่วโลก แต่อย่างไรก็ดี หากไม่มีปัจจัยเสี่ยงใดๆเลย สามารถให้แพทย์พิจารณาแล้วให้การรับรองได้เป็นรายต่อรายไป ดังนั้น จึงไม่ใช่ข้อห้ามอย่างสมบูรณ์ตามที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกัน หากสามารถบริจาคเลือดได้ stem cell ก็สามารถทำได้เช่นกัน

หลังจากลงทะเบียน ทางสภากาชาดไทยจะนำตัวอย่างเลือดที่ได้มาจัดการวิเคราะห์ทางชีวภาพ เพื่อดู HLA typing เพื่อรอการนำไปเข้าคู่กับผู้ป่วยต่อไป โดยจะรวมเป็นคลังจากคนทั่วโลก ถ้าเกิดสามารถเข้ากับตัวของผู้ป่วยได้ จะมีการติดต่อกลับมาที่ผู้บริจาคอีกครั้งเพื่อถามความสมัครใจว่ายังอยากที่จะบริจาคต่อไปหรือไม่ โดยจะแจ้งถึงกระบวนการทั้งหมดที่จะทำต่อไปอีกครั้ง ไม่มีข้อผูกมัดใดๆ


ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง?
ไม่เสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย และศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางและพักอาศัยขณะมาเก็บ stem cell


วิธีการเก็บ stem cell ทำอย่างไร?
เมื่อผล HLA ตรงกับผู้ป่วย จะมีการตรวจสอบอีกครั้ง และจะมีการติดต่อกลับไป หลังจากที่ได้ตกลงว่าจะทำการบริจาคจริงๆ แล้ว ขั้นตอนต่อไป จะมีการนัดมาที่รพ. โดยแพทย์จะมีการนัดมาตรวจความพร้อมก่อน 1 เดือนก่อนวันบริจาค มีวิธีการเก็บ stem cell 2 วิธี ได้แก่

เก็บจากกระแสเลือด
ฉีดยากระตุ้นเม็ดเลือดขาววันละครั้ง 1 ครั้ง 4 วัน ก่อนเก็บ
เจาะเส้นเลือดดำจากข้อพับแขน หรืออาจเป็นที่อื่นตามความเหมาะสม
ใช้เครื่องคัดแยก stem cell อัตโนมัติ นาน 3-4 ชั่วโมง
นอนพักที่รพ.อย่างน้อย 1 วัน พักฟื้น 3-5 วัน ที่รพ.หรือบ้าน

เก็บจากไขกระดูก
จะมีการเก็บเลือดตัวเองสำรองก่อนบริจาค 1-2 ยูนิต ล่วงหน้า 14 วันก่อนเจาะเก็บ stem cell
ดมยาสลบโดยวิสัญญีแพทย์ ในห้องผ่าตัด
เจาะเก็บ stem cell จากไขกระดูก บริเวณสะโพก
นอนพักที่รพ.อย่างน้อย 1 วัน พักฟื้น 5-7 วัน ที่รพ.หรือบ้านต่อ


จากประสบการณ์ตรง
คุณแอมเล่าให้ผมฟัง

เจ็บมั้ย?
ตอนนั้นของแอมใช้เส้นเลือดบริเวณคอในการเก็บตัวอย่าง ถามว่าเจ็บไหม เจ็บแหละ หมอต้องรู้อยู่แล้วใช่มั้ย (ขำ) แต่ก็พอไหวอยู่ค่ะ

กลัวมั้ย?
กลัวมากค่ะ ตอนที่บริจาคนอนร้องไห้ทุกคืนเลย ทำไมตัวเองต้องมาทำอะไรแบบนี้ให้ใครก็ไม่รู้ ไม่มีใครสนับสนุนให้เราทำเลย รวมถึงครอบครัวด้วย

หลังทำใหม่ๆรู้สึกอย่างไร?
ไม่แน่ใจว่าควรรู้สึกอะไร รู้แค่เจ็บ แล้วไม่รู้ด้วยว่าจริงๆแล้ว stem cell ของเรามันจะใช้กับใคร และผู้ป่วยก็จะไม่ทราบเช่นกันว่า stem cell นั้นมาจากที่ไหน


คุ้มไหม?
มันจะมีวันหนึ่งที่สภากาชาดจัดงาน World Marrow Donor Day เชิญผู้บริจาคทุกคน และผู้ป่วยที่ได้รับการรักษามารวมงานพบปะกัน โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าเจ้าของ stem cell เป็นใคร มีผู้ป่วยมาร่วมงานเยอะมาก
ผู้ป่วยมาพูดกับแอมว่า
‘ขอบคุณที่ให้ชีวิตใหม่ผมนะ’
มันเป็นความรู้สึกอิ่มแบบบอกไม่ถูก ภูมิใจและดีใจ เรารู้ว่าเราคิดไม่ผิด

จะบริจาคอีกไหม?
รู้สึกว่าถ้า match ตรงอีก ก็ยินดีที่จะบริจาคอีก เพราะมันช่วยคนได้จริงๆค่ะ ทั้งๆที่เราไม่ได้บริจาคให้ผู้ป่วยคนนั้นด้วยซ้ำ

ชุดคำถามสั้นๆ แต่ทำให้ผมเข้าใจได้ทันทีว่า ความเสียสละครั้งนี้ของแอมไม่ได้สูญเปล่าเลย ผมรู้สึกประทับใจ และตื้นตันไปกับแอมและทีมงานทุกคนครับ


วันนี้ต้องขอบคุณทีมงานจากสภากาชาดที่มาให้ความรู้ แชร์ประสบการณ์ต่างๆ ขอบคุณทุกๆคนที่เป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนในเรื่องสุขภาพอยู่เบื้องหลังเพื่อผู้ป่วยทุกๆคน ผม ‘ในฐานะหมอ’ วันนี้มาเป็นกระบอกเสียงให้ทุกคนเพื่อกระจายความรู้ความเข้าใจให้คนนอกได้รู้จักการบริจาคประเภทนี้มากขึ้น แค่เราช่วยกันคนละนิด เราจะสามารถช่วยคนได้อีกมากเลยล่ะครับ

วันนี้ผมขอตัวลาไปก่อน พบกับช่วง ‘AS YOUR DOCTOR’S ROLE; ในฐานะหมอ’ ได้ทุกๆเดือนที่นี่ครับ PYONG Traveller X Doctor ผมฝากทุกคนช่วยกันแชร์ข้อความนี้ออกไปด้วยนะครับ เผื่อมีคนที่สนใจอยากจะบริจาค stem cell กับเรา

เจอกันครับ

รัก, เปียง

ปล.
สนใจเป็นอาสาสมัคร ติดต่อได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และจัดหาผู้บริจาคโลหิต ศูนย์บริจาคโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย
02 263 9600 ต่อ 1770 1771 1761
www.stemcellthairedcross.com
Fanpage ปฏิบัติการตามหาคู่แท้สเต็มเซลล์