WALKING THROUGH THE HISTORY OF LANNA
เดินทางข้ามกาลเวลาบนเส้นทางประวัติศาสตร์ล้านนา
สวัสดีครับ ผมเปียง เชียงใหม่ยังคงเป็นจังหวัดที่ผมรักอยู่เสมอครับ ล่าสุดได้มีโอกาสกลับไปอีกครั้ง นับเป็นครั้งที่เท่าไหร่แล้วไม่ทราบกับจังหวัดแห่งนี้ แม้ไม่ใช่ผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับตัวจังหวัดมากนักก็ตาม แต่ผมมีความสนใจที่จะเข้าไปเพื่อทำความรู้จักกับอะไรต่าง ๆ ของที่นี่ให้มากขึ้น อย่างที่หลายท่านอาจจะทราบกันมาอย่างแล้วว่าจังหวัดเชียงใหม่ เป็นจังหวัดใหญ่ที่มีความสำคัญทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ทั้งของภาคเหนือและของประเทศไทย อีกทั้งยังมีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติ เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ และจังหวัดเชียงใหม่ ก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ทั้งพุทธศาสนิกชนหรือแม้แต่นักท่องเที่ยวต่างให้ความสำคัญ
“เมื่อได้มาเชียงใหม่ ก็ต้องเข้าวัด ไหว้พระ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองให้จงได้”
แทบทุกซอกมุมของเมือง จะมีวัดแทรกตัวอยู่กับชุมชนอยู่ตลอดเส้นทาง วัฒนธรรมล้านนาผสมผสานที่ฝังอยู่ในรากเหง้าเมือง ผสมผสานกับวัฒนธรรมไทย และ พม่า กลายเป็นสไตล์ที่เฉพาะและมีเสน่ห์มาก จากข้อมูลของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ณ ปี พ.ศ.2562 จังหวัดเชียงใหม่มีวัดรวมทั้งสิ้น 1,405 วัด โดยมีพระอารามหลวงถึง 10 วัด และมีวัดร้างที่ยังคงอยู่เป็นโบราณสถานจำนวนมาก วันนี้ผมจะขอหยิบยกเอาเรื่องราวของวัดที่น่าสนใจ 4 วัด ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายวัดที่ชาวเชียงใหม่ให้ความเคารพเลื่อมใสมาช้านาน ได้แก่ วัดสวนดอก วัดต้นเกว๋น วัดอุโมงค์ และ วัดเจดีย์หลวง มาเล่าให้ทุกคนฟังครับ
ครั้งนี้ไม่เดินทางเปล่า ๆ เพราะผมตั้งใจสวมใส่เสื้อผ้าจากแบรนด์ดีไซน์ไทยอย่าง LONGGOY แบรนด์เสื้อผ้าที่ได้รับ inspiration มาจากศิลปะการแต่งกายของคนเมืองและผสานด้วยลวดลายที่เป็นอัตลักษณ์ของล้านนา ตีความใหม่ให้ทันสมัยและมีความเป็นแฟชั่นมากขึ้น
ลองไปชมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของแต่ละวัดชื่อดัง พร้อมกับแฟชั่นเซตเล็ก ๆ ของผมไปด้วยกันครับ
เปียง
#LANNA #CHIANGMAI #LONGGOY
#MATCHSTYLEWITHYOURDOCTOR #PYONGSEEWHATISEE #PYONGsPicks
#PYONGDOCTOR
TRAVELLER X DOCTOR X LONGGOY
MODEL : Kantaphong Thongrong
DESIGNER : Supakorn Sunkanaporn
PHOTOGRAPHER : Pongnarin Prommin
STYLIST : คุณากร ธีรฐิติธรรม
WALKING THROUGH THE HISTORY OF LANNA
เดินทางข้ามกาลเวลาบนเส้นทางประวัติศาสตร์ล้านนา
วัดต้นเกว๋น หนึ่งในสถานที่ที่เราจะไปเยือนในวันนี้ครับ
ผมกับเสื้อผ้าจากแบรนด์ดีไซน์ไทย LONGGOY แบรนด์เสื้อผ้าที่ได้รับ inspiration มาจากศิลปะการแต่งกายของคนเมืองและผสานด้วยลวดลายที่เป็นอัตลักษณ์ของล้านนา
องค์พระเจดีย์ทรงลังกาสีทองอร่าม ณ วัดสวนดอก หรือ วัดบุปผาราม
LOCATION 1
วัดสวนดอก
เริ่มต้นที่วัดสวนดอกครับ วัดที่โดดเด่นด้วยองค์พระเจดีย์ทรงลังกาสีทองอร่าม และกู่เจ้านายฝ่ายเหนือ หรือ สุสานราชตระกูล ณ เชียงใหม่ สีขาวสะอาด ที่เรียงรายอยู่ด้านข้างองค์พระเจดีย์ วัดสวนดอกเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่บนถนนสุเทพ กลางเมืองเชียงใหม่ มีประวัติศาตร์มากมายครับ ผมจะเล่าให้ฟังอย่างละเอียดครับจากสิ่งที่ผมและทีมได้รวบรวมมา
วัดสวนดอกถูกสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากือนา ราชวงศ์มังราย พ.ศ.1914 โดยทรงมีพระราชประสงค์จะฟื้นฟูคณะสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสีหรือสายวัดป่าขึ้นมา ในขณะนั้นทรงพบป่าพะยอมที่ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ จึงโปรดให้สร้างวัดที่มีชื่อเรียกว่า อารามสวนดอกไม้ ถือเป็นวัดแรกในการสถาปนานิกายรามัญวงศ์ หรือลังกาวงศ์ในเชียงใหม่ อีกทั้งยังเป็นเขตพระราชอุทยานในขณะนั้นด้วย และได้นิมนต์พระมหาเถระสุมน มาจำพรรษา มีการสร้างองค์พระเจดีย์ทรงลังกาแทนที่เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบสุโขทัยที่ปรักหักพังลง เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ 1 ใน 2 องค์ ที่พระมหาเถระสุมนอัญเชิญมาจากสุโขทัย โดยพระบรมสารีริกธาตุอีกองค์หนึ่ง ถูกอัญเชิญไปประดิษฐานยังเจดีย์วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร
ในยุคปัจจุบัน วัดสวนดอกมีการบูรณะที่สำคัญถึง 2 ครั้ง ครั้งแรก โดยพระดำริของ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และอีกครั้งในการปฏิสังขรณ์องค์พระวิหารโดย ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาที่ชาวเมืองต่างเคารพบูชา
สถานที่ที่อยู่ในเขตวัดสวนดอกและมีความงดงามไม่แพ้กันก็คือ กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ หรือ สุสานราชตระกูล ณ เชียงใหม่ หรือ สุสานราชตระกูล ณ เชียงใหม่ เป็นสุสานหลวงที่เจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้อัญเชิญรวบรวมพระบรมอัฐิ และพระอัฐิของเจ้าหลวงและพระบรมวงศานุวงศ์ของราชวงศ์ทิพย์จักร ที่ครองนคร เชียงใหม่มาประดิษฐานรวมกัน
LOCATION 2 วัดต้นเกว๋น
วัดอินทราวาส หรือวัดต้นเกว๋น ตั้งอยู่ในอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นโลเคชั่นถ่ายละครและภาพยนตร์มากมายหลายเรื่อง เช่น กลิ่นกาสะลอง นับเป็นวัดที่เป็นต้นแบบของศิลปะแบบล้านนาโบราณที่ยังคงเหลืออยู่แบบสมบูรณ์ ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การมาเยือนอย่างยิ่งครับ
ตั้งชื่อตามชื่อต้นไม้ที่ยืนต้นอยู่บนบริเวณที่ใช้สร้างวิหารในปัจจุบัน ทางเหนือเรียก “ต้นบ่าเกว๋น หรือ มะเกว๋น” หรือภาคกลางรู้จักกันในชื่อ ต้นตะขบ นั่นเอง ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อวัดตามท่านเจ้าอาวาสที่เชื่อว่าเป็นผู้สร้างวัดนี้ คือ ท่านครูบาอินทร์ เจ้าอาวาสรูปที่ 2 ที่เป็นทั้งผู้สร้างวัดและเป็นช่างฝีมือออกแบบและสร้างวิหารจนเสร็จสมบูรณ์งดงามมาก อย่างที่เห็นในปัจจุบัน
สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2399 สมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในขณะนั้น เนื่องด้วยตามโบราณราชประเพณีของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ทุก ๆ พระองค์ จะต้องมีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ จากวัดพระธาตุศรีจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ มาแวะจอดพักขบวนที่วัดต้นเกว๋นแห่งนี้ โดยได้มีการสร้างศาลามณฑปจตุรมุขเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และให้พุทธศาสนิกชนได้เข้าสักการะและสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ
วัดต้นเกว๋นแห่งนี้จึงเป็นวัดที่ทรงคุณค่าด้านประวัติศาสตร์อีกด้วย
สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของวัดแห่งนี้คือ วิหารวัดต้นเกว๋นมีความเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะล้านนามาก ภายนอกด้านหน้าเป็นหลังคามุงกระเบื้องดินขอสามชั้นลาดต่ำ ส่วนด้านหลังเป็นหลังคามุงกระเบื้องดินขอแบบซ้อนสองชั้น เป็นวิหารทรงพื้นเมืองล้านนา มีบันไดนาคปูนปั้นทอดตัวสู่วิหาร
งดงามมากจริง ๆ ครับ วัดแห่งนี้
รายละเอียดครับ
LOCATION 3
วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) เป็นวัดเก่าแก่และสำคัญอีกแห่งหนึ่งของเชียงใหม่ ตั้งอยู่เชิงดอยสุเทพ มีความร่มรื่นและกว้างขวาง มีลักษณะแปลกตาด้วยการสร้างอุโมงค์ไว้ทางทิศเหนือของเจดีย์
ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของวัดนี้
โดยภายในอุโมงค์มีทางเดินแบ่งเป็น 4 ช่อง ซึ่งเชื่อมหากันได้ ผนังด้านในถูกออกแบบให้มีช่องสำหรับจุดประทีปให้เกิดความสว่าง สะดวกแก่พระเถระในการเดินจงกรมและภาวนาอยู่ภายใน
ในพื้นที่วัดอุโมงค์กว่า 150 ไร่นั้น มีหอธรรมโคตร ลานธรรม เสาอโศกจำลอง พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง และเกาะกลางน้ำ แวดล้อมไปด้วยความร่มรื่น มีสถานที่ปฏิบัติธรรม ที่ใช้ชื่อว่า สวนพุทธธรรม ที่ภายหลังใช้มาต่อท้ายชื่อวัดอุโมงค์ โดยความประสงค์ของหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุจึงเป็นชื่อ “วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม)”
ในปัจจุบัน ที่นี่ตั้งมั่นให้เป็นศาสนสถานแห่งการเจริญวิปัสสนากรรมฐานของพระสงฆ์ และการเผยแผ่ศาสนายังสาธุชนอย่างเคร่งครัดผ่านกาลเวลามาอย่างช้านาน โดยภายในวัดยังมีสำนักปฏิบัติธรรมนานาชาติอบรมสอนวิปัสสนาให้แก่ชาวไทยและชาวต่างชาติอีกด้วย
อุโมงค์ทำให้ตัววัดดูน่าสนใจมากในแง่ของสถาปัตยกรรม เป็นอีกหนึ่งที่ที่นับเป็นสถานที่ในดวงใจของช่างกล้องที่จะต้องแวะเวียนมาเก็บภาพกันอยู่เรื่อย ๆ วัดนี้ก็ปรากฏในหลาย ๆ สื่อเช่นกัน อย่างฉากในหนังเรื่องอุโมงค์ผาเมือง และ MV เพลงสวัสดีเจ้า ของ ลานนา คัมมินส์ https://youtu.be/r9NY9z3VNnc
วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร
มาถึงวัดสุดท้ายครับ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงธรรมยุติกนิกายชั้นตรี ชนิดวรวิหาร สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าแสนเมือง กษัตริย์พระองค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์มังรายที่ปกครองอาณาจักรล้านนามาตั้งแต่ พ.ศ.1835 เป็นระยะเวลากว่า 260 ปีจนถึงยุคเสื่อม โดยมีเจดีย์หลวง หรือพระธาตุเจดีย์หลวง ที่ถือว่าเป็นไฮไลต์ของวัดนี้ เป็นพระธาตุที่มีความสูงที่สุดและใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ
มีความสูงประมาณ 80 เมตร ฐานแบบสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างด้านละ 60 เมตร มีบันไดนาคเลื้อยทั้งสี่ด้าน เจดีย์หลวง มีความสำคัญต่อคติความเชื่อเรื่องจักรวาลวิทยา ผสมความเชื่อของพราหมณ์ ในระยะที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก ได้ใช้พระธาตุเจดีย์หลวงเป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางจักรวาล จะสังเกตได้ว่ามีการสร้างเจดีย์หลวงให้สูง ใหญ่โต อยู่ในใจกลางเมือง เช่นเดียวกับเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นศูนย์กลางจักรวาล
ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเชียงใหม่ ลำดับปีในการสร้างตัววัด ไม่ปรากฏหลักฐานบันทึกแน่ชัดว่าเริ่มสร้างใน พ.ศ.ใด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ในช่วงปี พ.ศ.1928 ถึง พ.ศ.1945 โดยพระเจ้าแสนเมืองทรงสร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระเจ้ากือนา ผู้ทรงเป็นพระราชบิดา หากแต่พระองค์ทรงสวรรคตเสียก่อน พระนางเจ้าติโลกจุฑาราชเทวี พระมเหสี ได้ทรงสืบทอดเจตนารมณ์สร้างต่อจนเสร็จ รวมเวลาในการก่อสร้างทั้งสิ้น 5 ปี
เมื่อ พ.ศ. 2088 เกิดเหตุพายุฝนตกอย่างหนักและเกิดแผ่นดินไหว ยอดพระเจดีย์ได้พังลงมากว่าครึ่งอค์ จากนั้นจึงถูกปล่อยทิ้งร้างไปนานกว่า 400 ปี จวบจนได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์จากกรมศิลปากรจนแล้วเสร็จให้เห็นอย่างปัจจุบันเมื่อปี พ.ศ.2535
แม้จะผุพังไปบ้างตามกาลเวลา แต่ความยิ่งใหญ่ของสถาปัตยกรรมชิ้นนี้ ยังคงสืบทอดมาผ่านรุ่นสู่รุ่น อยู่คู่กับคนเมืองเรื่อยมา เรียกว่ามีความสำคัญต่อชาวเชียงใหม่มากครับ นอกจากจะเป็นพระอารามหลวงเก่าแก่ของเชียงใหม่แล้ว ยังเป็นที่ตั้งของศาลหลักเมืองเชียงใหม่ หรือ หออินทขิล สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1839 ในรัชสมัยพ่อขุนเม็งรายมหาราช เจ้าเมืองเชียงใหม่ เมื่อแรกครั้งทรงก่อร่างสร้างเมืองเชียงใหม่ ซึ่งในวันแรม 12 ค่ำ เดือน8 เดือนพฤษภาคมของทุกปีจะมี “งานเข้าอินทขิล” เป็นงานมงคลที่จัดเพื่อเฉลิมฉลองหลักเมือง ซึ่งแสดงถึงพลังความเลื่อมใสศรัทธาของชาวเชียงใหม่อย่างมาก
เสน่ห์ของเชียงใหม่ คือวิถีคนเมือง และความคลาสสิกของสถานที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะในย่านคูเมืองที่แสดงในเห็นถึงความรุ่งเรืองในอดีตผ่านบ้านเรือนที่เรียงรายกันในย่านเมืองเก่า ส่งต่อมาถึงปัจจุบันที่ก็ยังคงรุ่งเรืองอยู่ แต่อาจจะเปลี่ยนเป็นบทบาทอื่นเท่านั้นเอง ลองไปชมภาพอีกเล็กน้อยของเมืองเชียงใหม่ก่อนจบอัลบั้มนี้ครับ
ถนนช้างม่อยเก่ากับร้านเครื่องจักรสานที่น่ารักมาก ๆ ครับ
เป็นอาคารพาณิชย์เก่าสไตล์วินเทจที่ดูดีมาก ๆ ครับ
ลากันไปกับภาพสุดท้ายครับกับอัลบั้มสั้น ๆ และเรื่องราวทางประวัติศาตร์ล้านนาของวัดดังที่ผมได้เยือนมา 4 แห่งด้วยกัน แน่นอนครับว่านี่เป็นเพียงแค่จำนวนน้อยนิดมากๆของวัดที่มีในเชียงใหม่ เพราะจริง ๆ แทบทุกซอกมุมของเมือง จะมีวัดแทรกตัวอยู่กับชุมชนอยู่ พร้อมด้วยเรื่องราวอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์อยู่เสมอ
การศึกษาเรื่องราวของสถานที่ต่างๆที่เราไปเยือนเป็นอะไรสนุกมากนะครับ ใครไม่เคยลองอยากให้ลองทำดู คุณจะรู้ว่าสถานที่ที่เราไปไม่ใช่แค่สวยเท่านั้น แต่ยังมีอะไรที่เราต้องเข้าไปค้นหาอีกมาก
แล้วพบกันครั้งหน้านะครับ
รัก, เปียง
LOCATION
วัดสวนดอก
วัดต้นเกว๋น
วัดอุโมงค์
วัดเจดีย์หลวง
#LANNA #CHIANGMAI #LONGGOY
#MATCHSTYLEWITHYOURDOCTOR
#PYONGDOCTOR