การบริหารการเงินส่วนตัวแบบย่อยง่าย ในช่วงวิกฤต COVID19
สวัสดีครับ ผมเปียง ไม่นานมานี้ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับ อ.โอปอล์ ผศ.ดร.โอปอล์ สุวรรณเมฆ อาจารย์ประจำคณะการบริหารและจัดการ สจล. เกี่ยวกับเรื่องบริหารการเงินในช่วงเศรษฐกิจถดถอยเนื่องจากการระบาดของ COVID19 ได้รับความรู้อะไรมาหลายอย่างจนคิดว่า หากมาเล่าต่อ น่าจะเป็นประโยชน์กับใครหลาย ๆ คน ขอออกตัวว่าผมเองไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในด้านการเงินนะครับ แต่ผมได้สรุปในแบบที่ผมเข้าใจมาให้ลองอ่านกันดูเป็นข้อ ๆ ครับ
1. COVID19 ที่ระบาดไปทั่วโลกขณะนี้ มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วทั้งโลก เศรษฐกิจไทยผูกกับเศรษฐกิจโลก ทำให้ไม่แปลกใจที่เศรษฐกิจไทยจะแย่ลงไปด้วย อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยมาสักระยะหนึ่งแล้ว และยังโดนซ้ำโดยการระบาดของ COVID19 อีก ทำให้จากเดิมอาจจะแค่ชะลอ แต่ปัจจุบันด้วยหลักฐานที่ค่อนข้างชัดเจนจากหลาย ๆ องค์กร รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย มีความเป็นไปได้สูงมากที่พวกเราจะต้องอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยนี้นานอีกระยะหนึ่ง แม้จะจบเรื่องการระบาดของโรคไปแล้วก็ตาม
2. ผลพวงดังกล่าวส่งผลโดยตรงต่อเหล่ามนุษย์เงินเดือนครับ หลายบริษัทมีการปลดพนักงาน หลายบริษัทขอความร่วมมือให้มีการพักงานโดยไม่จ่ายเงินเดือน สำหรับนักศึกษาจบใหม่ โอกาสในการหางานหรือหารายได้ลดลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นปัญหาที่เครียด ๆ กันของหลายคนขณะนี้
3.ปัญหาคือ ถ้าเราเป็นลูกจ้างทั่วไปคนหนึ่งในสถานการณ์แบบนี้ เราจะอยู่รอดได้อย่างไรกับพิษเศรษฐกิจที่มาแบบไม่ทันได้ตั้งตัว เริ่มจากต้องเข้าใจหลักสำหรับการวางแผนการเงินส่วนตัวแบบคร่าว ๆ ก่อนครับ พวกเราจะแบ่งเงินง่าย ๆ เป็น 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ (1) เงินที่ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน (ค่าอาหาร ค่าโทรศัพท์) (2) เงินฉุกเฉินที่เก็บเอาไว้ในยามคับขัน (ค่ารักษาพยาบาล) และ (3) เงินที่เอามาใช้สร้างความมั่งคั่ง (หุ้น ที่ดิน ทองคำ) มองให้ให้ออกว่า เงินที่มีอยู่ของเรามีส่วนไหนบ้างและมีอยู่เท่าไหร่
4. วิธีการปรับตัวให้อยู่รอดในวันที่รายได้ที่เคยมีได้หายไป ให้คิดง่าย ๆ เป็น 2 ขา ได้แก่ การลดค่าใช้จ่าย และ การเพิ่มรายได้ สำหรับการลดค่าใช้จ่าย ให้วิเคราะห์พื้นฐานของการใช้จ่ายตัวเองในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาก่อนเกิดปัญหาการเงิน ค่าใช้จ่ายแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายคงที่ที่ต้องจ่ายทุกเดือน เช่น การผ่อนบ้าน/รถ ซึ่งปรับได้ยาก ต้องกันเงินให้ส่วนนี้ก่อน จากนั้นวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ให้ดูว่าใช้จ่ายกับอะไรในแต่ละโหมดหมู่ อาจแบ่งเป็น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าอุปโภค ค่าบริการ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ก็ได้ จากนั้นตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกให้มากที่สุด แล้วขยี้สิ่งที่ยังเหลือต่อว่ายังมีอะไรที่ฟุ่มเฟือยอยู่บ้าง และยังสามารถปรับเปลี่ยนให้ถูกลงอีกได้ไหม ยกตัวอย่างเช่น เปลี่ยนการรับประทานอาหารที่สั่งจากร้านเป็นทำอาหารเอง เปลี่ยนแพคเกจบริการต่าง ๆ ให้ถูกลง ประหยัดน้ำไฟเท่าที่ทำได้ โดยอย่างไรก็ตาม ยังมีข้อดี ในช่วงนี้จากการ work from home สามารถลดค่าใช้จ่ายหลายส่วน เช่น ค่าเดินทาง และ การใช้จ่ายจากการเข้าสังคม ซึ่งต้องยอมรับว่า เราเสียส่วนเงินกับส่วนนี้มากเหมือนกันในแต่ละเดือน
5. การเพิ่มรายได้ มีหลายวิธีครับ ก่อนสิ่งอื่นใด ให้พยายามมองหาการช่วยเหลือที่ตัวเองพึงจะได้ให้มากที่สุดตามที่รัฐบาล องค์กรของคุณ และหน่วยงานอื่น ๆ ได้ให้การช่วยเหลือไว้อยู่แล้ว ซึ่งจริง ๆ แล้วก็มีอยู่เยอะพอสมควรนะ แต่คุณต้องหามันให้เจอว่าตัวเองแมชกับการช่วยเหลือใด ต้องติดตามข่าวสาร และเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ให้ได้ ต่อมา คือการมองหาโอกาสในการเพิ่มรายได้ จากที่สิ่งตัวเองมี หรือปรับตัวเองโดยใช้ต้นทุนไม่มากก่อน ทำยังไงก็ได้ให้ตัวเองเข้าไปอยู่ในโซ่ธุรกิจที่กำลังคึกคักอยู่ในขณะนี้ อันได้แก่ อาหาร/เครื่องดื่ม เครื่องใช้ที่จำเป็น การขนส่ง โซเชียลมีเดีย เวชภัณฑ์ ฯลฯ ทั้งหมดนี้เพื่อเกาะกระแสในการหารายได้ ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น ถ้าเรามีมอเตอร์ไซค์ 1 คัน เป็นไปได้ไหมว่าจะเข้าไปสมัครงานในธุรกิจรับส่งอาหาร ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นกับจริตและความถนัดของแต่ละคน ต้องหาให้เจอ
6. การลงทุนเพิ่มความมั่งคั่งในช่วงนี้ สามารถทำได้ แต่ต้องมีความรู้ และ สามารถจัดการกับ 2 ส่วนแรกได้ดีแล้ว (เงินที่ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และ เงินฉุกเฉินที่เก็บเอาไว้ในยามคับขัน) มีทางเลือกมากมายให้เลือก เช่น หุ้น ตราสารหนี้ พันธบัตร ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ หรือ แม้แต่การลงทุนธุรกิจใหม่ แต่ละอันมีข้อดีข้อเสียที่ต้องเข้าใจธรรมชาติของมันอย่างถ่องแท้ ให้คำนึงถึงประโยชน์ในการกระจายความเสี่ยงการลงทุนในหลาย ๆ อย่าง และหากถึงยามคับขันจริง ๆ สิ่งเหล่านี้จะต้องสามารถเปลี่ยนตัวมันเป็นเงินสดได้ง่ายพอที่ตัวเองจะไม่ลำบาก
7. นักศึกษาจบใหม่และคนกำลังหางาน ต้องยอมรับว่าอยู่ยากขึ้นแน่นอน เพราะองค์กรใช้เงินในการจ้างยากขึ้น และคาดหวังผลล้พธ์ที่คุ้มค่าแต่องค์กรมากที่สุดเสมอ การแข่งขันจะสูงขึ้นแน่นอน เพราะจำนวนที่นั่งลดลง ต้องเลิกชิล ทำตัวเองให้ดีขึ้น และต้องดีพอจะเป็นคนที่เขาเลือก หากมีทักษะอยู่แล้ว จงให้ทำให้มันคมมากขึ้น และดีจนโดดเด่น หากยังไม่มี ต้องเริ่มฝึกใหม่ให้ดี เช่น ภาษาที่ 2 ที่ 3 ทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ การใช้ social media ทักษะการพูด ฯลฯ ปัจจุบันมีคอสเรียนออนไลน์เยอะมาก โดยใช้ต้นทุนไม่มาก หลายคอสไม่มีต้นทุนด้วย หากไม่สามารถทำอะไรได้ อันนี้เป็นทางเลือกที่ดีนะครับ
8. สุดท้ายแล้ว สติเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด กลับมาอยู่กับตัวเอง และพึ่งตัวเองให้ได้ คิดวางแผนการเงินให้ดี ถ้ายังไม่ทำ ต้องเริ่มแล้วนะครับ แล้วอะไร ๆ จะดีขึ้นและเราจะผ่านทุกอย่างไปด้วยกันครับผม
รัก, เปียง