HUATAKHE’S LIFE
บ่ายวันหยุด ณ ชุมชนเก่าหัวตะเข้
สวัสดีครับ ผมเปียง ในครั้งนี้ผมอยากพาทุกท่านไปเดินถ่ายรูปเล่นกับผมในช่วงบ่ายวันหยุดเสาร์อาทิตย์ครับ กับ #BANGKOKEXPLORE ช่วงที่เราจะพาสำรวจย่านต่าง ๆ ของกรุงเทพฯแบบลึก ๆ กัน สถานที่ในวันนี้อาจจะไม่ได้เป็นที่ที่หรูหรา หรือดูน่ามองไปทุกมุมแบบคอนเทนต์ก่อน ๆ แต่จะเป็นสถานที่ที่มีบรรยากาศเรียบง่ายและเก่าแก่ของชุมชนริมน้ำ บางทีอาจจะดูรกรุงรังไปบ้าง แต่ล้วนอัดแน่นไปด้วยเรื่องราวผ่านยุคสมัยที่เอามาเล่าให้ฟังได้ในทุก ๆ มุมที่เดินผ่าน ผมเชื่อจริง ๆ ครับ ว่าหลายคนจะต้องหลงรักอัลบั้มนี้ ครั้งนี้เราลองไปเดินชม “ชุมชนหัวตะเข้” กัน
สายน้ำคือต้นกำเนิดสรรพสิ่งและเรื่องราวของชีวิตมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การคมนาคม การค้าขาย ประเพณี วัฒนธรรม และแหล่งท่องเที่ยว ก่อกำเนิดวิถีชุมชนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะแตกต่างกันไปผ่านยุคผ่านสมัย สิ่งเหล่านี้เอง ทำให้ชีวิตคนไทยเราผูกพันกับสายน้ำมาอย่างยาวนาน เรียกได้ว่าแทบจะหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของทั้งชีวิตก็ว่าได้ เช่นเดียวกันครับกับ “ชุมชนหัวตะเข้” ชุมชนบ้านเช่าเล็ก ๆ ริมคลองประเวศบุรีรมย์ เขตลาดกระบัง ฝั่งตะวันออกสุดของกรุงเทพฯ ที่ยังคงมีลมหายใจอยู่อย่างต่อเนื่องจนปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะซบเซาไปบ้างเนื่องจากเงื่อนไขของกาลเวลาที่เปลี่ยนผ่านไป แต่ทั้งชุมชนและบุคคลภายนอกต่างก็ยังแวะเวียนเข้ามาต่อลมหายใจให้ชุมชนแห่งนี้อยู่อย่างไม่ขาดสาย
โดยภาพรวมแล้ว “ย่านลาดกระบัง” ที่ “ชุมชนหัวตะเข้” ตั้งอยู่นี้ มีความเป็นย่านอุตสาหกรรมมากกว่าย่านที่อยู่อาศัย แวดล้อมด้วยสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ และโครงการบ้านจัดสรรแนวราบที่กำลังก่อตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ภาพของชุมชนเล็ก ๆ แห่งนี้มีความแตกต่างโดดเด่นออกมาจากพื้นที่รอบ ๆ ตลาดหัวตะเข้ นับว่าเป็นตลาดริมน้ำที่ใกล้เมืองที่สุดที่หนึ่ง เรียกได้ว่า เพียงอึดใจเดียวจากกลางเมืองเพียงแค่ 30 นาที ก็เปลี่ยนภาพเมืองเป็นชุมชนริมน้ำเก๋ ๆ ได้สัมผัสความคลาสสิค ย้อนวันวานไปกับสถานที่ที่เปรียบได้ดั่ง “พิพิธภัณฑ์เมืองเก่าของลาดกระบัง” ที่นี่เราจะพบทั้งส่วนที่เป็นที่อยู่อาศัยสลับกับ ร้านค้า ร้านขายขนมโบราณ ของเล่นโบราณ แกลเลอรี่แสดงงานศิลปะ โรงเรียนสอนศิลปะ ร้านกาแฟ คาเฟ่สมัยใหม่ ร้านอาหารทั้งแบบที่ชาวบ้านเปิดขายเอง และร้านอาหารแบบสมัยใหม่ที่บุคคลภายนอกเช่าเพื่อทำธุรกิจ ตลอดจน โฮสเทลริมน้ำเล็ก ๆ ซึ่งน่าสนใจมาก ๆ และแน่นอน ถ่ายภาพสวย ๆ มากครับ
วิถีชีวิต สายน้ำ และความเชื่อ แทรกอยู่ตามมิติต่าง ๆ ของชุมชนหัวตะเข้อย่างกลมกลืน คุณพร้อมหรือยังครับ? เราลองมาเดินตามทางไม้ริมคลอง แล้วชื่นชมสิ่งสวยงามเหล่านี้ผ่านเรื่องราวต่าง ๆไปด้วยกัน
เปียง
#BANGKOKEXPLORE #PYONGDOCTOR #PYONGSEEWHATISEE
HUATAKHE’S LIFE
บ่ายวันหยุด ณ ชุมชนเก่าหัวตะเข้
ในครั้งนี้ผมอยู่ที่ ชุมชนริมน้ำหัวตะเข้ แสงแดดยามเย็นตกกระทบน้ำสะท้อนเป็นประกายระยิบระยับงดงามมาก ๆ ในช่วงเวลานี้ครับ เวลาช่วงบ่ายแก่ ๆ กับพระอาทิตย์ที่กำลังจะตกในไม่ช้า
ชุมชนกับการเปลี่ยนถ่ายในระหว่างกลางของยุคสมัยเก่าและใหม่
บ้านเรือนริมน้ำ ดูมีเสน่ห์แบบที่ลอกเลียนแบบได้ยาก เมื่อสิ่งเหล่านั้นมาพร้อมกับเรื่องราวและกาลเวลา ตามไปชมเรื่องราวเต็ม ๆ ของชุมชนหัวตะเข้แห่งนี้ด้วยกันครับ
เริ่มต้นทริปจากบริเวณสถานีรถไฟรหัส 3015 นี้ มีชื่อว่า “สถานีหัวตะเข้” (HTK) ถ้าลองกดดูภาพถ่ายทางอากาศจะเห็นว่าอยู่ห่างจากสถานีก่อนหน้า สถานีรถไฟพระจอมเกล้า ซึ่งอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพียงแค่ 580 เมตรเท่านั้น ถือเป็นสถานที่ที่บอกเราครับ ถึงแล้ว หัวตะเข้
สถานีหัวตะเข้ เป็นสถานีชานเมืองที่ให้บริการเดินรถไฟโดยสารประเภทชั้น 2 มีทั้งแบบขบวนรถโดยสารและขบวนรถขนสินค้า มุ่งหน้าจากสถานีต้นทางคือ สถานีกรุงเทพ ผ่านไปยังเส้นทางตะวันออก อาทิ หัวหมาก ลาดกระบัง ฉะเชิงเทรา กบินทร์บุรี ชลบุรี ศรีราชา พัทยา บ้านพลูตาหลวง พรมแดนบ้านคลองลึก ท่าเรือแหลมฉบัง และในวันธรรมดายังมีรถไฟโดยสารเส้นทางรังสิต-หัวตะเข้ วิ่งให้บริการอีกด้วย
บริเวณชานชาลาแห่งนี้มีความคลาสสิคเหมือนหลุดออกมาจากในหนังแนว period สมัยก่อนชาวบ้านในแถบนี้มีความผูกพันกับรถไฟมาก เนื่องจากเป็นการคมนาคมที่ทันสมัยและสะดวกสบายมากที่สุดที่สามารถโดยสารเข้าเมือง หรือออกนอกเมืองได้อย่างรวดเร็วแทนที่การคมนาคมทางเรือและการเดินเกวียน โครงสร้างของสถานียังเป็นสถานีชานเมืองแบบกึ่งไม้กึ่งปูน นายสถานียังคงใช้ธงเป็นอาณัติสัญญาณในการเดินรถไฟอยู่
เป็นบรรยากาศที่น่ารักดีครับ
สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากสัมผัสบรรยากาศการนั่งรถไฟและประหยัดค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวแบบ one-day trip สามารถใช้บริการเส้นทาง กรุงเทพ-หัวตะเข้ ระยะทาง 26 กิโลเมตร ค่าโดยสารเพียงแค่ 80 บาท แต่ถ้าเป็นรถขบวนธรรมดา 281 ค่าโดยสารจะเพียงแค่ 7 บาทเท่านั้น ส่วนเส้นทางที่น่าสนใจอีกเส้นทางสำหรับนักท่องเที่ยวสายชิลคือ กรุงเทพ-พัทยา สามารถลงที่สถานีบ้านพลูตาหลวง โดยจะมีขบวนรถให้บริการเฉพาะวันเสาร์และวันอาทิตย์เท่านั้น ค่าโดยสาร 170 บาทต่อเที่ยว
บ้านเมืองกับแสงยามบ่ายเป็นอะไรที่ชอบมากที่สุด ถ้าติดตามกันมาซักพัก เราจะรู้กัน
ระหว่างทางตามแนวรถไฟ กับทิวทัศน์ที่ดูคลาสสิค และเท่ไปอีกแบบ
เริ่มเข้าเขตชุมชนนะครับ บริเวณนี้จะเป็นบริเวณใกล้กับวิทยาลัยช่างศิลป
สตาร์ทกันที่คลองเล็ก ๆ นี้ เดินผ่านคลองที่ชาวบ้านเรียกว่า “คลองเล็ก” ซึ่งเป็นทางน้ำไหลออกไปรวมกับ “คลองใหญ่” ด้านนอก นั่นก็คือ คลองประเวศบุรีรมย์
หากย้อนอดีตไปเมื่อสมัยรัชกาลที่ 3 เส้นทางคลองสายนี้มีการขุดเพื่อจุดประสงค์ทางการทหาร เพื่อการลำเลียงยุทโธปกรณ์ผ่านไปออกยังเมืองแปดริ้ว หรือฉะเชิงเทรา เป็นการย่นระยะทางและสะดวกต่อการขนส่งมากขึ้น หากแต่การขุดคลองนั้นกลับต้องหยุดชะงักไปเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต
เวลาผ่านไปถึง 2 รัชสมัย ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ยุคที่สยามเปิดประเทศและกำลังพัฒนาประเทศเพื่อให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศนั้น ในตัวพระนคร เริ่มมีการขุดคูคลองสายเล็กสายน้อยเพิ่มขึ้นจากเดิม เพื่อเป็นเส้นทางในการคมนาคมตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ บรรดาประชาชนและชนกลุ่มเชื้อสายเช่น จีน มอญ แขก มุสลิม ต่างก็แยกย้ายกันปักหลักจับจองตั้งรกรากเพื่ออาศัยก่อร่างสร้างตัวกระจายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะย่านริมน้ำ การคมนาคมที่สำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นทางน้ำเป็นสำคัญ เกิดการติดต่อค้าขายยังหลายพื้นที่ เชื่อมต่อชุมชนเข้าหากัน คลองประเวศบุรีรมย์ก็เสร็จสมบูรณ์ในยุคนั้นนี่เอง กลายเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่สำคัญอีกสายหนึ่งที่พ่อค้า ประชาชน ใช้เป็นเส้นทางเดินเรือออกไปยังปากน้ำบางปะกงต่อไปยังเมืองแปดริ้ว และมีการอพยพไปตั้งถิ่นฐานของชาวไทยและชาวจีนด้วยเช่นกัน
พื้นที่เดิมของตลาดหัวตะเข้และท้องที่ลาดกะบังส่วนใหญ่เป็นที่ดินผืนใหญ่ของคุณหญิงเลี่ยม บุนนาค ธิดาคนที่ 12 ของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็น สมุหกลาโหม ในสมัยรัชกาลที่ 5 คนทั่วไปมักเรียกบิดาท่านว่า เจ้าคุณทหารหรือเจ้าคุณกลาโหม ซึ่งเป็นบุคคลที่สำคัญของย่านลาดกระบังและของประเทศไทยอย่างมาก
คุณหญิงเลี่ยมอาศัยอยู่ที่บ้านหัวตะเข้ตั้งแต่เด็กจนโตจนกระทั่งเจ้าคุณทหารผู้เป็นบิดาเสียชีวิต ที่ดินแถบนี้ก็ตกเป็นทรัพย์มรดกแก่คุณหญิงเลี่ยม ภายหลังสมรสกับหลวงพรตพิทยพยัต ผู้เปี่ยมด้วยคุณูปการนานาต่อชาวบ้านลาดกระบังอย่างมาก ท่านได้ยกที่ดินมากกว่า1000ไร่ เพื่อจัดตั้งเป็นสถานศึกษาหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง อีกทั้งยังได้จัดสรรการแบ่งเช่าพื้นที่ริมน้ำให้ชาวไทยและชาวจีนได้อยู่อาศัย ทำนา ทำการค้าขายจนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านปลูกบ้านไม้ริมน้ำหลังคามุงสังกะสีแบบง่ายทั้งสองฝั่งน้ำ จนชุมชนขยายตัวตามกาลเวลา พร้อมกับการตัดถนนลาดกระบังต่อมาจากต้นซอยสุขุมวิท 77 ทำให้เกิดตลาดใหม่ขยายไปอีกฝั่งของคลอง ชื่อ ตลาดอุดมผล นั่นเอง
บ้านเรือนไม้ที่ปลูกแบบผนังติดกัน เท่าที่สังเกตจะมีความเป็นระเบียบมาก โครงสร้างแม้จะผุพังตามกาลเวลา แต่ถือว่ายังแข็งแรงและคงความคลาสสิคอยู่มาก เราสามารถหยุดถ่ายรูปได้แทบทุกมุม
ร้านบ๊ะจ่าง ขนมเทียน ของอากงอาม่านี้เป็นอีกอย่างที่แสดงถึงวิถีชีวิตเรียบง่ายของชาวบ้าน ทำมาค้าขายแบบอุตสาหกรรมเล็กๆในครัวเรือน ใช้หน้าบ้านเป็นหน้าร้าน เลี้ยงชีวิตของตนได้
ที่มาของชื่อเรียก “ตลาดหัวตะเข้” นั้น แน่นอนต้องสอดคล้องกับชื่อของแยกคลองในบริเวณนี้ที่เป็นส่วนหนึ่งของคลองประเวศบุรีรมย์ แต่ถ้าได้สืบค้นข้อมูลโดยลึกแล้ว มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องมากขึ้นไปอีกครับ
มีตำนานมากกว่า 100 ปี ในสมัยรัชกาลที่ 5 เกี่ยวข้องกับฆราวาสชาวไทยเชื้อสายจีนท่านหนึ่งชื่อ เอี๊ยะฮง แซ่เล้า ที่บำเพ็ญตนจนสำเร็จจนถึงขั้นเซียน ชาวบ้านนับถือเป็นพระโพธิสัตว์ เรียกขานกันว่า เซียนเอี๊ยะฮง หรือ เซียนแป๊ะโค้ว ท่านคลี่คลายความทุกข์ความเดือดร้อนของชาวบ้านและสามารถพึ่งพาในเรื่องศักดิ์สิทธิ์ได้เสมอ
ภาพกลาง – ภาพท่านเซียนแป๊ะโค้ว
ครั้งหนึ่งเคยมีเด็กตกน้ำในคลองแห่งนี้แล้วมีจระเข้ตัวใหญ่คาบเด็กแล้วหนีไป ชาวบ้านจึงนำความไปบอกเซียนแป๊ะโค้วให้ช่วย โดยท่านนั่งสมาธิบริกรรมคาถาเพื่อเรียกจระเข้เข้ามาหาแล้วเหยียบที่กลางหัวจระเข้ตัวนั้นจนคายเด็กออกมา ณ บริเวณแยกคลองหัวตะเข้นั้น ชาวบ้านจึงได้เรียกขานชื่อ “คลองหัวตะเข้” นับแต่นั้นเป็นต้นมา เมื่อท่านละสังขาร ร่างของท่านก็ไม่เน่าเปื่อย ทำให้ชาวบ้านเคารพบูชากันเป็นอย่างมาก ศาลเจ้าเซียนแป๊ะโค้ว ตั้งอยู่ใกล้กับตลาดอุดมผล เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยเชื้อสายจีนชุมชนหัวตะเข้เรื่อยมา
ตลาดดูคึกคักเป็นพิเศษกว่าวันธรรมดาครับ ร้านค้าต่างๆที่นี่ส่วนมากเป็นบุคคลภายนอกที่มองเห็นคุณค่าของชุมชน มีการขอแบ่งเช่าบ้านเพื่อปรับเป็นร้านค้า ไม่ว่าจะเป็น ร้านอาหาร ร้านกาแฟ โฮสเทล ร้านกรอบรูป และแกลเลอรี่แสดงงานศิลปะที่ยังคงทิ้งกลิ่นอายความเก่าแก่ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนไว้ และได้ชูสิ่งนั้นให้ชัดเจนและเนี้ยบมากขึ้น เรียกได้ว่าแต่ละร้านดูมีเสน่ห์ มีสไตล์ที่โดดเด่น
ในส่วนของชาวบ้านดั้งเดิมจะทำกิจการในครัวเรือนเช่น ทำขนมขาย เก็บผักสวนครัวขาย ร้านของชำ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นจุดแข็งของชุมชนนี้ที่ทำให้ร่องรอยของอดีตยังคงมีชีวิตขนานอยู่กับความใหม่ของยุค ไม่ล้มหายไปไหน
ร้านค้าที่เป็นจุดสนใจที่นักท่องเที่ยวจะต้องแวะ ซึ่งมีให้เห็นอยู่ 2-3 ร้านในชุมชนนี้คือ ร้านขายของเล่นและขนมโบราณ ซึ่งผมมั่นใจว่าชาวยุค baby boomer , ยุค 90 ไล่มาจน gen Z ต้องคุ้นเคยกับขนมน่ารัก ๆ เหล่านี้แน่นอน ใครยังจำขนมพวกนี้ได้บ้างไหมครับ หมากฝรั่งตรานกแก้ว หมากฝรั่งแมวดำ(หมากฝรั่งรูปบุหรี่) หมากฝรั่งตราคิดคิด บ๊วยแผ่นสีชมพู หวานซ่อนเปรี้ยว ขนมเป๊าะแป๊ะ ระเบิดในปาก เม็ดอมวิตามินซีรูปหัวใจ จอลลี่สติ๊ก อมยิ้มเคี้ยวหนึบรสผสไม้ ลูกอมโกโก้หัวโต ตังเมกรอบ ลูกอมกังหัน ช็อกโกแลตรูปเหรียญทองและรูปลูกบอล ข้าวโพดอบกรอบตราจาจา โอโจ้เวเฟอร์สอดไส้ครีม ปัจจุบันแทบจะหายากมากแล้ว เพราะขนมใหม่ ๆ เข้ามาแทนที่จนแทบหมด
ของเล่นต่างๆที่เราคิดถึงก็มีวางขายที่นี่เช่นกันครับ พวกไพ่ UNO จิ้งจกปลอม หน้ากากขบวนการต่าง ๆ รวมไปถึง พวกที่เป่าฟองสบู่ เห็นแล้วคิดถึงมาก ๆ สมัยก่อนแต่ละชิ้นก็อยากได้ทั้งนั้นแหละ แต่ซื้อได้ทีละชิ้น พอโตหาเงินได้แล้วก็อยากจะเหมากลับไปให้หมด นี่มันสถานที่ปล่อยแก่ชัด ๆ
เห็นขนมพวกนี้แล้ว dialogue โฆษณาสมัยเด็กลอยมาเลยครับ
“เหมือนเดิม…โอโจ้ด้วย”
“กินได้ทุกวัน หวานมันเหลือเฟือ เอ้า เชื่อไหม ปักกิ่ง!”
“ยูโร่ เบเกอรี่บอล เบเกอรี่บอล รูปแบบใหม่ สอดไส้ช็อกโกแลต”
ตลาดหัวตะเข้ เพิ่งจะมี “ความอาร์ต” แทรกซึมเข้ามายังชุมชนอย่างช้าๆเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง สิ่งที่น่ารักคือการที่มีเพื่อนบ้านอย่าง วิทยาลัยช่างศิลป หรือ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ที่มีวิทยาเขตเปิดใกล้ๆกัน ทำให้บรรดาอาจารย์ นักศึกษาสาขาศิลปะ และศิลปินจากหลายแหล่งมองเห็นถึงคุณค่าของตลาดชุมชนโบราณแห่งนี้ จึงได้รวมตัวกันกับชุมชน แสดงงานศิลปะในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำ wall paint, graffiti, gallery และ art exhibition ทั้งแบบถาวรและหมุนเวียน โดย setup กลมกลืนไปกับโครงสร้างของชุมชน และบ้างก็ทำเป็นห้องนิทรรศการจริงจังในห้องแถวบ้านไม้นั้นเลย
บรรยากาศมุมไหนก็ดูคลาสสิคไปเสียหมดครับ ภาพนี้ถ่ายจากในร้านขายกรอบรูป
ชอบตรงการใช้ font ต่าง ๆ ที่ดูโบราณเสียเหลือเกิน ไม่แน่ใจว่าตั้งใจหรือเปล่า แต่น่ารักมากครับ
เสื้อผ้าเย็บเองเก๋ ๆ จากผ้าขาวม้
ถ้ามาบ่อยๆ เราจะเจอคุณยายท่านนี้นั่งเย็บผ้าอยู่ ต้อนรับลูกค้าเป็นประจำ
ร้านรวงต่างๆออกแบบมาอย่างคุมตีมได้ดีครับ ร้านไอติมร้านนี้น่ารักมาก ๆ
เท่าที่สังเกต การนำศิลปะเข้ามาเช่นนี้ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านในชุมชนเป็นอย่างดี ชาวบ้านไม่รู้สึกแปลกกับการที่นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวและเสพความเป็นศิลปะนี้ อีกนัยหนึ่ง อาจจะพูดได้ว่า ศิลปะ คือกุศโลบายที่สามารถ “ทลาย” ช่องว่างของยุคเก่าและยุคใหม่เข้าหากัน เชื่อมชุมชน เข้าหา นักท่องเที่ยว ศิลปิน ได้อย่างกลมกลืน จนเป็นพลังเงียบๆขับเคลื่อน 1 ก้อน ที่ทำให้ชุมชนมีความโดดเด่นกว่าตลาดริมน้ำทั่วไปและยังคงมีลมหายใจอยู่อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน
ร้านกาแฟที่บรรยากาศชิลมาก ๆ ในตลาดแห่งนี้
สำหรับร้านนี้เป็นร้านที่อยู่หัวมุมสี่แยกคลอง ด้านล่างเป็นร้านอาหารที่วิวดีมาก ส่วนด้านบนเป็น hostel ครับ
สะพานไม้ที่เป็นเอกลักษณ์คู่ชุมชนตลาดหัวตะเข้ มีอยู่ 2 สะพานด้วยกัน แห่งแรกคือสะพานข้ามคลองลำปลาทิว หรือสะพานสี่แยกหัวตะเข้ เป็นจุดตัดของลำน้ำคลองประเวศบุรีรมย์และคลองลำปลาทิว มีโครงสร้างแบบไม้ต่อทรงโค้งสูง เพื่อหลีกให้เรือสัญจรและเรือขนส่งสินค้าผ่านได้ในอดีต เป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างฝั่งชุมชนบ้านไม้ริมน้ำและชุมชนคาทอลิก
บ้านฝั่งกระนู้น กับภาพถ่ายจากมุมสูงบนสะพาน
เราจะสังเกตเห็นว่าที่ทำเป็นเขื่อนกันน้ำ ระดับน้ำมีความขึ้นลงเยอะระดับหนึ่งเลยทีเดียว
คุณชอบอะไรแบบนี้แบบผมหรือเปล่า
เดินย้อนกลับมานิดหน่อย เราจะข้ามไปฝั่งที่อยู่ติดกับถนนลาดกระบังกันครับ
สะพานไม้อีกแห่งที่อยู่ใจกลางของชุมชน ที่คนใช้สัญจรพลุกพล่านตลอดเวลา คือสะพานไม้ที่ใช้ข้ามคลองประเวศบุรีรมย์ เชื่อมสองฝั่งคลองระหว่างชุมชนโบราณและตลาดอุดมผลที่ขยายตัวออกไปจรดฝั่งถนนลาดกระบัง
ถือเป็นมุม signature ที่ไม่ว่าใครก็ต้องแวะมาถ่ายกับบนนี้ ถ้าเป็นเวลาพระอาทิตย์ตก วิวตรงนี้เรียกได้ว่า สุดยอด ห้ามพลาดเด็ดขาด เดี๋ยวเราจะกลับมาอีกครั้ง
ปัจจุบันได้มีการปรับปรุงให้เป็นสะพานแบบกึ่งไม้กึ่งปูน ติดป้ายชุมชนและตลาดน้ำต้อนรับนักท่องเที่ยวชัดเจน
ช่วงเวลาพระอาทิตย์ตกเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมมากในการถ่ายรูป background จะเห็นกราฟิตี้ขนาดใหญ่รูปลิงสู้กับจระเข้ ถือเป็นศิลปะบนผนังที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นที่สุดในย่านนี้ครับ
บ้านเรือนฝั่งตลาดอุดมผล ก็ยังให้บรรยากาศเก่านะครับ น่ารักมาก
ดูป้ายนั้นสิครับ
บริเวณหน้าโรงเจของชุมชน
ตึกพาณิชย์แบบเก่า กับร่องรอยความรุ่งเรืองในอดีต
ศาลเจ้าเซียนแป๊ะโค้ว ตั้งอยู่ใกล้กับตลาดอุดมผล เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยเชื้อสายจีนชุมชนหัวตะเข้เรื่อยมา
ถือเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวและตำนานต่างๆของชุมชนแห่งนี้
ตะวันเริ่มคล้อยต่ำแล้ว
“มองไปข้างหน้า กับตลาดหัวตะเข้” ของเก่าย่อมเสื่อมสลายได้ตลอดและมีสิ่งใหม่เข้ามาแทนที่ตามวันเวลาที่ผ่านเสมอวนเวียนได้เช่นกัน ซึ่งตลาดหัวตะเข้เองก็เคยผ่านช่วงเวลานั้นมาแล้วหลายยุคหลายสมัย ตลาดอุดมผลคึกคักในยามเช้าครับ ตอนนี้เย็นแล้ว คนจะโล่ง ๆ หน่อย
ทุกวันนี้ ตลาดริมน้ำ และ ตลาดอุดมผล ตลาดสมัยใหม่ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในแง่การค้าแทนที่ตลาดน้ำในยุคของการค้าทางบกแบบปัจจุบัน ต่างอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนและสงบสุข ภาพชาวบ้านสัญจรไปมาระหว่างกัน ข้ามสะพานไม้ สัญลักษณ์ของตลาดหัวตะเข้ ใน 2 ฝั่งคลอง วนเวียนเช่นนี้ วันแล้ววันเล่า ไม่มีวันสิ้นสุด
ธรรมดา แต่คลาสสิค เด็กในเมืองจะไม่ค่อยเจออะไรแบบนี้บ่อยนัก
ตลาดริมน้ำ ตอบสนองผู้มาเยือนในแง่ของการโหยหาอดีตของวันวาน การเที่ยวพักผ่อนในวันหยุดสุดสัปดาห์ให้คุ้มค่าที่สุด เพียงแค่ไม่กี่อึดใจจากในตัวเมืองกรุงเทพฯ ตลาดแบบสมัยใหม่ ร้านค้าตึกแถว เป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าของสด ของแห้ง ทั้งปลีกและส่ง รวมถึงธุรกิจรายย่อยในหลายรูปแบบตอบสนองผู้บริโภคที่ต้องการจับจ่ายซื้อสินค้าในย่านใกล้บ้านได้อย่างครบถ้วน
ชุมชนในรูปแบบ mixed-purpose แห่งนี้ จะยังคงทำหน้าที่ของมันต่อไป ไม่ว่าด้านใดด้านหนึ่ง หน้าที่ใดหน้าที่หนึ่งก็เพื่อตอบสนองความต้องการอันหลากหลายที่มุ่งเข้ามาเยือน “ตลาดชุมชนริมน้ำหัวตะเข้” แห่งนี้
จากที่ได้สัมผัส เชื่อจริง ๆ ครับว่าความร่วมมือของคนที่มองเห็นคุณค่าของชุมชนอย่างที่ได้ทำกันอยู่นั้น จะสานต่อให้ความยั่งยืนนี้ยังคงขับเคลื่อนไปข้างหน้าร่วมกันได้อีกนานเท่านาน ลองไปสัมผัสกันดูแล้วจะรู้สึกหลงรักที่นี่แบบผม แล้วกลับมาแชร์เรื่องราวดี ๆ ให้ฟังกันบ้างนะครับ
สถานการณ์โรคติดต่อ COVID-19 ยังไม่ดี
ไปไหนมาไหน อย่าลืมป้องกันตัวเองด้วยนะครับ
ใส่มาสก์โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในที่ปิด และล้างมือหลังหยิบจับของสาธารณะจากผู้อื่นครับ
พบกันใหม่กับคอนเทนต์ดีๆของผมในครั้งหน้าครับ
รัก, เปียง
#BANGKOKEXPLORE #PYONGDOCTOR