ณ ชุมแสง
เรื่องราวและสถานที่แห่งความหลัง
CHUMSAENG ENCYCLOPEDIA
เปิดประตูที่ปิดตาย พบเรื่องราวเบื้องลึกที่ซ่อนอยู่หลังบ้าน และ ดื่มด่ำไปกับอดีตอันรุ่งเรืองที่น่าประทับใจ ทั้งหมดนี้ถูกถ่ายทอดอยู่ในอัลบั้มนี้ครับ “ณ ชุมแสง”
สวัสดีครับ ผมเปียง ผมอยู่ที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสรรค์ครับ หนึ่งในเมืองเก่าที่อยู่ใน bucket list ของผมเสมอมากับภาพความรุ่งเรืองในอดีตที่แม้จะเก่าไปบ้าง แต่หลายๆอย่างยังคงชัดเจนในแบบที่หาที่อื่นเทียบได้ยาก ในครั้งนี้ ผมมีความตั้งใจจะพาทุกคนมารู้จักกับที่แห่งนี้ให้มากขึ้นอีกนิด ผ่านสถานที่ต่าง ๆ ที่ผมไปเยือนมาครั
ชุมแสง อำเภอเล็ก ๆ ของจังหวัดนครสวรรค์ เมืองที่ครั้งในอดีตเคยเป็นศูนย์กลางทางการค้าการคมนาคมริมแม่น้ำน่าน ถือเป็นตำนานของเมืองอู่ข้าวอู่น้ำของภาคกลางตอนบน ที่แห่งนี้เป็นจุดหมายปลายทางแหล่งเศรษฐกิจอันมั่งคั่งของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าทั้งไทยและจีน สถานที่ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์อันรุ่งเรืองหลัก 100 ปี ที่ตกทอดมาให้เราได้ชมในปัจจุบัน
ข้อมูลที่น่าสนใจที่สามารถยืนยันได้ว่า ชุมแสง เป็นเมืองที่มีความมั่งคั่งมากในอดีตคือการมีเส้นทางการคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำที่ครบครัน นั่นคือ รถไฟ รถยนต์ และเรือ เป็นของตัวเอง
• มีโรงแรมที่ทันสมัยมากถึง 4 แห่ง
• มีโรงภาพยนตร์อย่างในกรุงเทพฯ 2 แห่ง
• มีร้านขายทองอยู่จำนวนมาก บางซอยพบว่ามีร้านขายทองอยู่ถึง 7 แห่งในซอยเดียวกัน
• มีโรงสีข้าวมากถึง 13 โรง
• มีโรงงานทำน้ำแข็งเช่นในกรุงเทพฯ สมัยนั้น
• มีตึกหรืออาคารพาณิชย์ที่สร้างด้วยปูนรูปทรงทันสมัยเหมือนเมืองใหญ่อื่น ๆ.
• มีร้านถ่ายรูป อัดรูป จำหน่ายกล้องและอุปกรณ์การถ่ายภาพ พร้อมๆกับหัวเมืองที่เจริญอื่น ๆ
ถึงแม้ “ภาพ” ของชุมชนในปัจจุบันอาจจะดูเก่าไปบ้าง กลายเป็นเพียงตลาดเก่าโบราณ บ้านไม้ร้อยปี ฉากละคร-ฉากหนังชั่วครั้งคราว ที่รอวันผุพังทิ้งร้างไปตามกาลเวลา แต่สิ่งที่มีคุณค่ามากกว่า “ภาพภายนอก” ที่เราเห็นตรงหน้านั้น คือ วิถีชีวิต คือความเป็นไปที่สะท้อนความเป็นชาวชุมแสงได้เป็นอย่างดีในปัจจุบัน ความมุมานะขยันอดออม ความมีน้ำใจ น่ารักยิ้มแย้ม เอื้อเฟื้อ รู้จักแบ่งปัน และพร้อมช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ เป็นอีกลายเส้นสวยงาม ที่ประกอบร่างกันขึ้นเป็นภาพวาด 1 ภาพใหญ่ ของชุมแสง ให้สมบูรณ์ น่าจดจำ และเป็น “ภาพที่ยังคงมีชีวิต” อยู่เสมอ พร้อมเปิดรับผู้ที่มาเยือนด้วยความยินดี
ชุมแสง “แสง” ที่ยังคง “สว่าง” ส่องภาพของอดีตอยู่อย่างชัดเจนจวบจนปัจจุบัน
และนี่คือเส้นทางในการเปิดจินตนาการ เริ่มต้นทำความรู้จักกับชุมแสงให้มากขึ้น ผ่านสถานที่ต่างๆ รอบชุมแสงที่ผมมั่นใจว่าหลายๆเรื่องราวในนี้ คุณจะต้องไม่เห็นมาก่อนจากที่ไหนก็ตาม
หากพร้อมแล้ว เราตามไปชมชุมแสงผ่านมุมกล้องของผมด้วยกันครับ
เปียง
#ชุมแสง #PYONGDOCTOR #PYONGSEEWHATISEE
ณ ชุมแสง
20 เรื่องราวและสถานที่แห่งความหลัง
MEMORABLE STORIES AND LOCATIONS IN CHUMSAENG
ชุมแสง “แสง” ที่ยังคง “สว่าง” ส่องภาพของอดีตอยู่อย่างชัดเจนจวบจนปัจจุบัน
บ้านไม้เก่า ตลาดโบราณ สังกะสีที่ผุพัง แต่มีหลายภาพสะท้อนอดีตที่ชวนค้นหา
หากพร้อมแล้ว เราตามไปชมเรื่องราวทั้งหมดที่ผมและทีมรวบรวมมาฝากพร้อม ๆ กันนะครับ
สถานีรถไฟชุมแสง
กลิ่นอายอดีตอันรุ่งเรืองของการคมนาคมทางบกที่ทันสมัยที่สุดในยุคก่อน
ขอเริ่มต้นเรื่องราวทั้งหมดด้วยสถานที่แห่งนี้ครับ แม้ผมจะไม่ได้เดินทางมาที่นี่ด้วยรถไฟก็ตาม แต่สถานที่แห่งนี้เป็นประตูสู่ชุมแสงที่ชัดเจนและสามารถเป็นตัวแทนความเจริญในครั้งอดีตของที่นี่ได้เป็นอย่างดี
ใครที่เดินทางเส้นทางขึ้นเหนือจะต้องผ่านสถานีชุมแสงอย่างแน่นอน สถานีรถไฟชุมแสงแห่งนี้ เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2451 ในสมัยนั้น การโดยสารด้วยรถไฟ ถือเป็นการคมนาคมทางบกที่ทันสมัยมาก ถ้าใครจะเดินทางขึ้นเหนือหรือเดินทางเข้ากรุงเทพฯล่องลงใต้ ก็จะต้องผ่านหรือมาขึ้นรถไฟที่สถานีชุมแสงเช่นกัน
เมื่อลงจากรถไฟแล้ว สามารถเดินลัดผ่านตัวตลาดชุมแสงต่อไปยังท่าน้ำชุมแสงเพียงแค่ระยะไม่เกิน 200 เมตร ในสมัยก่อนตัวสถานีและทางรถไฟจะถูกยกสูงมาก ทำให้ต้องสร้างสะพานไม้ทอดขึ้นไปยังตัวสถานี อีกทั้งด้านล่างมีน้ำขัง ภาพถ่ายในอดีตบริเวณหน้าสถานี เราจะเห็นเป็นสะพานไม้ปูไปทั้งพื้นที่
ปัจจุบันสะพานไม้เหล่านี้ถูกรื้อออกไปหมดแล้วตามสภาพบ้านเรือนและชุมชนในปัจจุบัน แต่ยังคงสภาพสถานีแบบโบราณไว้ให้พวกเราได้มาเยือน ถ่ายภาพรำลึกวันวานกัน ในฐานะที่เปรียบเหมือนเครื่องยืนยันถึงความเจริญทางด้านการคมนาคมทางบก และเป็นสัญลักษณ์เริ่มต้นแก่ผู้มาเยือนที่บ่งบอกได้เลยว่า ที่นี่…ชุมแสง
ศาลเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ชุมแสง
ศูนย์รวมใจและความศรัทธาอันแรงกล้าของลูกหลานชาวชุมแสง
หากมาถึงที่ชุมแสง ที่นี่คือสถานที่ที่นักเดินทางทุกคนควรแวะเข้ามาก่อนที่อื่นๆ เพื่อเป็นสิริมงคลสำหรับคณะ ให้ทุกอย่างราบรื่นตลอดการเดินทางครับ
ชาวชุมแสงศรัทธาในเจ้าพ่อเจ้าแม่ชุมแสงอย่างมาก ถือเป็นศูนย์รวมใจของลูกหลาน อีกทั้งยังเป็นจุดหมายแรกๆในการเปิดทริปเที่ยวของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังชุมแสงอีกด้วย ในทุกปีจะมีงานประเพณีเจ้าพ่อเจ้าแม่ชุมแสง ลูกหลานชาวชุมแสงไม่ว่าจะไปเรียนหรือทำงานที่ไหน จะต้องกลับมายังบ้านเกิดแห่งนี้ เพื่อมาร่วมงานบุญกันทุกคน โดยภายในงานจะมีขบวนแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ ขบวนสาวเขี่ยเปีย งานงิ้ว และการแสดงเอ็งกอ ที่ถือเป็นไฮไลต์ที่สำคัญที่สุดของงานนี้
ศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ชุมแสง ถูกสร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธาของชาวจีนในอดีตที่ตั้งรกรากอยู่ในชุมแสง ตัวศาลตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน ติดกับปากคลองจระเข้เผือก ในสมัยก่อนเรียกกันว่า ศาลเจ้าพ่อคลองจระเข้เผือก จากตำนานเล่าขานกันมาว่า มีขอนไม้ลอยตามน้ำมาอยู่ตรงหน้าศาล และเจ้าพ่อได้เข้าฝันชาวบ้านให้นำขอนไม้นี้ขึ้นมาจากน้ำแล้วแกะสลักเป็นองค์เจ้าพ่อ ถ้าทำได้เช่นนั้นแล้ว เจ้าพ่อจะมาประทับองค์ คอยปกป้องภัยพิบัติ บันดาลให้มีความเจริญรุ่งเรืองในการทำมาค้าขาย และในตำนานยังเล่าอีกว่า เจ้าพ่อได้ประทับทรงชาวบ้านให้ไปสู่ขอเจ้าแม่เกยไชย เพื่อให้ได้แต่งงานกัน จนในที่สุดชาวบ้านก็อัญเชิญเจ้าแม่เกยไชยมาอยู่ที่ศาลกับเจ้าพ่อ และแกะสลักไม้เป็นองค์เจ้าแม่มาคู่กัน จึงเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น ศาลเจ้าพ่อ- เจ้าแม่ชุมแสง อย่างในปัจจุบัน
ในเดือนธันวาคมของทุกปี ชาวบ้านร้านตลาดจะร่วมใจกันจัดงานประเพณีเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ชุมแสงอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อแสดงถึงศรัทธาและความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแห่งนี้
ตลาดชุมแสง
ตลาดที่ไม่ใช่เพียงแค่ตลาด แต่เป็นทั้งบ้านและแหล่งทำกินที่สะท้อนภาพชีวิตชาวชุมแสงมากกว่า 100 ปี ได้ชัดเจนที่สุด
ชุมแสง ในสมัยโบราณเป็นเมืองที่สำคัญทางด้านการค้าขายโดยเฉพาะการค้าข้าวที่พ่อค้าจะขนส่งมาทางเรือเพื่อมานำข้าวเปลือกมาขายยังโรงสีที่ชุมแสง และขากลับก็ยังซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในตลาดชุมแสงกลับไปขายต่อยังถิ่นฐานบ้านเกิดตัวเองแบบไม่เสียเที่ยวอีกด้วย ว่ากันว่าในอดีตสินค้าที่ทันสมัยแบบในกรุงเทพฯมีเมื่อไหร่ ชุมแสงก็มีขายเช่นกันเมื่อนั้น ถือว่าเจริญรุ่งเรืองมั่งคั่งมาก อีกทั้งชัยภูมิที่ตั้ง ติดกับสถานีรถไฟชุมแสง ทำให้การคมนาคมในอดีตสะดวกสบายทั้งทางบกและทางน้ำ ก็อาจเป็นจุดแข็งของชุมแสงในการเป็นศูนย์กลางการค้าขายในอดีต
ชาวบ้านส่วนมากจะเป็นคนไทยเชื้อสายจีนที่อพยพมาจากซัวเถาโดยทางเรือ มาก่อร่างสร้างตัวที่นี่จนร่ำรวย เนื่องจากชาวจีนเป็นคนขยัน มีความอุตสาหะ ประหยัดมัธยัสถ์ รู้จักการออมเงินและมองขาดทางด้านการลงทุน จึงทำให้เวลาต่อมาเมื่อสร้างตัวได้ ก็ใช้ชีวิตกันแบบไม่ลำบากนัก ว่ากันว่าชาวชุมแสงในสมัยก่อนไม่มีใครแร้นแค้นขัดสน มีสภาพคล่องทางการเงินมาก รวมถึงสมัยนี้ก็ไม่ค่อยมีคนชุมแสงที่ใช้ชีวิตอยู่อย่างลำบากเลย
และข้อมูลที่สำคัญมากหนึ่งอย่างนั่นคือ จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ ชุมแสง คือสถานที่ที่ค้นพบ “ช้างเผือก” เชือกเดียว ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 อีกด้วยครับ
ข้อมูลที่น่าสนใจที่สามารถยืนยันได้ว่า ชุมแสง เป็นเมืองที่มีความมั่งคั่งมากในอดีตคือ
มีเส้นทางการคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำที่ครบครัน นั่นคือ รถไฟ รถยนต์ และเรือ
มีโรงแรมที่ทันสมัยมากถึง 4 แห่ง
มีโรงภาพยนตร์อย่างในกรุงเทพฯ 2 แห่ง
มีร้านขายทองเยอะมาก บางซอยพบว่ามีร้านขายทองอยู่ถึง 7 แห่งในซอยเดียวกัน
มีโรงสีข้าวมากถึง 13 โรง
มีโรงงานทำน้ำแข็งเช่นในกรุงเทพฯ
มีตึกหรืออาคารพาณิชย์ที่สร้างด้วยปูนแบบทันสมัยเฉกเช่นเมืองใหญ่ๆ
มีร้านถ่ายรูป อัดรูป จำหน่ายกล้องและอุปกรณ์การถ่ายภาพ พร้อมๆกับหัวเมืองที่เจริญอื่นๆ
จากภาพ รถโดยสารประจำทางที่ยังคงใช้แบบคลาสสิกดั้งเดิมอยู่ ถือเป็น 3rd gen ของการคมนาคมขนส่ง ที่เข้ามาแทนที่การสัญจรทางน้ำและทางรถไฟที่ลดความนิยมลง
ร้านอัดรูปที่ให้สีสันสะดุดตา เด่นออกมาจากร้านอื่นในตลาด ยังคงเปิดให้บริการอยู่ทุกวันนี้ครับ
ภายในตลาดชุมแสง สามารถเดินเท้าเข้าตรอกนั้น ลัดออกซอยนี้ ได้อย่างสบาย ระหว่างทาง พ่อค้าแม่ค้ามักจะยิ้มทักทาย ชวนคุยตลอดทางครับ
ช่วงเช้าเราจะเห็นภาพวิถีชีวิตเรียบง่ายแบบที่เราหลายๆคนคุ้นเคยกันเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก ไข่ลวก กาแฟโบราณ และขนมพื้นเมือง รายล้อมด้วยความจอแจแบบเป็นมิตรที่ดูแล้วอบอุ่นอย่างบอกไม่ถูก
กาแฟโบราณยามเช้า รู้สึกเหมือนได้ย้อนวันวานอีกครั้ง
ศรีสุวรรณโอสถ
อโรคยาสถาน ตำนานร้านขายยา100ปี
ศรีสุวรรณโอสถ คือโรงยาแห่งชุมแสง เป็นร้านขายยาแผนโบราณอายุ 100 ปีที่ยังคงเปิดขายอยู่กลางตลาดชุมแสง ที่ตั้งของร้าน เป็นอาคารไม้สีเขียวแบบโบราณที่ตั้งอยู่ตรงหัวมุมถนนพอดี มีลักษณะสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและแปลกตา เป็นหน้าจั่วที่พุ่งเข้าสี่แยกแบบที่เห็นดังภาพ
เป็นเสมือนร้านยาชุมชน ร้านยาข้างบ้าน เจ็บป่วยก็เรียกหากันตามประสาคนบ้านเดียวกัน
ที่นี่จำหน่ายยาทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณ แต่ที่เด่นชัดสุดคือยาแผนโบราณสูตรต่าง ๆ ที่ผลิตและบรรจุขวด/ซอง ตีแบรนด์ของตัวเอง มีโรงโม่ยา ปรุงยา เป็นของตัวเอง ในร้านยังคงความเก่าของร้านขายยาโบราณไว้มาก มีโหลยาวางเรียงรายเต็มไปหมด ตู้ยาสไตล์ร้านยาจีนโบราณยังคงถูกใช้งานอยู่ จัดเรียงจัดเก็บยาไว้เต็มตู้
ที่น่าปลื้มใจที่สุดในวันถ่ายทำ บอกได้เลยว่า ”น้อยคนมากที่จะได้เข้าไปข้างใน” … เพราะบริเวณห้องหลังร้านนั้น เป็นโกดังเก็บวัตถุดิบที่ใช้ปรุงยาตามสูตรต่าง ๆ จัดเรียงเป็นระเบียบไว้ในปี๊บพร้อมเขียนชื่อกำกับไว้ด้านหน้าทุกใบ ทายาทเจ้าของร้านเมตตาเรามาก เปิดพื้นที่ส่วนนี้ให้เข้าไปถ่ายภาพได้ ป้าร้านข้างๆ หรือบางคนได้ยินก็ตกใจว่าเราโชคดีมากในวันนั้น น้อยครั้งมากที่เขาจะเปิดให้ใครเข้าไป รู้สึกดีใจและขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วยครับ
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม unique มากครับ
โรงพิมพ์สหชัย
โรงพิมพ์โบราณแห่งเดียวที่ยังมีลมหายใจอยู่จวบจนปัจจุบัน
โรงพิมพ์สหชัย เป็นโรงพิมพ์โบราณที่ยังคงเปิดทำการและทำงานพิมพ์อยู่ ใช้แท่นพิมพ์โบราณอายุมากกว่า 90 ปี ที่ยังใช้งานได้ดีอยู่จนถึงทุกวันนี้ และหากมองย้อนไปเมื่อ 90 ปีที่แล้ว ชุมแสงกับเทคโนโลยีการพิมพ์แบบนี้ ถือว่าเป็นเมืองที่ไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน
ภายในโรงพิมพ์ยังอาศัยกระบวนการพิมพ์แบบเก่า ใช้การเรียงตัวอักษรจากตัวแม่พิมพ์ด้วยมือแบบmanualทีละตัว ทีละอักษร จากสองมือและสายตาของอาม่าเจ้าของโรงพิมพ์ในปัจจุบัน
อาม่าท่านอายุ 80 กว่าแล้ว อาม่าเล่าให้ฟังว่าขั้นตอนการพิมพ์ในทุกกระบวนการ ใช้สายตา ความละเอียดรอบคอบ และความใจเย็นในการเรียงเพลทมากๆ หากผิดแค่ตัวเดียวคือต้องเริ่มกระบวนการใหม่หมดเลย จะกด backspace ง่ายๆแบบคอมพิวเตอร์สมัยนี้ก็ไม่ได้ ในปัจจุบัน อาม่าขึ้นแท่นพิมพ์เองคนเดียว ขาดลูกหลานสืบต่อ ฟังดูน่าเศร้า แต่น้ำเสียงท่าน เราสัมผัสได้ถึง ความเข้าใจโลก มองโลกอย่างเป็นผู้ใหญ่ของท่าน ว่าทุกอย่างมีเกิด มีรุ่งเรือง และนานวันไป อย่างไรเสียก็ต้องมีอันเสื่อมไปตามกาลเวลา เราต้องเรียนรู้และยอมรับมันให้ได้
ปัจจุบันทางโรงพิมพ์ยังรับงานพิมพ์ มีลูกค้าทั้งในชุมแสงและท้องถิ่นใกล้เคียงเข้ามาใช้บริการ ทั้งการ์ดแต่งงาน การ์ดงานบวช งานศพ ใบปลิว หรือแม้กระทั่งใบเสร็จรับเงิน ก็ยังรับพิมพ์เช่นเดียวกัน หน้าร้านเปิดเป็นร้านเครื่องเขียนตามแบบสมัยก่อน ให้อารมณ์ย้อนอดีตวัยเด็กสุด ๆ
โรงสีสองปล่อง (โรงสีชัยอุดม)
ถอดสลักประตูที่ถูกปิดตายมาแสนนาน น้อยคนที่จะได้เข้าถึง ตำนานโรงสีข้าว 90 ปีที่ใหญ่ที่สุดในชุมแสง
ในอดีต โรงสีข้าวในชุมแสง มีมากกว่า 13 แห่ง แสดงให้เห็นถึงความเจริญในด้านเศรษฐกิจการค้าขายข้าวเปลือกเป็นอย่างมาก ชุมแสงถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำก็ว่าได้ ในสมัยก่อน เกษตรกรหรือพ่อค้าข้าว นิยมล่องเรือนำข้าวเปลือกจากอยุธยาและท้องที่อื่นๆมาขึ้นแพที่ท่าน้ำชุมแสง โดยมีโรงสีรับซื้อข้าวโดยตรง หรือไม่ก็จะมีนายหน้าเดินมาดักรับซื้อกันตรงท่าน้ำเลยทีเดียว คนชุมแสงเล่าว่า ข้าวที่แบกหามกันขึ้นมาจากท่าน้ำ หนักมิใช่น้อยๆ แบกมาจากน้ำ ยังไม่ทันจะขนไปทางไหนดี ก็มีเอเย่นต์จากโรงสีมาดักหน้ากระสอบกันแล้ว ข้าวเปลือกคือขุมทรัพย์ของคนชุมแสงในสมัยก่อนจริงๆ และโรงสีสองปล่องแห่งนี้ คือตำนานของโรงสีข้าวโรงใหญ่ริมแม่น้ำที่เจริญรุ่งเรืองที่สุดของชุมแสงก็ว่าได้
เหตุที่เรียก โรงสีสองปล่อง เพราะว่ามี “ไซโล” หรือฉางข้าว ลักษณะเป็นปล่องสี่เหลี่ยม 2 ปล่อง สูงราว ๆ 20 เมตร ข้าวเปลือกจะถูกดันขึ้นไปด้านบนเพื่อส่งข้าวไปยังยุ้งฉางต่าง ๆ ที่เรียงรายภายใต้โรงสีแห่งนี้
ตลอดระยะเวลา 90 ปีของตำนานโรงสีอันรุ่งเรือง กิจการของโรงสีแห่งนี้ถูกลดความสำคัญลง เนื่องจากมีโรงสีเกิดขึ้นมากมาย อีกทั้งในตัวเมืองนครสวรรค์มี ท่าข้าวกำนันทรง ที่เปิดกิจการในขณะนั้น โรงสีสองปล่อง หรือ โรงสีชัยอุดม จึงค่อยๆปิดตัวลง เป็นตำนานที่ปิดตายไว้เป็นเวลานาน
ซึ่งในการถ่ายทำในครั้งนี้ เราได้รับความเมตตาจากเจ้าของโรงสี เฮียเคี้ยง ท่านอนุญาตให้เข้าถ่ายทำได้ทุกส่วนของโรงสี ทำให้เราได้นำภาพมาฝากกัน ได้เห็นถึงความเจริญทางการแปรรูปข้าวเปลือกให้เป็นข้าวสารสำหรับบริโภค ได้เห็นภาพสะท้อนของแรงงานในสมัยก่อน ที่ได้มีงาน มีรายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง จากโรงสีนี้ทั้งหมด
ปั๊มน้ำมันลอยน้ำเตียซุ่นเฮง
ปั๊มน้ำมันลอยน้ำอายุ 70 ปีนับตั้งแต่แรกจนเลิกกิจการ สิ่งยืนยันความเจริญด้านการคมนาคมทางน้ำของชุมแสง
อีกสถานที่ที่แปลกตาสำหรับพวกเราสุดๆเห็นจะเป็นที่นี่ครับ ปั๊มลอยน้ำ ที่ตั้งตระหง่านอยู่ริมน้ำน่าน ไม่ใช่มุมถ่ายรูปทั่ว ๆ ไป แต่แฝงด้วยเรื่องราวที่มีความหมายมากมายเลยทีเดียว
ปั๊มน้ำมันเตียซุ่นเฮง คือความทรงจำแห่งยุคที่รุ่งเรืองทางด้านการคมนาคมทางน้ำและการทำมาค้าขายริมแม่น้ำน่าน อนุสรณ์ที่เจ้าของยังคงเก็บรักษาไว้ให้ชาวชุมแสงและนักท่องเที่ยวได้หวนรำลึกถึงช่วงเวลาแห่งอดีตมากกว่า 70 ปี ช่วงเวลาที่พ่อค้าแม่ค้าต่างถิ่นรอนแรมขนสินค้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวเปลือก สินค้าอุปโภค-บริโภค สินค้าในการดำรงชีพ เครื่องเทศ ทอง เครื่องประดับ และสินค้า in-trend ที่แทบจะมีจำหน่ายพร้อมๆกับที่ตัวพระนครมี ณ ตอนนั้น ชุมแสงก็มี ทันสมัยตามยุคเช่นกัน
ชุมแสงคือเมืองที่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจมากในยุคนั้น อีกทั้งท่าน้ำตลาดชุมแสง ริมแม่น้ำน่านนี้ เป็นที่ขนส่งสินค้าที่สำคัญ ทั้งขาขึ้นและขาล่อง เป็นจุดเริ่มต้นและจุดแวะพักในการเดินทางสัญจรขึ้นเหนือล่องใต้ หรือแม้แต่จะเข้าไปยังกรุงเทพฯ ชุมแสงคือจุดที่ประชาชนใช้เป็นจุดขึ้นเรือในยุคนั้นเช่นกัน และที่สำคัญที่สุด ที่แห่งนี้คือจุดเริ่มต้นของชาวจีนเชื้อสายซัวเถายุคสร้างตัว ที่ดั้นด้นมาลงหลักปักฐานเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ชุมแสงนี้ ครอบครัวเตียซุ่นเฮงก็รอนแรมมาจากซัวเถาเพื่อมาฝากชีวิตใหม่ที่ชุมแสงนี้เช่นกัน เริ่มต้นจากกิจการปั๊มน้ำมันที่หน้าบ้านใหญ่ริมน้ำ จนกลายเป็นปั๊มน้ำมันที่ย้ายลงไปเปิดในน้ำ เรือยนต์น้อยใหญ่ที่ต่างเดินทางมาก็ต้องแวะใช้บริการเติมน้ำมันยังปั๊มน้ำมันลอยน้ำแห่งนี้นานราว 60 ปี จนการคมนาคมทางบกเข้ามาแทนที่ การสัญจรทางน้ำก็ค่อยๆถูกลดทอนความสำคัญไปตามวันเวลา แต่ภาพในอดีตยังคงชัดเจนเสมอ ดังภาพที่เราเห็นตรงหน้านี้เช่นกัน
วัดเกยไชยเหนือ
วัดเก่าแก่คู่ชุมแสง จุดบรรจบแม่น้ำยม-แม่น้ำน่าน
วัดเกยไชยเหนือ เดิมเรียกว่า วัดพระบรมธาตุ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย ในรัชสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) ราวปี พ.ศ. 1906-1912 หรือ 650 ปีก่อน จากหลักฐานคือมีพระบรมธาตุเจดีย์ทรงระฆังคว่ำแบบลังกาฐานแปดเหลี่ยม เคยเป็นสถานที่ที่พระเจ้าตากสิน เมื่อครั้งเสด็จลงมาปราบชุมนุมพิษณุโลก ได้ตั้งกองทัพพักค้างยังตำบลเกยชัย (คำว่า ชัย เขียนตามพระราชพงศาวดาร) ซึ่งทำให้เห็นได้ว่า ตัวตนของวัดได้ถูกกล่าวถึงอยู่เนืองๆ ทำให้เชื่อว่าวัดแห่งนี้มีอยู่มาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเป็นที่มาของตำนานจระเข้ยักษ์ที่มีชื่อว่า ไอ้ด่างเกยไชย ปัจจุบันมีการสร้างพิพิธภัณฑ์ราชาจระเข้ยักษ์ โดยมีปูนปั้นรูปจระเข้ขนาดมหึมาไว้ที่ด้านหน้าของวัด ถือเป็นอีกสถานที่ท่องเที่ยวที่คนให้ความสนใจแวะเวียนเข้ามาชม
และที่สำคัญที่สุด ณ ริมแม่น้ำของวัดเกยไชยเหนือแห่งนี้ คือบริเวณที่แม่น้ำยม และ แม่น้ำน่าน แม่น้ำสายสำคัญของภาคเหนือ ไหลมาบรรจบกัน ถ้าวันที่สภาพอากาศดี ๆ น้ำนิ่ง ๆ จะเห็นจุดตัดของแม่น้ำสองสีสะท้อนแสงแดดอย่างสวยงาม
Patio Boutique House
โรงแรมสไตล์รีสอร์ตที่ดีที่สุดในชุมแสง
Patio คือโรงแรมที่ดีที่สุดในชุมแสง ปัจจุบันที่นี่ยังคงยืนหนึ่งสำหรับที่พักที่ สงบ สะดวก สะอาด และสวยงามที่สุดครับ ด้วยความที่ชุมแสงเป็นอำเภอเล็ก ๆ หากเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวจากกรุงเทพฯ สามารถใช้เวลาเที่ยวอย่างน้อยได้ภายใน 1 วัน หากมาเที่ยวแบบ one-day trip นักท่องเที่ยวมักจะแวะมาเที่ยวและกลับออกไปนอนในตัวปากน้ำโพ หรืออำเภอเมือง นครสวรรค์เสียมากกว่า ทำให้ตัวเลือกของที่พักมีไม่เยอะ นักลงทุนในพื้นที่ไม่กล้าลงทุนมากนัก ดังนั้น ในปัจจุบันจึงมีแค่ Patio Boutique House ที่ถือว่าเป็นโรงแรมสไตล์รีสอร์ตที่มีมาตรฐานเทียบเท่ากับโรงแรมดีๆในระดับเดียวกัน โดยมีห้องพักทั้งในแบบ cottage รถบ้าน วิลล่าพร้อมสระส่วนตัว หรือบ้านต้นไม้ ที่ถือเป็นไฮไลต์ของที่นี่ facilities ที่นี่มีครบครันมาก
อีกทั้งตัวคาเฟ่ที่ก็ถือว่าเป็นคาเฟ่ที่ทันสมัยที่สุดในชุมแสง บริการทั้งเครื่องดื่ม ขนม และอาหาร ใช้วัตถุดิบจากฟาร์มเกษตรอินทรีย์ล้วน ๆ มีสระว่ายน้ำ และบึงน้ำขนาดใหญ่พร้อมโซนเครื่องเล่นเอ้าท์ดอร์
บ้านต้นไม้ ถือเป็น ไฮไลต์ของที่นี่ครับ มีการออกแบบที่น่ารักมาก ๆ ด้วยการขึงด้วยสะพานแขวนเชื่อม 2 จุดเข้าด้วยกันกับที่พัก ในบ้าน โครงสร้างยึดกับต้นไม้ขนาดใหญ่ สูงพอจะเห็นวิวท้องนาสีเขียวด้านหลังรีสอร์ตและทิวต้นตาลสวยงามมากโดยเฉพาะช่วงพระอาทิตย์ตก
ต้นไม้ใหญ่ภายในห้องพัก อิงกับธรรมชาติ น่ารักมากครับ
ถ้าขึ้นไปบนหอโรยตัว จะเห็นวิวทุ่งนา ดงต้นตาล และวัดท่าจันทร์วิปัสสนาอีกด้วย
สะพานหิรัญนฤมิต
สะพานแขวนสีเขียวสัญจรสำหรับสองล้อ-สองเท้า แลนด์มาร์กโดดเด่น เชื่อมสองฝั่งแม่น้ำน่านเข้าหากัน
จริงๆแล้วอายุของสะพานหิรัญนฤมิตไม่ได้เก่าแก่มากมาย เพราะถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2552 นี่เอง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ชาวชุมแสงทั้งสองฝั่งแม่น้ำ ได้เดินทางไปมาได้สะดวกขึ้น เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของการกำเนิดของสะพานที่ได้รับรู้มาจากการบอกเล่าคือ บรรดานักเรียนโรงเรียนชุมแสงชนูทิศในสมัยก่อน หากจะข้ามฝั่งไปมา ต้องใช้ลิฟต์ ชักรอกขนส่งข้ามไปมาระหว่างสองฝั่งแม่น้ำ ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการเดินทาง จึงรวมตัวกันส่งสาส์นเรียกร้องไปยังท่านนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น เพื่อขอจัดสรรงบประมาณเพื่อสร้างสะพานข้ามไปยังโรงเรียนของตน จึงเป็นที่มาของการสร้างสะพานแขวนแห่งนี้ ปัจจุบันอนุญาตให้ใช้สัญจรแค่ยานพาหนะประเภทสองล้อและประชาชนที่เดินข้ามฝั่งเท่านั้น
ถ้าเล็งกล้องดี ๆ ในวันที่สภาพแสงเป็นใจ จะได้ภาพที่ชวนตะลึงไม่น้อย ด้วยตำแหน่งที่ตั้งใจกลางตัวอำเภอ ทำให้สะพานหิรัญนฤมิตกลายเป็น landmark ที่สำคัญของที่นี่ ด้วยลักษณะสะพานสีเขียว ที่มีเหล็กขึง 2 ฝั่ง และรูปร่างที่เป็นเอกลักษณ์ชวนมอง หากขึ้นไปบนสะพาน เราจะมองเห็นเวิ้งแม่น้ำ และวิถีชีวิตริมน้ำได้จากไกล ๆ ด้วยนะครับ
ข้างๆสะพาน จะเป็นที่ตั้งของพระบรมนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ผู้ทรงเป็นอีกศูนย์รวมจิตใจของชาวชุมแสงนับแต่ครั้งอดีตเรื่อยมาครับ
ร้านชัยวันท์
ร้านค้าของชำเก่าแก่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดใจกลางตลาดโบราณชุมแสง
หากมองเผินๆจากด้านนอก หลายๆคนคงคิดว่า ร้านชัยวันท์ เป็นร้านโชห่วยเฉกเช่นร้านอื่นๆทั่วไป แต่ความเก๋าของร้านนี้คือ เป็นร้านขายของชำที่เก่าแก่ที่สุดของชุมแสง ภายในมีห้องสต็อกของยาวเกือบ 100 เมตร มีเหล่าเต็งหรือระเบียงไว้เก็บของเรียงรายขึ้นไป 3-4 ชั้น มีห้องลับใต้ดินสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินเช่น หากเกิดเพลิงไหม้ ก็สามารถนำของมีค่าโยนลงไปไว้ด้านล่างและนำทรายมากลบทับไว้ เพียงเท่านี้ก็เป็นการรักษาทรัพย์สินของมีค่าไว้ได้จากการถูกเผาทำลาย ถือเป็นภูมิปัญญาอันชาญฉลาดของคนยุคก่อนครับ
บริเวณโต๊ะทำงานหลักของเจ้าของร้าน – เฮียสลิล ถูกรายล้อมไปด้วยสินค้าและของสะสมโบราณหลายร้อยชนิด คลาสสิกมาก เหมือนพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตเลยครับ
ด้านหลังร้านที่ยาวจรดไป 100 เมตรนั้นติดกับชุมแสงแกลอรี่ ซึ่งทางเจ้าของร้านได้อุทิศพื้นที่บางส่วนของร้านให้เป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์แก่ชุมชน นั่นก็คือ ชุมแสงแกลอรี่ในปัจจุบัน ถือเป็นการตอบแทนสังคมและมีส่วนร่วมในการส่งเสริมและพัฒนาด้านการท่องเที่ยวชุมชนให้แข็งแกร่งต่อไปในอนาคต
ร้านชัยวันท์ ปัจจุบันยังคงดำเนินกิจการอยู่ มีฐานลูกค้าประจำ สังเกตว่าจะมีลูกค้าเข้าออกร้านตลอดเวลา สมัยก่อนขายดีมาก มีสินค้าทุกอย่างที่กรุงเทพมีวางขาย จะว่าทันสมัยที่สุดก็ได้ กิจการรุ่งเรืองมากจนสามารถสร้างอาคารก่ออิฐถือปูนทันสมัยขนาดใหญ่กลางตลาดชุมแสงได้เป็นที่แรก ๆ
โรงแรมแก้วชัย
โรงแรมเพียงหนึ่งเดียวที่ยังยืนหยัดต่อสู้กับยุคสมัย
สิ่งที่ represent ความมั่งคั่งของชุมแสงในอดีตได้เป็นอย่างดีอีกอย่างหนึ่งคือโรงแรม ซึ่งเมื่อ 50-60 ปีก่อน ชุมแสงมีโรงแรมใหญ่ๆเปิดให้บริการกลางตลาดชุมแสงอยู่หลายแห่ง เป็นตัวชี้วัดถึงสภาพเศรษฐกิจของตัวอำเภอได้อย่างชัดเจน แขกที่มาพักส่วนใหญ่จะเป็นพ่อค้าแม่ค้าต่างถิ่นที่เข้ามาติดต่อค้าขาย หาซื้อสินค้ากลับไปยังบ้านเมืองของตนแล้วมาแวะพักค้างแรม รอทำธุระให้เสร็จ ซึ่งก็ไม่ลำบากนักเพราะที่ตั้งของโรงแรมทุกๆที่ ใกล้ท่าเรือและสถานีรถไฟทั้งนั้น
ผมมีโอกาสได้เห็นรูปถ่ายโรงแรมในอดีต ที่ไม่ใช่โรงแรมแก้วชัยนี้อีกโรงแรมหนึ่งที่ถือเป็นตำนานอีกแห่ง นั่นคือ โรงแรมแสงสยาม ทำเลดีมาก ตั้งอยู่หน้าสถานีรถไฟชุมแสง แต่ตอนนี้กลายเป็นร้านขาย houseware ไปแล้ว เป็นโรงแรมใหญ่ 2 ชั้นที่ออกแบบสวย และดูดีมากในสมัยนั้น มีโรงน้ำชาตามสมัยนิยม และแน่นอน ผมมีรูปมาฝาก อย่าเพิ่งกดปิดไปไหน ลองติดตามต่อให้จบครับ ส่วนโรงแรมแก้วชัยที่ผมแวะมาเยี่ยมชมอยู่นี้ ก็เป็นโรงแรมที่ตั้งอยู่ติดกับตลาดเก่า เป็นอาคารกึ่งไม้กึ่งปูน 2 ชั้น มีห้องพัก 20 ห้อง ปัจจุบันเจ้าของยังคงเปิดให้บริการอยู่ แต่ไม่หวังผลกำไรใดๆ (เจ้าของเป็นเศรษฐี ไม่ได้เดือดร้อนอะไร) เพราะความตั้งใจคือ อยากเปิดไว้เพื่อให้อดีตยังคงมีชีวิต ต่อลมหายใจของประวัติศาสตร์ชุมชนให้ยังคงอยู่ รู้สึกประทับใจกับแนวคิดนี้มากเชียวครับ
คนดูแลใจดีอนุญาตให้เราขึ้นไปดูถึงข้างบน ห้องพักก็ตามสภาพ อาจทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ราคาห้องพักตั้งแต่ 100 – 160 บาทเท่านั้น อาจไม่สะดวกกับการมาพักผ่อน แต่ถ้านักท่องเที่ยวอยากจะแวะมาเยี่ยมชมเรียนรู้ร่องรอยของอดีต ก็น่าจะพอได้อยู่ เจ้าของยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกท่าน และนี่คือโรงแรมโบราณใจกลางตลาดชุมแสงเพียงแห่งเดียวที่ยังคงยืนหยัดท้าทายยุคสมัยอยู่จนถึงทุกวันนี้
ชุมแสงแกลอรี่
จุดเริ่มต้นของการท่องเที่ยววิถีใหม่ แหล่งรวมงานศิลปะร่วมสมัยโดยศิลปินชาวชุมแสง
ชุมแสงแกลอรี่ ถือเป็นพื้นที่อิสระทางงานศิลปะ โดยการรวมตัวของศิลปินชาวชุมแสงแท้ๆ โดยได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งราชการ เอกชน และประชาชนในพื้นที่ ทำให้เกิด creative space แห่งนี้ขึ้นมา ภายในมีการจัดแสดงภาพวาดศิลปะ ภาพถ่าย ผลงานศิลปะ ของสะสม ของประดับ และของที่ระลึกที่สร้างรายได้หมุนเวียนมาหล่อเลี้ยงตัวชุมแสงแกลอรี่เองให้อยู่ได้
เป็นจุดเช็คอินแรกของนักท่องเที่ยวที่ต้องมาแวะถ่ายรูปก่อน ถือเป็นกุศโลบายที่ดีในการดึงคนเข้ามาหาด้วยการนำงานอาร์ตมาผนวกกับวิถีการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ที่ทันสมัย ไม่น่าเบื่อ ไม่ใช่การมุ่งเน้นการแช่แข็งทางวัฒนธรรมประเพณีมากนัก จึงทำให้ชุมแสงแกลอรี่กลายเป็น Instagramable point ที่ครองใจนักท่องเที่ยวทุกเพศ ทุกวัย หากลองเสิร์จข้อมูลของชุมแสงในปัจจุบัน เราจะเห็นภาพของชุมแสงแกลอรี่ถูกโพสต์ลงบนสื่อเยอะมากทีเดียว
แค่เฉพาะด้านหน้าตรงนี้ เราก็ได้รูปสวยๆกลับไปหลายสิบรูปแล้วครับ
เอ็งกอ
มรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชุมแสง ศิลปะการต่อสู้ในรูปแบบการแสดง ต้นกำเนิดจากชาวชุมแสงโดยแท้
เอ็งกอ หรือเอ็งกอพะบู๊ คือการร่ายรำที่ได้แรงบันดาลใจมาจากตำนานผู้กล้าเขาเหลียงซาน เป็นศิลปะการแสดงที่เป็นอัตลักษณ์อย่างหนึ่งของอำเภอชุมแสง และแน่นอนเอ็งกอ ถือกำเนิดที่นี่เป็นที่แรกโดยชาวชุมแสง ภาพลักษณ์ของเอ็งกอคือจอมโจรจิตใจดีที่คล้ายๆกับRobinhood เดินทางออกปล้นคนรวยแล้วนำเอาของไปแจกจ่ายช่วยเหลือคนจน ท่าทางการต่อสู้ร่ายรำในขบวนการแสดงก็นำเอาจินตภาพมาจากเรื่องราวในนิยายนี้นี่เอง
การแสดงเอ็งกอถือเป็นไฮไลต์ที่สำคัญของขบวนแห่งานประจำปีเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ชุมแสงนับตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน โดยนักแสดงทั้งเด็กและผู้ใหญ่ล้วนเป็นชาวชุมแสงทั้งหมด ไม่เคยจ้างจากพื้นที่อื่นมาแสดงเลย ปัจจุบัน เอ็งกอพะบู๊ ถูกจัดไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนกงมิ้ง หรือโรงเรียนพาณิชสงเคราะห์ โรงเรียนจีนแห่งเดียวในชุมแสง เพื่อเป็นการร่วมสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามให้คงอยู่คู่ชุมชนสืบไป
การแสดงเอ็งกอถือเป็นส่วนสำคัญของงานประจำปีเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ชุมแสง มักจะจัดขึ้นในช่วงอาทิตย์แรกของเดือนธันวาคมของทุกปี ซึ่งปีนี้ขบวนแห่ใหญ่จะจัดวันที่ 5 ธันวาคม 2563 ถ้าใครว่าง ผมอยากชวนให้ลองไปเที่ยวกันนะครับ
คนชุมแสงนี่ต่างจากคนถิ่นอื่นมาก ถ้ามีใครที่เข้ามาแบบมีจุดประสงค์ที่อยากช่วยส่งเสริมหรือพัฒนาให้ท้องถิ่นของตนมีความก้าวหน้าหรือเป็นที่รู้จักมากขึ้น พวกเขาจะลงมือลงแรงช่วยอย่างเต็มกำลัง กุลีกุจอทำให้อย่างเต็มใจ จะเห็นได้จากในรูปนี้ ท่านคือ เจ็กเส่ง ตำนานระดับ masterpiece ของ เอ็งกอ เจ็กเส่งให้เกียรติเราอย่างมากสำหรับการได้ชมการแสดงนี้แบบสุดพิเศษ โดยที่ท่านก็ไม่ได้ทำการแสดงนี้มานานหลายปีแล้ว (เจ็กไม่เคยทำให้ใครแบบนี้เลย) เพ้นท์หน้าแต่งตัวแบบเต็มยศแบบที่แสดงจริง แสดงให้เราดูแต่ต้นจนจบ ถือว่าเป็นความพิเศษที่เติมเต็มให้คอนเทนต์ชุมแสงนี้ exclusive ขึ้นมากเลยครับ ที่ต้องขอบคุณคือ คุณโอ๋ ชุมแสง แกลอรี่ ที่เป็นศิลปินเพ้นท์หน้าเอ็งกอในครั้งนี้ และ คุณอำนาจ คุณเก๋ คุณนุ และคุณจุ๊บ ลูกหลานชุมแสงที่อำนวยความสะดวกสำหรับการถ่ายทำในพาร์ทนี้ด้วยครับ
วิถีชีวิตชาวชุมแสง
ชุมชนน่าอยู่ ผู้คนน่ารัก เรียบง่าย แต่น่าจดจำ สงบ แต่ดังก้องในใจ
ผมใช้เวลาที่ชุมแสงเพียงแค่ 2 วัน ได้ท่องเที่ยว ได้เรียนรู้ ได้ใช้เวลาสัมผัสวิถีชุมชนอย่างเต็มที่ และได้รูปถ่ายที่เก็บเป็นความทรงจำติดกลับมามากมาย ขอเก็บตกในแง่มุมต่างๆมาฝากกันอีกสักนิดครับ
ร้านทองแม่ยวน ร้านทองและโรงงานทำทองแห่งแรกของชุมแสง
โรงเรียนเสริมสวยสำหรับสตรีอายุมากกว่า 50 ปี
ข้าวห่อใบบัว เรียบง่าย แต่แสดงถึงภูมิปัญญาอาหารพื้นถิ่นของชุมแสงในอดีตได้อย่างเด่นชัด
ป้าเชอรี่ เจ้าของร้าน ป้าเชอรี่ หมูหวาน-หมูสวรรค์ ด้านหน้าชุมแสงแกลอรี่ ห่อให้อย่างสวยงามและมีเชือกห้อยถือเดินได้ด้วย น่ารักไหมครับ
หากใครสังเกต Video ชุมแสง จากโพสต์ก่อนหน้านี้ สิ่งที่น่ารักที่ปรากฏในตัววิดีโอ คือเจ้าของร้าน ช้างเอ๊ะ อดีต และ ปัจจุบัน ของคู่ชีวิต2ท่านนี้ ยังงดงามเสมอ ลองกลับไปรับชมอีกสักรอบนะครับ
https://fb.watch/1A-6BE0oqN/
ยามชุมชน” หรือ “ยามท้องถิ่น” เป็นอีกสิ่งที่ชาวชุมแสงให้ความสำคัญ เพราะเกี่ยวเนื่องกับความเป็นอยู่ ความปลอดภัยของตนเองและชุมชนโดยรอบ ในสมัยก่อนมีการแต่งตั้ง ยามชุมชน ทำหน้าที่สอดส่อง ตรวจตรา ความเรียบร้อยปลอดภัยของชุมชน โดยเฉพาะในแต่ละถนนของตลาด ว่ากันว่ามียามชุมชนมากถึง 10 คน แบ่งหน้าที่ดูแลกันคนละโซน นอกจากจะเดินตรวจพื้นที่แล้ว ยังคอยเคาะแผ่นเหล็กบอกเวลาตอนต้นชั่วโมง นับแต่ตอนค่ำไปจนเกือบเช้า ด้วยการเคาะจำนวนครั้งที่เป็นcodeง่ายในการนับชั่วโมง กลางดึกเมื่อปิดไฟเข้านอนไปแล้ว ชาวบ้านบางคนก็อาศัยฟังเสียงจังหวะเคาะจากยามชุมชนนี่เองครับในการบอกเวลาว่าตอนนี้กี่โมงแล้ว
สภาพบ้านเรือน ร้านค้า ตลาด นอกจากจะบ่งบอกถึงความมั่งคั่งในอดีตที่สานต่อมาจนถึงเวลาปัจจุบันแล้ว ยังเล่าขานความเป็นชุมแสงในแง่ของการใช้ชีวิตร่วมสมัยระหว่างอดีตและปัจจุบันได้อย่างเรียบง่ายลงตัว ถึงแม้บ้านเรือน ร้านค้าจะเป็นบ้านไม้แทบจะ 90% ของตัวตลาดทั้งหมด ความเก่าโบราณนี้ ไม่ได้เก่าแล้วเก่าเลย แต่หลาย ๆ ชีวิตยังดำเนินชีวิตกันอย่างปกติ หมุนเวียนต่อไปเหมือนในครั้งอดีต
มุมถ่ายรูปเท่ ๆ ตรงนี้คือตรอกโรงงานทำทอง ร้านทองแม่ยวนในสมัยก่อนครับ
ภาพพ่อค้าแม่ค้า ผู้ใหญ่ เด็ก ที่ยังคงใช้ชีวิตที่นี่ จากที่ได้ทำความรู้จักกับตัวชุมชน เหมือนมีสายตาหลายๆคู่จับจ้องเราอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่เพราะการอะไรไม่ดีสักอย่าง แต่คำตอบที่ได้นั้นคือ ชาวชุมแสงมีความเอื้อเฟื้อมาก พี่น้องชาวชุมแสงเต็มใจ รอที่จะเข้ามาช่วยเหลือเราทุกเมื่อ เพียงแค่เราเอ่ยปาก
ราดหน้าตาโก๊ะ
เมนูเส้นเคล้ากลิ่นเตาถ่าน จุดหมายแรกของนักชิมที่ “ต้องห้ามพลาด”
อาม่าในอิริยาบถสบาย ๆ เจ้าของตึกที่อลังการที่สุดในตลาดชุมแสงครับ
นี่ไงครับ โรงแรมแสงสยาม ที่ผมพูดถึง เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2481
ความเก่าของบ้านไม้อาจจะดูแข็งไปบ้างในแง่ของความรู้สึก แต่ภาพนั้น กลับถูกทำให้อ่อนลงด้วย น้ำใจ และความน่ารักของชาวชุมแสงที่มีต่อนักท่องเที่ยวทุกคน เดินเล่นที่นี่รู้สึกอบอุ่นมาก ปลอดภัยมาก แล้วก็ยังสนุกมากอีกด้วย ถ้าจะให้นึกภาพของชุมแสง ส่วนหนึ่งที่สำคัญมากและยังคงติดอยู่ในใจแม้จะกลับออกมาแล้ว นั่นก็คือ ภาพของผู้คน พูดได้อย่างเต็มปากว่า “ชุมแสง คือ ผู้คน” จริง ๆ
แล้วพบกันใหม่ในทริปหน้านะครับ
รัก, เปียง