SUKHOTHAI 2020
รีวิวฉบับย่อสุโขทัย สำหรับวันหยุดเสาร์อาทิตย์
สวัสดีครับ ผมเปียง และวันนี้เราอยู่กันที่สุโขทัยครับ ทิ้งท้ายปี 2020 ด้วยทริปสั้นๆที่อัดแน่นด้วยเนื้อหาเน้นๆมาฝากกัน จากแบบเรียนสมัยเด็ก กลายเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญที่ทำให้ผมอยากมาเยือนที่นี่ด้วยตัวเองสักครั้ง ในฐานะที่สุโขทัยเป็นจุดกำเนิดของลายสือไทย และการเป็นราชธานีแห่งแรกของไทยที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลที่สุด ผมเคยคิดเหมือนกันนะครับ ความยิ่งใหญ่สมัยนั้นจะยิ่งใหญ่ได้ขนาดไหนกันนะ และทุกอย่างก็ตอบคำถามด้วยตัวเอง เมื่อเราได้มาสัมผัสของจริงครับ
สุโขทัย เมืองเก่าทางภาคกลางตอนบนของไทย คำว่า “สุโขทัย” ที่มีชื่ออันไพเราะนี้ เป็นคำภาษาสันสกฤต มีความหมายว่า “รุ่งอรุณแห่งความสุข” เป็นที่ตั้งของเมืองหลวงแห่งแรกของชนชาติไทย อาณาจักรอันยิ่งใหญ่ที่เป็นต้นกำเนิดของวัฒนธรรม ภาษา และสรรพชีวิตน้อยใหญ่ ร่องรอยอดีตแห่งความเจริญรุ่งเรืองของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย ที่สั่งสมความเป็นพหุวัฒนธรรมและส่งต่อความเป็นอารยะ สะท้อนความเป็นชาติไทยมาจนถึงทุกวันนี้ โดดเด่นและแข็งแกร่ง จนถูกยกย่องให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมจากองค์การ UNESCO นี่คือความภาคภูมิใจของชาวไทยอย่างแท้จริง ความสวยงามของที่นี่ยังคงประจักษ์ชัดอยู่เสมอทั้งในสายตาของคนไทย และนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก
ปี 2020 สุโขทัย เมืองเก่าแห่งนี้ยังคงเคลื่อนไหวครับ ยืนยันจากสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมากกว่า 1.5 ล้านคนที่เดินทางมาท่องเที่ยวยังสุโขทัยแห่งนี้เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากทีเดียวครับ อยากให้ค่อยๆเปลี่ยนภาพจำสุโขทัยในแบบที่ไม่ใช่มีแต่โบราณสถานแบบที่เราคุ้นเคยกันอีกต่อไป แต่มีสถานที่และกิจกรรมเจ๋งๆ สนุก และเท่ แบบที่หลายๆคนคิดไม่ถึงแน่ๆเกิดขึ้นมาอยู่เรื่อยๆครับ ในทริปสั้นๆของผมเกิดขึ้นในวันเสาร์อาทิตย์เท่านั้นเอง แต่เป็น 2 วันที่คุ้มมากเพราะเราได้สัมผัสทั้งของใหม่ และของเก่าในทริปเดียวกัน
สำหรับสถานที่ต่าง ๆ ที่ผมไปเยือนมาผมจะแบ่งออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ เรียงกันนะครับ ตั้งแต่ โบราณสถาน อีเวนต์อย่างงานเผาเทียนเล่นไฟและการตักบาตรที่สะพานบุญ สถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจรอบๆจังหวัด ร้านอาหารและคาเฟ่ที่แนะนำ ปิดด้วยโรงแรมที่ผมไปพัก ลองดูสถานที่ต่าง ๆ ที่ผมไปวันนี้ จัดเส้นทางในแบบของคุณ และตามไปเที่ยวในวันหยุดนี้ด้วยกันครับ และที่สำคัญไปเที่ยวไหนช่วงนี้ อย่าลืมใส่หน้ากากอนามัยและปฏิบัติตามแนวทางการควบคุมโรคเสมอนะครับ
ด้วยความเป็นห่วงครับ
เปียง
SUKHOTHAI 2020
รีวิวฉบับย่อสุโขทัย สำหรับวันหยุดเสาร์อาทิตย์
เมื่อแสงอาทิตย์แรกสาดส่องลอดจากทิวเมฆลงมาแตะปลายหญ้าในช่วงเวลาตอนเช้า นับเป็นสัญลักษณ์แห่งการเริ่มต้นใหม่ของชีวิตในทุกๆวัน สรรพชีวิตต่าง ๆ ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นเพื่อเริ่มวิถีหลากหลายตามแนวทางของตน ทุกๆก้าวในตอนเช้าทำให้เราห่างจากอดีตเพิ่มขึ้นคราวละวันๆ แต่ในขณะเดียวกัน เราต่างก็เขียนบทบันทึกก้าวใหม่ไปด้วยอยู่เสมอในทุกวัน ๆ เช่นเดียวกัน วนเวียนไป ไม่รู้จบ “อดีต ปัจจุบัน หรือแม้แต่อนาคต” ต่างมีบทบาทร่วมกันในการจารึกประวัติศาสตร์ในหลายด้าน หลายมิติ เป็นพลังกอดพยุงกันและกันไว้อยู่เนืองๆเสมอ ตอนเช้าของทุกวัน จึงเป็นช่วงเวลาที่มนุษย์เราให้ความสำคัญมาก จดจำมาก และตราตรึงมาก มันคือรุ่งอรุณแห่งก้าวย่างใหม่ รุ่งอรุณแห่งชีวิต “รุ่งอรุณแห่งความสุข”
สุโขทัย เมืองเก่าทางภาคกลางตอนบนของไทย คำว่า “สุโขทัย” ชื่ออันไพเราะนี้ เป็นคำภาษาสันสกฤต มีความหมายว่า “รุ่งอรุณแห่งความสุข” เป็นที่ตั้งของเมืองหลวงแห่งแรกของชนชาติไทย อาณาจักรอันยิ่งใหญ่ที่เป็นต้นกำเนิดของวัฒนธรรม ภาษา และสรรพชีวิตน้อยใหญ่ ร่องรอยอดีตแห่งความเจริญรุ่งเรืองของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย ที่สั่งสมความเป็นพหุวัฒนธรรมและส่งต่อความเป็นอารยะ สะท้อนความเป็นชาติไทยมาจนถึงทุกวันนี้ โดดเด่นและแข็งแกร่ง จนถูกยกย่องให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมจากองค์การ UNESCO นี่คือความภาคภูมิใจของชาวไทยอย่างแท้จริง
สุโขทัย ถือเป็นจังหวัดทางภาคกลางตามการแบ่งเขตการปกครองของประเทศไทย มีอาณาเขตติดกับจังหวัดต่างๆที่พวกเรารู้จักกันดี อาทิ แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร ตาก และลำปาง ห่างจากกรุงเทพฯ ระยะทางราวๆ 432 กิโลเมตร หรือราว 6 ชั่วโมงโดยการเดินทางทางบก สำหรับทริปนี้ด้วยความที่เป็น weekend-trip ผมจึงเลือกบินจากสุวรรณภูมิมาลงที่ท่าอากาศยานสุโขทัย หรือ สนามบินสุโขทัย ใช้เวลาเพียงแค่ 40 นาทีเท่านั้น ย่นระยะเวลาให้มาถึงเร็วๆจะได้เก็บที่เที่ยวมาฝากเยอะๆครับ และ location ที่ผมนำเสนอในคอนเทนต์นี้ 3 ใน 15 ที่ ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับสนามบินสุโขทัยนี่เองครับ
หากจะ mention สุโขทัยในแง่ประวัติศาสตร์ที่เป็นเรื่องเด่นชูโรงของจังหวัดสุโขทัยแล้ว ยังมีมิติอื่นที่สามารถเสพควบคู่กันไปได้ระหว่างทริป เช่น การได้แวะพักในคาเฟ่หรือร้านอาหารแบบสมัยใหม่ที่กำลังผุดขึ้นมาในเมืองประวัติศาสตร์แบบนี้ การได้เยี่ยมชมโครงการเกษตรอินทรีย์ฯ เรียนรู้วิถีเกษตรแบบยั่งยืน การที่ได้แวะเมืองเก่าสวรรคโลกที่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของสุโขทัยที่ตอนนี้เริ่มปรับรับไอเดียใหม่ๆเข้ามาช่วยในเรื่องการท่องเที่ยวชุมชน หรือ การได้เที่ยวชมงานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ งานใหญ่ประจำปีระดับโลก ที่ปีนี้ไม่ได้ยึดโยงในแง่ traditional อย่างเดียว หากแต่หน่วยงานทางด้านท่องเที่ยวของสุโขทัยต่างก็ร่วมแรงร่วมใจกันผลักดันให้สุโขทัยเป็น Creative City หนึ่งใน 66 เมืองจากทั่วโลกของโปรเจกต์เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ UNESCO ดึงความสมัยใหม่ กระฉับกระเฉงนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ร่วม เพื่อดึงดูดและครองใจนักท่องเที่ยวให้กว้างขึ้นและหลากหลายกลุ่มมากขึ้น ทำให้ทริปของสุโขทัยในยุคนี้ ดูมีความ cool ขึ้น ยกระดับการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด เข้าถึงกลุ่มคนได้มากขึ้น ซึมซับอดีตแบบไม่ตกยุค ความ special จึงถูกรวมอยู่ในไอเดียนี้ รอให้พวกเรา นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศได้ลองไปสัมผัสกันตลอดทั้งปี
ผมจะค่อยๆเผยความเป็นสุโขทัยในหลายๆแง่มุมให้ชมกันครับ ตามผมมาเรื่อย ๆ ครับ
สำหรับคอนเทนต์นี้ ขอออกตัวก่อนว่า ตัวผมอาจจะไม่ใช่คนที่มาทางสายประวัติศาสตร์มากนัก และอย่างที่ทุกคนทราบว่า ประเทศไทยเรามีการชำระประวัติศาตร์หรือมีการยกข้อมูลจากนักวิชาการประวัติศาสตร์มาหักล้าง นำเสนอหรืออธิบายเพิ่มเติมอยู่ตลอด ซึ่งนั่นหมายถึงว่า ไม่มีข้อมูลไหนที่บอกได้เต็มปากว่าคือข้อมูลที่แท้แน่นอนหรือคงไว้แบบลบล้างไม่ได้ มีการตีความจากหลักศิลาจารึกและบันทึกประวัติศาสตร์หลายชิ้นหลายเวอร์ชั่นมาก ฉะนั้นสิ่งที่นำมาเล่า จะถือว่าเป็นสิ่งที่ย่อยจากหลาย ๆ แหล่ง หลายการบอกเล่า เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมานำเสนอกันเสียมากกว่านะครับ แต่กระนั้นก็อยากฝากให้ลองหาเวลาอ่านเพิ่มเติมในหลายๆมิติกันดู เพราะประวัติศาสตร์ทั้งก่อนและหลังในสมัยสุโขทัย ก็มีข้อมูลที่ฟังดูน่าตื่นเต้น น่าศึกษาไว้อยู่ไม่น้อย และอยากให้ทุกคนนำกลับมาแลกเปลี่ยน เล่าสู่กันฟังบ้าง ผมจะรู้สึกดีใจมากเลยครับ
อาณาจักรสุโขทัยที่เราเห็นถึงความยิ่งใหญ่กันนี้ มิใช่อยู่ๆก็พุ่งพรวดก้าวกระโดดขึ้นมาเป็นอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรืองในชั่วพริบตาเลยนะครับ อยากให้ทุกคนลบภาพของแผนที่ไทยและประเทศรายรอบในปัจจุบันออกไปจากหัวเราเสียก่อน แล้วเราลองย้อนเวลากลับไปยังอดีตของเมืองสุโขทัยในครั้งเก่าก่อนพร้อมกันครับ
ในอดีต ก่อนการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย มีบ้านเมืองของชาวไทยตั้งถิ่นฐานอยู่ตามบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำอันสมบูรณ์เช่น ศรีสัชนาลัย หริภุญชัย สระหลวง-สองแคว(พิษณุโลก) ลพบุรี สุพรรณบุรี นครศรีธรรมราช ตลอดจนแว่นแคว้นชนชาติรายรอบเช่น ลาว พม่า และอาณาจักรขอมหรือเขมรโบราณที่มีความยิ่งใหญ่และมีอิทธิพลเหนือสุโขทัยในระยะแรก มีการส่งคนจากทางเขมรมาดูแลปกครองอยู่ตลอดและสุโขทัยก็ยังมีการส่งเครื่องบรรณาการไปยังเขมร ยืนยันความสัมพันธ์ของทั้งสองเมือง
ก่อนการสถาปนากรุงสุโขทัย ชุมชนเมืองสุโขทัยมีผู้คนอาศัยอยู่เป็นเมืองอยู่แล้วแต่เดิม “วัดพระพายหลวง” เป็นวัดขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมืองด้านเหนือ โดยอยู่ขนาบกับกำแพงเมืองชั้นนอก แต่เดิมเคยเป็นวัดหลวง เป็นวัดศูนย์กลางของเมืองสุโขทัย จะเรียกได้ว่าเป็นวัดเก่าแก่แรกเริ่มก่อนสร้างอาณาจักรสุโขทัย หรือวัดที่ตั้งอยู่กลางเมืองสุโขทัยเดิมก่อนที่จะเปลี่ยนศูนย์กลางไปทางทิศใต้ในเขตวัดมหาธาตุที่อยู่ติดกันก็ว่าได้
จุดเด่นของวัดนี้นอกจากจะพบโบราณวัตถุจำนวนมากที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของเมืองสุโขทัย ลพบุรี และเมืองนครธมของเขมรแล้ว ลายปูนปั้น ที่ถือเป็นลายปูนปั้นที่เก่าแก่ที่สุดของไทย คล้ายคลึงกับลายปูนปั้นของวัดมหาธาตุในลพบุรี ซึ่งเมื่อหลังจากการค้นพบลายปูนปั้นที่บอกเล่าเรื่องราวพุทธประวัติแล้ว ทำให้เกิดสันนิษฐานจากลายปูนปั้นนี้ว่าถูกสร้างขึ้นจากคติความเชื่อของฝ่ายพุทธศาสนามหายาน ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะเขมร ในยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งนครธม ปราสาท 3 หลังจึงแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะร่วมสมัยของสุโขทัย ลพบุรี และ เขมร ในช่วงเวลานั้นได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีประติมากรรมหินที่มีลักษณะเดียวกันกับประติมากรรมของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เมืองพระนคร กัมพูชา และเมืองพิมาย ภายหลังได้เปลี่ยนเป็นวัดแบบเถรวาทครับ
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
การถือกำเนิดของอาณาจักรสุโขทัยในพุทธศตวรรษที่ 18 หรือราว พ.ศ. 1780 มาจากหลายปัจจัยที่พร้อม ทั้งสภาพภูมิศาสตร์ ตำแหน่งที่ตั้ง ที่สามารถควบคุมเส้นทางการค้าและการคมนาคมระหว่างบ้านเมือง และปัจจัยทางสังคมในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อเปลี่ยนผ่านที่เกิดจากอิทธิพลของเขมรโบราณอย่างที่กล่าวมา ที่เคยยิ่งใหญ่ แต่กลับเสื่อมอำนาจลงในช่วงนั้น รวมไปถึงผู้นำไทยในขณะนั้น คือ พ่อขุนผาเมือง และ พ่อขุนบางกลางหาว ในฐานะญาติผู้ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ร่วมมือร่วมใจกันสร้างบ้านแปงเมืองจนมั่นคงยิ่งใหญ่ต่อมาในที่สุด
จารึกวัดศรีชุม หรือ ศิลาจารึกหลักที่ 2 ได้บอกเล่าเรื่องราวการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยไว้ว่า เมื่อพ่อขุนศรีนาวนำถม (หรือศรีนาวนำถุม) แห่งเมืองเชลียง ผู้ทรงปกครองสองแคว้นคือ นครสุโขทัยและนครศรีสัชนาลัย ได้เกิดสิ้นพระชนม์ ขอมสบาดโขลญลําพง (ขอมสบาด คือ เขมรดง , โขลญลำพง คือ ตำแหน่งคนเฝ้าเทวสถานหรือวัด) ได้ถือโอกาสนำกำลังเข้ายึดเมืองศรีสัชนาลัย ยังความวุ่นวายระส่ำระสายภายในอาณาจักร ผู้นำไทยในขณะนั้น 2 ท่านคือ พ่อขุนผาเมือง และ พ่อขุนบางกลางหาว ผู้ทรงเป็นพระญาติและเพื่อนรักกัน ได้รวบรวมไพร่พล นำกำลังเข้าขับไล่พวกขอมออกไปจากดินแดนจนสำเร็จ หลังจากนั้นพ่อขุนผาเมือง ได้พระราชทานชื่อ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ แก่ พ่อขุนบางกลางหาว สถาปนาขึ้นเป็น ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงแห่งอาณาจักรสุโขทัย ปกครองสืบต่อมาถึง 9 รัชสมัย
และนี่คือ วัดมหาธาตุ หรือวัดหลวง ศูนย์กลางอาณาจักรสุโขทัยแห่งใหม่ที่ย้ายมาจากวัดพระพายหลวง ที่บอกได้เลยว่าถ้าใครมาสุโขทัยแล้วไม่มาเยี่ยมชมความยิ่งใหญ่ของวัดนี้ อาจจะถือว่าทริปของคุณยังไม่ครบไม่จบสมบูรณ์นะครับ
เมืองต่างๆบริเวณลุ่มแม่น้ำ ปิง ยม น่าน ได้พัฒนาขึ้นจากชุมชนทางการค้าโบราณ ระหว่างกลุ่มบ้านเมืองในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง บ้านเมืองในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ไล่ลงมาถึงทะเลฝั่งอันดามัน จรดทางใต้ เมืองนครศรีธรรมราช ในยุคทองของดินแดนสุโขทัยนั้น ได้แผ่ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวางในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ดังปรากฏชื่อเมืองต่างๆในจารึกของพ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัยโบราณ มีระบบการจัดผังเมืองอย่างชาญฉลาดและอัจฉริยะ ดังจะพบว่า กรุงสุโขทัยมีการพบร่องรอยกำแพงเมือง คูน้ำ คันดิน มีการระบายน้ำจากภูเขาสูงผ่านมายังตัวเมืองไปลงฝั่งแม่น้ำยม ยามหน้าน้ำหลาก มีตระพังเก็บกักน้ำ (แก้มลิง) ขนาดใหญ่ มี สรีดภงส์ หรือ ทำนบพระร่วง คอยกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง แสดงถึงอัจฉริยภาพของคนในสมัยนั้นเป็นอย่างดี ซึ่งถ้าเราสังเกตดีๆ จะเห็นการวางผังเมืองในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีวัดมหาธาตุแห่งนี้อยู่เป็นศูนย์กลาง มีคูน้ำล้อมรอบ มีกำแพงเมืองทุกทิศ ถูกต้องตามตำราและประวัติศาสตร์ที่จารึกเลยครับ
บริเวณนี้ หลายคนอาจไม่ค่อยสังเกต หรืออาจจะไม่ค่อยข้ามมาดูกันมากนัก ที่นี่คือ เนินปราสาท เป็นสถานที่ที่ค้นพบศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่ช่วยเปิดหน้าประวัติศาสตร์อันสำคัญของไทย โดยปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ และยังเป็นสถานที่เดียวกับที่ค้นพบ พระแท่นมนังคศิลาบาตร ที่พ่อขุนรามคำแหงประทับนั่งว่าราชการอีกด้วย
หากเราจะค้นคว้ากันต่อ ข้อความในจารึกหลักที่ 1 ได้แสดงถึงย่านที่อยู่อาศัย ย่านการค้า เทือกสวนไร่นา และวัดวาอาราม ศาสนสถาน พระอาราม พระสถูปเจดีย์มากมาย เนื่องจากพ่อขุนรามคำแหง พระมหากษัตริย์ลำดับที่ 3 แห่งสุโขทัยที่พวกเรารู้จักกันดี ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก จึงทรงสถานปนาพระอารามใหญ่น้อยทั้งฝ่ายคามวาสีและอรัญวาสี (คามวาสี คือ พระที่อยู่ตามวัด และ อรัญวาสี คือ พระในวัดป่า) สร้างพระบรมธาตุเพื่อสักการะบูชาเป็นศูนย์รวมจิตใจ อาราธนาพระสงฆ์นักปราชญ์จากหลายแว่นแคว้นมาเผยแผ่พระธรรมคำสอน กลายเป็นศูนย์กลางทางบวรพุทธศาสนาในอาณาจักรนี้ เป็นหลักฐานที่สะท้อนภาพของสุโขทัยอันกว้างขวางใหญ่โต รวมไปถึงการทำมาหาเลี้ยงชีพของคนสุโขทัย ที่มีความสุขสบาย ไม่ถูกจำกัดการทำมาค้าขาย ดังคำจารึกที่เราคุ้นหูกันในชั้นเรียนสมัยมัธยมฯที่ว่า
“เมืองสุโขทัยนี้ดี …
ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า
ใครจักใคร่ค้าม้า ค้า
ใครจักใคร่ค้าเงือน ค้าทอง ค้า …”
ภาพดงต้นตาลทุกต้นที่เห็นนี้ ก็มีความหมายครับ เพราะได้ทำการปลูกตามข้อความบนศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่กล่าวถึงการปลูกต้นตาลของพ่อขุนรามฯ ทางกรมศิลปากรจึงได้นำต้นตาลมาปลูกไว้ยังที่แห่งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ที่ว่าไว้ด้วยครับ
นอกจากนี้ในด้านศิลปะวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์สืบต่อมายังปัจจุบันของสุโขทัยนั้นก็คือ ภายนอกกำแพงเมืองทางทิศเหนือของสุโขทัยและเมืองศรีสัชนาลัย ถูกค้นพบ เตาทุเรียง หรือเตาเผาเครื่องปั้นสุโขทัย (เครื่องปั้นสังคโลก) รวมกันมากกว่า 300 เตา และซากเครื่องปั้นเครื่องเคลือบต่างๆมากมาย อันแสดงให้เห็นถึงความสามารถของช่างฝีมือ และความเจริญของแคว้น ในการส่งออกเครื่องปั้นไปค้าขายยังดินแดนแถบใกล้เคียง นำรายได้เพิ่มพูนสู่ตัวอาณาจักรและชาวบ้านมากพอๆกับเครื่องปั้นของจีนในขณะนั้น อีกประการที่สำคัญ สุโขทัยคือจุดกำเนิดลายสือไทย อักษรไทยโบราณที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1826 หรือ 737 ปีนับจนปัจจุบัน
ระหว่างทางที่ move ไปอีกวัดหนึ่ง ได้พบกับรถโดยสารประจำทางแบบโบราณที่ยังคงวิ่งให้บริการประชาชนอยู่ “รถคอกหมู” คือรถสองแถวไซส์ใหญ่ที่ใช้โครงไม้ต่อตัวถังขึ้นสำหรับวางเบาะนั่ง รูปทรงสี่เหลี่ยมคล้ายคอกหมู ชาวบ้านจึงเรียกว่า รถคอกหมู สีสันฉูดฉาดสะดุดตา เป็นอีกอัตลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็นสุโขทัยได้เป็นอย่างดี
ไฮไลต์ของไฮไลต์ในบรรดาวัดที่ผมประทับใจเป็นพิเศษน่าจะเป็นวัดนี้ครับ “วัดศรีชุม” ที่อยู่ไม่ไกลจากกำแพงเมืองไปทางทิศเหนือ แค่แรกก้าวมองเข้าไปจากหน้าทางเข้าก็รู้สึก stunning กับภาพเบื้องหน้าแล้วครับ ด้วยองค์พระที่มีขนาดใหญ่เต็มพื้นที่ของวิหาร และด้านขวามีต้นมะม่วงป่าอายุกว่า 200 ปี ขนาดเส้นรอบวง 6 เมตร สูงถึง 20 เมตร ยืนเคียงกันกับตัววิหาร ยิ่งทำให้ดูยิ่งใหญ่มากขึ้นไปอีกทีเดียว ผมไม่รอช้า รีบเข้าไปข้างในกันครับ
หลายคนถ้าเคยไปเที่ยวสุโขทัย หรือเคยอ่านประวัติศาสตร์กรุงเก่าสุโขทัยมาบ้าง คงคุ้นภาพของพระพุทธรูปขนาดใหญ่ นั่นคือ พระอจนะ ที่ชาวสุโขทัยเลื่อมใสศรัทธาเป็นที่เลื่องลือถึงความศักดิ์สิทธิ์ ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสักการะเป็นจำนวนมากต่อปี และถือเป็นวัดที่มีความสำคัญอย่างมากของอาณาจักรสุโขทัยและสำคัญต่อการสันนิษฐานข้อมูลจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากได้มีการค้นพบศิลาจารึก หลักที่ 2 ภายในวัดนี้ สามารถสันนิษฐาน-บอกเล่าเรื่องราวในอดีตให้ชนรุ่นหลังได้รับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของสุโขทัยในเวลาต่อมา
พระอจนะ แปลว่า ผู้ไม่หวั่นไหว เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ ขนาดหน้าตักกว้าง 11.30 เมตร สูง 15 เมตร หรือราวๆตึก 6 ชั้น ศิลปะแบบสุโขทัย ประดิษฐาน (นั่ง) เต็มพื้นที่ในวิหารวัดศรีชุม ตัวองค์พระถูกประดิษฐานไว้แคบๆเต็มพื้นที่พอดีองค์พระ ถือเป็นลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่นิยมทำ เห็นได้ทั่วไปตามโบราณสถาน วัดวาอารามของสุโขทัย เช่น วัดมหาธาตุ วัดกุฎีราย และวัดในเมืองศรีสัชนาลัย เป็นต้น ในส่วนของตัววิหารก็ถูกสร้างให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมทรงคล้ายตึกตามสมัยนิยม ครอบองค์พระอจนะอยู่ หากแต่หลังคาวิหารได้พังลงมาแล้วเหลือเพียงตัววิหารและฐานโดยรอบ
ด้านข้างของผนังปูนที่มีความหนามากนั้น จะพบเห็นช่องทางเข้าเล็กๆ เป็นอุโมงค์ที่สามารถเดินบันไดขึ้นไปยังมณฑปด้านบนได้ ภายในมณฑปมีประติมากรรมการแกะสลักเพดานเป็นลายดอกบัวบาน ลายดอกบัวแปดกลีบ ลายแกะสลักภาพพุทธชาดก รอยพระพุทธบาท แสดงนัยยะถึงความเจริญรุ่งเรืองในขณะนั้น โดยศิลปะแบบนี้มีความคล้ายกับศิลปะในแถบลังกาทวีป เล่ากันว่า ยามครั้นศึกในสมัยกรุงศรีอยุธยากับพม่าได้สิ้นสุดลง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ทรงประกาศอิสรภาพจากพม่าแล้ว แต่เมืองเชลียงยังไม่ยกเลิกส่งส่วยให้กับพม่า จึงทรงยกทัพมากำราบเมืองเชลียงที่ตั้งอยู่ใกล้กับสุโขทัย ขณะนั้นสมเด็จพระนเรศวรฯ ได้ทรงประทับแรมยังวัดศรีชุมก่อนจะเดินทัพไปตีเมืองเชลียง แต่บรรดาทหารต่างก็ไม่ค่อยกระตือรือร้นในการทัพ เพราะเหมือนเป็นการรบรากับพี่น้องคนไทยด้วยกันเอง จึงออกกุศโลบายให้ทหารนายหนึ่งปีนขึ้นไปยังมณฑป พูดให้กำลังใจแก่เหล่าทหารเสียงดังก้องได้ยินทั่วกันกังวาลไปทั้งวิหารนั้น จึงทำให้เหล่าทหารเกิดฮึดสู้ มีกำลังใจในการศึกต่อมา จึงเป็นที่มาของคำว่า “พระพูดได้”
ถ้าใครที่ได้ไปเที่ยว ลองมองขึ้นไปด้านบนดูนะครับ จะเห็นช่องด้านบนมณฑปอยู่ นั่นคือที่มาของเรื่องเล่า พระอจนะ พระพูดได้ องค์ที่เราเห็นอยู่นี้ครับ
ต่อเนื่องที่วัดแห่งที่ 4 ครับ “วัดศรีสวาย”
วัดศรีสวาย เป็นวัดที่อยู่ใกล้กับวัดมหาธาตุเพียงแค่ 300 เมตร เป็นอีกหนึ่งวัดที่สวยงามและเป็นเอกลักษณ์มาก วัดศรีสวายมีความแปลกกว่าวัดอื่นๆครับ หากลองเปิด google maps เล่นๆดู จะเห็นได้ว่า วัดศรีสวายมีการวางผังวัดให้สร้างหันหน้าไปทางทิศใต้ ในขณะที่วัดอื่นๆหันไปทางทิศตะวันออก แปลกใช่ไหมครับ วัดที่เราไปมาไม่ว่าจะวัดไหน ทุกวัด สร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออกอย่างที่เรารู้กันดีอยู่แล้ว เรามาลองค้นคว้าเพิ่มเติมกันดูว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้
เมื่อแรกเริ่มของการสำรวจวัด ได้ค้นพบวัตถุโบราณ อาทิ หินรูปพระอิศวร หินจำหลักทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ และชิ้นส่วนของศิวลึงค์ จึงสันนิษฐานจากหลักฐานเหล่านี้ว่า วัดศรีสวาย เดิมในครั้งก่อนการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย น่าจะเคยเป็นเทวสถานพราหมณ์ในศาสนาฮินดูมาก่อน จึงมิได้สร้างวัดให้หันหน้ารับทิศตะวันออก อีกทั้งตัวปรางค์ทั้งสามยอดเป็นศิลปะแบบขอม มีคูน้ำล้อมรอบตามคติความเชื่อแบบเขมร แต่ภายหลังการก่อกำเนิดกรุงสุโขทัยแล้ว จึงได้ดัดแปลงเทวสถานแห่งนี้เป็นวัดแบบพุทธในภายหลัง โดยได้ต่อเติมสร้างวิหารไว้ทางด้านหน้า สร้างกำแพงศิลาแลงโดยรอบ ประดับประดาหน้าบัน ลายปูนปั้นเทวดา อัปสร ครุฑ บนยอดปรางค์ลดหลั่นเป็นชั้น ลายปูนปั้นบางส่วนมีความคล้ายลวดลายบนเครื่องถ้วยชามแบบจีนสมัยราชวงศ์หยวน ถือเป็นวัดที่มีความเป็นพหุวัฒนธรรมอยู่มากเลยครับ
เวลาผ่านไปไวมาก พระอาทิตย์ตกแล้ว ผมเดินทางมาถึงภายในงานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ ประจำปี 2563 งานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกแล้วครับ ผู้คนเริ่มทยอยเข้างานเหมือนกันครับ
งานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย เป็นงานประเพณีที่สำคัญของชาวสุโขทัยและของชาวไทยมากๆที่จัดต่อเนื่องมายาวนานนะครับ เป็นงานที่ใครๆต่างก็ต้องกาในปฏิทินไว้ว่า 1 วัน ในหนึ่งปีนี้ จะต้องมาเที่ยวชมให้ได้ ไม่ใช่แค่ชาวไทยอย่างเรานะครับ งานนี้ดังไปทั่วโลก นักท่องเที่ยวต่างชาติชื่นชอบงานนี้อย่างมาก หากแต่ปีนี้ด้วยสถานการณ์โรคCOVID-19 จึงทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติบางตาลงไป หวังว่าปีหน้านักท่องเที่ยวจะได้กลับมาเต็มที่กันเหมือนเดิมนะครับ
งานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย จัดขึ้นภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย หรือในเขตกำแพงเมืองเก่าทั้งหมด มีการแบ่งโซนชัดเจน หลากหลาย ตัวพื้นที่ของงานใหญ่มาก ครอบคลุมทั้งตัววัดสำคัญๆใจกลางอุทยานฯและลานพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช และไฮไลต์ที่นักท่องเที่ยวใฝ่ฝันที่จะได้ชมคือการแสดงแสง สี เสียงประกอบเทคนิคอันตระการตาท่ามกลางวัดมหาธาตุหรือวัดหลวงของสุโขทัย สร้างความตื่นตาให้กับนักท่องเที่ยวอย่างมาก จุดเด่นอีกงานที่นักท่องเที่ยวจะต้องเดินเข้ามาถ่ายรูป เพราะตรงนี้มีการประดับไฟสวยงามมาก นั่นก็คือ วัดชนะสงคราม ตรงหน้านี้คือเจดีย์องค์มหึมา แจ่มชัดท่ามกลางนักท่องเที่ยวที่รอชมการจุดพลุในตอนเที่ยงคืนครับ
น้ำหวานรสต่าง ๆ ชาวสุโขทัย เรียกว่า “น้ำโหล” ครับ
มรดกโลก กินได้
ความพยายามและความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงภาคส่วนในพื้นที่สุโขทัย ต่างก็จับมือกันสร้างสรรค์กิจกรรมที่ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวมาหลายยุคหลายสมัย และในปีที่ผ่านมา องค์การ UNESCO ได้ประกาศผลการคัดเลือกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ( Creative Cities Network ) ประจำปี พ.ศ. 2562 สาขาหัตกรรมและศิลปะพื้นบ้าน โดยจังหวัดสุโขทัย ในฐานะเมืองมรดกโลก คือ 1 ใน 66 เมืองจากทั่วโลก ที่ได้รับการคัดเลือกนี้ โดยทางอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร ได้เปิดให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์กิจกรรมในรูปแบบต่างๆ โดยทำงานร่วมกันบนนิยามสั้นๆว่า “มรดกโลก กินได้” มีเป้าหมายในการสร้างความอยู่ดี กินดี มีสุข ให้ชุมชมเกิดรายได้เพิ่ม จากการนำเสนอวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ที่มีอยู่เดิม ผ่านกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในรูปแบบต่างๆ
Cup Cake ลายถ้วยสังคโลก ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่มีความน่ารัก แปลกตา ขนมคัพเค้กผสมผสานการเทครีมลายสังคโลก ก็เก๋ไปอีกแบบ นั่งดูสาธิตจนเพลินเลยล่ะครับ
TAT Sukhothai-Kamphaeng Phet
Sukhothaicreativecity
รอบ ๆ เราจะเห็นซุ้มขายอาหารพื้นถิ่น ขนมโบราณเต็มไปหมดครับ และแน่นอน มาสุโขทัย ก็ต้องทาน “ข้าวเปิ๊บ” ให้ได้ เคยทานกันไหมครับ
ความโดดเด่นของจังหวัดสุโขทัย นอกจากความเป็นมรดกโลก คือเรื่องราวของวิถีชีวิต ผู้คนที่เติบโตมาพร้อมกับงานศิลปะ อาทิ การทอผ้าตีนจก การทำเครื่องสังคโลก ศิลปะปูนปั้น งานไม้ และงานทำลายทองคำ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีอัตลักษณ์ สวยงามจนชาวโลกยกย่อง คนรุ่นใหม่ของสุโขทัยที่ได้ซึมซับสิ่งเหล่านี้มา ก็ได้นำมาปรับกระบวนการในการผลิต และนำเสนอสินค้าในรูปแบบใหม่ที่ดูทันสมัย เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น อย่างร้านนี้นำไอเดียเรื่องลายสือไทย มาแตกแขนงเป็นสินค้าในหลายๆรูปแบบ ดึงดูดคนผ่านไปมาได้มากทีเดียวครับ น่าชื่นชมในไอเดียจริง ๆ
ภายในงานมีการรวมตัวของบูธสินค้าเครือข่ายสร้างสรรค์อยู่เยอะมากครับ เช่น การออกร้านของส่วนราชการ เอกชน และพันธมิตรต่างๆ ตลาดแลกเบี้ย ซุ้ม Arts & Crafts ที่รวมเอาร้านหรือกลุ่มวิสาหกิจเด่นๆ แสดงสินค้า อาหารและผลงานที่เกิดจากการสร้างสรรค์ให้มีความทันสมัย เข้าถึงได้ง่าย มีความสากล ชูอัตลักษณ์สุโขทัยในรูปแบบสร้างสรรค์วิถีใหม่ และยกระดับสินค้าให้ก้าวทันโลกได้มากขึ้น รวมไปถึง การสาธิต การละเล่นแบบโบราณของคนไทยในสมัยก่อน โดยทุกคนพร้อมใจกันแต่งตัวในชุดไทยมาร่วมงาน สีสันในแบบสมัยใหม่ที่ทางจังหวัดดึงเข้ามาร่วมกิจกรรมในปีนี้ เราจะเห็นบูธจัดแสดงงานศิลปะการฉายภาพผ่านโปรเจกเตอร์ อย่างในงาน TeamLab ของประเทศญี่ปุ่นเลยครับ ทุกคนได้ภาพเก๋ๆกลับไปแน่นอน
ในทุกส่วนของงานจะถูกแทรกไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ทางศิลปะอยู่มากมาย แบ๊กดรอปไฟปิงปองผืนใหญ่นี้ก็มีความพิเศษครับ ทางผู้สร้างสรรค์ได้นำเครื่องจักสานทรงเจดีย์ระฆังคว่ำมาหุ้มไฟไว้ด้านนอก ทำให้ดูพิเศษและแปลกตายิ่งขึ้น เป็น presentation ที่มีอะไรแฝงไว้ให้เราได้จินตนาการด้วยครับ
หัวใจหลักของงานก็น่าจะเป็นการลอยกระทงที่นักท่องเที่ยวทุกคนตั้งใจมาครับ ผมไม่ค่อยได้มีโอกาสได้เที่ยวงานลอยกระทงบ่อยนัก จะเรียกว่าน้อยครั้งก็ว่าได้ มาคราวนี้จึงขอใช้โอกาสนี้ร่วมงานให้เต็มที่พร้อมๆกับนักท่องเที่ยวท่านอื่น ริมสระน้ำลานพ่อขุนฯครับ
และแล้วก็มาถึงช่วงที่ทุกคนรอคอย ถึงแม้จะเป็นเวลาเที่ยงคืน แต่ยิ่งดึก คนยิ่งเยอะ เพราะไฮไลต์ของงานนี้คือ การจุดพลุเหนืออุทยานประวัติศาสตร์อย่างยิ่งใหญ่ ราวกับเป็นการยืนยันว่า สุโขทัย ยืนหยัดและพร้อมเสมอในการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะมาเยือนในทุกช่วงเวลาของปี สุโขทัย เมืองแห่งความความสุข และ เมืองแห่งการสร้างสรรค์ รอคุณอยู่ครับ
ตักบาตรสะพานบุญ รับอรุณวันใหม่ วัดตระพังทอง
มาเที่ยวสุโขทัย คุณต้องตื่นเช้านะครับ จะว่าไป กิจกรรมมีให้ทำเยอะมากตั้งแต่เช้ายันดึก วันนี้ผมเริ่มวันใหม่ตั้งแต่เช้าตรู่ด้วยการมาร่วมตักบาตร ณ วัดตระพังทอง ที่อยู่ไม่ไกลจากวัดมหาธาตุครับ
วัดตระพังทอง เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่บนเกาะกลางสระน้ำขนาดใหญ่รายรอบทั้งสี่ด้าน ที่เรียกว่าตระพังทอง เนื่องจากมีเจดีย์ทรงระฆัง หรือตระพัง ใช้หินศิลาแลงก่อเป็นฐาน ใช้อิฐมอญก่อตัวเจดีย์ สีสุกใสดั่งทอง เอกลักษณ์อันโดดเด่นของวัดตระพังทองที่โด่งดังไปทั่วโลกคือ มีสะพานไม้ทอดยาวทางถนนด้านนอกเข้าสู่เขตวัด เป็นจุดที่คนนิยมมาใส่บาตรยามเช้าแด่พระภิกษุสงฆ์ กลายเป็นคำเรียก สะพานบุญ ที่รู้จักกันไปทั่วนั่นเองครับ
ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวพร้อมใจกันมาแต่เช้าเลยครับ สระน้ำที่เห็นอยู่นี้ เรียกว่า สระตระพังทอง เป็นสระน้ำที่เก็บน้ำไว้เพื่อการอุปโภคบริโภคในสมัยโบราณจริงๆครับ
วัดนี้เป็นวัดที่มีพระจำพรรษาอยู่เหมือนวัดทั่วไปนะครับ ถ้าใครตักบาตรเสร็จอย่าลืมเข้าไปกราบสักการะหลวงพ่อขาว และรอยพระพุทธบาทเบื้องขวาที่สลักบนหินสีเทาดำเป็นลายมงคล108ประการ ที่จำลองมาตั้งแต่สมัยพระมหาธรรมราชาลิไท เมื่อปี พ.ศ. 1902 นานมากเลยครับ
อิ่มบุญแล้ว เราเดินมาหาอะไรอิ่มท้องต่อแบบคนในท้องที่กันครับ ที่นี่คือ ตลาดสดวัดตระพังทอง อยู่ถัดจากวัดตระพังทองนิดเดียวครับ เป็นตลาดยามเช้าที่คึกคัก พ่อค้าแม่ค้าอัธยาศัยดีกันทุกคน มีของกินให้เลือกเยอะมาก ราคาถูกมาก ได้กาแฟร้อน ปาท่องโก๋ และอาหารทานง่ายต่าง ๆ เป็นมื้อเช้า ทำเอาอิ่มได้เชียวครับ
อิ่มท้อง ร่างกายสดชื่นแล้ว เรามุ่งตรงมาที่นี่ครับ สวนสัตว์สนามบินสุโขทัย ภายในบริเวณสนามบินสุโขทัย รั้วติดกับ terminal เลยทีเดียวครับ ขวัญใจของเด็กๆยืนรอเราอยู่ทางเข้าด้านหน้าแล้วครับ
Sukhothai Airport Zoo
สวนสัตว์สนามบินสุโขทัย เพิ่งกลับมาเปิดใหม่ตอนต้นเดือนตุลาคมนี้เอง เป็นสวนสัตว์แห่งเดียวที่มีพื้นที่ติดกับรันเวย์สนามบินเลย ภายในประกอบไปด้วยพื้นที่สวน 6 โซนใหญ่ๆ ได้แก่ African Savanna Park , Exotic Pet Zone , Australia Park ,Tropical Asia , Avian Park และ Swan Lake ถือเป็นสวนสัตว์ที่รวบรวมสัตว์หลากชนิดที่หาดูยากที่สุดที่หนึ่ง ไฮไลต์ที่รอต้อนรับเราด้านหน้าทางเข้าที่ไม่มีใครที่จะไม่แวะถ่ายภาพกับน้องคือ ยีราฟ และ ม้าลาย ที่นี่มีอัลปาก้า เมียร์แคท กวางแอนทีโลป อิมพาลา สปริงบ็อก มาร่าพาตาโกเนีย จิงโจ้แคระ และ นกคาสโซวารี อีกด้วย เรียกได้ว่าได้รวมเอาสรรพสัตว์น้อยใหญ่ ทั้งที่คุ้นเคยกันดีและทั้งหายากมารวมไว้ในที่เดียว แนะนำปักหมุดพาครอบครัวมาเที่ยวกันได้เลยครับ
เท่าที่ได้สัมผัสมา สวนสัตว์ที่นี่มีระบบการจัดการที่ดีมากแห่งหนึ่ง ไม่รก ไม่มีเศษขยะ แยกโซนขายตั๋ว โซนคัดกรองชัดเจน เป็นสวนสัตว์แบบที่ทันสมัยขึ้นกว่าที่เราเห็นตอนเด็ก การเดินชมก็ไม่ลำบากนัก นอกจากจะมีรถshuttleของทางสวนสัตว์วิ่งให้บริการพาชมรอบทั้งสวนสัตว์แล้ว ถ้าอยากไปแบบอิสระ ก็สามารถเช่าจักรยาน หรือ เช่ารถกอล์ฟเองได้ สำหรับค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 50 บาท และ เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี 25 บาท สำหรับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เด็กส่วนสูงไม่เกิน 100 ซ.ม. และบุคคลที่ได้รับความช่วยเหลือ เข้าชมฟรีครับ
move เข้ามาในตัวเมืองอำเภอสวรรคโลกกันบ้างครับ ที่นี่เป็นเมืองเล็ก ๆ น่ารัก ริมแม่น้ำยม ใครไปใครมาจะต้องมาเริ่มกันที่ตรงนี้ก่อนครับ โรงพักเรือนปั้นหยา ภายในสถานีตำรวจภูธร อ.สวรรคโลก เด่นมาแต่ไกลเลยครับ
โรงพักเรือนปั้นหยา หรือโรงพักโบราณ อ.สวรรคโลก เป็นประวัติศาสตร์ของสถานีตำรวจโบราณ(โรงพัก)ที่ถูกอนุรักษ์ไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมกันในสภาพที่สมบูรณ์อย่างที่เห็นในปัจจุบัน โรงพักโบราณแห่งนี้ ตั้งอยู่ภายใน สภอ.สวรรคโลก กลางเมืองสวรรคโลกเลยครับ เป็นเรือนไม้ชั้นเดียว ยกพื้นสูงตามแบบบ้านชาวต่างจังหวัด ทรงปั้นหยา สร้างในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือราวปี พ.ศ. 2482 ใช้ไม้สักและไม้แดงในการก่อสร้าง ว่ากันว่าคราแรกในการสร้างใช้งบไป 7000 บาท
ปัจจุบันอาคารไม้โบราณนี้ไม่ได้ใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติงานทางราชการแล้ว แต่ยังคงถูกเก็บรักษาไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ภายในจัดเป็นพิพิธภัณฑ์จำลองย่อม ๆ แสดงถึงบรรยากาศของโรงพักในสมัยก่อน มีบอร์ดให้ความรู้และมุมถ่ายภาพเล็กน้อยครับ
เดินออกมานิดหน่อยจากสถานีตำรวจฯ เราจะเจอภาพวาดบนผนังตึกรูปนี้ที่มีความสูงและใหญ่สะดุดตามาก เป็นจุดแรกในการเดินชม “สตรีทอาร์ต สวรรคโลก” ครับ
อำเภอสวรรคโลก เดิมเคยมีฐานะเป็นจังหวัด ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยม จากเกร็ดประวัติของเมืองได้กล่าวว่า นับแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เมืองสวรรคโลกเดิมนั้นมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงในนาม “เมืองศรีสัชนาลัย” ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาประมาณปี พ.ศ. 1994 พระเจ้าติโลกราชผู้ครองอาณาจักรล้านนา ได้ยกทัพมายึดเมืองศรีสัชนาลัย และได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็น “เมืองเชียงชื่น” ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2017 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงตีเมืองเชียงชื่นคืนได้สำเร็จและทรงเปลี่ยนชื่อเมืองเชียงชื่นเป็น “เมืองสวรรคโลก” นับแต่บัดนั้น
ชมสตรีทอาร์ตเท่ๆและผมจะแทรกความรู้เรื่องเมืองไปด้วยนะครับ
ในปี พ.ศ. 2459 ทางราชการได้เปลี่ยนชื่อเมืองสวรรคโลกเป็น จังหวัดสวรรคโลก มีอำเภอในการปกครองเพียง 2 อำเภอ คือ อ.สวรรคโลก และ อ.ศรีสัชนาลัย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2474 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศยุบจังหวัดสุโขทัยให้มาอยู่ในความปกครองของจังหวัดสวรรคโลก ซึ่งเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยนี้มีความน่าสนใจตรงที่ว่า สุโขทัย เคยมีฐานะเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสวรรคโลกมาก่อนครับ
จนกระทั่งเดือนเมษายน พ.ศ. 2482 กระทรวงมหาดไทยสั่งยุบจังหวัดสวรรคโลกให้ไปตั้งกับจังหวัดสุโขทัย ที่ถูกยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัด ฐานะของจังหวัดสวรรคโลกจึงถูกลดให้เป็น อำเภอสวรรคโลก นับแต่นั้นมา อายุของเมืองสวรรคโลกจวบจนปัจจุบัน 184 ปีครับ
รู้สึกอิ่มใจกับความเข้มแข็งของภาครัฐและชุมชน ที่มีส่วนร่วมกันในการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน โดยไม่ได้แช่แข็งเมืองให้เป็นเมืองวัฒนธรรมโบราณอยู่นิ่งๆ จนขาดความสนใจ หากแต่ได้ดึงงานศิลปะในรูปแบบใหม่ ทันสมัย เข้ามาผสมผสาน โดนใจคนในกลุ่มที่กว้างมากขึ้น ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเยียนเมืองเก่าแห่งนี้มากขึ้น จะเห็นได้จากการที่เจ้าของบ้านสละพื้นที่บางส่วนของตัวบ้าน ให้ศิลปินได้วาดภาพบนผนังบ้าน จนกลายเป็นศิลปะชุมชนที่ใครก็จับต้องได้ ซึ่งมีอยู่หลายจุดรอบๆตัวเมืองเลยครับ ความน่ารักของชุมชนคือการได้มีส่วนร่วมคนละเล็กละน้อยแบบนี้ น่าชื่นชมมากครับ
สิบสองหน่วยตัด ร้านอาหารชื่อแปลก ร้านรับแขกของสวรรคโลก
สิบสองหน่วยตัด
คำว่า สิบสองหน่วยตัด เป็นคำที่แปลกมาก เมื่อได้ยิน ทุกคนเป็นต้องถามว่ามันคืออะไร เกี่ยวกับหน่วยวัดระยะไหม แต่เดิมสิบสองหน่วยตัด ร้านอาหารชื่อแปลกนี้ เป็นฟาร์มเมล่อนและร้านขนมจีนเล็กๆ ต่อมาทางร้านได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ของสวนและบ้านไทยริมน้ำ ให้เป็นร้านอาหารที่ใหญ่ขึ้น มีความจริงจังมากขึ้น ถือเป็นร้านรับแขกของสวรรคโลกก็ว่าได้ ดีงามในแง่ของการออกแบบตกแต่ง น่าจะยืนหนึ่งในแถบนี้แล้ว
“สิบสองหน่วยตัด” เป็นชื่อของลายผ้าซิ่นศรีสัชนาลัย ที่เจ้าของร้านนิยมสะสมผ้าซิ่น ผ้าไทยโบราณ จึงนำมาตั้งชื่อร้าน จะเห็นได้ว่าทางร้านนำเอาผ้าทอลายต่าง ๆ มาตกแต่งร้านอยู่มาก ดูแปลกตา อีกนัยหนึ่งก็สร้างความหรูหรานิดๆให้กับ decoration
การออกแบบทางโครงสร้างและการออกแบบภายในของที่นี่ก็ยอดเยี่ยมมาก มีเรือนไทยริมน้ำหลายหลังที่เป็นโครงสร้างหลักของร้าน ช่วยเพิ่มอรรถรสในการรับประทานอาหารได้เป็นอย่างดี สู้กับร้านอาหารดีๆในเมืองของกรุงเทพฯได้เลยครับ
เรือนไทยหลังนี้เปิดให้บริการเป็นคาเฟ่ แยกกันชัดเจนกับเรือนที่เป็นร้านอาหารครับ
อาหารกำลังทยอยมาเรื่อยๆ เมนูของทางร้านเน้นเป็นอาหารไทยทั่วไป สลับกับอาหารพื้นถิ่น อาหารไทยโบราณบ้าง เมนูฮีโร่ในวันนี้คือ แกงใบชะพลูปูครับ
ขันน้ำดื่ม ใช้ขันเงินแบบสมัยก่อน ลดความเป็นพิธีรีตอง เพิ่มความเป็นกันเองแบบการมาเยือนบ้านต่างจังหวัด ดื่มแล้วเย็นชื่นใจครับ
เอาใจสายคาเฟ่กันบ้าง บอกเลยว่าถ้าอยากหาที่พักร้อน แนะนำที่นี่เลยครับ The Pipe Cafe กลางเมืองสุโขทัย วัยรุ่นสุโขทัยรู้จักที่นี่เป็นอย่างดี เพราะเป็นคาเฟ่แนวสมัยใหม่ที่ดีไซน์เก๋ เท่ แปลกตา โดยการออกแบบช่องหน้าต่างของร้านเป็นวงกลมรับแสง พอเป็นจุดเช็กอินให้วัยรุ่นในเมืองสุโขทัยหรือนักท่องเที่ยวได้แวะเข้ามาพักผ่อนได้เรื่อย ๆ แถมยังเป็นโรงแรมทรงแปลกขนาดกะทัดรัดให้พักอีกด้วย
มุมถ่ายรูปเยอะนะครับที่นี่
กาแฟอีกแก้วในยามบ่าย สดชื่นพร้อมไปต่อแล้วครับ
เรื่องเที่ยวก็เต็มที่ เรื่องกินก็จริงจังไม่ทิ้งกันเลยครับ คนสุโขทัยแนะนำให้ผมมาทานที่ร้านนี้ให้ได้ “ไม้กลางกรุง” เหมือนเป็นร้านรับแขกในตัวอำเภอเมืองครับ ร้านนี้เปิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 แล้วครับ จากภายนอกของร้านเหมือนตัวร้านถูกซ่อนไว้ในป่าเล็ก ๆ ถูกปกคลุมไปด้วยต้นก้ามปูยักษ์ แผ่กิ่งก้านร่มรื่นไปทั่วทั้งร้าน เขียวขจีไปหมด เป็น gimmick ของร้านเลยครับ
ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย ไม้กลางกรุง
สำหรับที่นี่ ขอให้คุณใจเย็นๆรอคิวสักนิดครับ ถึงแม้ว่าภายในร้านจะมีโต๊ะเยอะพอสมควร แต่คิวที่รอกลับเยอะกว่า เมื่อได้โต๊ะแล้ว รีบสั่งอาหารและสั่งปากหม้อมาทานไปพลาง ๆ รองท้องก่อนครับ
เป็นเมนูที่ออกเร็ว ออกไวที่สุด พี่ที่ทำ ไม่ได้พักเลยครับ มือเป็นระวิง แถมดิสเพลย์ที่เสิร์ฟมาก็มีความน่ารัก ตักวางบนจานที่รองด้วยใบตอง ราดปากหม้อด้วยกะทิข้น ๆ หมดภายในไม่ถึง 1 นาทีครับ
มาแล้วครับ มาถึงสุโขทัยทั้งที ก็ต้อง ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย ก๋วยเตี๋ยวที่มีการซอยถั่วฝักยาวลงไป โรยด้วยหมูสับและถั่วลิสงป่น ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของอาหารพื้นถิ่นชามนี้ครับ
โครงการเกษตรอินทรีย์ สนามบินสุโขทัย
ท่องเที่ยวเชิงเกษตรยั่งยืน เรียนรู้วิถีชีวิตชาวนาชาวไร่แบบคูลๆ
โครงการเกษตรอินทรีย์ สนามบินสุโขทัย – Organic Agriculture Project
ด้วยความที่ตัวท่าอากาศยานสุโขทัย หรือ สนามบินสุโขทัย มีความกว้างใหญ่มาก จึงถูกบริหารพื้นที่ให้หลายส่วนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งได้รับการอุปถัมภ์จากนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เจ้าของและผู้ก่อตั้งสายการบิน Bangkok Airways ที่เล็งเห็นถึงประโยชน์ของการทำการเกษตรอินทรีย์ เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงบนพื้นที่กว่า 1,200 ไร่ ให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้วิถีเกษตรในรูปแบบสร้างสรรค์และสนุกสนานขึ้น
Bangkok Airways
ทราบไหมครับว่า ข้าวที่ใช้เสิร์ฟบนเครื่องบินสายการบินบางกอก แอร์เวย์ มาจากการเพาะปลูกจากเกษตรกรชาวนาในโครงการฯนี้นะครับ น่าภูมิใจจริงๆ
ในบริเวณของโครงการประกอบไปด้วยตลาดนัดเกษตรกร ร้านกาแฟ ร้านอาหาร แปลงเกษตรสาธิตในรูปแบบต่างๆ ทุ่งเลี้ยงควาย โรงสีข้าว และ บ้านพักกลางนา เป็นต้น โดยพื้นที่กว่า 1,200 ไร่นี้ ถูกบริหารจัดแบ่งโซนได้อย่างลงตัว เหมาะแก่การพาครอบครัวมาเที่ยวพักผ่อนเรียนรู้ตามศาสตร์ที่กล่าวไปข้างต้น ที่สำคัญคือที่นี่จะไม่ใช้สารเคมีในทุกขั้นตอนการเพาะปลูก เพาะเลี้ยง แม้แต่นิดเดียว จึงมั่นใจได้ในเรื่องความ สด สะอาด และปลอดภัย โครงการเกษตรอินทรีย์สนามบินสุโขทัย ตั้งอยู่ทางเข้าก่อนถึงตัวสนามบินสุโขทัย เปิดให้บริการทุกวันครับ
จงกล คาเฟ่ อ.สวรรคโลก
น่าจะพูดได้เต็มปากว่าเป็นคาเฟ่อันดับต้นๆที่ใครมาสุโขทัยต้องแวะมา เพราะพื้นที่ที่ทางร้านได้จัดรองรับ จัดโซนต่างๆไว้ บ่งบอกได้ถึงการตระเตรียมไว้สำหรับลูกค้าจำนวนมากทีเดียว ช่วงเวลาที่ผมไป ต่างก็มีนักท่องเที่ยวทยอยมาเรื่อยๆเหมือนกันจนเต็มร้าน แสดงว่าเป็นร้านยอดนิยมจริงๆ ที่นี่ เจ้าของได้วางทิศทางของร้านให้เป็นคาเฟ่กลิ่นอายธรรมชาติ มีความ homey อยู่ทุกมุม
จงกล คาเฟ่
จงกล แปลว่า ดอกบัว จากการบอกเล่าของเจ้าของร้านซึ่งเป็นผู้ออกแบบ สร้าง และวางแนวทางของร้านเองทั้งหมด โดยพื้นที่สวนภายในบ้านได้ปลูกต้นไม้ดอกไม้น้อยใหญ่ เต็มทั้งพื้นที่ ทำให้รู้สึกสดชื่นมาก และยิ่งได้เติมพลังด้วยอเมริกาโน่ผสม Yuzu แบบนี้ ร่างกายกระปรี้กระเปร่าขึ้นมาเลยครับ
เป็นคาเฟ่ที่แสงสวยทุกมุมครับ
Sukhothai Heritage Resort
Sukhothai Heritage Resort
โรงแรมสุโขทัย เฮอริเทจ รีสอร์ท Boutique Hotel ขนาด 68 ห้อง ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางนาข้าวที่มีชาวนาทำนาจริงๆ ตั้งอยู่ภายในพื้นที่ของสนามบินสุโขทัย ซึ่งหมายความว่า ไม่ต้องกังวลเรื่องการเดินทางไปสนามบินเลย ใช้เวลาเดินทางไม่ถึง 3 นาทีก็ถึงสนามบินแล้ว โรงแรมหยิบเอาศิลปะแบบสุโขทัย การใช้อิฐและหินสีแดงที่คล้ายกับศิลาแลง มาตกแต่งทั้งหมด อาคารของโรงแรมออกแบบเป็นพาวิลเลียนขนาดใหญ่ มีสระบัวที่สร้างบรรยากาศแบบไทยๆให้ชัดขึ้น และมีสระว่ายน้ำถึง 2 สระขนาดใหญ่ ท่ามกลางธรรมชาติที่เงียบสงบ
ของตกแต่งภายในโรงแรมเน้นความเป็นสุโขทัยอยู่มาก อย่างเช่น ระฆังดีไซน์หลายๆอันแบบนี้ คล้ายกับเจดีย์ทรงลังกา เด่นมากตอนที่เราเข้ามาเช็คอินครับ
พาวิลเลียนเรือนไทยของที่นี่สร้างได้ยิ่งใหญ่ทุกหลังครับ เหมือนยกเอาโบราณสถานมาให้เราได้ชื่นชมกันในที่ๆเดียว และภายในเรือนไทยริมสระ จัดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงของสะสมโบราณให้เราได้ชมเป็นความรู้อีกด้วยครับ
ภาพสุดท้ายแล้วครับสำหรับการรวบรวมเอาช่วงเสาร์-อาทิตย์เพียงแค่ 2 วันของผมมาจัดเป็นทริปสรุปความเป็นไปของสุโขทัยในแบบปี 2020 นี้ อย่างที่ผมบอกไว้ สุโขทัยทุกวันนี้ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ครับ หลาย ๆส่วนโดยเฉพาะชุมชนทั้งหลายในตัวจังหวัด ต่างก็ปรับรับเอาสิ่งใหม่ ๆ มาผสมผสานเพื่อช่วยเรื่องการท่องเที่ยวมากขึ้น ทำให้ภาพรวมของสุโขทัยในช่วงเวลานี้ ยกระดับความเป็นสากลมากขึ้น กระฉับกระเฉงขึ้น แต่ยังคงมุ่งหน้าสืบสานและส่งต่อเรื่องราวของวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามหมุนเวียนต่อไปข้างหน้า ไม่ละทิ้งถอยห่างไปไหน
อยากให้ทุกคนลองหาเวลาไปสัมผัสกันเองบ้างครับ แล้วจะได้รู้ว่าสิ่งที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลกว่าสุโขทัยยิ่งใหญ่นั้น มิได้เป็นเพียงแค่คำโฆษณาจริง ๆ
ฝากสุโขทัย รุ่งอรุณแห่งความสุขด้วยครับ
แล้วพบกันในคอนเทนต์หน้านะครับ
รัก
เปียง