Blending the Best of Different Cultures

Blending the Best of Different Cultures
ผสมผสาน แหวก และ แตกต่าง
สวัสดีครับ ผมเปียง เร็ว ๆ นี้ผมได้เห็นภาพของสถานที่หนึ่งที่เตะตามาก ๆ ครับ รู้สึกได้เลยว่าจะต้องพุ่งตัวไปดูของจริงกับตาให้ได้ ที่ที่ผมยืนอยู่นี้คือวัดปริวาสครับ อาจดูเป็นศาสนสถานที่แปลกกว่าทุกที่ที่เคยเห็นมา เป็นงานศิลปะไทยร่วมสมัยที่ใส่ความคิดสร้างสรรค์ และความกล้าลงไปจนพูดได้เต็มปากเลยว่ามันสนุกและยอดเยี่ยมมากๆจริงๆ
ภาพจำของเราเกี่ยวกับวัดในศาสนาพุทธไม่ว่าจะเป็นของภาคใดในไทยก็ตาม เราจะมี mindset ต่อสถานที่คล้าย ๆ กัน นั่นก็คือ
“ที่นี่คือวัด”
พระพุทธรูป ลวดลาย งานศิลปะ และจิตรกรรมฝาผนัง มีความวิจิตรในแบบที่เราคุ้นเคย อันเป็นเอกลักษณ์ และรู้สึกอิ่มเอมทุกครั้งที่ได้ไปในสถานที่เหล่านี้ หากแต่ที่นี่ แตกต่างออกไปจากวัดปกติซักเล็กน้อยครับ เพราะมันมีความรู้สึกตื่นเต้นบางอย่างเพิ่มเข้ามาด้วย ตื่นเต้นที่ต้องคิดว่า เราจะสำรวจเจองานประเภทไหนอีกบ้างที่ซ่อนอยู่ตามฝาหนัง ใครจะคิดครับ ว่าเราจะเจอตัวละครจากรามายณะ ป่าหิมพานต์ นิทานอีสป ตำนานจีน จักรวาลซุปเปอร์ฮีโร่ของ Marvel หรือ DC ตัวการ์ตูนจาก Walt Disney ลูฟี่ จาก Shōnen Jump บุคคลที่เป็น icon ของบุคต่างๆ หรือตัวละครจากเกมออนไลน์ แฝงตัวอยู่อย่างแยบยลในมุมต่างๆ ของวัดอย่างน่าสนใจ
เรื่องราวโดยละเอียดคัดสรรมาให้แล้วอยู่ด้านใน ลองค่อย ๆ ฟังแล้วมองไปรอบพร้อมกับผม แล้วคุณจะรักที่นี่แบบที่ผมรักครับ
เปียง
#PYONGSEEWHATISEE
#PYONGDOCTOR
Director – Kantaphong Thongrong
Assistant Photographer & Content Creator – Pratchawin Sara

Blending the Best of Different Cultures
ผสมผสาน แหวก และ แตกต่าง

หลาย ๆ คนมีภาพจำกับคำว่า วัด ในศาสนาพุทธที่แทบจะบอกได้คล้ายคลึงกันเป็นแบบเดียวกันหมดใช่ไหมครับ

ศาสนสถาน หรือ วัด ของคนไทย คือสถานที่ประกอบกิจของสงฆ์ในการเผยแผ่คำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า สถานที่ที่เรามาทำบุญไหว้พระในโอกาสต่าง ๆ สิ่งปลูกสร้างที่มีรูปทรง โครงสร้าง และศิลปะที่ค่อนข้างอยู่บนพื้นฐานที่ใกล้เคียงกัน ทำให้ภาพจำของวัดสำหรับเราแทบจะไม่ต่างกันเลย

ผมมีโอกาสได้รับข้อมูลจากสื่อออนไลน์หลายสื่อ ที่เริ่มมีการพูดกันถึงวัดนอกกระแสแห่งหนึ่งในฝั่งถนนพระราม 3 ไกลเมืองขนาดนั้น แต่ทำไมนะ วัดนี้จึงถูกให้ความสำคัญจากสื่อและบรรดานักถ่ายภาพขึ้นมามากในระยะนี้ ความน่าสนใจมันอยู่ตรงนี้แหละที่ผลักให้ผมจับกล้องเอาตัวออกจากบ้านในวันนี้ เพื่อลองไปดูกับตา ทำความรู้จักกับวัดที่เขาว่ากันว่าเป็นวัดที่กล้าที่จะแตกต่าง ฉีกภาพวัดในภาพจำเดิมนั้น เป็นอย่างไร ตามผมมาครับ

วัดปริวาสราชสงคราม

ประวัติของวัดปริวาสมีบันทึกว่าเคยเป็นวัดมาตั้งแต่เมื่อ 170 ปีที่แล้ว สมัยปลายรัชกาลที่ 3 หากแต่มิได้เป็นวัดที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ในสมัยนั้นแต่อย่างใด มีหลักฐานว่าเดิมเคยเป็นวัดมาก่อนในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย จนได้กลับมาบูรณะใหม่ในสมัยนั้น ซึ่งมีการบูรณะพร้อม ๆ กับการสร้างวัดขึ้นใหม่ฝั่งตรงข้ามคือ วัดโปรดเกศเชษฐาราม และ วัด ไพชยนต์พลเสพย์ ในสมัยก่อนเรียกตำบลบางโพงพาง มีถนนสายเล็ก ๆ เลียบแม่น้ำ เรียกติดปากว่า ถนนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมามีการตัดถนนใหม่ จนเป็น ถนนพระราม 3 ในปัจจุบัน ประตูทางเข้าหลักด้านหน้านี้เป็น 1 ใน 4 ประตูวิหารคดที่ใช้เข้าสู่ลานด้านนอกของโบสถ์ใหญ่ครับ

จากคำบอกเล่าของคนเก่าแก่ที่อยู่ตำบลบางโพงพางมานาน เดิมวัดปริวาส เป็นเพียงสำนักสงฆ์เล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางสวนและต้นไม้รกชัฏมากมายในตำบลบางโพงพาง อำเภอบ้านทวาย จังหวัดพระนครเขื่อนขันธ์ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นเขตการปกครองปัจจุบัน แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพฯ ซึ่งเศรษฐีสมัยก่อนมีคตินิยมในการสร้างวัด โดยคาดว่าสร้างราวปลายกรุงศรีอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งวัดหรือสำนักสงฆ์นี้ เมื่อผู้สร้างได้เสียชีวิตลงหรือมีการโยกย้ายถิ่นฐาน จึงถูกทิ้งร้างไม่มีผู้ที่ทำนุบำรุงต่อไป จึงทำให้วัดตกอยู่ในสภาพทรุดโทรมตามกาลเวลา

เมื่อพระยาราชสงครามมองเห็นสภาพทรุดโทรมของสำนักสงฆ์แห่งนี้ระหว่างที่เป็นแม่กองก่อสร้างวัดโปรดเกษเชษฐาราม จึงทูลขอสมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาศักดิพลเสพ เพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์วัดปริวาสที่อยู่ฝั่งตรงข้าม โดยเล่ากันว่าได้นำวัสดุเหลือจากการสร้างวัดไพชยนต์ฯและและวัดโปรดเกศฯ ไม่ว่าจะเป็นกระเบื้องเคลือบที่นำมาประดับหน้าบันและวัสดุอื่น ๆ มาซ่อมแซมจนสวยงามสมบูรณ์

และได้ตั้งชื่อวัดใหม่ตามราชทินนามของพระยาราชสงครามว่า “วัดปริวาสราชสงคราม” คนท้องถิ่นนิยมเรียกว่า วัดปริวาส มีพื้นที่ราว 12 ไร่ เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านฝั่งริมน้ำเจ้าพระยาทางทิศใต้นับแต่นั้นเป็นต้นมา ปัจจุบัน ชื่อ วัดปริวาส ถูกตัดคำว่า ราชสงครามที่ต่อท้ายแต่เดิมออกไป เนื่องจากหลวงพ่อวงษ์ เจ้าอาวาสในสมัยนั้นเห็นว่าในงานประจำปี มีการทะเลาะวิวาทชกตีกันบ่อยของผู้มาร่วมงาน จึงตัดคำว่า ราชสงคราม ออก เป็นที่น่าแปลก หลังจากนั้น การทะเลาะชกตีก็แทบจะไม่ปรากฏให้เห็นอีกเลย แต่ก็ยังมีการนิยมเรียกว่า วัดปริวาสราชสงคราม อยู่ไม่ผิดอะไรครับ

หลักฐานที่เชื่อได้ว่าสำนักสงฆ์เดิมเคยเป็นศาสนสถานตั้งแต่สมัยอยุธยา ก็เนื่องจาก ความนิยมในสมัยอยุธยาตอนปลายจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น การสร้างอุโบสถจะต้องมีบ่อน้ำวางไว้ทางทิศตะวันออกของอุโบสถ ซึ่งสมัยก่อนมักจะใช้เป็นบ่อน้ำมนต์ อีกทั้งพระประธานภายในก็เป็นศิลปะแบบเดียวกันกับในสมัยอยุธยาอีกด้วย จึงเป็นข้อสันนิษฐานที่สามารถสืบค้นและยืนยันตัวตนของวัดแห่งนี้ได้

จากบันทึกของหอสมุดแห่งชาติ ได้กล่าวถึงช่วงที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงขึ้นครองราชย์ ในสมัยนั้นถือเป็นช่วงเวลาที่พระพุทธศาสนามีความรุ่งเรืองมาก พระองค์ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก เป็นช่วงเวลาในการเร่งสร้างเมืองใหม่ ให้พระพุทธศาสนาเป็นศูนย์กลางจิตใจ ดูแลอุปถัมภ์ค้ำชูกิจการสงฆ์อย่างมิขาด

โปรดฯให้รวบรวมอัญเชิญพระพุทธรูปจากวัดต่าง ๆ ทั้งจากวัดร้าง วัดที่ถูกเผาสมัยสงคราม ในสุโขทัยและอยุธยา ชะลอมาตามทางน้ำ เพื่อประดิษฐานตามวัดต่าง ๆ “พระพุทธสุโขทัย” ถูกนำมาประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถ ณ วัดปริวาสแต่นั้นเป็นต้นมา เรียกว่า หลวงพ่อพระพุทธสุโขทัย โดยถือเป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยสุโขทัยแห่งเดียว ไม่เคยปรากฏพระพุทธรูปแบบนี้ตามวัดต่าง ๆ ในย่านนี้เลย

พระพุทธสุโขทัย หรือ หลวงพ่อพระพุทธสุโขทัย ที่ชาวบ้านเรียกติดปากกันมาเนิ่นนาน

เมื่อเดินผ่านวิหารคดที่รายล้อมลานอุโบสถเข้าไป เบื้องหน้าจะเห็นอุโบสถหลังใหม่ที่ประดับประดาลวดลายปูนปั้นเบญจรงค์ มีความวิจิตรมาก หากมองไกล ๆ ยังไม่พิจารณามาก ก็อาจคิดว่าเป็นปูนปั้นตามขนบทั่วไป แต่เมื่อได้ก้าวเข้าไปมองอย่างใกล้ชิดตามส่วนต่างๆ ทำให้เราเห็นว่า มีทั้ง บุคคลในพุทธประวัติ สัตว์ในพุทธประวัติ ตัวการ์ตูน ซุปเปอร์ฮีโร่ บุคคลในประวัติศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ ตัวละครในนิยายนานาชาติ เทพนิยาย นิทานชาดก จักรราศี ฯลฯ ทั้งภายในและภายนอกโบสถ์ รวมถึงวิหารหลังเล็กที่กำลังบูรณะใหม่ข้าง ๆ กันด้วย

ขอเรียกรวมทั้งหมดนี้ว่าคาแรกเตอร์นะครับ แต่ละภาพต่อจากนี้คุณรู้จักมากน้อยแค่ไหน เล่าแบ่งปันกันได้นะครับ

ประติมากรรมที่สวยงามสะดุดตาชิ้นนี้คือภาพบุคคลสำคัญของโลกที่รู้จักกันดีในฐานะ “บิดาแห่งการสำรวจโบราณคดีอินเดีย” มีบทบาทใหญ่หลวงในการขุดค้นและบูรณะพุทธสถานโบราณในอินเดีย ยังความเจริญรุ่งเรืองกลับมาของพุทธศาสนาในอินเดียและแคว้นโดยรอบ ท่านคือ เซอร์อเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม ครับ สังเกตถึงความละเอียดของช่างไหมครับ งดงามจริง ๆ

ประติมากรรมปูนปั้นเบญจรงค์ที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นที่แตกต่างจากวัดในเขตกรุงเทพมหานครภายในวัดปริวาสแห่งนี้ เริ่มเป็นที่พูดถึงกันปากต่อปาก นอกเหนือจากเรื่องของหลวงพ่อวงษ์ปลุกเสกเสือ หรือ พระพิฆเนศวัดปริวาส แพร่หลายตามสื่อในระยะ 1-2 ปีมานี้ เนื่องจากความแปลกใหม่ของการผสมผสานศิลปะปูนปั้นแนวใหม่กับศิลปะแบบขนบเดิม เป็นศิลปะร่วมสมัยอย่างลงตัว ทำให้วัดแห่งนี้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ความสวยงามแปลกตาที่น่าลองมาสัมผัสให้เห็นเองกับตา ถูกบันทึกให้เป็น Unseen in Thailand ในที่สุด

พระอัศวินสุคนฺโธ เลขานุการเจ้าอาวาสได้กรุณาให้ข้อมูลถึงที่มาของแนวคิดในการสร้างโบสถ์ศิลปะแบบร่วมสมัยว่า ในครั้งแรกที่เริ่มสร้างโบสถ์และวิหารใหม่ ได้มีศรัทธาจากญาติโยมจำนวนมากในการร่วมทำบุญบูรณะโบสถ์ใหม่ พระพิพิธพัฒนาธร หรือหลวงพ่อสมชาย ในขณะนั้น มีความคิดว่า จะทำอย่างไรให้ศาสนสถานแห่งนี้อยู่คู่บ้านคู่เมืองไปอีกหลายร้อยปีให้ได้ จึงได้นำเอาศิลปะปูนปั้นเบญจรงค์ ประดับประดาด้วยเพชรพลอย มาใส่ในแนวคิดของการสร้างโบสถ์หลังใหม่ ผสมผสานกับศิลปะแบบดั้งเดิม อีกทั้งต้องการที่จะสร้างคุณค่างานศิลปะ และเป็นการสร้างงานศิลปะที่ตรงกับยุคสมัย ถูกคิดและถูกสร้างโดยช่างฝีมือแบบในยุคปัจจุบัน สะท้อนถึงความเป็นสังคมปัจจุบันด้วย

ฉะนั้นจึงอย่าแปลกใจกับการที่วัดถูกพูดถึงตัวงานศิลปะสมัยใหม่นี้นั้น ทำให้หลายคนต่างตีความกันไปต่าง ๆ ว่า นี่คือการสร้างตัวตนใหม่ของวัด สร้างจุดเร้าให้ตัววัดโดดเด่น เพื่อดึงดูดให้พุทธศาสนิกชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ให้หันมาเข้าวัดมากขึ้น แต่จริงๆแล้วพระอัศวินสุคนฺโธ ท่านบอกหาเป็นเช่นนั้นไม่ จุดมุ่งหมายที่แท้จริงคือการสร้างงานศิลปะที่เข้ากับยุคสมัย สะท้อนถึงความเป็นยุคที่วัดหรือสิ่งก่อสร้างที่ถูกสร้างนั้น เป็นอย่างไร อยู่อย่างไร และมีอะไร เกิดอยู่ตรงกับในสมัยปัจจุบันนี้ เพียงเท่านี้เอง

คาแรกเตอร์เหล่านี้ยังสะท้อนกลับไปถึงเทวดา ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าพุทธศาสนา มีความยึดโยงกับความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ เชื่อในเรื่องเทวดา นางฟ้า มีนรก มีสวรรค์ เชื่อว่าผู้ที่มีบุญ หากตายไปจะได้ไปเกิดเป็นเทวดา เป็นนางฟ้า เมื่อมีการทำงานบุญงานกุศลที่ใด เหล่าเทวดานางฟ้าก็จะลงมาจากสวรรค์ มาช่วยงานบุญนั้นเพื่อสร้างกุศลผลบุญต่อ เทวดานางฟ้าที่มีศักดิ์ใหญ่ เช่น พระแม่ธรณี พระแม่โพสพ หรือเหล่าเทวดานางฟ้าที่มีศักดิ์รองลงมา ก็แปลงกายลงมาเป็นภาพ หรือ คาแรกเตอร์ต่าง ๆ สัตว์บ้าง การ์ตูนบ้าง ตัวละครบ้าง ฯลฯ ตามที่ว่ามาข้างต้น เพื่อให้คนจดจำได้ง่าย ตรงกับยุคสมัยนั้น

ซึ่งนี่คือแนวคิดหลักที่สำคัญของการสร้างงานศิลปะบนโบสถ์และวิหารหลังใหม่แห่งนี้ หรือจะเรียกว่า สิปปะ ศิลปะที่จินตนาการมาจากนามธรรม แปรเปลี่ยนให้เป็นรูปธรรมผ่านงานศิลปะ หรือที่เรียกว่า ปริศนาธรรม ที่วัดอยากนำเสนอก็ได้ครับ

ภายในอุโบสถ หากมองขึ้นไปบนเพดาน จะเห็นเป็นงานศิลปะภาพปริศนาธรรมขนาดใหญ่ บรรยายถึงเรื่องราวของอริยมรรค อริยผล ตามลำดับขั้นที่เริ่มตั้งแต่ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ ที่เป็นธรรมอันสูงสุดที่ถ้าผู้ปฏิบัติตามหลักธรรมแล้ว จะบรรลุไปตามลำดับ จนทำให้เข้าสู่อมตธรรม คือ พระนิพพาน ตามความเชื่อทางพระพุทธศาสนา บริเวณตรงกลางของฝ้าเพดานจะเป็นรูป ดวงสุริยะ มีไอเดียว่า แม้พระอาทิตย์จะมีแสงสว่างมากที่สุดในระบบสุริยะจักรวาล แต่ก็ไม่อาจเปรียบพุทธานุภาพขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ดวงสุริยะให้แสงสว่างเพียงแต่ภายนอก หากแต่ธรรมะของพระพุทธเจ้าให้แสงสว่างภายใน จนสามารถละกิเลส เครื่องเศร้าหมองต่าง ๆ ให้หมดสิ้นจากใจได้

“ทวารบาล” บานประตูและบานหน้าต่างของอุโบสถวัดปริวาสก็มีศิลปะที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ไม่แพ้กัน เป็นงานศิลปะที่มีแนวคิดที่พูดถึง บุคคลที่ทำหน้าที่อยู่เฝ้าประตู คอยคุ้มครององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เรียกกันว่า ทวารบาล จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร เป็นโจทย์ที่น่าสนุกสำหรับดีไซเนอร์จริง ๆ ครับ

ศิลปินที่รังสรรค์งานได้ดึงเอาความเป็นนักรบ ความเป็นผู้กล้า ถ่ายทอดงานออกมาเป็นนักรบที่ร่างกายกำยำ น่าเกรงขาม มีเขี้ยว ถืออาวุธ เยี่ยงเทวดาที่สามารถดูแลปกปักประตูทั้ง 4 ทิศได้ สลักลายลงบนแผ่นเหล็กสีดำ ทำให้งานที่ออกมาดูแปลกตามาก

เพ้นท์สีแดงลงไปยังดวงตาของนายทวารบาล สร้างความน่าสะพรึง สมกับเป็นผู้กล้าที่มีพลังในการคุ้มกันภัยให้กับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยมิมีใครกล้าต่อกรได้

ออกมาชมสถาปัตยกรรมด้านนอกกันต่อครับ

อุโบสถหลังใหม่นี้ถูกดูแล ควบคุมการออกแบบโดยอาจารย์วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติ และงานศิลปะปูนปั้นแบบโบราณที่นำเสนอในรูปแบบใหม่นี้ ดูแลโดยอาจารย์สุรินทร์ ภาณุมาศ ประติมากรผู้ควบคุมการสร้างสรรค์งาน ร่วมกับดีไซเนอร์ที่ร่วมวางคอนเซ็ปต์ 5-6 ท่านจากทั่วประเทศ ซึ่งในขณะมีเพียงโบสถ์หลังใหญ่เท่านั้นที่เสร็จเรียบร้อย แต่วิหาร วิหารคด และบันไดทั้ง 4 ทิศ ยังไม่แล้วเสร็จครับ

อาจารย์สุรินทร์ ประติมากรผู้ควบคุมการสร้างสรรค์งานปูนปั้นเบญจรงค์ เคยฝากผลงานด้านปูนปั้นโบราณมามากมายหลายที่เช่น วัดอนาลโย จ. พะเยา วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม จ.ลำพูน วัดคลองขวาง อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี วัดป่าไตรวิเวก จ.สุรินทร์ วัดทรายทองสันตาราม จ.นครศรีธรรมราช เป็นต้น ทางด้านช่างฝีมือที่ระดมมาทำงานปูนปั้นก็เป็นช่างฝีมือพื้นบ้านมาจากหลายแหล่งเช่นเดียวกัน จากการสอบถามจากช่างก็ทำให้ทราบว่าหลาย ๆ ท่านเป็นช่างฝีมือจากเพชรบุรี และ นครศรีธรรมราช เป็นต้นครับ

อาจารย์สุรินทร์ กล่าวว่า ศิลปะ ไม่มีขอบเขตสิ้นสุด “ศิลปะฟ้องยุค” รูปปั้นเป็นสัญลักษณ์บันทึกเหตุการณ์ของยุคสมัย สื่อความหมายว่า คน ไม่ว่าจะเชื้อชาติ ศาสนาใดก็ตาม ก็สามารถจะนับถือและอุ้มชูศาสนาพุทธได้ จะด้วยวิถีทางใด แนวไหน แบบใดก็ตามแต่ อย่าไปยึดติด

อย่างที่เราได้เห็นงานศิลปะเช่นนี้

ต่างจากงานปูนปั้นลวดลายวิจิตรแบบขนบเดิมตามวัดทั่วไป

ใส่จินตนาการที่ไร้ขอบเขตรวมกับคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนา

พระอัศวินสุคนฺโธ เคยเล่าเชิงขำขันว่า หากสมมุติว่าตัวท่านเองได้ละสังขารไปในยุคสมัยปัจจุบันนี้แล้วกลายเป็นเทวดานางฟ้าลงมาทำการบุญยังโลกมนุษย์ ท่านคงจะไม่เลือกที่จะนุ่งโจงกระเบนอย่างคนในยุคสมัยอยุธยาเมื่อหลายร้อยกว่าปีที่แล้ว

ซึ่งหมายความว่า ศิลปะที่ทางวัดต้องการนำเสนอ ก็ยังต้องการสะท้อนถึงยุคสมัยนั้น ๆ ขนานกันไปด้วย ผมว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่แฝงแง่คิดให้เรามากทีเดียวครับ

อารมณ์ขันของช่าง ที่แทรกในงานศิลป์

“พญาเหี้ย หรือ โคธชาดก” เชื่อหรือไม่ว่า ถึงแม้จะเป็นผู้มีบุญญาบารมีมากล้นเพียงใด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังเวียน ว่าย ตาย เกิด เหมือนมนุษย์ทั่วไป เคยเสวยพระชาติที่เป็นตัวเหี้ย จึงเป็นที่มาของการสร้างรูปปูนปั้นที่เป็นหนึ่งในคาแรกเตอร์จากนิทานชาดกที่ถูกพูดถึงมากที่สุดชิ้นหนึ่งครับ

งานชิ้นนี้ ศิลปินอยากสื่อถึงการการเสวยชาติของพระพุทธเจ้าที่ครั้งหนึ่งก็เคยเห็นเหี้ย สัตว์ที่คนตั้งแง่รังเกียจ ถึงกับปรักปรำว่าเป็นสัตว์แห่งเสนียดจัญไร เจอที่ไหนจะต้องนำไปทิ้งให้ไกลเสีย หากเราลองพิจารณาอย่างเป็นธรรม เหี้ย ควรถูกจัดให้เป็นสัตว์ชั้นสูงเช่นกับมังกรเสียด้วยซ้ำ เนื่องจากมีลำตัวเป็นเกล็ด มีขาทั้งสี่และหางที่ทรงพลัง มีลิ้นสองแฉกไม่ต่างจากมังกรที่มนุษย์ต่างบูชาเป็นสัตว์มงคล เรื่องราวสอนใจนี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เที่ยงแท้ แม้พระพุทธเจ้าก็ยังเสวยชาติกว่า 500 ชาติ มีเวียนวายตายเกิด เป็นสรรพสัตว์ ขึ้นสวรรค์ ลงนรกมานับไม่ถ้วนเช่นเดียวกัน

ขอเดินสำรวจโดยรอบให้ครบทั้งหมดครับ

คุณเห็นอะไรเหมือนผมไหมครับ ?

วัฒนธรรมอันหลากหลาย

การตีความแบบผสมผสานวัฒนธรรมหลายแบบจากทุกมุมโลกผ่านการแสดงออกทางงานศิลปะอย่างลงตัว มีความน่าตื่นเต้นในการไล่ดูแต่ละตัวจริง ๆ ครับ

ไม่เพียงแค่ผู้ที่สนใจงานศิลป์หรือช่างภาพเท่านั้น ผมมองว่า วัดแห่งนี้ก็เหมาะกับครอบครัว ในแบบที่วัดก็อยู่คู่กับพุทธศาสนิกชนคนไทยมาช้านานนั่นแหละครับ พ่อแม่พาลูกพาหลานมา นอกจากจะได้ไหว้พระทำบุญแล้ว วัดแห่งนี้ก็ยังเป็นที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ของบุคคลในครอบครัว พ่อแม่พาลูกดูตัวการ์ตูนต่างๆ หรือพ่อแม่ไม่รู้จัก ลูก ๆ ก็สามารถเล่าให้พ่อแม่ฟังได้ เป็นภาพที่น่ารักเชียวครับ

วิหารหลังเล็กที่ตั้งอยู่ทางด้านขวาของโบสถ์ กำลังถูกบูรณะและติดตั้งงานปูนปั้นอยู่ครับ ในไม่ช้า เราก็จะได้มีโอกาสเห็นงานปูนปั้นอันทรงคุณค่าอีกชิ้นครับ

อิ่มเอมกับการเสพงานศิลป์แล้ว ลองออกไปด้านริมน้ำก่อนปิดท้ายทริปนี้กันครับ

เจดีย์ริมน้ำ หากใครไหว้หลวงพ่อพุทธสุโขทัยแล้ว แนะนำให้มาไหว้เจดีย์ และ พระพิฆเนศด้วยครับ

บริเวณแพริมน้ำของวัดปริวาส ถือเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกที่สวยงามจุดหนึ่งของกรุงเทพมหานครครับ เราจะมองเห็นสะพานภูมิพล 1 และ สะพานภูมิพล 2 สะพานแขวนที่เชื่อมฝั่งเมืองจากถนนพระราม 3 เข้าไปหาอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการครับ

แสงและเงาของวัดนี้ให้ค่าแสงที่ทรงพลังมากครับ มุมมองนี้อยู่ตรงริมน้ำเช่นเดียวกันครับ

การได้พาตัวเองมาวัดแห่งนี้ ทำให้นึกถึงการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยครับ จริง ๆ แล้ว แต่เดิมวัดก็อยู่รวมกับบ้านคนอยู่แล้วครับ หากแต่ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปมิได้หยุด บริเวณรอบ ๆ ของวัดหลาย ๆ ที่ หรืออย่างวัดปริวาสที่เราเห็นภาพได้ชัดในวันนี้ ถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น อาจจะไม่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยเหมือนเช่นก่อนแล้ว ความเจริญคืบคลานเข้ามาโดยรอบจนผู้คนแทบไม่เข้าใกล้วัดเช่นแต่ก่อนที่วัดเป็นดั่งศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน ดังคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน มีของใหม่มาแทนของเก่าเสมอ แต่สิ่งที่ยังคงอยู่คือพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่ทำให้วัดยังคงอยู่เคียงข้างพุทธศาสนิกชนเสมอ แม้กาลเวลาจะเปลี่ยนไป วัดก็ยังเป็นตัวแทนในการสืบสาน สืบทอด คำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตราบจนปัจจุบันมิเสื่อมคลาย

แล้วเราจะกลับมาพบกันในคอนเทนต์หน้าครับ
เปียง