CHINATOWN EXPLORER

CHINATOWN EXPLORER
สำรวจเยาวราชให้กว้างกว่าที่เคย
สวัสดีครับ ผมเปียง เวลาผ่านไปเร็วมากเลยครับ เราก้าวมาถึงช่วงตรุษจีนกันอีกปีแล้วนะครับ ถึงแม้ปีนี้จะดูต่างจากปีที่แล้วที่ผมเคยพาทุกคนมาสำรวจเยาวราชกัน ความคึกคักอาจจะไม่เหมือนเคยด้วยสถานการณ์ที่เป็นไปในขณะนี้ แต่ย่านเยาวราชยังคงเป็นย่านที่อยู่ในใจนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศในอันดับต้น ๆ เสมอมา
เยาวราช ถนนสายมังกร จุดเริ่มต้นของชุมชนการค้าชาวจีนที่อาศัยอยู่นอกประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก ถนนที่มีระยะทางเพียงแค่ 1.5 กิโลเมตร แต่กลับมีเรื่องราวแทรกอยู่ในทุกมิติ ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวหลากหลาย ไม่ว่าจะกิน เดิน เล่น ถ่ายรูป เที่ยว ช้อป สายบุญ ถ้าคุณมาเยาวราชแบบที่ผมกำลังจะพาทุกคนกลับไปอีกครั้งในคราวนี้ คุณก็จะได้เสพเรื่องราวทุกมิติ ครบเหมือนผมเช่นกัน
ไม่เพียงแค่ระยะ 1.5 กิโลเมตรของถนนเยาวราชที่พูดถึง หากแต่ความพิเศษของทริปนี้ เราจะสำรวจให้กว้างขึ้นกว่าที่เคยไปยังซอยยิบย่อยในย่านที่ตัดผ่านและเชื่อมเส้นทางเล็ก ๆ เข้าหาถนนเยาวราช นั่นคือ ทรงวาด จักรวรรดิ และ สะพานเหล็ก เส้นทางที่จะพาคุณไปทำความรู้จักกันให้กว้างขึ้น ไกลขึ้น แต่ไม่ยากเกินไปที่จะเดินเก็บเรื่องราวมาฝาก 16 สถานที่และเรื่องราว ใช้ระยะเวลาแค่ 1 วันเท่านั้นเองครับ
ถ้าพร้อมแล้ว ตามกันมาเดินเที่ยวในแบบฉบับของผมกันเลยครับ
เปียง
Director – Kantaphong Thongrong
Content Creator & Assistant Photographer – Pratchawin Sara
#PYONGSEEWHATISEE
FACEBOOK – PYONG Traveller X Doctor
INSTAGRAM – pycaptain

CHINATOWN EXPLORER
สำรวจเยาวราชให้กว้างกว่าที่เคย

16 สถานที่และเรื่องราว
Locations
-ถนนเยาวราช
-วงเวียนโอเดียน
-มูลนิธีเทียนฟ้า
-ชุมชนตรอกโพธิ์
-เต็งเอ็กผู่กี่
-สมาคมฮากกาแห่งประเทศไทย
-ตรอกเต๊า
-โรงงิ้วเก่าเยาวราช โรงหนังเก่าเยาวราช
-ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ
-วัดมงคลสมาคม (วัดญวน) ซอยแปลงนาม
-ถนนทรงวาด
-ศาลเจ้าเล่าปูนเถ้ากง โรงเรียนเผยอิง
-ตึกผลไม้
-จักรวรรดิ เวิ้งนาครเขษม
-คลองโอ่งอ่าง
-สะพานเหล็ก

เยาวราช ถนนสายหลักแห่งการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของชาวจีนจากโพ้นทะเลในสยามประเทศ ย่านที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของชีวิต วัฒนธรรม ศิลปะ การค้าขาย และ ความเชื่อ

ทรงวาด ชื่องาม นามเพราะ ตำนานความมั่งคั่งของการค้าบนถนนเลียบคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยา

จักรวรรดิ ย่านพักอาศัยชุมชนชาวจีนแห่งแรกของไทย

สะพานเหล็ก ปลายสุดถนนมังกร ชุมชนในอดีตที่ยังคงมีลมหายใจ

1.ถนนเยาวราช

ผ่านกันมาถึงตรุษจีนอีกครั้ง สำหรับปี 2021 นี้ครับ ภาพที่ผมเก็บได้ในขณะที่ใช้เวลา 1 วัน ในการเดินสำรวจถนนเยาวราช ถนนที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น ถนนสายมังกร แห่งเดียวในไทยนี้นั้น ทุก ๆ ท่านอาจใช้เวลาเดาได้แค่ไม่กี่วินาทีกันใช่ไหมครับ บรรยากาศแบบนี้ สถานที่หน้าตาแบบนี้ ใช่แล้วครับ ผมอยู่ที่ ถนนเยาวราช จุดเริ่มต้นของชุมชนการค้าชาวจีนที่อาศัยอยู่นอกประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก

หากต้องพูดถึงเยาวราชแล้ว มี 2 สิ่งที่พวกเรานึกถึงกันอยู่เสมอนั่นก็คือ ร้านขายทองที่มีมากมาย กับ อาหารการกินโดยเฉพาะสตรีทฟู้ดแสนอร่อยที่มีชื่อเสียงมาก ซึ่งตัวผมเองก็นึกถึง 2 สิ่งนี้เช่นกัน หากแต่ถ้าเราลองมองให้ลึกลงไปในเมื่อเราจะเดินเที่ยวกันให้กว้างขึ้นในเยาวราชนี้ คำถามที่อยู่ในใจก็คือ จุดกำเนิดของถนนเยาวราชมีที่มาอย่างละเอียดเพียงใด วันนี้เราจะได้คำตอบไปพร้อมกันครับ

background ในอดีตของถนนเยาวราช คงต้องย้อนกลับไปยังสมัยรัชกาลที่ 4 ครับ ยุคสมัยนั้นมีจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้นในโลกหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือ อาณาจักรบริเตน หรือ อังกฤษ ได้ทำการแผ่ขยายอิทธิพลและอำนาจต่าง ๆ ไปยังดินแดนต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งในสมัยนั้นตรงกับสมัยของสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย ทรงส่งราชทูตผู้ที่เรามักจะเคยได้ยินชื่อบ่อย ๆ มายังสยามคือ เซอร์จอห์น เบาว์ริง เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีทางการทูต และเกิดการเจรจาเรื่องสนธิสัญญาทางการค้าระหว่างกัน อันเป็นที่มาของสนธิสัญญาเบาว์ริง จุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงในสยามประเทศในขณะนั้น เป็นการเปิดประเทศสู่โลกตะวันตก เกิดความร่วมมือทางการค้าแบบเสรีในยุคใหม่ เรียกได้ว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในขณะนั้นเลยครับ

เมื่อสยามได้เปิดรับชาวตะวันตกเข้ามาทำการค้าร่วมกันเรื่อยมาจนถึงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 คนไทยรู้จักปฏิสัมพันธ์กับชาวต่างชาติมากขึ้น ทั้งชาวตะวันตก ชาวจีน ชาวอินเดีย คุ้นชินกันจนเป็นปกติ เกิดพหุลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากัน การค้าขยายตัวพร้อม ๆ กับชุมชนโดยรอบ โดยเฉพาะย่านคนจีน และ อินเดียที่อาศัยรวมกันอยู่แถวบ้านหม้อแต่ก่อนแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5 จึงทรงมีพระราชดำริให้ตัดถนนเพื่อให้เยาวราชกลายเป็นสถานที่ส่งเสริมการค้าขาย ชื่อโครงการว่า “โครงการถนนอำเภอสามเพ็ง (สำเพ็ง)” ใช้ระยะเวลาในการตัดถนนมากกว่า 8 ปี ช่วง พ.ศ. 2435 – พ.ศ. 2443 ระยะทาง 1.5 กิโลเมตร เดิมที ชื่อว่า ถนนยุพราช แต่ได้โปรดเกล้าฯพระราชทานนามใหม่ว่า ถนนเยาวราช หมายถึง กษัตริย์พระองค์น้อย หรือ พระราชาผู้ทรงพระเยาว์ ซึ่งนั่นก็คือสมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯพระองค์โตในรัชกาลที่5 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้าพระมหาวชิรุณหิศ สยามมกุฏราชกุมาร ผู้ทรงเป็น “สยามมกุฏราชกุมาร” พระองค์แรกของประเทศไทย

ในอดีตถือเป็นถนนสายแรกที่มีตึกที่สูงที่สุดในประเทศไทยตั้งอยู่ คือ ตึกเก้าชั้น ตึกเจ็ดชั้น และตึกหกชั้น โดยในตึกเก้าชั้นยังมีลิฟต์โดยสารตัวแรกของประเทศไทยอีกด้วย ตึกสูงที่มีชื่อเสียงในสมัยก่อนที่เป็นที่รู้จักคือ ห้างนายเลิศ ในแต่ละชั้นทำการค้าหลายรูปแบบ แต่ชั้นล่างสุดมีการนำเข้าสินค้าที่ทันสมัยจากต่างประเทศ วางจำหน่ายเหมือนห้างสรรพสินค้าที่นำสมัยมากในขณะนั้น อีกทั้งยังมีร้านขายทองและทำทองที่มีมากกว่า 100 ร้านด้วยครับ

ปัจจุบัน ถนนเยาวราชยังคงเป็นแหล่งสำคัญสำหรับการทำธุรกิจการค้าทั้งในแง่ของการเป็นแหล่งผลิต การค้าปลีกค้าส่งรวมไปถึงเป็นที่ตั้งของร้านค้า ร้านอาหารในทุกรูปแบบ เป็นย่านอาหารแนวสตรีทฟู้ดที่นักท่องเที่ยวแนะนำว่าต้องมาให้ได้ถ้ามาเยือนเมืองไทย

หากแต่ถนนเยาวราชกลับไม่ใช่ถนนที่สร้างแบบอย่างตะวันตกสายแรกในไทยนะครับ ถนนสายแรกในไทยที่ถือกำเนิดขึ้นก็มีความเชื่อมโยงกับถนนเยาวราชนี่เองครับ ที่ผมกล่าวถึง คือ ถนนเจริญกรุง นั่นเองครับ ถนนเจริญกรุง เป็นถนนสายแรกที่สร้างขึ้นตามแบบ “ตะวันตก” สายแรกของสยาม เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404 เนื่องจากชาวตะวันตกที่เข้ามาอาศัยทำงานทำการค้าในสมัยนั้นมองเห็นว่าในพระนคร ไม่มีถนนแบบดี ๆ เช่นในบ้านเขาเมืองเขาเลยสักสาย จะออกไปใช้ชีวิตผ่อนคลายขี่ม้าเดินเล่นก็ไม่สะดวกนัก จึงส่งหนังสือทูลขอให้โปรดพิจารณาเรื่องการสร้างถนนตามแบบตะวันตก จุดเริ่มต้นของถนนสายแรกของไทย อย่างถนนเจริญกรุงนี้ อยู่ตรงคลองโอ่งอ่าง(สะพานดำรงสถิต) หรือ สะพานเหล็กที่เรารู้จักกัน เรื่อยไปตามแนวถนนเจริญกรุงในปัจจุบัน โดยตัดผ่านไปยังวงเวียนโอเดียนที่เชื่อกันว่าเป็นส่วนหัวของมังกรของถนนเยาวราชแห่งนี้ ส่วนถนนเยาวราชก็จะตัดผ่านยาวไปตามแนวถนนที่เราเห็นในปัจจุบัน ผ่านไปยังสำเพ็ง แบกวัดตึก สิ้นสุดที่คลองโอ่งอ่างจุดบรรจบของถนนเจริญกรุงด้วยครับ จะเห็นได้ว่า เมื่อมีการตัดถนนเยาวราชเพิ่มในภายหลังและเสร็จสิ้นเมื่อปี 2443 ถนนที่แวดล้อมถนนเยาวราช ก็สามารถเดินลัดเลาะหากันตามตรอกซอยได้ เชื่อมอาคาร ร้านค้า สถานที่สำคัญต่าง ๆ ในย่านนี้เข้าหากัน ถือเป็นย่านคนจีนเยาวราชที่กินอาณาเขตกว้างใหญ่โยงใยเข้าหากันด้วยถนนต่าง ๆ ที่ว่าครับ

ด้วยวิธีการที่ง่ายที่สุดในการมาเยือนเยาวราชนี้คือ การเดิน ผมว่าเป็นวิธีหนึ่งที่เราจะ ลัดตรอก เลาะคลอง ท่องริมน้ำ ออกถนน บนบานศาลเจ้า ได้รวดเร็ว เก็บที่เที่ยวใน 1 วันได้ครบ จบแบบแฮปปี้จริง ๆ ครับ

2.วงเวียนโอเดียน

ตามความเชื่อของชาวจีนเกี่ยวกับถนนเยาวราชนั้นเกี่ยวเนื่องกับ คติความเชื่อในเรื่อง มังกร ที่เป็นสัตว์เทพเจ้าแห่งความเป็นมงคล มีความยิ่งใหญ่และอุดมสมบูรณ์ และด้วยสภาพของตัวถนนที่คดเคี้ยวไปมาคล้ายมังกร ถนนเยาวราชจึงถูกขนามนามว่า ถนนมังกร โดยมีส่วนหัวของมังกรเริ่มที่ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา หรือวงเวียนโอเดียนแห่งนี้ ส่วนท้องมังกรที่ตลาดเก่าเยาวราช และหางมังกรที่ปลายถนนเยาวราช ถนนสายนี้จึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจการค้าของชาวไทยเชื้อสายจีนมาก

ในปัจจุบัน หากถ้ามีการจัดงานสำคัญบนบริเวณถนนเยาวราชแห่งนี้ จะต้องเริ่มต้นที่วงเวียนโอเดียนนี้ เพราะถือว่าเป็นส่วนหัวมังกร จุดเริ่มต้นของถนนมังกร ความคติความเชื่อชาวจีน และบริเวณตรงนี้ก็เคยเป็นจุดเริ่มต้นของกิจการรถรางสายแรกของประเทศไทยด้วยครับ

วงเวียนโอเดียน ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา อยู่ห่างจากวัดไตรมิตรฯไม่ไกลนักเพียงแค่ข้ามถนน บริเวณจุดตัดของถนนเจริญกรุง ถนนเยาวราช และถนนมิตรภาพไทย-จีน เป็นที่ตั้งของซุ้มประตูจีนสีแดงขนาดใหญ่ เด่นเป็นสง่ายังบริเวณนี้ ถูกสร้างขึ้นโดยความร่วมมือของชาวไทยเชื้อสายจีน บริษัท ห้าง ร้าน ประชาชน และหน่วยงานราชการ เพื่อถวายเป็นราชสดุดีในวโรกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ ในปี พ.ศ.2542 ใต้ซุ้มประตูมีอักษรจารึกว่า “เทียน” หมายถึง ฟ้า ตรงข้ามกับคำว่า “ตี้” หมายถึง ดิน ด้านหน้าซุ้มมีสิงโตหยกขาวแกะสลักจำนวน1คู่มอบเป็นที่ระลึกจากรัฐบาลจีน

เงาและแสงของสิ่งปลูกสร้างฝั่งตรงข้ามวงเวียน สวยดีครับ

พูดถึงรถรางสักเล็กน้อย บริเวณวงเวียนโอเดียนนี้มีส่วนตัดกับถนนเจริญกรุงด้านตลาดน้อย ที่เมื่อก่อนก็ถือว่าเป็นชุมชนชาวจีนที่สำคัญเช่นกัน ในสมัยก่อนมีการดำเนินกิจการรถรางผ่านถนนเส้นนี้ไปยังท่าเรือถนนตกโน่นเลยครับ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมประเทศฝั่งตะวันตกในสมัยนั้น เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการสัญจรของชาวสยาม นอกเหนือจากใช้รถเจ๊ก (รถลาก) และรถม้า มีการดำเนินกิจการเรื่อยมา เปลี่ยนโอนกิจการจากมือต่อมือหลายเจ้าหลายยุคหลายสมัย จนกระทั่งได้ยกเลิกกิจการเดินรถอย่างถาวรในปี พ.ศ. 2511 โดยมีรถเมล์เข้ามาแทนที่เนื่องจากต้นทุนในการทำธุรกิจที่ถูกกว่าและทันสมัยกว่าครับ

3.มูลนิธีเทียนฟ้า

มูลนิธิเทียนฟ้า มีนามแรกเริ่มว่า “โรงพยาบาลเทียนฮั้วอุยอี้” เพื่อสงเคราะห์ผู้ป่วยไข้ที่ยากไร้ให้ได้รับการรักษาพยาบาล และจ่ายยาจีนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ นับเป็นโรงพยาบาลแพทย์แผนจีนแห่งแรกของประเทศไทย ต่อมาในปี พ.ศ.2474 ได้จดทะเบียนตั้งเป็น “มูลนิธิเทียนฟ้า” และเปลี่ยนชื่อเป็น โรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ นับเป็นมูลนิธิแห่งแรกในประเทศไทยอีกด้วย

โดยตลอดระยะเวลากว่า120ปี โรงพยาบาลฯเป็นองค์กรการกุศลที่ไม่แสวงหาผลกำไร ยังคงสืบสานเจตนารมณ์ของคณะผู้ก่อตั้งอย่างเดิมเสมอมา ปัจจุบันโรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิได้จัดตั้งโครงการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมให้แก่ผู้ป่วยยากไร้ และทุก ๆ เช้าวันอาทิตย์ยังมีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการตรวจสุขภาพเบื้องต้น ตรวจวัดความดันโลหิตและน้ำตาลในเลือดที่สวนลุมพินี โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

ภายในมูลนิธิเทียนฟ้า มีรูปปั้นองค์พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ เจ้าแม่กวนอิม ทำด้วยไม้แก่นจันทน์แกะสลักปิดทอง ศิลปะสมัยราชวงศ์ถัง อายุราว1000ปี อัญเชิญมาจากมณฑลเหอหนาน ประเทศจีน ประดิษฐาน ณ หน้าอาคารแพทย์แผนปัจจุบัน เปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าชมและสักการะทุกวัน จะเห็นว่านักท่องเที่ยวหนาแน่นตลอดวัน

4.ชุมชนตรอกโพธิ์

ถัดมาบริเวณด้านข้างของมูลนิธิเทียนฟ้า จะเป็นตรอกเล็กที่สามารถเดินเชื่อมไปยังถนนทรงสวัสดิ์ได้ ชุมชนเล็ก ๆ เพียงแค่ 57 หลังคาเรือนนี้มีชื่อว่า ชุมชนตรอกโพธิ์ อาศัยปลูกเรือนติดกันเป็นชุมชน บ้างก็เป็นบ้านสำหรับอยู่อาศัย บ้างก็เป็นโรงงานอุตสาหกรรมย่อม ๆ ระดับครัวเรือน ร้านอาหาร และร้านค้าโชห่วย ปัจจุบันความเจริญได้คืบคลานเข้ามายังตรอกนี้ ทำให้บ้านเรือนบางหลังถูกขายออกไป เปลี่ยนมือเจ้าของที่ดิน ทำให้เกิดเป็นธุรกิจใหม่ๆอย่างโรงแรมและโฮสเทลขึ้น

5.เอ็กเต็งผู่กี่ ถนนพาดสาย

ร้านกาแฟตึกแถวโบราณที่อยู่คู่เยาวราชมามากกว่า 90 ปี เปรียบดังสภากาแฟของเหล่าอากงอาม่า ที่เข้ามานั่งจิบกาแฟ น้ำชา กินขนมปังปิ้ง ไข่ลวก นั่งทอดอารมณ์และจับกลุ่มพูดคุยกันตามประสาวัยรุ่นปู่ย่า พูดง่าย ๆ ก็คือคาเฟ่สโลว์ไลฟ์นั่งชิลใช้ชีวิตเนิบ ๆ ของอากงอาม่านั่นเอง

โดยเครื่องดื่มจะราคาย่อมเยามาก เริ่มต้นแค่ 14 บาทเท่านั้น ราคากาแฟเย็นอยู่ที่ 20 บาท แต่ถ้าแบบร้อนจะถูกลง 1 บาท เป็น 19 บาท ส่วนรสชาติก็จะเป็นแบบกาแฟคลาสสิกครับ

บรรยากาศนี้ทำให้อินกับความจีนใช้ได้เลย ร้านนี้หาไม่ยาก เพราะอยู่ตรงแยกเฉลิมบุรีนี่เอง ภาพเซตนี้ลงไว้เป็นที่ระลึกถึงอดีตที่ร้านนี้ยังคงเปิดต้อนรับคนทุกวัย รักษาเรื่องราวในอดีตไว้ให้ยังคงอยู่ หากแต่ปัจจุบัน เมื่อปีที่แล้ว ร้านนี้ได้รีโนเวทใหม่เป็นคาเฟ่แบบสมัยใหม่แล้วครับ รู้สึกดีใจอย่างมากที่เคยได้ซึมซับบรรยากาศของหนึ่งร้านในตำนานร้านกาแฟโบราณที่เก่าแก่ที่สุดในย่านนี้ครับ

สำหรับใครที่อยากแวะไปชมร้านในรูปแบบใหม่ที่พลิกโฉมใหม่ แต่ยังคงกลิ่นอายดั้งเดิมไว้อย่างดีอยู่ ก็แวะกันไปได้ครับ

6.สมาคมฮากกาแห่งประเทศไทย

ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่าชาวฮากกาเดินทางเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อใด แต่มีบันทึกถึงชุมชนชาวฮากกาว่ามีชุมชนตั้งอาศัยอยู่ในสมัยราชวงศ์สุโขทัยเรื่อยมาหลายร้อยปีจนสมัยราชวงศ์จักรี

สมาคมฮากกาเริ่มตั้งเป็นสมาคมเมื่อปี พ.ศ.2413 โดยชาวจีนฮากกาที่อาศัยในประเทศไทยบริเวณย่านวังบูรพา เป็นองค์กรการกุศลที่มุ่งเน้นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม อาทิ จัดสร้างโรงเรียน จัดสรรทุนการศึกษาประจำปี สร้างสุสาน สร้างศาลเจ้า และก่อตั้งกองทุนสวัสดิการผู้สูงอายุ ปัจจุบัน สมาคมฮากกาแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ถนนพาดสาย เยาวราช ภายในมีหอประวัติสมาคมฯ และศาลเจ้ากวนอู เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าสักการะได้ทุกวันอย่างสงบ

เยื้อง ๆ กับสมาคมฮากกา เราจะเห็นศาลเจ้าแม่กวนอิมแฝงอยู่กับบ้านคนและร้านค้าครับ

7.ตรอกเต๊า (ซอยเยาวราช 😎

ทางเข้าตรอกเต๊า อยู่ริมถนนเยาวราชครับ ปากซอยเราจะเจอวัดจีนบำเพ็ญพรตก่อน ถือเป็นวัดจีนที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของไทยครับ สำหรับตรอกเต๊าแล้ว สายละครไทยอาจจะเคยได้ยินชื่อนี้ผ่านมาบ้าง ไม่ใช่ชื่อโลเคชั่นสมมุติใด ๆ แต่ตรอกเต๊า หรือ ซอยเยาวราช 8 นั้นมีอยู่จริง เมื่อก่อนถือเป็นย่านธุรกิจบันเทิงยามค่ำคืนสำหรับชายรักสนุกที่วนเวียนเข้ามาหาความสุขชั่วครั้งคราวในตรอกแห่งนี้ ว่ากันว่าตลอดทั้งซอยเรียงรายไปด้วยซ่องนางโลมยาวตั้งแต่ต้นซอยยันท้ายซอย มีโคมเขียวโคมแดงห้อยหน้าร้านเป็นพรืด ในยุคนั่นถือว่ากิจการโรงหญิงหากินเฟื่องฟูมากจนถึงกับต้องมีการเก็บภาษีอาการเรือนโรง เสมือนการเก็บค่าเช่า และตัวหญิงขายบริการเองก็ต้องเสียภาษีเช่นกัน มีการออกใบอนุญาตจากทางการ มีค่าธรรมเนียมในการออกใบอนุญาตสูงถึง 12 บาท มีอายุเพียง 3 เดือน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากในสมัยนั้นครับ

“เก่าแต่เก๋า”
ด้วยภาพลักษณ์ของธุรกิจบันเทิงย่านกลางคืนที่คนนอกอาจจะไม่ค่อยชอบนัก ทำให้บรรดาผู้ใหญ่พ่อแม่ผู้ปกครอง มักจะพูดย้ำกับลูกหลานเสมอ ๆ ว่าอย่าคิดไปข้องแวะตรอกเต๊าเทียว จะนำความอับอายมาให้ แม้กระนั้นธุรกิจมืดในที่แห่งนี้ก็ยังเปิดรับชายหนุ่มผ่านมาหลายยุคหลายสมัย จนร้างราไปในที่สุด ปิดตำนานย่านการค้าประเวณี ปัจจุบันสภาพอย่างที่เล่ามาจะไม่เหลือให้เห็นอีกแล้ว ที่ยังคงไว้ก็จะเป็นตึกครึ่งปูนครึ่งไม้สมัยเก่า หน้าวัดจีนจะเป็นภัตตาคารไท้เฮง ร้านอาหารจีนในตำนานที่ขึ้นชื่อเรื่องไก่และสุกี้ เราสามารถเดินเข้ามาชมบรรยากาศเก่า ๆ ในตรอกนี้ได้ครับ

8.โรงงิ้วเก่า โรงหนังเก่า เยาวราช

ภาพที่เห็นอยู่นี้คือโรงภาพยนตร์ไชน่าทาวน์รามา ที่ปัจจุบันยังคงเปิดและฉายภาพยนตร์อยู่เป็นแบบฉายควบ ราคาตั๋ว 60 บาท ด้านหน้าตอนเย็นจะเป็นที่ตั้งของร้านก๋วยจั๊บอ้วนโภชนา ก๋วยจั๊บคิวยาวอันโด่งดัง อดีตเคยเป็นโรงงิ้วไซฮ้อ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงภาพยนตร์ศรีเมือง และโรงภาพยนตร์นิวแหลมทองในยุคต่อมา ซึ่งในปัจจุบันใช้ชื่อว่าโรงภาพยนตร์ไชน่าทาวน์รามา ปัจจุบันยังคงมีการฉายภาพยนตร์แบบหนังควบอยู่นะครับ

เมื่อพูดถึง “ภาพ” ที่สามารถอธิบายความชัดเจนในความเป็น “เยาวราช” แล้วนั้น ศิลปะการร่ายรำแบบจีน อย่างเช่นงิ้ว ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นอารยะของชาวจีนได้อย่างดี การแสวงหาความสุขยามเย็นหลังจากการเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน ในสมัยก่อน โรงงิ้ว คือสถานที่ที่ตอบโจทย์นั้น ในยุคสมัยที่เยาวราชรุ่งเรืองสูงสุด ข้อมูลที่ปรากฏคือ มีโรงภาพยนตร์ 6 โรง และโรงงิ้ว 4 โรง นั่นคือแหล่งพักผ่อนหย่อนใจในสมัยนั้น มีคนพูดว่า เยาวราชในสมัยก่อนก็คือสยามสแควร์ในสมัยนี้ครับ

เมื่อเวลาเปลี่ยนไป เทคโนโลยีต่างๆเข้ามาแทนที่ ความนิยมของการเข้าชมก็ลดลง จนต้องปิดตัวไปตามกาลเวลา

ภาพด้านหน้าทางเข้าโรงงิ้วเก่า ปัจจุบันเป็นแผงลอยขายอาหาร

โรงงิ้วเก่าเยาวราช ตั้งอยู่ระหว่างซอยเยาวราช 4 และซอยเยาวราช 6 ปัจจุบันได้ถูกดัดแปลงเป็นที่จอดรถรายชั่วโมง เหลือไว้เพียงแต่โครงสร้างตึกปูนเก่า เศษซากประวัติศาสตร์ยังคงพอมีให้เราเดินเข้าไปชมร่องรอยของอดีตได้เพียงเล็กน้อย เมื่อเดินเข้าไปเยี่ยมชม ขอความกรุณาชมอย่างสงบให้ความเคารพเจ้าของสถานที่ด้วยครับ

9.ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ

เล่งบ๊วยเอี๊ยะ มีความหมายว่า เทพเจ้าหางมังกร ศาลเจ้าแห่งนี้สร้างโดยชาวจีนแต้จิ๋ว ศิลปะจีนแบบตระกูลช่างแต้จิ๋วรูปแบบซี้เตี่ยมกิมในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ หากแต่ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2331 หรือ 2391 เป็นแน่ เนื่องจากการตีความจากจารึกภาษาจีนภายในศาลยังมีความไม่แน่ชัดอยู่

ประดิษฐานเทพเล่งบ๊วยเอี๊ยะเป็นประธานภายใน มีรูปปั้นมังกรตัวยาวพันเสาประตูทางเข้าทรงเม็ดข้าว 2 ตัว ภายในเก็บรักษาวัตถุโบราณล้ำค่าหาดูได้ยาก และมีระฆังโบราณที่สร้างในสมัยราชวงศ์หมิง

ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ ตั้งอยู่ในซอยเจริญกรุง 16 เป็นซอยที่ถ้าใครโดยสารรถไฟฟ้า MRT มาที่สถานีวัดมังกร จะคุ้น ๆ กับ exit ซอยเจริญกรุง 16 กันแน่นอนครับเพราะศาลเจ้าตั้งอยู่ต้นซอยนี้นั่นเอง ซอยศาลเจ้านี้มีเอกลักษณ์มากในย่านเยาวราชนี้ เนื่องจากเป็นย่านเดียวที่มีร้านค้าเครื่องเทศ วัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารเรียงรายยาวไปจรดถนนเยาวราชเลยครับ

ตลาดเล่งบ๊วยเอี๊ยะอยู่คู่กับศาลเจ้ามาหลายร้อยปี เป็นศูนย์รวมใจของพ่อค้าแม่ค้าที่นี่ โดยทุกช่วงเทศกาลที่จะคนมาจับจ่ายซื้อสินค้ามากมาย ที่มีชื่อเสียงที่สุดเห็นจะเป็น ร้านพริกไทยง่วนสูน หรือ พริกไทยตรามือที่ 1 อีกทั้งยังเป็นบ้านเดิมของเจ้าของตลาด คือท่านเจ้าสัวเนียมอีกด้วย ปัจจุบันศาลเจ้าได้ถูกบูรณะใหม่อย่างงดงามและเปิดให้เข้าชมตามปกติแล้วครับ

10.วัดมงคลสมาคม (วัดญวน) ซอยแปลงนาม

วัดมงคลสมาคม หรือ จั่วโห่ยคั้น หรือโห่ยคั้นตื่อ สร้างขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ปี พ.ศ. 2319 สังกัดคณะสงฆ์อนัมนิกาย เป็นวัดสายเวียดนามหรือวัดญวนเพียงไม่กี่แห่งในไทย

แต่เดิมวัดนี้ตั้งอยู่บริเวณบ้านญวนหลังวังบูรพาภิรมย์ แต่เมื่อมีการตัดถนนพาหุรัดผ่าน พื้นที่ของวัดอยู่ในแนวของถนนตัดใหม่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5 จึงโปรดเกล้าฯให้ผาติกรรมวัด หรือย้ายโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณนั้นเข้าส่วนราชการ และพระราชทานที่ดินเพื่อสร้างวัดใหม่ทดแทนยังที่ดินริมถนนแปลงนาม ดังปรากฏในปัจจุบัน ถือเป็นวัดญวนแห่งเดียวใจกลางย่านเยาวราช

วัดนี้คนที่มาทานข้าวในถนนแปลงนามจะสังเกตเห็นแค่ประตูด้านหน้า เพราะวัดจะปิดประตูตอน 6 โมงเย็น ทำให้คนที่มาทานข้าวช่วงค่ำ จะไม่ได้เข้าไปในวัด ผมแนะนำให้หาวันว่างช่วงกลางวันแบบผม ลองเข้ามาข้างในกันดูครับ คลาสสิกและออกจะแปลกตาจริง ๆ

แอบกระซิบถึงสายถ่ายภาพ หากไหว้พระกันเรียบร้อยแล้ว บริเวณที่จอดรถ ก็เป็น instagramable spot จุดหนึ่งที่มีมุมถ่ายรูปเยอะมากเชียวครับ

ภาพน่ารัก ๆ ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ผมพบเห็นหน้าวัดครับ

เดินครบ 1 ลูปในย่านถนนเยาวราชแล้ว ก่อนที่จะมืดไปกว่านี้ ขอเดินลัดไปยังด้านถนนทรงวาด ที่ขนานกับถนนเยาวราช อยู่ฝั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยากันดีกว่าครับ

11.ถนนทรงวาด

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ รัชกาลที่ 5 เป็นช่วงเวลาในการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าของประเทศ มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ บริเวณเยาวราชและสามเพ็ง หรือสำเพ็ง เป็นพื้นที่ศูนย์กลางการค้าที่รุ่งเรืองมากในขณะนั้น เป็นแหล่งพำนักของกลุ่มคนหลายเชื้อชาติ อาทิ จีน ไทย แขก ฝรั่ง และมีท่าน้ำราชวงศ์เป็นจุดพักเรือเพื่อขนถ่ายสินค้าระหว่างพ่อค้าชาวต่างชาติกับบรรดาห้างร้าน พ่อค้าคนกลาง และพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยทั่วไป รวมถึงเป็นท่าเรือสำคัญในการรับส่งผู้โดยสารในขณะนั้น และเป็นท่าเรือในการนำสินค้าของไทยขึ้นเรือ นำไปแลกเปลี่ยนค้าขายยังต่างประเทศต่อไป

ท่าเรือราชวงศ์จึงเป็นท่าเรือที่สำคัญ จุดเริ่มต้นของการเดินเรือของชาวต่างชาติที่มาเทียบท่า ติดต่อค้าขายกับชาวสยามและลูกหลานข้าหลวงที่จะเดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ จะต้องมาลงเรือต่อไปยังยุโรปที่ท่าน้ำนี้

วัฒนธรรม การคมนาคม การพาณิชย์ ก่อกำเนิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้นี่เอง ในอดีต ย่านสำเพ็ง บนถนนเยาวราชนั้น ได้เกิดเพลิงไหม้บ่อยครั้ง ด้วยความที่สภาพพื้นที่โดยรอบเป็นตรอกซอกซอยที่แคบ ไม่เป็นระเบียบ ยากที่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงจะเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในการระงับเหตุได้ทันท่วงที สร้างความเสียหายครั้งแล้วครั้งเล่า จนมาถึงครั้งที่สำเพ็งเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ ในปี พ.ศ. 2435 บ้านเรือนที่ทำด้วยไม้และหลังคามุงจากเสียเป็นส่วนมาก ทำให้ได้เกิดความเสียหายอย่างหนัก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัติวงศ์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ หรือ ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมอย่างในปัจจุบัน จึงได้ถวายแผนที่ย่านเยาวราชและข้อคิดเห็นในการตัดถนนผ่านอีกเส้นในย่านนั้นแด่ในหลวงรัชกาลที่5 เพื่อความปลอดภัยในทรัพย์สินของราษฎร และอำนวยประโยชน์ด้านการคมนาคมและการพาณิชย์ ซึ่งต่อมา ก็ได้มีพระราชวินิจฉัยโปรดเกล้าฯพระราชทานแผนที่ที่ทรงวาดแนวถนนอีกเส้นหนึ่ง ซึ่งเป็นเส้นทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาด้านหลังสำเพ็ง เป็นถนนที่มีแนวเป็นเส้นตรง ไม่คดเคี้ยวเช่นถนนเยาวราช จากนั้นเป็นต้นมา จึงได้มีการตัดถนนเพื่อทำการเชื่อมต่อกับถนนในละแวกนั้น ถือเป็นการปรับผังเมืองในย่านนั้นครั้งใหญ่ และภายหลัง ทรงพระราชทานชื่อถนนนี้ว่า “ถนนทรงวาด”

อีกฝั่งของแม่น้ำกับความเจริญในอีกรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

อาคารทั้งสองฟากถนนของถนนทรงวาด ถูกสร้างขึ้นเป็นที่ตั้งของบ้านเรือน บริษัท ห้างร้าน ถือเป็นตึกแถวยุคแรกของกรุงเทพมหานครฝั่งริมน้ำเจ้าพระยา เป็นตึกแถว3ชั้นสวยงามเรียงราย ได้รับอิทธิพลมาจาก ตึกแถวของประเทศสิงคโปร์และประเทศอาณานิคมของประเทศยุโรปตามแบบสไตล์ Art Deco และ Sino Portuguese โดยช่างชาวจีนในสมัยนั้น มีหน้าบันทรงโค้งติดด้วยลายประดับปูนปั้น แต่งช่องหน้าต่างเป็นซุ้มโค้งกลมและ ซุ้มโค้งแหลมกรุกระจกสีตามแนวกรอบ มีช่องลมฉลุรับกับทรงหลังคาอย่างสวยงาม อีกทั้งยังประดับปูนปั้นเป็นรูปสัตว์ เถาผลไม้และเถาดอกไม้หลายชนิด จนถูกเรียกว่า ตึกผลไม้ ซึ่งผมจะค่อย ๆ พาเดินไปชมตึกที่เป็นแลนด์มาร์กสำคัญของย่านนี้ต่อไปครับ

สิ่งที่มองเห็นในด้านวัฒนธรรมที่แทรกอยู่ในตัวอาคารเหล่านี้คือ การประดับประดาตกแต่ง เปรียบเหมือนการแต่งกาย ประดับของตกแต่งของคนเรา ถ้าบ้านไหนตกแต่งสวยงาม ลวดลายเยอะ มีความพิเศษกว่าบ้านอื่น ก็จะเหมือนเป็นการแสดงถึงความมั่งคั่งของบ้านนั้นๆ แสดงให้เห็นถึงรสนิยมของคนสมัยนั้น จะเห็นได้จากการตกแต่งตัวอาคารแต่ละหลังที่ต่างกัน ปัจจุบันมีคาเฟ่ ร้านอาหาร โฮสเทล ผุดขึ้นแทรกตัวตามถนนทรงวาดมากมาย แต่ยังคงเอกลักษณ์เดิม ผสมผสานกึ่งเก่ากึ่งใหม่อย่างลงตัว

ดีไซน์ที่ออกแบบอย่างวิจิตรของอาคารบนถนนทรงวาดนี้ ถือเป็นไฮไลต์ที่สำคัญของย่านนี้ แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของยุคสมัย สะท้อนออกมาเป็นวัฒนธรรมเฉพาะของชุมชนย่านนี้ ซึ่งตลอดระยะทาง 1 กิโลเมตรนี้ อยากให้ลองสังเกตตึกแต่ละหลัง มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น แปลกตา เรียงรายตลอดทั้งเส้นทางเลยครับ

ถนนทรงวาด ถนนที่มีระยะทางสั้นๆเพียงแค่1กิโลเมตร หลายๆคนอาจจะไม่รู้จักด้วยซ้ำ เพราะความสนใจถูกเทไปที่ถนนเยาวราชและเจริญกรุงเสียหมด แต่ทุกวันนี้ ถนนทรงวาดยังคงเป็นถนนสายเศรษฐกิจที่สำคัญของกรุงเทพฯ และยังเป็นแหล่งส่งออกและนำเข้าเครื่องเทศ วัตถุดิบ พืชผลทางการเกษตร มีห้างร้านที่ยังเปิดกิจการสืบทอดมาสู่ลูกหลานรุ่นปัจจุบัน และยังคงมีโกดังสำหรับเก็บผลิตภัณฑ์อยู่

ร้านค้าส่งและปลีกส่วนมากในย่านนี้จะเป็นเมล็ดพืชผลทางการเกษตรและเครื่องเทศเสียส่วนมาก หลาย ๆ ร้านยังคงเป็นชาวจีนรุ่นปู่ย่าที่ยังคงปักหลักค้าขายที่หน้าบ้านของตัวเองอยู่ครับ ข้อมูลน่ารู้ที่เราได้รับมาที่น่าสนใจอย่างมากคือ ถนนทรงวาดสายนี้คือจุดกำเนิดของ บริษัทเจียไต๋ ซึ่งในปัจจุบันคือ บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP นั่นเอง

12.ศาลเจ้าเล่าปูนเถ้ากง โรงเรียนเผยอิง

ศาลเจ้าเล่าปูนเถ้ากง หรือศาลเจ้าเก่า ด้านหน้าของโรงเรียนเผยอิง สร้างขึ้นจากแรงศรัทธาของชาวจีนที่อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ขึ้นเรือที่ท่าน้ำทรงวาด ได้ตั้งศาลเจ้าเพื่อเป็นที่เคารพบูชา และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ขอให้อำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกป้องคุ้มครองในการดำเนินชีวิตประจำวันและทำกิจการค้ารุ่งเรือง

การเดินทางออกจากประเทศจีนในสมัยก่อนมีความลำบากมากครับ ลงเรือรอนแรมใช้เวลา 1 เดือนถึงจะมาถึงสยาม และมีเวลาแค่ 4 เดือนใน 1 ปีเท่านั้นที่สภาพของลมเหมาะสมในการเดินเรือที่จะมาถึงประเทศเราได้ ดังนั้นการนับถือเทพเจ้าเพราะเชื่อว่าเทพคุ้มครองและช่วยเหลือ เมื่อต้องเผชิญกับอุปสรรคหรือปัญหา ทำให้ตนมีความปลอดภัยประสบความสำเร็จในการทำงาน จึงเปรียบเสมือนพลังใจที่ทำให้เกิดความมุมานะ และไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคในการปฎิบัติงาน

บริเวณด้านหลังศาลเจ้าจะเป็นที่ตั้งของโรงเรียนเผยอิง โรงเรียนจีนที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนสอนภาษาจีนที่อยู่คู่ย่านเยาวราช ปีนี้ก็ครบ100ปีพอดี สมัยก่อน เปิดสอนแค่ภาษาจีนให้กับนักเรียนชายเท่านั้น ต่อมาเมื่อ 13ปีให้หลังจึงเปิดรับนักเรียนหญิงเข้าร่วมศึกษาในโรงเรียนด้วย

โรงเรียนเผยอิง ปัจจุบันดำเนินการโดยสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย โดยเป็นโรงเรียนแบบสหศึกษา จัดการเรียนการสอนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ลองแวะเข้าไปชมกันได้ครับ

13.ตึกผลไม้

มาถึงแล้วครับ ตึกผลไม้ที่ผมพูดถึง อยู่ตรงหัวมุมปากทางของถนนทรงวาดฝั่งจักรวรรดิ ใกล้กับทางเข้าท่าเรือราชวงศ์ ถือเป็นตึกโบราณที่โดดเด่นในด้านสถาปัตยกรรมมากกว่า100ปี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่5 มีการประดับลวดลายฉลุไม้แบบเรือนขนมปังขิง ซุ้มหน้าต่างเป็นทรงโค้งแหลม แบบสถาปัตยกรรมโกธิค ใครผ่านไปผ่านมา ต้องยกกล้องขึ้นมาเก็บภาพไว้ครับ

ตึกผลไม้ หรือ ตึกแขก เป็นชื่อที่คนในย่านทรงวาดใช้เรียกอาคารตึกแถวโบราณที่โดดเด่นอยู่ที่หัวถนนทรงวาดจรดกับถนนราชวงศ์ กล่าวกันว่าตึกแห่งนี้เป็นของห้างเอ. ที. อี. มัสกาตี (A.T.E Maskati) เป็นบริษัทที่นำเข้าผลิตภัณฑ์ผ้าจากอินเดีย ซึ่งบริษัทมัสกาตีมีโรงงานผลิตอยู่ที่ประเทศอินเดียก่อนจะนำเข้ามาขายยังประเทศในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

ตึกนี้เป็นตึกที่กรมศิลปากรอนุรักษ์ไว้ โดยที่เจ้าของตึกก็ยังใช้เป็นที่ประกอบธุรกิจการค้าอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยไม่ทุบทำลายลงเพื่อสร้างตึกแบบใหม่อย่างในหลาย ๆ ตึกในละแวกเดียวกัน

14.จักรวรรดิ เวิ้งนาครเขษม

ย่านจักรวรรดิ ถือเป็นย่านชุมชนที่พักอาศัยของชาวจีนในอดีตที่หนาแน่นที่และเก่าแก่ที่สุด ชาวจีนรวมตัวกันสร้างที่พักอยู่แถบนี้เนื่องจากใกล้กับท่าเรือราชวงศ์ สะดวกต่อการไปมาค้าขาย เป็นเส้นทางที่รวมการเปลี่ยนถ่ายเส้นทางสัญจรมากที่สุดจุดหนึ่งก็ว่าได้ สามารถเดินลัดไปสำเพ็ง พาหุรัด คลองถม บ้านหม้อ ซึ่งเป็นอีกฝั่งของย่านจักรวรรดิ และสะพานเหล็กได้

ย่านจักรวรรดิ ยังเป็นแหล่งค้าขายสมุนไพร และห้างขายยาจีนที่มีชื่อเสียงมากในขณะนั้น อาทิ ร้านขายยาเจ้ากรมเป๋า ร้านยาไท้อันจั่น เวชพงศ์โอสถ เรียกได้ว่า ยาหม้อ ยาหอม ยาลม ยาจีน ยาฉุน ยาเส้น ฯลฯ ผู้คนจะนึกถึงที่นี่เป็นที่แรก

ระหว่างทางที่เราเดินลัดเลาะตามตรอกซอกซอยย่านจักรวรรดิ จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในย่านนี้นั่นคือ ทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้เข้ามาดูแลปรับปรุงภูมิสถาปัตยกรรมอาคารเก่าเหล่านี้ให้มีชีวิตขึ้นมาใหม่ ปลอดภัย แข็งแรง และอนุรักษ์อาคารเขตพระนครนี้ให้คงอยู่ต่อไป โดยการร่วมมือกันของชาวชุมชนจัดตั้งเป็นบริษัทชุมชนเลื่อนฤทธิ์ รวมตัวกันดูแลบริหารพื้นที่ตึกแถวพาณิชย์โบราณบริเวณแยกวัดตึกทั้งหมด ออกเงินสำหรับการรีโนเวทเองทั้งหมดในรูปแบบของอาคารอนุรักษ์เพื่อให้ได้สิทธิ์ในการเช่าพื้นที่ต่อและช่วยอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ให้ยังคงอยู่ต่อไป ปัจจุบันชุมชนเลื่อนฤทธิ์ใกล้เสร็จสมบูรณ์ รอพวกเรากลับไปเยี่ยมชมแล้วครับ ผมขอฟันธงเลยว่าจะกลายเป็นย่านฮอตฮิตย่านต่อไปของคนทุกเพศทุกวัยแน่นอนครับ

ความว่างเปล่าของ เวิ้งนาครเขษม หรือ นครเกษม ในปัจจุบัน บ่งบอกในเรื่องราวของความไม่จีรังยั่งยืน ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ล้วนจักต้องมีวันดับสูญไป อย่างเช่นย่านธุรกิจการค้าส่งและปลีกเครื่องดนตรีนำเข้าที่ยิ่งใหญ่มากอย่างเวิ้งนาครเขษมแห่งนี้

ในสมัยก่อน ถ้าใครจะซื้อเครื่องดนตรีและอุปกรณ์ต่างๆ จะต้องมาซื้อที่เวิ้งนาครเขษมแห่งนี้ ถือเป็นศูนย์การค้าแบบสากลแห่งแรกบนเกาะรัตนโกสินทร์อีกด้วย เดิมทีเป็นที่ดินแปลงเวิ้งน้ำหน้าวังบูรพา ซึ่งเป็นที่ดินที่เจ้าฟ้าบริพัตร สุขุมพันธ์ ได้รับพระราชทานมาจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังได้รับพระราชทาน เจ้าฟ้าบริพัตรได้ทรงอนุญาตให้ชาวจีนเข้ามาเช่าทำประโยชน์ นำสินค้ามาวางขายเรียงรายโดยรอบเวิ้งน้ำ ซึ่งเรียกเป็นภาษาจีนว่า “จุยเจี่ยเก็ง” แปลว่า “วังน้ำทิพย์” จนขยับขยายสร้างเป็นอาคารพาณิชย์ทำการค้าต่อมา

แต่ในปัจจุบัน ร้านค้าต้องย้ายออกจากพื้นที่ไปเปิดยังที่ใหม่แล้ว ปิดตำนานการค้าของย่านขายเครื่องดนตรีแห่งนี้ คงไว้แต่อาคารเก่าและพื้นที่เปล่าๆ รอบริหารจัดการเป็นโครงการในรูปแบบอื่นต่อไปโดยกลุ่ม ThaiBev โดยข่าวแว่วมาว่าจะสร้างเป็นโครงการ mix use โรงแรม บูทีค ห้องพักระยะยาวแบบมีเซอร์วิส ห้องชุดโซโห ห้องชุดปล่อยเช่า ศูนย์การค้าบนดินและพื้นที่รีเทลที่มีร้านค้าวนลงไปใต้ดินหลายชั้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศครับ

15.คลองโอ่งอ่าง

ถัดจากเวิ้งนาครเขษม พื้นที่ติดกันที่อยู่ริมคลองโอ่งอ่าง หรือคลองรอบกรุง สองฟากของสะพานดำรงสถิต หรือ สะพานหัน เป็นที่ตั้งของร้านค้าที่เด็กและวัยรุ่นในยุคก่อนจะต้องรู้จักและเคยมาเดินเลือกซื้อโมเดลหุ่นยนต์ เครื่องเล่นเกมในทุกรูปแบบ แผ่นเกม ซีดี ดีวีดี ของเล่น ของสะสม ตลอดจนเครื่องใช้ไฟฟ้า กันอย่างคับคั่ง เรียกติดปากกันว่า สะพานเหล็ก ปัจจุบันทางกรุงเทพมหานครได้พัฒนาเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวใหม่ เรียก คลองโอ่งอ่าง ตามชื่อเดิม นักท่องเที่ยวเยอะมาก ทุก ๆ คนน่าจะคุ้นเคยกันดีในช่วงนี้ครับ

ฝาปิดท่อที่กรุงเทพมหานครถอดขึ้นมาให้ศิลปินปรับโฉมใหม่ เป็นการนำเอาศิลปะสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการนำเสนอสถานที่ คล้าย ๆ ไอเดียของฝาท่อที่เรามักจะเจอเป็นรูปต่าง ๆ ในประเทศญี่ปุ่นครับ

16.สะพานเหล็ก

“สะพานเหล็ก” คือชื่อย่านเรียกติดปากที่ทุกคนรู้จักกันดี สมัยก่อน สะพานเหล็ก มีความสำคัญในแง่เศรษฐกิจมาก เพราะการค้าในที่แห่งนี้ทำรายได้ให้พ่อค้าแม่ค้าริมคลองแห่งนี้ ตั้งตัวจนร่ำรวยกันถ้วนหน้า

หากแต่ในปัจจุบัน ร้านค้าได้ถูกขอให้ย้ายออกจากพื้นที่ริมคลองทั้งหมด เนื่องจากเป็นพื้นที่บุกรุก ทาง กทม.จึงได้ทำการจัดระเบียบพื้นที่ในส่วนนี้ใหม่ทั้งหมด ปรับทัศนียภาพที่ถูกบดบังมากว่า40ปี ให้เป็นถนนคนเดิน ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม บางบ้านปรับตัวเข้ากับยุค โดยเปิดเป็นร้านค้า ร้านอาหารต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวคลองโอ่งอ่าง สร้างรายได้ต่อให้กับชุมชนด้วยครับ

วิถีชีวิต ร่องรอยอดีต ศิลปะ และ สิ่งใหม่ ที่ยืนอยู่คู่กัน

แยกเมก้า พลาซ่า สะพานเหล็ก เป็นแยกที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของย่านนี้มาก คนรุ่นใหม่ยุคปัจจุบันก็คงจะเรียกว่าเมก้าสะพานเหล็กกันไปเสียแล้ว

นี่ครับ แยกสะพานเหล็ก อารมณ์คล้ายต่างประเทศเลย ถ้าเราไปพูดกับคนรุ่นพ่อแม่ คงจะเข้าใจได้ไม่ตรงกัน ถ้าไม่พูดว่า “เมอรี่คิงส์ วังบูรพา” หากพูดกันแบบนี้พ่อแม่คงร้องอ๋อแน่นอน นับเป็นห้างในตำนานของย่านสะพานเหล็กแห่งนี้ ซึ่งภายหลังถูก take over ไปแล้ว

นอกจากจะเป็นที่ตั้งของห้างเมก้า พลาซ่า สะพานเหล็กในปัจจุบัน บริเวณโดยรอบก็ยังมีห้างขายผ้าแบบติดแอร์ เดินสบาย ขนาดใหญ่ถึง 2 ห้าง มีร้านค้าทุกรูปแบบ และเป็นจุดต่อรถประจำทางที่มาจากฝั่งธนฯอีกด้วย

ปัจจุบันห้างแห่งนี้กลับมามีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง เนื่องจากกระแสนิยมกล้องฟิล์มแบบสมัยก่อน ได้กลับมาเป็นที่นิยมของบรรดาผู้รักการถ่ายภาพ ซึ่งการที่จะหาผู้เชี่ยวชาญทางสายกล้องฟิล์มที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ได้ ก็คงต้องเป็นที่นี่ ที่ถือว่ามีครบ ทั้งกล้องฟิล์มมือสอง ฟิล์มถ่ายภาพ กล้องสะสม อะไหล่กล้อง ไปจนถึงร้านซ่อมกล้องโดยช่างที่มีความชำนาญ สามารถปลุกชีวิตกล้องที่พังหรือใช้งานไม่ได้แล้ว ให้กลับมาใช้งานได้อีกในปัจจุบัน

พระอาทิตย์ใกล้ตกแล้ว ขอเดินสำรวจอีกนิดก่อนจบทริปนี้ครับ

วิถีชีวิต วันแล้ววันเล่า

ย่านการค้าที่ไม่เคยหลับใหล เป็นแหล่งทำมาหากินสร้างเนื้อสร้างตัวของคนหลายเชื้อชาติ

ชีวิต ดำเนินไปตามแต่วิถีของแต่ละคน

เสน่ห์อันลึกซึ้งของย่านต่าง ๆ ที่เชื่อมกันด้วยตรอกซอย ถนนสายเล็ก ๆ ที่เราหลายคนแทบจะไม่รู้จักเลย

บ้างก็เคยผ่าน แต่ไม่รู้ชื่อเรียกว่าอะไร บ้างก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่า มีย่านแบบนี้ซ่อนอยู่ใกล้ ๆ กับย่านที่พวกเขาเคยมาและคุ้นเคยมากมาก่อน

“ย่านเก่า ๆ ” ของหลาย ๆ คน อาจเป็น “ย่านใหม่ ๆ ” เปิดประตูประสบการณ์บานใหม่ ๆ ของใครหลาย ๆ คนได้เช่นเดียวกันครับ

ร่องรอยอดีตทางประวัติศาสตร์ในย่านที่ได้นำเสนอวันนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะทำให้ทุกคนนึกย้อนไปเห็นถึงความสำคัญของย่านการค้าที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานแห่งนี้

ลองใช้เวลาว่าง กลับมาเรียนรู้และศึกษาชุมชนแห่งนี้ดูครับ เราอาจจะไม่ได้เพียงแค่เดินทางไปกิน ไปซื้อของ ไปไหว้เจ้า ไปรูปถ่ายกลับไปก็เป็นได้ครับ

จบไปอีก 1 วัน กับทริปเดินเท้า เล่าเรื่อง ในย่านสำคัญอย่างเยาวราช ทรงวาด จักรวรรดิ และ สะพานเหล็กแล้วครับ ลองวางทริปกันดู สะพายกล้องแล้วออกจากบ้านไปสัมผัสของจริงกันครับ

แล้วพบกันในคอนเทนต์หน้าครับ

เปียง