BANGKOK’S NOSTALGIC VIBES WITH HAMILTON
มองกรุงฯ ส่องตึกเก่า
สวัสดีครับ ผมเปียง สำหรับผม กรุงเทพมหานครยังคงเป็นสถานที่ที่น่าค้นหาอยู่เสมอครับ ย่าน สิ่งก่อสร้าง และชุมชมต่าง ๆ ที่อยู่รวมกัน ผ่านการเปลี่ยนแปลงพัฒนามาหลายยุคหลายสมัยจนกลายเป็นแบบที่เห็นในปัจจุบัน สร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวของมหานครแห่งนี้ให้แตกต่าง และ น่าสนใจในหลาย ๆ แง่มุม โดยส่วนตัวแล้ว ผมเป็นคนที่มีความชื่นชอบเป็นพิเศษในเรื่องงานสถาปัตยกรรมต่าง ๆ เป็นทุนเดิม ผมจึงมักสะดุดกับตึกรูปทรงพิเศษหลาย ๆ สไตล์ระหว่างขับรถผ่าน พร้อมกับคิดในใจว่า “ถ้าวันไหนว่าง ๆ จะมาถ่ายรูปเก็บให้หมดเลย คอยดูสิ” ได้แต่คิดครับ แต่ก็ไม่ได้ทำจริง ๆ ซักที จนถึงวันนี้นี่แหละ ช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้รวบรวมตึกต่าง ๆ รอบกรุงเทพฯ กับสถาปัตยกรรมที่ได้รับแรงบันดาลใจจากแนวคิด Brutalist รูปแบบสถาปัตยกรรรมที่ผมรักมาก ๆ ขึ้นชื่อในเรื่องความเรียบเท่ ดิบ ดุดัน และ nostalgic (ถวิลหาความเป็นอดีต)
เริ่มตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1950 สถาปัตยกรรม Brutalist หรือที่เรียกว่า New Brutalism เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักรด้วยโครงการฟื้นเมืองใหม่ในยุคหลังสงคราม (ก่อร่างสร้างเมืองใหม่) อาคาร Brutalist โดดเด่นด้วยโครงสร้างแบบ Minimalist (เรียบง่าย ไม่หวือหวา) ที่แสดงวัสดุก่อสร้างที่เปลือยเปล่าและองค์ประกอบโครงสร้างมากกว่าการออกแบบตกแต่ง รูปแบบนี้มักจะใช้คอนกรีตหรืออิฐเปลือยรูปทรงเรขาคณิตเชิงมุมและพาเลตสีขาวดำส่วนใหญ่ วัสดุอื่น ๆ เช่น เหล็ก ไม้ และกระจกก็เป็นองค์ประกอบที่ถือเป็นจุดเด่นของอาคารแนว Brutalist เช่นกัน ในกรุงเทพฯเอง ตึกเก่า ๆ มากมายของเราก็ให้กลิ่นอายสไตล์เดียวกันนี้ครับ
และที่มาพร้อมกับผมในทริปนี้ นาฬิกาตัวเก่งของผมจากแบรนด์ Hamilton รุ่น “Khaki Aviation Converter Auto” เป็นเพื่อนผู้ร่วมสำรวจเสน่ห์ของสถาปัตยกรรมแบบเก่าในกรุงเทพฯด้วยกันในวันนี้ครับ สำหรับแบรนด์ Hamilton เป็นแบรนด์ระดับโลก ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายนาฬิกาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตัวแทนของการผสานจิตวิญญาณแห่งความเป็นอเมริกันเข้ากับความเที่ยงตรงในกลไกและเทคโนโลยีล่าสุดของสวิตเซอร์แลนด์ครับ การออกแบบที่ล้ำสมัยของแบรนด์ถูกฝังรากลึกในฮอลลีวู้ดด้วยผลงานที่ปรากฏในภาพยนตร์กว่า 500 เรื่อง ยืนหยัดในฐานะ “นาฬิกานักบิน” ที่เปี่ยมด้วยคุณภาพและความเที่ยงตรงมาอย่างยาวนาน เรียกได้ว่าเป็นคู่หูนักเดินทางที่เหมาะกับภารกิจนี้ของผมเป็นที่สุดครับ ไม่ว่าจะด้วยดีไซน์หรือคุณสมบัติของตัวเรือนก็ตาม นอกจากภาพตึกที่ผมจะพาไปในนี้ อยากให้เราได้รู้จักกับ Hamilton เรือนนี้ของผมให้มากขึ้นพร้อม ๆ กันไปด้วย
เตรียมกล้องของคุณให้พร้อม และเราไปตระเวนรอบกรุงเทพฯกับผมกันครับ
เปียง
#HamiltonWatch
#PYONGDOCTOR #BANGKOKEXPLORE #PYONGsPicks
Director – Kantaphong Thongrong
Assistant Content Creator & Assistant Photographer – Pratchawin Sara
FACEBOOK – PYONG Traveller X Doctor
INSTAGRAM – pycaptain
BANGKOK VIBES WITH HAMILTON
มองกรุง ส่องตึกเก่า
ความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่ผ่านกาลเวลามาหลายยุคหลายสมัย ทำให้กรุงเทพฯ มีความน่าค้นหาอยู่เสมอครับ ระหว่างทางที่เราผ่านไปมา ไม่ว่าจะริมถนน ย่านต่าง ๆ ตรอก ซอกซอย ล้วนแล้วแต่มีมุมมองที่น่าสนใจซ่อนอยู่มากครับ เอกลักษณ์เฉพาะตัวของย่านต่าง ๆในกรุงเทพฯ บ่งบอกความเป็นตัวตนของย่านนั้นได้เป็นอย่างดี ลักษณะสถาปัตยกรรมที่แสดงออกมาเป็นตึกรามบ้านช่อง โดยเฉพาะตึกหรืออาคารเก่ารูปทรงแตกต่างกันไป ทำให้ผมหลงรักมากครับ
วันนี้ผมมีโอกาสได้ตระเวนเก็บภาพอาคารในรูปแบบสถาปัตยกรรมตามแนวคิด Brutalist รูปแบบสถาปัตยกรรรมที่ผมรักมาก ๆ ขึ้นชื่อในเรื่องความเรียบเท่ ดิบ ดุดัน และ nostalgic หรือการที่เราสัมผัสได้ถึงความถวิลหาความเป็นอดีต นำมาฝากกัน กับเรื่องราวร่วมสมัยของกาลเวลาช่วงต่าง ๆ และเพื่อนร่วมทางของผมในวันนี้ก็คือนาฬิกาตัวเก่งของผมจากแบรนด์ Hamilton รุ่น “Khaki Aviation Converter Auto” เป็นเพื่อนผู้ร่วมสำรวจเสน่ห์ของสถาปัตกรรมแบบเก่าในกรุงเทพฯด้วยกันในวันนี้ครับ
Hamilton Watch
หากนาฬิกาคือตัวแทนของการบอกเวลา ตึกรามบ้านช่องก็เปรียบเหมือนตัวแทนของยุคสมัยที่ผันผ่านเล่าขานเรื่องราวผ่านกาลเวลาเช่นกัน
โลกของบางคนก็คงเหมือนเข็มนาฬิกา บางคนเป็นเข็มสั้น บางคนเป็นเข็มยาว เข็มยาวคอยเดินช้า ๆ เพื่อรอเข็มสั้นก้าวมาหา อาจเดินนำกันบ้าง ตามหลังกันบ้าง เดินคู่กันในบางที แต่โลกของพวกเขาต่างก็อยู่ภายใต้นาฬิกาเรือนเดียวกัน ที่มีจำนวนวินาทีที่เท่ากัน และเดินไปข้างหน้าพร้อมกัน
สำหรับแบรนด์ Hamilton เป็นแบรนด์ระดับโลก ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายนาฬิกาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตัวแทนของการผสานจิตวิญญาณแห่งความเป็นอเมริกันเข้ากับความเที่ยงตรงในกลไกและเทคโนโลยีล่าสุดของสวิตเซอร์แลนด์ครับ การออกแบบที่ล้ำสมัยของแบรนด์ถูกฝังรากลึกในฮอลลีวู้ดด้วยผลงานที่ปรากฏในภาพยนตร์กว่า 500 เรื่อง ยืนหยัดในฐานะ “นาฬิกานักบิน” ที่เปี่ยมด้วยคุณภาพและความเที่ยงตรงมาอย่างยาวนาน
ด้วยดีไซน์ การเลือกใช้วัสดุอย่างพิถีพิถันและทนทาน รวมถึงความล้ำหน้าทางนวัตกรรมของ ทำให้ Hamilton เปลี่ยนโลกแห่งการผลิตนาฬิกาไปอย่างสิ้นเชิงจริง ๆ ครับ
แสงแรกของวันมาแล้วครับ ผมพาทุกคนเริ่มต้นที่ ๆ ผมคุ้นเคยมากที่สุด ใกล้ตัวผมมากที่สุด นั้นก็คือที่ทำงานของผม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ครับ ตึกนี้เป็นตึกที่ผมเดินผ่านเพื่อไปทำงานทุกวันครับ “ตึกอานันทมหิดล” เดิมเคยเป็นตึกสรีรวิทยา และใช้เป็นตึกสำนักงานคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่ระยะหนึ่งจนถึงปีพ.ศ. 2525 ได้รื้อและสร้างตึกอานันทมหิดลหลังนี้ขึ้นมาแทน
เป็นตึกปูนเปลือยตามแนวคิด Brutalism ที่ผมชื่นชอบมากครับ ซึ่งงานด้านสถาปัตยกรรมตามแนวคิดนี้เป็นงานสถาปัตยกรรมคอนกรีตเปลือยที่เกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1950 ในโลกตะวันตก ด้วยความใหญ่โตของตัวโครงสร้าง ความเรียบ ปูนเปลือยเปล่า บ้างทีก็ถูกถกเถียงว่ามีความดุดัน แต่ในเวลานั้นอาคารทรงนี้มักจะถูกสร้างขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นอาคารที่สำคัญของเมือง หรือสถานที่ที่ถูกให้คุณค่าของย่านนั้น ๆ อย่างมาก
Brutalist Architecture ในโลกตะวันตก ถูกโยงเข้ากับแนวคิดด้านปรัชญาในด้านการแสดงความเป็นสัจจะ หรือ ความซื่อตรง ค่านิยมด้านความถูกต้องเที่ยงธรรม หากจะมองในด้านวัสดุ คอนกรีต เป็นวัสดุที่มีความยืดหยุ่นสูง เพราะสามารถใช้หล่อขึ้นรูปเป็นฟอร์ม(ทรง)แบบใด ๆ ก็ได้ แห้งและเซตตัวไว มีพื้นผิวที่เป็นเอกลักษณ์ มองเห็นผิวที่แท้จริง จึงถูกเชื่อมโยงกับปรัชญาความสัตย์จริง ความไม่มีสิ่งใดเคลือบแฝง คอนกรีตจึงเป็นตัวแทนของสถาปัตยกรรมที่สะท้อนแนวคิดที่แยบคายนี้ได้เป็นอย่างดี
ตึกอานันทมหิดลแห่งนี้ โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์นับแต่มีการเริ่มก่อสร้างมายาวนานกว่า 39 ปีแล้ว โดยที่คณะแพทยศาสตร์จะมีอายุครบ 74 ปี ในปีนี้ครับ
ตึกเทียม – สายพิณ โชควัฒนา
ตึกเจ้าพระยายมราช
จากที่ทำงานของผม ขอข้ามมาอีกฝั่งของจุฬาฯ สำรวจกันสักหน่อยครับ นี่คือหอนาฬิกาและตึกภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ ใกล้ ๆ กับพระบรมราชานุสาวรีย์ 2 รัชกาล หรือใกล้ ๆ กับตึกคณะวิศวกรรมศาสตร์นั่นเองครับ
และข้ามกันมาไกลออกไปอีกหน่อย นิสิตจุฬาฯบางคนอาจจะไม่ค่อยได้มาทางฝั่งนี้กันเลย หากไม่มีงานฟุตบอลประเพณีฯ ที่นี่คือ สนามศุภชลาศัย สนามกีฬาแห่งชาติ ครับ
สนามศุภชลาศัยเป็นสนามกีฬาหลักของกรีฑาสถานแห่งชาติ (The National Stadium of Thailand) ถือเป็นสนามกีฬาแห่งชาติของประเทศไทย ขึ้นอยู่ในความดูแลของกรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้ในงานกีฬาแมตช์สำคัญ ๆ ของประเทศมาแล้วหลายรายการ มีความจุผู้ชมรวม 19,793 ที่นั่ง เป็นสนามกีฬาทรงวงกลม มีอัฒจันทร์โดยรอบ หลังคาคลุม 1 ด้าน
สมัยก่อน พื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของพระราชวังวินด์เซอร์ หรือ “วังประทุมวัน วังกลางทุ่ง หรือ วังใหม่” มาก่อน เป็นพระราชวังรูปทรงสมัยใหม่ตามแบบตะวันตกที่สวยงาม หรูหราใหญ่โตมากที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งวังแห่งนี้ สร้างขึ้นโดยพระประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พระราชทานเป็นสถานที่ประทับของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฏราชกุมาร องค์แรกแห่งสยามประเทศ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2424 ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอังกฤษ โดยถอดแบบให้ใกล้เคียงเสมือนกับพระราชวังวินด์เซอร์ ของประเทศอังกฤษ จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกว่า “วังวินด์เซอร์”
แต่หลังจากดำรงตำแหน่ง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ทรงประชวรและเสด็จสวรรคตในปีพ.ศ. 2438 ขณะมีพระชนมายุเพียง 16 พรรษา นั่นหมายความว่าวังนี้เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศไม่ได้เสด็จมาประทับสักครั้งเลย ในเวลาต่อมา วังแห่งนี้จึงตกเป็นของแผ่นดินในที่สุด ในช่วงหนึ่งเคยถูกใช้เป็นอาคารเรียนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจนกระทั่งเข้าสู่ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลวงศุภชลาศัยได้มีแนวคิดในการก่อสร้างสนามกีฬาแห่งชาติ ซึ่งแปลนของการก่อสร้างมีบางส่วนของพื้นที่ทับซ้อนกับที่ดินของวังวินด์เซอร์ จึงได้ทำการทุบรื้อถอนออก ปิดฉากพระราชวังที่สวยที่สุดหลังหนึ่งของประเทศไทย
เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2478 กรมพลศึกษา ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ตำบลวังใหม่ อำเภอปทุมวัน เนื้อที่ 114 ไร่ ตรงบริเวณที่เดิมเป็นวังวินด์เซอร์แห่งนี้ เพื่อจัดสร้างสนามกีฬาแห่งชาติ จนแล้วเสร็จสมบูรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2484 และในอีก 1 ปีถัดมา กรมพลศึกษา ได้เปลี่ยนชื่อสนามกรีฑาสถาน เป็น “สนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติ” เพื่อเป็นเกียรติแก่ หลวงศุภชลาศัย ปัจจุบัน นิยมเรียกสั้นๆ เพียงว่า “สนามศุภชลาศัย หรือ สนามกีฬาแห่งชาติ”
มุ่งหน้าจากสามย่าน ตรงมาแถวหัวลำโพงกันต่อครับ
ผมมาถึงแยกหัวลำโพง แยกสำคัญแยกหนึ่งของกรุงเทพฯครับ มีตึกที่ผ่านไปผ่านมาตลอด หมายไว้ในใจมานานครับว่าจะต้องไปถ่ายรูปให้ได้ ที่นี่คือ อาคาร DOB Hualamphong Gallery ครับ
อดีตเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว อาคาร DOB แห่งนี้ เคยเป็นธนาคารกรุงเทพ สาขาหัวลำโพง เป็นอาคารที่มีรูปทรงที่โดดเด่น ล้ำสมัยกว่าอาคารอื่นโดยรอบ บ้างก็ว่าเป็นตึกโรบอท (ตึกหุ่นยนต์) เพราะมีรูปร่างคล้ายหุ่นยนต์กันดัม แต่เมื่อได้สอบถาม รวบรวมความรู้ในอดีตจากปากผู้ใหญ่หลาย ๆ ท่านที่ร่วมสมัยกับอดีตในสมัยนั้น ทั้งหลายได้บอกว่าจริง ๆ แล้ว ไอเดียในการสร้างตึกนี้เป็นการสร้างเพื่อเสริมความเชื่อเรื่องฮวงจุ้ย เนื่องจากเชื่อกันว่าแยกสถานีรถไฟกรุงเทพนี้ มีพลังงานสูงที่แผ่ออกมาจากสถานีรถไฟ จึงต้องทำการสร้างอาคารเป็นรูปสิงโตเพื่อทั้งสู้และทั้งรับพลังงานก้อนใหญ่นี้ ถ้ามองหรือจินตนาการตามดี ๆ จะเห็นตั้งแต่ส่วนหัว หู ลำตัว และหางสิงโตเลยครับ เห็นไหมครับว่าจริง ๆ แล้วถ้าลองศึกษาความเป็นมาดี ๆ ของย่าน หรือสถานที่ต่าง ๆ เราจะได้เรื่องราวอะไรที่ซ่อนอยู่กลับมาเป็นความรู้ คลายความสงสัยในวัยเด็กไปได้เลยทีเดียว
คุณลุงคุณป้าบอกว่า ถ้าใครนั่งรถเมล์ผ่านหัวลำโพงสมัยก่อน ไม่ว่าจะเดินทางจากฝั่งธนเพื่อเข้าเมืองหรือจะข้ามจากฝั่งเมืองไปยังฝั่งธน จะต้องหันมามองตึกนี้เสมอ เหมือนเป็นแลนด์มาร์กที่คู่กับสถานีรถไฟฝั่งตรงข้าม เป็นการบอกว่า ตอนนี้นั่งรถถึงหัวลำโพงแล้วนะ ภายหลังที่ธนาคารย้ายที่ทำการไปยังสะพานเหลือง ตึกแห่งนี้ได้กลายเป็นสำนักงานของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สินเอเซียอยู่เพียงไม่กี่ปี โดยปัจจุบันอาคาร DOB บริเวณหัวมุมต้นถนนมหาพฤฒารามแห่งเปิดทำการเป็นพื้นที่ให้เช่าเป็นออฟฟิศ โรงเรียนสอนศิลปะ และร้านอาหาร ผู้ที่โดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีหัวลำโพง จะคุ้นเคยกับอาคารแห่งนี้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีทางออกที่ติดกับตัวอาคาร สามารถเดินต่อไปยังฝั่งเยาวราช หรือตลาดน้อยก็ได้ครับ
พูดถึงตลาดน้อยแล้ว เราเลี้ยวซ้ายเลาะตามถนนมหาพฤฒารามเพื่อไปตั้งต้นสำรวจย่านเจริญกรุง – บางรัก กันที่ตลาดน้อยก่อนเลยครับ และที่นี่เราจะเห็นตึกคอนกรีตทรงเรียบง่ายแบบที่ผมชอบอีกแล้ว
ที่นี่คือ “สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์” บริเวณตลาดน้อย ครับ
เขตสัมพันธวงศ์เป็น 1 ใน 50 เขตของกรุงเทพมหานคร ครอบคลุมพื้นที่ที่เด่น ๆ ที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดีเช่น เยาวราช ตลาดน้อย ถนนทรงวาด สำเพ็ง ถนนจักรวรรดิ และ ถนนเจริญกรุงบางส่วนครับ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เขตสัมพันธวงศ์ประกอบไปด้วยแหล่งธุรกิจการค้า สถานที่สำคัญทางศิลปะ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์อยู่จำนวนมาก มีจำนวนครัวเรือนมากถึง 14,000 หลังคาเรือน
อาคารที่ทำการสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์นี้ นักท่องเที่ยวรู้จักกันเป็นอย่างดีเพราะตลาดน้อยในปัจจุบันคือแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญจุดหนึ่งของกรุงเทพฯ ด้วยมีคาเฟ่ซ่อนตัวอยู่มาก มีงานเทศกาลศิลปะที่จัดอย่างต่อเนื่อง เรียกนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเยือนพื้นที่นี้มิขาดสายในแต่ละวัน ใครผ่านไปผ่านมาต้องเห็นอาคารคอนกรีตฉาบสีเขียวแบบก่ออิฐถือปูน ปะหน้าด้วยโครงหน้าต่างรูปทรงสีเหลี่ยมเรียงตรงๆ เก๋ ๆ แบบนี้กันแน่นอน ถือเป็นอาคารเอกลักษณ์ของย่านนี้ครับ
ขยับกันไปอีกที่ที่ไม่ไกลกันนัก หากใครชอบเดินเที่ยวแบบไม่พึ่งรถส่วนตัว สามารถเดินจากตลาดน้อยมาที่นี่ได้แบบใกล้ ๆ เลยครับ
ผมอยู่ที่ ไปรษณีย์กลาง บางรัก ว่ากันว่า นี่คือ “ที่ทำการไปรษณีย์ที่สวยและพิเศษกว่าแห่งใดในประเทศไทย” ครับ
ในย่านถนนเจริญกรุง ที่ทำการไปรษณีย์กลาง บางรัก เป็นอาคารที่มีความสำคัญในด้านประวัติศาสตร์มากตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 รวมระยะเวลาก็กว่า 80 ปีแล้วครับ ย้อนไปเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมไปรษณีย์ (สมัยก่อนสะกดว่า ไปรสนีย์) ขึ้นในพ.ศ. 2426 เพื่อประโยชน์ด้านการติดต่อสื่อสาร และเป็นการประกาศเกียรติภูมิของประเทศสยามให้ทัดเทียมกับอารยประเทศในขณะนั้น
แต่เมื่อเปิดบริการได้ไม่นานในช่วงแรก กลับได้รับการตอบรับจากประชาชน แห่กันมาใช้บริการอย่างล้มหลามเกินกำลังจะรับได้ จึงได้ย้ายที่ทำการไปยัง ‘ออฟฟิศไปรสนีย์ที่ 2’ บริเวณศุลกสถาน ตำบลบางรัก (หรือปัจจุบันคือสถานีดับเพลิงบางรัก) โดยดัดแปลงอาคารศุลกสถานเดิมทำเป็นที่ทำการ แต่เพียงในเวลาไม่นานกิจการของไปรสนีย์ที่ 2 ได้เติบโตมากขึ้น จึงเห็นควรควบรวมไปรสนียาคารและออฟฟิศไปรสนีย์ที่ 2 ย้ายมาอยู่รวมกันเป็นที่ทำการไปรษณีย์กลาง (General Post Office) โดยใช้อาคารสำนักงานและพื้นที่เดิมที่เคยเป็นที่ตั้งของสถานกงสุลอังกฤษ ณ ถนนเจริญกรุง มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2469 (ภายหลังสถานกงสุลอังกฤษได้ย้ายไปบริเวณชิดลม ซึ่งคือเซ็นทรัลเอมบาสซี่ในปัจจุบัน)
สำหรับเหตุผลในการเลือกทำเลก่อสร้างอาคารไปรษณีย์กลางแห่งใหม่ขึ้น ในเวลานั้น ถนนเจริญกรุงถือเป็นถนนสำคัญสายแรกของกรุงเทพฯ ที่ก่อสร้างตามแบบตะวันตก ถือเป็นย่านธุรกิจการค้าที่เจริญรุ่งเรือง ชุมชนเมืองมีความหลากหลาย เป็นที่ตั้งของที่พักอาศัย อาคารพาณิชย์ ห้างร้าน สำนักงาน โรงเรียน สถานกงสุล โรงพยาบาล โรงภาษี จึงมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นหนาแน่น
ในแง่ของการเดินทางสัญจรทางฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในเวลาต่อมากลับไม่ใช่เส้นทางสัญจรหลักในย่านนี้อีกต่อไปแล้ว และเหตุผลอีกประการคือ ในยุคนั้นแต่ละประเทศให้ความสำคัญกับการก่อสร้างตึกและอาคารที่มีขนาดใหญ่ ที่ทำการไปรษณีย์กลาง จึงถูกสร้างขึ้นเป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงามโอ่อ่าเพื่อให้เทียมหน้าเทียมตาชาวโลก อีกทั้งยังเป็นการขยับขยายให้บริการผู้คนได้อย่างสะดวกสบาย ด้วยการออกแบบให้อาคารส่วนบริการอยู่ติดถนนเจริญกรุง เดินทางไปมาง่าย
อาคารไปรษณีย์กลางแห่งนี้ ก่อสร้างเป็นทรงกล่องสี่เหลี่ยมเรียบเกลี้ยงรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern Architecture) แนวนีโอคลาสสิก (Neo-Classic) อันเป็นที่นิยมในตะวันตก หากแต่ยังมีรูปแบบโครงสร้างวัสดุจากคอนกรีตแบบเรียบง่าย กลิ่นอาย Brutalist ลดทอนการตกแต่งประดับประดาและความประณีตที่มีในสถาปัตยกรรมของไทยตามขนบเดิมก่อนหน้านี้ มีการก่อสร้างอย่างดีและมีความแข็งแรง แม้แต่กระเบื้องที่โถงกลางก็ยังใช้ของเดิมจนทุกวันนี้ เป็นกระเบื้องโมเสกสั่งมาจากประเทศเยอรมนี ด้านหลังมีประทับว่า Made in Germany อาคารทั้งหมดเริ่มสร้างจริงในปี พ.ศ. 2478 ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2482
ข้อมูลที่น่าสนใจคือ มีบันทึกจากคำกล่าวรายงานในวันเปิดอาคารไว้ว่า รัฐบาลอนุมัติ “เงินจำนวนมหาศาลเพื่อสร้างอาคารอันมโหฬาร” ในรูปแบบสมัยใหม่ โดยใช้งบประมาณการก่อสร้างรวมตกแต่งทั้งสิ้นมากถึง 976,967 บาท นี่คืองบประมาณเมื่อ 86 ปีที่แล้วนะครับ แสดงให้เห็นว่าอาคารแห่งนี้ถูกให้ความสำคัญจากรัฐบาลในขณะนั้นอย่างสูง อาคารไปรษณีย์กลาง จึงเป็นเสมือนตัวแทนของประเทศในการประกาศเกียรติภูมิและความศิวิไลซ์ทัดเทียมนานาอารยประเทศของประเทศไทยก็ว่าได้ อย่างที่ผมกล่าวไว้ตอนต้นเกี่ยวกับลักษณะสถาปัตยกรรม Brutalist ไปแล้ว ว่ามักจะถูกให้ความสำคัญในการก่อสร้างอาคารที่เป็นหัวใจหลัก ในเมืองต่างๆ นั่นเองครับ
และหากแหงนมองส่วนบนสุดของมุขของอาคารด้านตรงกลาง จะเห็นครุฑ 2 ตนโดดเด่นอยู่มุมสุด เรียกว่า “ครุฑยุดแตรงอน” ขนาดใหญ่กว่า 3 เท่าของคนจริง เป็นผลงานของนักศึกษาแผนกช่างปั้นจากโรงเรียนศิลปากร (ชื่อในขณะนั้น) ภายใต้การกำกับดูแลของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และมีเรื่องเล่าขานกันว่า ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อาคารไปรษณีย์กลางหลังใหญ่นี้ แคล้วคลาดจากการทิ้งระเบิดมาหลายครั้ง มีเหตุให้ทิ้งพลาดบ้าง ระเบิดด้านบ้าง ชาวบ้านร่ำลือกันต่าง ๆ นานาว่า พญาครุฑ 2 ตนที่อยู่หน้าตึกคอยดูแลปกปักรักษา บินไปปัดลูกระเบิด ว่ากันตามมาแบบนี้ครับ
ปัจจุบัน ไปรษณีย์กลาง บางรัก ยังคงเปิดให้บริการงานด้านไปรษณีย์ยังชั้น 1 ของอาคาร แต่ที่ทำการงานด้านการสื่อสาร ของการสื่อสารแห่งประเทศไทยได้ย้ายออกไปยังสำนักงานแห่งใหม่แล้ว พื้นที่กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของตัวอาคารยังคงเป็นพื้นที่ที่มุ่งหมายรับใช้ประชาชนในด้านการเรียนรู้ในสังคม โดยเปิดเป็นพื้นที่ของศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ (Thailand Creative and Design Center) หรือ TCDC ให้อาคารประวัติศาสตร์แห่งนี้ยังคงทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของผู้คนต่อไปอีกนาน
นอกจากคุณสมบัติอันพิเศษที่ได้กล่าวมาแล้ว Hamilton รุ่น “Khaki Aviation Converter Auto” ถือเป็นนาฬิกาที่ได้เหล่านักบินกล่าวขานกันว่ามีฟังก์ชันที่ตอบสนองการใช้งานครบถ้วนแม่นยำ ช่วยให้นักบินคำนวณค่าต่าง ๆ ระหว่างทำการบินได้ดียิ่งขึ้น แปลงค่าของหน่วยต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดายเช่น กิโลเมตรเป็นไมล์ทะเล, ฟุตเป็นเมตร,ปอนด์เป็นกิโลกรัม หรือแม้กระทั่งสกุลเงินต่าง ๆ ก็สามารถคำนวณได้อย่างแม่นยำ กรอบตัวเรือนหมุนได้สองทิศทาง การไล่ระดับลอการิทึมตอบโต้กับมาตราส่วนคงที่รอบหน้าปัดสร้าง ‘สไลด์ รูล(slide rule)’ ที่ช่วยให้สามารถทำการคำนวณตัวเลขขณะที่บินเป็นเรื่องสะดวกสบายยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย เช่น คำนวณความเร็วของเครื่องบิน ระยะทาง การสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง อัตราการไต่หรือการลดระดับ และระยะเวลาของเที่ยวบิน เป็นต้น ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่าการคำนวณนี้ใช้หลักการเดียวกันกับ E6B (หรือในชื่อ “Whiz Wheel”) ซึ่งเป็นเครื่องคิดเลขด้านการบินแบบกระดาษที่ยังใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายในการฝึกอบรมนักบินในปัจจุบัน
นอกจากนี้ Khaki Aviation Converter ที่มาพร้อมกลไกอัตโนมัติขนาด 42 มม. มีคุณสมบัติ “balance spring” ในตัวเครื่องซึ่งทำจากอัลลอยชนิดพิเศษที่เรียกว่า Nivachron ซึ่งเป็นวัสดุเฉพาะตัวที่มีความต้านทานสนามแม่เหล็กอย่างเหนือชั้น การที่นักบินสวมใส่นาฬิกาที่ไม่ได้รับผลกระทบจากแรงแม่เหล็กในขณะที่ทำการบินถือเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่ง ฉะนั้นจึงช่วยให้เรามั่นใจได้ว่านักบินจะได้รับความแม่นยำเที่ยงตรงในทุกสถานการณ์
ด้านหลังหน้าปัดสีดำเรียบหรูของ Khaki Aviation Converter Automatic ประกอบไปด้วยกลไกอัตโนมัติรหัส H-10 พร้อมกำลังลานสำรองสูงสุด 80 ชั่วโมง มีให้เลือกในรูปแบบสายหนังสีน้ำตาล สายหนังสีดำ หรือสายสเตนเลส
เดินย้อนมาไม่ไกลจากไปรษณีย์ บางรัก เราจะมาโผล่ที่ริมน้ำครับ เจอกับโรงแรมที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ถือเป็นอีกแลนด์มาร์กหนึ่งของย่านนี้ครับ
Royal Orchid Sheraton โรงแรม รอยัลออคิด เชอราตัน ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตัวตึกออกแบบเป็นรูปตัววาย(Y) สูง 28 ชั้น เพื่อให้ผู้เข้าพักได้เห็นทิวทัศน์ของแม่น้ำเจ้าพระยาจากห้องพักทุกห้องของ เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 แต่เดิมใช้ชื่อว่า โรงแรมรอยัลออคิด ครับ
ช่องหน้าต่างและแบริเออร์ของลานจอดรถเรียงกันสวยมากครับ
ขับรถชมตึกเก่าย่านเจริญกรุงมาเรื่อย ๆ เราจะวนเป็นวงกลมมาจรดกับย่านเยาวราชและหัวลำโพงครับ
เรื่อย ๆ มาถึงถนนไมตรีจิตต์ เราจะพบกับตึกหลังนี้ครับ
“สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช”
ที่นี่เคยเป็นสำนักพิมพ์ที่มีอิทธิพลต่อวงการการพิมพ์และวงการการศึกษาของไทยมาก ๆ เลยครับ เมื่อก่อนตำราเรียน แบบเรียน หรือหนังสืออ่านทั่วไปในหลาย ๆ ประเภท ล้วนแล้วแต่ต้องผ่านสำนักพิมพ์นี้มาแล้วทั้งนั้น กล่าวได้ว่า ไทยวัฒนาพานิชเป็นยักษ์ใหญ่เจ้าตลาดตำราเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาก็ว่าได้ หนังสือที่พิมพ์จากสำนักพิมพ์นี้แชร์ตลาดไปกว่า 50% เลยครับ นักเขียนที่มีชื่อเสียงในอดีตหลายท่านเกิดจากสำนักพิมพ์นี้ครับ นักวาดการ์ตูนในหนังสือเรียนมานี มานะ ก็ถือเป็นลูกหม้อของสำนักพิมพ์นี้ (แต่แบบเรียนมานี มานะ ไม่ได้ระบุว่าตีพิมพ์ที่ไทยวัฒนาพานิช) ส่วนจุดแข็งอีกประการของไทยวัฒนาพานิชก็คือ การให้สีที่สดใส ฉูดฉาด คมชัด บนสิ่งพิมพ์ เป็นที่กล่าวถึงและนิยมในหมู่นักอ่านเป็นอย่างมาก
เคยเป็นเหมือนกันไหมครับ ตอนเด็ก ๆ เวลาเราได้หนังสือเรียนเล่มใหม่มาก่อนเปิดเทอม เรามักจะมาพลิกดูว่าหนังสือเล่มนี้พิมพ์ที่ไหน พ.ศ.อะไร พิมพ์ครั้งที่เท่าไหร่ ? ถึงจะไม่เกี่ยวกับเนื้อหาสาระที่เราจะต้องได้เรียน แต่ก็เป็นสิ่งน่ารัก ๆ ที่เราเฝ้ารอในแต่ละเทอม เป็นสิ่งละอันพันละน้อยที่ผ่านตาเราทุกปี ๆ ครับ
ใครที่อ่านมาถึงตรงนี้ มีความทรงจำเกี่ยวกับหนังสือที่พิมพ์โดยไทยวัฒนาพานิชกันบ้างไหมครับ แชร์เรื่องราวกันได้นะครับ
ผมแวะผ่านแค่เวลาสั้น ๆ จึงเก็บภาพมาให้ชมเล็กน้อยครับ ปัจจุบันสำนักพิมพ์ที่อาคารแห่งนี้ได้ปิดทำการไปแล้วครับ
ถัดจาก ไทยวัฒนาพานิช แค่ไม่กี่ช่วงตึก จะสะดุดตากับโรงแรมแห่งนี้ครับ คาดว่าหลาย ๆ คนคงคุ้นตากันดีครับ
The Mustang Blu โรงแรมสไตล์โคโลเนียลริมถนนไมตรีจิตต์ เดิมที ตึกโบราณร้อยกว่าปีแห่งนี้ผ่านการใช้งานเป็นทั้งโรงพยาบาลและธนาคารมาก่อน จนกลายเป็นสถานประกอบการบันเทิงกลางคืนที่อยู่คู่ย่านเยาวราชยาวนานกว่า 50-60 ปี ในชื่อ “คลีโอพัตรา” จนเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา คุณอนันดา ฉลาดเจริญ เจ้าของในปัจจุบัน ได้พลิกฟื้นเปลี่ยนสภาพตึกสถาปัตยกรรมโคโลเนียลอายุร้อยกว่าปีแห่งนี้ให้เป็นโรงแรมคลาสสิกกลิ่นอายวินเทจร่วมสมัย ต่อลมหายใจของศิลปะและประวัติศาสตร์ของอาคารเก่า 900 กว่าตารางเมตรนี้ให้พวกเราได้ชื่นชมกันต่อไปสู่อีกรุ่น ถือเป็นโรงแรมที่เป็นแบบอย่างในแง่การดูแลรักษาคุณค่าดั้งเดิมของอาคารให้คงอยู่มากที่สุด รบกวนโครงสร้างและส่วนของสถาปัตยกรรมน้อยที่สุด โดยคุณอนันดา หรือคุณจอย เคยฝากผลงานโรงแรมในสไตล์เดียวกันนี้มาแล้วจาก The Mustang Nero Hotel สุขุมวิท ครับ
อีกด้านของถนนไมตรีจิตต์เมื่อสักครู่เลี้ยวซ้ายเข้ามาสำรวจบริเวณสถานีรถไฟกรุงเทพ หรือที่เราเรียกติดปากกันง่าย ๆ ว่า หัวลำโพงครับ
ฝั่งเดียวกับสถานีรถไฟเราจะเห็นร่องรอยของประวัติศาสตร์เยอะมากเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นอาคารพัสดุยศเส หรือที่เรียกว่า ตึกแดง , ตึกบัญชาการการรถไฟ หรือ ตึกขาว , สโมสรรถไฟ และ สถานีตำรวจรถไฟนพวงศ์ ถ้าใครมีเวลาว่างลองหาเวลามาเดินเล่นกันได้ครับ
และหากมองไปอีกฝั่ง ริมคลองนพวงศ์จะเห็นตึกที่เป็นเอกลักษณ์ตึกเดียวของย่านนี้ครับ นั่นก็คือตึกของบริษัทเสรีวัฒนา เอนเทอไพรซ์ จำกัด ตั้งอยู่หัวมุมฝั่งตรงข้ามกับโรงเรียนเทพศิรินทร์ครับ
บางมุมถ้าถ่ายเจาะดี ๆ ก็มีความ Minimal ด้วยครับ
Watch – Hamilton “Khaki Aviation Converter Auto”
Watch – Hamilton “Khaki Aviation Converter Auto”
ยังไม่หมดแรงครับ ขยับไปอีกย่านที่คนรุ่นใหม่น้อยคนมากที่จะรู้จักแง่มุมอดีตที่เป็นมาของที่แห่งนี้ “ย่านวังบูรพา”
เคยสงสัยไหมครับว่า ถ้าวัยรุ่นหรือคนยุคใหม่ในสมัยนี้ เดินเที่ยวเล่น ดูหนัง ทำกิจกรรมชิค ๆ กันแถวสยาม เซ็นทรัลเวิร์ล สยามพารากอน หรือลานเซิร์ฟสเก็ตที่กำลังกลับมาฮิตกันในแบบนี้ตามลานของห้างดังต่าง ๆ แล้ว วัยรุ่นยุคเก๋า พ่อแม่ลุงป้าของเรา พวกเขาจะไปเดินที่ไหนกันบ้างครับ ?
ย่านวังบูรพา หรือ วังบูรพา คือสถานที่สุดล้ำที่เหล่าวัยรุ่นในสักยุคช่วง 10 ปีท้ายของพ.ศ. 2400 ถึงช่วงเปลี่ยนศักราชเป็นปี 2500 มาเดินเล่น ใช้ชีวิตวัยรุ่นกันที่นี่ ในอดีต เคยเป็นที่ตั้งของ “วังบูรพาภิรมย์” มาก่อน เป็นย่านที่มีความเจริญมาก ธุรกิจการค้าคึกคัก และเต็มไปด้วยแหล่งแฟชั่น บันเทิงรอบด้าน ร้านค้าที่ทันสมัยในรูปแบบต่าง ๆ เปิดทำการค้าขาย ณ ที่แห่งนี้ ความทรงจำในอดีตเกิดขึ้นมากมายที่นี่ครับ ร้านหนังสือชื่อดัง แพร่พิทยา , ตำนานร้านไอศกรีมไข่แข็งเลื่องชื่อ หรือแม้แต่เซ็นทรัลวังบูรพา ห้างเซ็นทรัลแห่งแรก (ปัจจุบันคือห้างไชน่าเวิร์ล) ก็เกิดขึ้นที่นี่ครับ อาจจะด้วยการที่ห่างจากย่านเยาวราช และพาหุรัดไม่มากนัก ความเจริญจึงแผ่ขยายมาอย่างเท่า ๆ กัน ตำนานโก๋หลังวัง แดงไบเล่ ก็ถือกำเนิดจากที่นี่แหละครับ
ในสมัยก่อน โรงภาพยนตร์ ถือเป็นตัวแทนบ่งบอกถึงความเจริญของยุคสมัยได้เป็นอย่างดีครับ หนุ่มสาวมักหาเวลานัดพบปะกันยังสถานที่นี้ เป็นที่แรก ๆ มันคือที่ ๆ อินเทรนด์สุด ๆ เลยก็ว่าได้
ย่านวังบูรพาในขณะนั้นมีโรงภาพยนตร์ที่หรูหราโอ่อ่าที่สุดอยู่ถึง 3 โรงด้วยกัน ได้แก่ โรงภาพยนตร์คิงส์ โรงภาพยนตร์แกรนด์ และ โรงภาพยนตร์ควีนส์ ที่ผมได้มาเยือนในวันนี้
จากภาพ คือโรงภาพยนตร์ควีนส์ ซึ่งปัจจุบันตัวตึกยังอยู่ แต่ได้เปลี่ยนแปลงเป็นที่จอดรถของเอกชนไปแล้วครับ
จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังพอมีความทรงจำถ่ายทอดเรื่องราวให้เราได้ฟังนั้น สมัยก่อน โรงภาพยนตร์คิงส์และโรงภาพยนตร์แกรนด์เคยรวมเป็นโรงภาพยนตร์เดียวกัน ภายหลังถูกแบ่งออกเป็น 2 โรง ฉายภาพยนตร์ที่แตกต่างกัน “แต่การก่อสร้าง คิงส์สร้างก่อนใครเพื่อน ปี 2496 ตามมาด้วยควีนส์ ปี 2497 ส่วนแกรนด์สร้างหลังสุด โรงหนังคิงส์ฉายหนังฝรั่ง โรงหนังแกรนด์ฉายหนังไทย ส่วนควีนส์จะฉายหนังแขกเป็นหลัก แต่บางครั้งก็มีฉายหนังจีนแซม ๆ บ้าง” วัยรุ่นในยุคก่อนที่ตอนนี้กลายเป็นรุ่นพ่อแม่เราแล้วว่ากันแบบนี้ครับ ภายหลังยุบโรงหนังคิงส์และแกรนด์เพื่อสร้างศูนย์การค้าเมอรี่คิงส์วังบูรพา ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นห้างเมก้าพลาซ่า สะพานเหล็กไปแล้วครับ
ย่านวังบูรพานี้ ผมบอกตรง ๆ ว่าประทับใจรูปทรงของตึกนี้มากที่สุดครับ เนื่องจากทำเลตั้งอยู่ตรงกลาง เป็นตึกหัวมุม โดดเด่นมากที่สุดครับ การหล่อคอนกรีตเป็นรูปทรงแบบนี้ในสมัยก่อน หากลองจินตนาการไปถึงยุคก่อนแล้ว คงหรูหราโอ่อ่าน่าดูเชียวครับ จากคำบอกเล่า ตึกนี้ แต่แรกเคยเปิดเป็นไนท์คลับที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากในขณะนั้น ชื่อว่า “นครถ้ำ” มีทางเดินวนขึ้นไปยังชั้นดาดฟ้านั่งดื่มได้ด้วยครับ หรูหราเชียวครับ ต้องใช้คำว่า “โก้ไม่หยอก” ใช่ไหมครับ
สำรวจย่านวังบูรพา ให้กว้างออกไป
หากจะจินตนาการถึงภาพย่านวังบูรพาว่าสมัยก่อนกว้างขวางแค่ไหน ให้ลองนึกถึงว่าเราเคยเดินเล่นจาก MBK ผ่านสยาม ไปยังห้างดัง ๆ ย่านราชประสงค์ ต่อไปจนถึงชิดลม เพลินจิต ประตูน้ำ กันบ้างไหมครับ ย่านวังบูรพา กินอาณาบริเวณกว้างคล้ายกัน มีพื้นที่ต่อกับย่านการค้าสำคัญต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น เยาวราช สำเพ็ง พาหุรัด ศาลาเฉลิมกรุง คลองถม บ้านหม้อ และ ดิโอลด์สยาม วัยรุ่นยุคนั้นเดินเที่ยวเล่นกันได้ยาว ๆ ทั้งวัน มีร้านค้าที่ตอบสนองความต้องการครบแทบทุกอย่าง ทันสมัยสุด ๆ
หนึ่งในตำนานที่ยังมีลมหายใจของร้านค้าที่เป็นที่กล่าวถึงจากอดีตจวบจนปัจจุบันมีอยู่ที่หนึ่งที่อยากพามาแนะนำครับ นั่นคือ “ห้างไนติงเกล โอลิมปิค” ความพิเศษในระดับตำนานที่ว่านี้คือ ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในประเทศไทย” นำเข้าสินค้าจากทันสมัยจากประเทศฝั่งตะวันตก เข้ามาจำหน่ายให้กับผู้ที่มีความล้ำสมัยในขณะนั้นได้ซื้อหากัน โดยมีสโลแกนของห้างว่า “คลังแห่งเครื่องกีฬา ราชาแห่งเครื่องดนตรี ราชินีแห่งเครื่องสำอาง”
ในยุคของคนรุ่นป๊า ม้า อากง อาม่า ของเรานั้นนั้น ห้างไนติงเกล โอลิมปิค ถือเป็นห้างที่ได้รับความนิยมอย่างสูง และเป็นแหล่งรวมคนรุ่นใหม่ เซเลบ ดารา และบุคคลมีชื่อเสียงในยุคนั้น เนื่องจากคุณนัติ นิยมวานิช เจ้าของและผู้ก่อตั้งห้างไนติงเกลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2473 เป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์สูง เก่งในเรื่องการทำการตลาด การประชาสัมพันธ์ ด้วยการนำสินค้าที่จำหน่ายในห้างไนติงเกลขึ้นโฆษณาผ่านทางทีวี เพื่อโปรโมตสินค้าและตัวห้าง ล้ำทั้งสินค้าและล้ำทั้งการบริหารงานเลยครับ ห้างไนติงเกลจึงถือเป็นรายแรกในประเทศไทยที่มีการโฆษณาสินค้าผ่านช่องทางทีวี และมีการจัดกิจกรรมเรียกลูกค้า ถ้าในปัจจุบันก็น่าจะใช้คำว่า “จัดอีเวนต์” เช่น จัดการประกวดต่าง ๆ จ้างดารามา เพื่อดึงความสนใจให้คนเข้าหาห้างเพิ่มมากขึ้น
ห้างไนติงเกลโอลิมปิค ดำเนินธุรกิจมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ปี 2473 โดยเริ่มจากร้านค้าเล็กๆ ในวังบูรพาในชื่อ “ไนติงเกล” ภายหลังได้นำเข้าสินค้าประเภทเครื่องกีฬามาจำหน่ายและขยายกิจการมาเป็นห้างและใช้ชื่อ “ไนติงเกล โอลิมปิค” ปัจจุบันบริหารโดยคุณยายอรุณ นิยมวานิช บุตรสาวคนสุดท้องของคุณนัติ นิยมวานิช เจ้าของ ตัวตึกปัจจุบันมาตั้งอยู่ตรงข้ามกับดิโอลด์สยาม ตั้งแต่ปี 2509 จำหน่ายเครื่องสำอาง น้ำหอม เสื้อผ้าแฟชั่น อุปกรณ์กีฬา เครื่องดนตรี ซึ่งอาจจะไม่ใช่แบรนด์ดัง แต่เป็นแบรนด์คุณภาพสูงที่คัดมาแล้ว และยังได้รับความเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าจากผู้ซื้อขาประจำมากว่า 60 ปี ว่ากันง่าย ๆ ก็คือ เป็นสินค้าที่ค่อนข้าง unique ที่คนรุ่นเก่าๆ อย่างอากง อาม่า นิยมใช้ และยังคงยืนหยัดเปิดกิจการอยู่แม้จะประสบภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่องทุกปีก็ตาม
Watch – Hamilton “Khaki Aviation Converter Auto”
ผมขอลองพูดถึงจุดแข็งของห้างไนติงเกล โอลิมปิค สักนิดครับ นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของอดีตที่ยังคงยืนหยัดจำหน่ายสินค้าที่พ่อแม่เราคุ้นเคยเลือกใช้กันแล้ว ตัวผู้ขายหรือพนักงานขายของเอง ยังเป็นคนที่ร่วมสมัยกับตัวลูกค้า นั่นก็คือ มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับพ่อแม่ หรืออากง อาม่าของเรา รู้จักตัวสินค้าดี ที่มีสกิลการขายที่น่าสนใจ มีลูกล่อลูกชน อยู่ในสนามการค้าขายมานานจนรู้จักจิตวิทยาลูกค้าอย่างดี จนทำให้ลูกค้าเชื่อใจ รู้สึกผูกพัน ไม่หนีหายไปไหน แวะเวียนกลับมาอุดหนุนเสมอ จุดนี้เอง ได้บ่งบอกถึงความเชื่อมั่นของลูกค้าต่อตัวห้างอย่างเหนียวแน่น (Royalty) ผนวกกับเสน่ห์ของพนักงานดั้งเดิมที่มีความเป็นมิตร ยิ้มแย้มแจ่มใส พูดคุยกับลูกค้าได้ทุกเรื่องจนเผลออุดหนุนสินค้าอย่างเต็มใจโดยไม่รู้ตัวเลยเชียวครับ
ปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2564 นี้ ห้างไนติงเกล โอลิมปิค มีอายุครบ 98 ปี และเจ้าของ คุณยายอรุณ นิยมวานิช มีอายุ 100 ปีพอดีครับ ได้ทราบข้อมูลแบบนี้ รู้สึกดีจังครับ
จากภาพ แยกพาหุรัด ถนนตรีเพชร ติดกับห้างไนติงเกล โอลิมปิค เมื่อก่อนตึกหัวมุมตรงนี้เป็นธนาคารกรุงศรีอยุธยาครับ
บริเวณแยกสามยอด ฝั่งตรงข้ามสถานีรถไฟฟ้าสามยอด
แหล่งซื้อขายพระพุทธรูปและสังฆภัณฑ์ บริเวณหน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
เสาชิงช้า
มีความน่าสนใจอย่างหนึ่งที่อยากทิ้งท้ายไว้ เพราะออกจะดูนอกเส้นทางจากที่ผมตระเวนในวันนี้สักหน่อย แต่ไม่อาจละสายตา ทิ้งไปไม่ได้เลยครับ และบอกตรงนี้ไว้ก่อนเลยว่า ผมจะกลับมาขยายเรื่องราวในย่านนี้ต่อในคอนเทนต์ถัดไป ขยี้ให้เรื่องราวสนุกขึ้นไปอีก สัญญาว่าจะเก็บเรื่องเล่ามาฝากกันอย่างแน่นอนครับ จับปากกามามาร์กไว้แล้วครับ
ถังประปาขนาดใหญ่แห่งนี้ ถ้าใครผ่านมาย่านวัดภูเขาทอง หรือแยกที่เรียกว่า แม้นศรี เราจะเห็นสถาปัตยกรรมอันสวยงามนี้ครับ
“โรงประปาแม้นศรี” ที่นี่คือจุดเริ่มต้นของการประปาในสยามครับ สมัยก่อนในเขตพระนคร ชาวบ้านใช้น้ำฝนและน้ำจากแม่น้ำลำคลองในการอุปโภคบริโภค ซึ่งถือว่าค่อนข้างเป็นน้ำที่ไม่สะอาด แต่ก็ถือว่าไม่มีตัวเลือกอื่นใด ก็ต้องใช้กันอย่างเลี่ยงมิได้ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ใช้ดื่มใช้กินกันจนเกิดโรคระบาดล้มตายจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงดำริให้จัดตั้งโรงทาน พระราชทานน้ำดื่มสะอาดแก่ราษฎร และทรงมอบหมายให้คิดหาวิธีการผลิตน้ำสะอาดในพระนครอย่างจริงจัง ในขณะนั้น นายเดอ ลาโรเตียร์ วิศวกรชาวฝรั่งเศสที่รับราชการเป็นช่างสุขาภิบาลในขณะนั้น ได้ทูลเกล้าฯ เสนอแนวคิดในการผันน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นมาผ่านกระบวนการทำน้ำให้สะอาดเพื่ออุปโภคและบริโภคได้ ด้วยเห็นว่าน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไม่มีความเค็มเนื่องจากพ้นเขตที่น้ำทะเลเข้ามาถึงแล้ว จึงเป็นน้ำที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการริเริ่มทำกิจการประปา มีการขุดคลองรับน้ำจากเชียงราก เมืองปทุมธานี มาพักที่สามเสน นำน้ำจากทุกแหล่งดังกล่าวมาใช้ในการทำกิจการประปา และทรงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกคำว่า “ประปา” ซึ่งเป็นคำในภาษาสันสกฤตครับ
การก่อสร้างกิจการประปาของประเทศสยามจึงถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2452 เป็นต้นมา หากแต่โครงการก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 จนเมื่อผลัดแผ่นดินมาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงสานต่อพระราชดำริจนแล้วเสร็จในปี 2457 และมีชื่อเรียกว่า “การประปากรุงเทพฯ”
ปัจจุบัน การประปาแม้นศรี ที่แยกแม้นศรี ได้ย้ายที่ทำการไปยังการประปาสามเสนแล้ว ที่แห่งนี้อยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แต่ร่องรอยของความสวยงามของถังเก็บน้ำประปา 2 หลังนี้ยังคงเป็นตัวแทนประวัติศาสตร์ของหนึ่งในโครงสร้างขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อชาวไทย ตั้งตระหง่านท้าทายแสงแรกของเช้าจรดแสงสุดท้ายของวันอย่างสวยงามเสมอมา
เป็นอย่างไรบ้างครับ กับทริปสำรวจตึกเก่ารูปทรงแปลกตาและเรื่องราวที่ผมนำมาฝากในวันนี้ หวังว่าคงจะชอบกันนะครับ พวกคุณมีตึกที่ชอบกันบ้างไหมครับ ลองเล่าสู่กันฟังบ้างนะครับ
พบกันใหม่ในคอนเทนต์หน้าครับ
รัก, เปียง