NEW YEAR’S RESOLUTION HACKS
ภารกิจเพื่อตัวเองที่ดีในต้นปี (อีกแล้วเหรอ)
สวัสดีครับ ผมเปียง นับเป็นธรรมเนียมในทุก ๆ ปีที่ผมมักจะเขียนบทความสั้น ๆ ออกมาชวนคุยกับทุกคนครับ หลาย ๆ คนอาจจะเริ่มหยุดงานกันบ้างแล้ว สำหรับใครที่ไม่ได้ไปไหน ลองมานั่งทำกิจกรรมยอดฮิตของคน Gen Y กันนะครับ กับ New Year’s Resolution ภารกิจเพื่อตัวเองที่ดีขึ้นในปี 2022 ที่จะถึงนี้
“ปีใหม่ ฉันจะเป็นคนใหม่” กับลิสต์สิ่งที่ต้องทำให้ได้แบบยาวเหยียดในช่วงต้นปี คิดว่าหลาย ๆ คนคงเคยทำกันครับ ตอนนี้ก้มมอง New Year’s Resolutions ของปี 2021 แล้วก็ได้แต่ถอนหายใจ ทำได้ไปคนละกี่ข้อกันบ้าง ไม่รู้ตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่สิ่งนี้กลายเป็นความล้มเหลวในช่วงสิ้นปีของทุก ๆ ปี และ จะทะยานขึ้นมาเป็นความหวังใหม่อีกครั้งในช่วงมกราคมของปีถัดมา และเราอาจจะได้เห็นหลาย ๆ ข้อที่ยังคงวนเวียนซ้ำไปมาอยู่เพราะเรายังทำไม่สำเร็จเสียที และแน่นอนครับ มันอาจจะกลับมาเป็นข้อหนึ่งของปีนี้อีกก็ได้นะ คำถามก็คือเรายังต้องทำ New Year’s Resolutions กันอยู่อีกเหรอ ในเมื่อมันเคยไม่สำเร็จสักครั้ง
หากถามผม ผมว่ามันก็ไม่ได้เป็นอะไรหรอกครับ แต่การมีเป้าหมายไว้ก่อน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม มันย่อมสร้างแนวทางและความเป็นไปได้ที่เราจะไปถึงเป้าหมายนั้นครับ นึก ๆ ไปแล้ว มันก็คล้ายกับการดูแลรักษาผู้ป่วยของผมเหมือนกันนะ ในฐานะแพทย์ประจำบ้าน สาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู (Rehabilitation Medicine) ผู้ป่วยของพวกเราส่วนหนึ่งมีตัวโรคที่มีปัญหาเกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวัน ในแง่การช่วยเหลือตัวเอง หรือ การเคลื่อนที่ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับฝึกเพื่อฟื้นฟูรอบด้านอย่างจริงจังเพื่อคืนสภาพให้สามารถใช้ชีวิตได้มีอย่างมีความสุขตามอัตภาพครับ กลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยอ่อนแรงครึ่งซีกจากโรคหลอดเลือดสมอง, ผู้ป่วยแขนขาด/ขาขาด หรือ ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลังส่งผลให้มีขาอ่อนแรงทั้ง 2 สองข้าง เป็นต้น
ความน่าสนใจของเวชศาสตร์ฟื้นฟูก็คือ ถ้าผู้ป่วยประสงค์จะเข้ารับการฝึก ข้อบ่งชี้ข้อหนึ่งที่ผู้ป่วยต้องมีเพื่อให้พิจารณาก่อนนำเข้าโปรแกรมการฝึก นั่นก็คือ แรงจูงใจ (self-motivation) ผู้ป่วยจะต้องตั้งใจและต้องการให้ตัวเองดีขึ้นจากตัวผู้ป่วยเอง ไม่ใช่แค่การสนับสนุนของคนรอบตัวเท่านั้น คุ้น ๆ มั้ยครับ ว่าสิ่งนี้เหมือนกับอะไร นี่คือ New Year’s Resolutions รูปแบบหนึ่ง เพียงแต่เปลี่ยนบริบทจากตัวผู้ป่วยเป็นตัวเราเท่านั้นเอง
ในการรักษาผู้ป่วยคนหนึ่ง เราจะลิสต์ปัญหาของผู้ป่วยทั้งหมด (impairment) ระดับการช่วยเหลือตัวเอง (disability) และผลของความพิการที่ส่งผลต่อชีวิตในสังคมของผู้ป่วย (handicap) เช่น ผู้ป่วยอ่อนแรงซีกขวา ทำให้เดินเองไม่ได้ ต้องมีคนพยุง ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองในการเข้าห้องหรือใส่เสื้อผ้าได้ เป็นผลให้เขาไม่สามารถกลับไปทำงานตามปกติได้ เป็นต้น ดังนั้นการวางเป้าหมายการฝึกก็จะอิงจากสิ่งเหล่านี้เพื่อตอบโจทย์ผู้ป่วยแต่ละคนล้อไปกับความคาดหวังของผู้ป่วย ผนวกเข้ากับองค์ความรู้การแพทย์ช่วยนำทางนั่นเอง ยกตัวอย่างในเคสเดิม เป้าหมายของการฝึกในครั้งนี้เบื้องต้นคือการฟื้นกำลังกล้ามเนื้อ และเป้าหมายในระยะยาวหลังฝึก เราหวังว่าผู้ป่วยจะสามารถเดินเองได้ด้วยการใช้ไม้เท้าช่วย และ ทำกิจวัตรประจำวันพื้นฐานได้ครบนั่นเองครับ
และสำหรับ New Year’s Resolution ในแนวคิดเดียวกัน เราสามารถวิเคราะห์ปัญหาหรือสิ่งที่เราคาดหวังออกมาได้ในแนวที่ล้อกันไป จะแยกออกมาหลาย ๆ ข้อก็ได้นะ เริ่มจากปัญหายอดฮิตของ Gen Y ที่พบเจออยู่เรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น ป่วยบ่อย, ปวดคอ, ฟังหนัง soundtrack ไม่รู้เรื่อง, ไม่มีเงินเก็บ, เตรียมสมัครงาน/เรียนต่อ, ไม่พอใจในหุ่นตัวเอง, ขาดแรงบันดาลใจในการเคลียร์โปรเจค, ผมร่วง, ส่งงานช้า, ติดบุหรี่/แอลกอฮอล์ นำสิ่งเหล่านี้เป็นตัวตั้งต้นทำหรับ New Year’s Resolution ในปี 2022 เพื่อการเริ่มต้นที่ตรงจุดและเลือกมาจากปัญหาของเราจริง ๆ
แล้วอะไรคือสิ่งที่ทำให้ New Year’s Resolution ของเราสมบูรณ์แบบที่สุด?
ข้อแรก Follow Up ตัวเองเรื่อย ๆ
New Year’s Resolutions สำหรับหลาย ๆ คนเป็นสิ่งเราเปิดดูเพียงครั้งเดียวต่อปีครับ นั่นก็คือ วันที่เขียนเสร็จนั่นแหละ ซึ่งมันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะนึกถึงมันได้อยู่ตลอดโดยเฉพาะในช่วงที่เรายุ่งกับเรื่องอื่น ๆ อยู่ ดังนั้นการนำแผนมา revise เรื่อย ๆ เทียบกับการดูแลผู้ป่วยก็คือการเข้าไปราวน์เพื่อติดตาม (follow up) พัฒนาการการฝึกอยู่เรื่อย ๆ นั่นเอง อาจมีการปรับแผน หรือ เพิ่มเติมโปรแกรมบางอย่างเข้าไประหว่างทางก็ได้ เช่นเดียวกัน การติดตามผลงานตามแผนของคุณอย่างสม่ำเสมอ ทุก ๆ 1-2 เดือนเป็นสิ่งจำเป็นนะครับ เช่น หากอยากลดน้ำหนัก ก็ควรชั่งน้ำหนักให้บ่อยมากขึ้น หรือ อยากเก่งขึ้นในบางด้าน ก็ควรตั้งค่า KPI เล็ก ๆ ให้กับเป้าหมายของเรา เป็นต้น นอกจากนี้การนำแผนออกมากางให้เราเห็นเป็นภาพได้ชัดในทุก ๆ วัน ในบริเวณที่โดดเด่นมากพอ ให้มันคอยเตือนเราและ กระตุ้นให้เรากลับมาสู่แนวทางที่ต้องการได้มากขึ้น(ได้บ้าง) อย่าง การแปะกระดาษเตือนบนโต๊ะคอม การเปลี่ยนรูป desktop หรือ การจัดเวลาเพื่อคุยกับตัวเอง ถามถึงสิ่งที่ทำได้ให้มากขึ้น วิธีเหล่านี้อาจเวิร์คสำหรับบางคนครับ
ข้อ 2 สร้างเป้าหมายที่มีโอกาสทำสำเร็จ
เป้าหมายที่เป็นไปได้ คือ เป้าหมายที่มีแนวทางในการทำที่ชัดเจน และ มีโอกาสสำเร็จครับ เทียบกับทางการแพทย์ เราจะวางแผนการรักษาที่ไม่ได้โอเวอร์ให้ผู้ป่วยมากจนเกินไป ผู้ป่วยที่อ่อนแรงครึ่งซีก แผนของเราจะยังไม่ได้วางถึงขั้นที่ต้องฟื้นถึงกับไปวิ่งแข่งโอลิมปิคได้ (ขนาดคนธรรมดายังทำไม่ได้เลย) แต่ต้องอาศัยความเป็นไปได้และองค์ความรู้มาจับด้วย โดยอาจจะเริ่มจากการเดินได้เองด้วยการใช้ walker ก่อน ฝึกแล้วขยับเป็นไม้เท้า 3 ขา แล้วขยับเป็นไม้เท้าขาเดียวตามลำดับ หากเก่งกว่านั้น ย่อมดีกับผู้ป่วยแน่นอนครับ จุดนั้นเราก็ค่อยมาวางแผนกันใหม่ เช่นเดียวกันครับ สำหรับพวกเรา จะดีกว่ามั้ยหากใส่รายละเอียดที่มากขึ้นให้กับเป้าหมายของตัวเองในทุก ๆ ข้อ หากอยากแข็งแรงขึ้น แนวทางคงไม่ใช่การกำหนดว่าจะต้องวิ่ง 2 ชั่วโมงทุกวันหลังจากนี้ เพราะมันยากเกินไป และโอกาสทำสำเร็จต่ำ (ขออภัยสำหรับผู้ที่สามารถทำได้มา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ) แต่ต้องเป็นการวางแผนอย่างมีองค์ความรู้ เช่น ออกกำลังกาย 4-5 วันต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 45-60 นาทีต่อวัน แบ่งออกเป็น วันที่เล่น weight training 2-3 วัน และ cardio อีก 2 วัน น่าจะดีกว่า ไม่ตึง ไม่หย่อน มีคุณภาพ และ เป็นไปได้ครับ
ข้อที่ 3 แผนที่ดี = แผนที่ยืดหยุ่น
เป้าหมายในแต่ละปีของเรา ตอนต้นปี กับ ตอนปลายปี มันไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งเดียวกันเป๊ะ ๆ นะครับ มีประโยคหนึ่งที่ผมชอบมากจากอาจารย์ท่านหนึ่งที่เคยให้กับผมไว้ครับ คนไข้เคสหนึ่งถามผมว่า “มือข้างที่เป็นอัมพาต หลังจากฝึกจะกลับมาใช้งานได้อีกไหมหมอ” ตอนนั้นคำตอบในใจผม ก็คือ ในเคสนี้โอกาสที่มือจะกลับมาใช้ได้เหมือนเดิมต่ำ แต่ก็พอมีโอกาสกลับมาใช้ได้บางส่วนขึ้นกับแต่ละคน ในขณะที่ผมกำลังหาวิธีการพูดที่ละมุนที่สุดอยู่นั้น อาจารย์ไม่ได้ปล่อยเวลาให้เป็น dead air นานครับ อาจารย์พูดกระซิบแนะผมเบา ๆ ให้แจ้งผู้ป่วยว่า “ลองไปฝึกไปก่อนแล้วค่อยว่ากัน” จริง ๆ มันเป็นประโยคที่เรียบง่ายมากนะครับ แต่มีความหมายที่เข้าใจได้เลยทันที บางอย่างเราไม่ต้องรู้ผลก่อนลงมือทำชัดเจนก็ได้ ก็ลองทำไปก่อน หน้างานค่อยปรับแผนก็ได้ สุดท้ายเป้าหมายอาจไม่ใช่การนำมือข้างนั้นมาใช้ในชีวิตประจำวันเหมือนก่อนป่วย แต่เป็นการฝึกใช้มือข้างดีมือเดียวทดแทนในกิจวัตรประจำวันก็ได้ หากไม่ลองฝึกไปเลยแต่ต้น เราจะไม่มีทางรู้ว่าผลจะเป็นแบบไหน เช่นเดียวกับเรื่องของพวกเรา สุดท้ายหากไม่ว่าจะสำเร็จตามแผนหรือไม่ก็ตาม ถึงเวลานั้น เรายังมีพื้นที่ในการปรับแผนของเราอยู่เสมอครับ หากจะปลายปีแล้วยังดูไม่มีหวังเลย จะปรับลงมาบ้าง ก็ไม่เห็นเป็นไรเลยครับ
ข้อที่ 4 ความคาดหวัง VS ความจริง
และเมื่อถึงจุดที่ได้ลองทำทุกอย่างตามแผนแล้ว นี่คือขั้นตอนของการตบทุกอย่างให้เข้าที่เข้าทางที่สุดครับ เพราะมันคือสิ่งที่จะอยู่กับเราจริง ๆ ทั้งในปีนี้ และอีกยาว ๆ หลังจากนี้ ความคาดหวังในช่วงต้นปีคือสิ่งที่ดีที่สุดของเราในเวอร์ชั่นที่เพอร์เฟ็คที่สุด แต่ความเป็นจริงล่ะ? ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ผมคิดว่าชีวิตได้สอนอะไรกับเรามากมายในเรื่องความยืดหยุ่นและการมองโลกตามที่มันเป็น ตั้งเป้าหมายดีแค่ไหน แค่เจอสถานการณ์โรคระบาดเข้าไปก็ต้องพับไว้ก่อนทั้งนั้น และปรับตามหน้างานไป ความจริงที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้ตรงกับสิ่งที่เราคาดหวังหรอก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันไม่ดีเหมือนกัน บางทีการทดแทนแผนเดิมด้วยสิ่งที่เหมาะกว่า ด้วยทั้งเวลา สถานการณ์ และ บุคคล อาจเป็นสิ่งที่ดีที่สุดก็ได้ ย้อนกลับมาคิดใหม่ ว่าความคาดหวังเดิม ในตอนนี้ยังเป็นตัวคุณอยู่หรือเปล่า เพราะกาลเวลาที่ผ่านไป แม้เพียงหลักแค่หลักชั่วโมง หากมีปัจจัยที่รุนแรงมากพอ ก็อาจทำให้ใจเราเปลี่ยนปณิธานไปได้ง่าย ๆ วันนั้นชอบ วันนี้อาจไม่ต้องการแล้วก็ได้ หากความจริงออกมาแย่กว่าสิ่งที่คาดหวัง แต่ความคาดหวังยังเป็นเรื่องเดิมแม้เวลาผ่านไป ก็คงต้องหาสาเหตุที่ทำให้เราไม่ได้และพยายามลองใหม่อีกครั้ง แต่หากความคาดหวังตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว ผมว่าการเริ่มต้นกับไอเดียใหม่ ๆ ในช่วงนี้เป็นอะไรที่มีความสุขมากที่สุดครับ นี่คือโอกาสได้ทบทวนตัวเองครั้งใหญ่กับแนวทางทั้งหมดที่เราไม่เคยเห็น แม้มันอาจจะอยู่ใกล้ ๆ ตัวเราแค่นี้เอง เป็นเวลาที่เราจะเปิดใจได้กว้างมากขึ้นเพื่อวางแผนเส้นทางใหม่ ๆ กับตัวเอง
บทสรุป
เรายังต้องทำ New Year’s Resolution กันอยู่อีกเหรอ ในเมื่อมันไม่สำเร็จเสียที? ผมยังคิดว่าสิ่งนี้มีประโยชน์อยู่นะครับ และผมหวังว่าคุณจะพบกับแผนที่ดี ยืดหยุ่น และ สร้างคุณให้เป็นคุณในเวอร์ชั่นที่เหมาะสมที่สุดครับ
Happy New Year นะครับ
เปียง
#PYONGDOCTOR