KHONG CHIAM : โขงเจียม กรุตำนานธรรมชาติแห่งอีสาน
สวัสดีครับ ผมเปียง ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่โขงเจียมครับ คอนเทนต์ส่งท้ายทริปอุบลราชธานีของผม กับทิวทัศน์ของหน้าผาเหนือจริงริมฝั่งแม่น้ำโขงที่โอบล้อมผมอยู่ ณ ขณะนี้ นี่คงเป็นประสบการณ์ที่พิเศษที่สุดครั้งหนึ่งสำหรับการออกเดินทางของผมเลยครับ
แผ่นเปลือกโลกที่ยกตัวขึ้นกลายเป็นหน้าผาสูงชัน ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และ ร่องรอยของประวัติศาสตร์โบราณอันประเมินไม่ได้ ถูกรวมกันเอาไว้ในอำเภอโขงเจียมแห่งนี้ครับ ผมได้รวบรวมเรื่องราวที่น่าสนใจมากมายเกี่ยวกับที่นี่มาเล่าให้ทุกคนฟัง ไม่ว่าจะเป็นในเชิงประวัติศาสตร์หรือภูมิศาสตร์ เชื่อว่าจะทำให้ทุกคนได้รู้จักอำเภอโขงเจียมแห่งนี้มากขึ้นอีกมากครับ
คุณเคยเห็นบ่อน้ำบนหน้าผาหรือเปล่าครับ ที่ที่เราสามารถเกาะขอบบ่อพร้อมมองวิวแม่น้ำโขงจากบนหน้าผาไปได้พร้อม ๆ กัน ผาโสกเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มหัศจรรย์มาก ๆ สำหรับผมครับ เกาะแก่งหินที่โดนกัดกร่อนตามธรรมชาติกลายเป็นแอ่งน้ำตื้น ๆ กลายเป็นทางน้ำ ที่เชื่อมกับสุดขอบผาให้น้ำไหลตกลงสู่ระดับน้ำทะเลด้านล่างครับ แต่กว่าจะไปถึงตรงนั้นไม่ง่ายเลยนะครับ เพราะเราต้องผ่านด่านทางขึ้นที่ใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมง ในการลุยทางหินขรุขระขึ้นไปข้างบน
“พระอาทิตย์ขึ้นให้แสงแรกของปี 2565 ในเวลา 06.26 น. ณ ผาชะนะได จุดตะวันออกสุดประเทศไทย” วลีที่เราคุ้นเคยนี้ ถูกพูดกรอกหูพวกเรามาตั้งแต่สมัยเด็กผ่านวิทยุและโทรทัศน์ครับ ในวันนี้ผมมาถึงผาแห่งนี้แล้วนะครับ ตื่นตี 3 แล้วออกไปชมพระอาทิตย์ขึ้นด้วยกันครับ
พาไปชมผาแต้ม กับภาพวาดโบราณของบรรพบุรุษ 3000 ปีของพวกเรา ที่เราอาจจะพอคุ้นเคยมาบ้างผ่านแบบเรียนวิชาสังคมศึกษาตอนมัธยมต้น ภาพที่ใช้ในหนังสือทำให้ผมเข้าใจผิดไปเยอะครับ เพราะของจริง ภาพวาดมีขนาดมหึมาบนชั้นหน้าผา ตั้งตระหง่านด้วยสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ประจันหน้ากับแม่น้ำโขงในอีกฟาก
วัดเรืองแสง กับลวดลายวิจิตรตระการตาที่ส่องสว่างท่ามกลางความมืดมิดยามค่ำคืน เป็นสิ่งก่อสร้างที่เป็นตัวแทนของพลังศรัทธาในพุทธศาสนาของผู้คนในโขงเจียม ผมจะพาไปดูความงดงามของที่นี่แบบใกล้ ๆ กันครับ
โขงเจียม ในนามของแหล่งเพาะปลูกฝ้ายที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ผมพาไปเรียนรู้วัฒนธรรม และ หัตถกรรมเกี่ยวกับฝ้าย ของขึ้นชื่อของที่นี่ ในหมู่บ้านฝ้าย Tohsang Cotton Village ผ่านกิจกรรมเชิงอนุรักษ์อย่าง การใช้สีจากเปลือกไม้และใบไม้ตามธรรมชาติ
และนี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างเล็ก ๆ ของโขงเจียมในแบบฉบับของผมเท่านั้น เข้าไปทำความรู้จักกับโขงเจียมให้มากขึ้นอีกนิดกับเรื่องราวทั้งหมดที่ผมรวบรวมมาให้ครั้งนี้ด้วยกันนะครับ
เปียง
#PYONGSEEWHATISEE #โขงเจียม #ผาชะนะได #ผาแต้ม #ผาโสก
“โขงเจียม” ดินแดนแห่งอารยธรรมก่อนประวัติศาสตร์ แผ่นดินบูรพาทิศกลางคาบสมุทรอินโดจีนแห่งนี้ ถึงแม้หลายคนจะได้ยินชื่อ “โขงเจียม อุบลราชธานี” จนคุ้นหูจากประกาศทางวิทยุในทุกวันตอนเช้าในวัยเด็ก แต่สักกี่คน ที่จะรู้จักว่า โขงเจียม เป็นแบบไหนและที่นี่มีอะไร คอนเทนต์นี้เราจะไปหาคำตอบกันครับ
“ไผว่าอีสานแล้ง สิจูงแขนไปเบิ่ง น้ำของไหลอยู่โจ้นโจ้น สิว่าแล้งหม่องใด๋… ไผว่าอีสานฮ้าง สิจูงแขนเพินไปเบิ่ง วัฒนธรรมยังโจ้โก้ มันสิฮ่างจังใด๋”
(..ใครหนอช่างว่าอีสานนั้นกันดาร จะจูงแขนพาไปดูให้เห็น แม่น้ำโขงสายใหญ่ไหลแรงขนาดนี้ จะว่าแห้งแล้งได้อย่างไร ใครกันหนอที่ว่าอีสานนั้นไม่มีอะไรเจริญหูเจริญตา ฉันจะพาไปดู วัฒนธรรมพื้นถิ่นล้ำค่ามากมาย แล้วจะหยามเหยียดว่ามันรกร้างไปได้อย่างไร..)
มโนภาพของภาคอีสานที่คนที่อาจจะไม่ได้รู้จักภาคอีสานหรือคนอีสานดีนักมักมองว่าที่นี่มีพื้นที่แห้งแล้ง อากาศร้อน และแล้งฝนตก “อีสานไม่เห็นจะมีอะไรเลย” ชัดเจนว่า มโนภาพเหล่านั้นไม่เป็นความจริง จากตัวเมืองอุบลฯ มาสู่โขงเจียมของผม ผมได้สัมผัสประสบการณ์ดี ๆ มากมาย ลมพัดเย็น ๆ และแดดอุ่น ๆ ตลอดการเดินทาง อากาศดี ๆ ท่ามกลางธรรมชาติของอำเภอสุดเขตประเทศไทยแบบนี้ ผมเชื่อว่าที่นี่จะต้องมีอะไรดี ๆ ซ่อนอยู่อย่างแน่นอน
อำเภอโขงเจียม ถือเป็นอำเภอขนาดใหญ่ของจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งอยู่ทางตะวันออกสุดของจังหวัด และก็เช่นกัน เป็นผืนดินที่ตั้งอยู่ตะวันออกสุดของประเทศ เป็นจุดเริ่มของการนับวันใหม่ของประเทศไทย ณ ที่แห่งนี้ จนถูกขนานนามว่าเป็นดินแดนแห่งแสงแรกของประเทศไทยนี่เองครับ
คอนเทนต์จังหวัดอุบลราชธานี และอำเภอโขงเจียม ของผมและทีมงานจะสำเร็จลุล่วงไม่ได้ หากปราศจากความช่วยเหลือจากท่านเหล่านี้ รวมถึงแหล่งอ้างอิงต่าง ๆ สำหรับข้อมูลที่น่าสนใจ ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ครับ
-สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดอุบลราชธานี
-หนังสืออุบลราชธานี 200 ปี
-คุณณัฐธิดา พละศักดิ์
-อุทยานแห่งชาติผาแต้ม
-สถานีตำรวจภูธรอำเภอโขงเจียม
-บ้านคำปุน
-คุณธานีวัฒน์ เรียนวิริยะกิจ
-ทอแสง คอตตอน วิลเลจ
-esanpedia สารสนเทศท้องถิ่นอีสาน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
-คุณคณากร ปริญญาปุณโณ
-ผู้ใหญ่ สมัย วังสาคร ผู้ใหญ่บ้านบ้านเวินบึก อำเภอโขงเจียม
คำว่า “โขงเจียม” จากนามานุกรมภูมิศาสตร์จังหวัดอุบลราชธานี สำนักศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี รวมถึงคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ต่อ ๆ กันมา ได้ความว่า “โขง” น่าจะหมายถึง หัวหน้าช้าง หรืออาจจะมาจากคำว่า “โขลง” ที่หมายความถึงฝูงช้าง ก็ว่าได้ ส่วนคำว่า “เจียม” นั้น คาดเดากันว่า คงเพี้ยนมาจากคำว่า “เจียง” ในภาษาส่วย (หรือภาษากูย) ซึ่งแปลว่า “ช้าง” โขงเจียม จึงน่าจะหมายถึง “เมืองที่มีช้างอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่” แต่บางความเห็น “บ้างก็ว่า” ตั้งข้อสันนิษฐานต่างออกไปว่า ไม่น่าจะเกี่ยวกับโขลงช้างเลย น่าจะเชื่อมโยงกับ “แม่น้ำโขง” ซึ่งมีทิศทางการไหลผ่านที่ติดกับตัวดินแดนแถบนี้ทั้งหมด กล่าวคือ โขง คือ แม่น้ำโขง ส่วน เจียง แปลว่า แม่น้ำ ในภาษาจีน ( แม่น้ำของ หรือ แม่น้ำโขง มีจุดกำเนิดจากประเทศจีน) ก็แล้วแต่จะว่ากันไปครับ
“ซำป๊ะ กวยเอิ๊ดกวยจา” (ภาษาบรู)
สวัสดีครับ เป็นไงบ้าง สบายดีไหม
อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของโขงเจียมก็คือ ภาษาบรูนั่นเองครับ ที่นี่มีชุมชนชาติพันธุ์โบราณเล็ก ๆ กว่าพันปี ริมแม่น้ำโขง ชื่อ บ้านเวินบึกที่ใช้ภาษาพูด “ภาษาบรู” (ภาษาข่า) เป็นภาษาของตัวเองในการสื่อสารระหว่างกันในชุมชน และมีวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นเป็นของตัวเอง ยิ่งตอกย้ำถึงความมีอารยธรรมมาช้านานของทั้งจังหวัดอุบลราชธานีและอำเภอโขงเจียมแห่งนี้ ทิ้ง footprint ที่เป็นร่องรอยอดีตแห่งความภูมิใจของลูกหลานชาวอุบลฯสืบจนทุกวันนี้
ไม่ใช่แค่เฉพาะโขงเจียมเท่านั้น แต่ทั้งตัวจังหวัดอุบลราชธานี ถือเป็นจังหวัดที่มีความร่ำรวยทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดีและวัฒนธรรมอย่างมาก โดยตลอดพื้นที่ในตัวจังหวัดทั้งหมดล้วนแต่มีการขุดค้นพบแหล่งโบราณคดียุคหิน ยุคโลหะ ยุคสำริด กว่า 40 แหล่ง รวมไปถึงจารึกปากแม่น้ำ ซากชุมชนโบราณ เมืองเก่า หินแกะสลักภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ และปราสาทหินยุคเจนละของเขมร อายุหลายพันปีอีกด้วย
ผาชะนะได
ขอเริ่มสถานที่แรกกับแสงแดดยามเช้าที่
“ละติจูด 15 องศา 37 ลิปดา 3.5 พิลิปดา เหนือ ลองจิจูด 105 องศา 37 ลิปดา 17 พิลิปดา ตะวันออก” หรือ จุดตะวันออกสุดของไทย ณ ผาชะนะได นั่นเองครับ
พระอาทิตย์ขึ้นให้แสงแรกของปี ณ ผาชะนะได จุดตะวันออกสุดประเทศไทย เป็นวลีที่เราคุ้นเคยมาตั้งแต่สมัยเด็กผ่านวิทยุและโทรทัศน์ครับ ในวันนี้ผมมาถึงผาแห่งนี้แล้วนะ จุดเริ่มต้นแสงแรกของประเทศไทย สมกับคำที่ผมเคยเกริ่นทิ้งไว้ในคอนเทนต์อุบลฯที่แล้วว่า “อุบลราชธานี รับสุรีย์แรกอรุณ” นั่นเองครับ
หากไม่ตั้งใจ การเดินทางไปชมพระอาทิตย์ขึ้นที่นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ นะครับ เพราะเราต้องเดินทางจากตัวที่พักในตัวเมืองโขงเจียม ตั้งแต่ตี 3 เพื่อไปให้ทันช่วงพระอาทิตย์ขึ้นครับ
เป็นทิวทัศน์ที่น่าประทับใจมาก ๆ ครับ ข้างบนเวิ้งว้าง ล้อมรอบด้วยแนวทิวเขาน้อยใหญ่เบื้องหน้า แม่น้ำโขง ที่เป็นเขตกั้นประเทศไทยกับลาว อากาศเย็น ๆ ในยามเช้าข้างบนทำให้พวกเราหนาวสั่นเล็กน้อยครับ
เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ที่เราเห็นพระอาทิตย์ค่อย ๆ เคลื่อนตัวทะลุทิวเขาและหมู่เมฆที่ปกคลุมด้านหน้า อาจไม่ใช่รูปแบบที่สวยที่สุดที่เจอได้ แต่ด้วยบรรยากาศทั้งหมดตอนนี้ ผมว่ามันพิเศษมาก ๆ ครับ
ผู้คนมากมายตั้งใจขึ้นมาชมพระอาทิตย์ขึ้นพร้อมกันที่นี่กัน
ผาชะนะได ตั้งอยู่ในป่าดงนาทาม เขตรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติผาแต้ม พื้นที่ด้านทิศตะวันออกสุดของประเทศไทย เป็นสถานที่ที่กรมอุตุนิยมวิทยาใช้เป็นจุดในการอ้างอิงคำนวณเวลาและรายงานเวลาการขึ้นของพระอาทิตย์เป็นตำแหน่งแรกของไทยบนยอดสุด มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 450 เมตร ใช้เวลาเดินทางจากด่านเก็บค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานฯขึ้นไปยังบนจุดชมวิวผาชะนะไดราว 13 กิโลเมตร ซึ่งในปัจจุบัน สามารถเดินทางด้วยรถส่วนตัวถึงด้านบนได้แล้วเพราะถนนลาดยางทำเสร็จครบตลอดเส้นทางแล้ว จึงไม่ต้องใช้เวลาเดินทางทรหด บุกป่าฝ่าดงกันเป็นเวลานานเหมือนเช่นเมื่อก่อนแล้วครับ
มีข้อมูลสนุก ๆ มาฝากกันครับ ถ้าลองจิ้ม google maps เล่น ๆ จุดตะวันออกสุดของประเทศไทยนั้น ไม่ได้อยู่ตรงผาชะนะไดในอุทยานแห่งชาติผาแต้มนะครับ แต่อยู่ที่บ้านปากลา อำเภอโขงเจียม ซึ่งห่างออกไปนิดหน่อย พื้นที่ส่วนนี้จะยื่นออกไปทางตะวันออกมากกว่านิดนึงครับ
ผาโสก
ผาโสก ก้าวขึ้นมาเป็นเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันซีนใหม่ที่ค่อนข้างเริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่นักเดินป่าสาย camping และเพจรีวิวท่องเที่ยวบ้างแล้วในระยะไม่กี่ปีมานี้เองครับ จริง ๆ แล้วจุดชมวิว ที่เที่ยวที่ซ่อนอยู่ตามธรรมชาติในป่าอุทยานแห่งชาติผาแต้มแห่งนี้มีอยู่เยอะมากครับ หากแต่ต้องใช้เวลาในการพัฒนาเส้นทางให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัย โดยจะต้องรบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุด
ผาโสกก็เป็นหนึ่งในนั้นที่นักท่องเที่ยวสายเดินป่ามีส่วนอย่างยิ่งในการเป็นแรงผลักดันให้ผาโสกถูกพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นในปัจจุบันครับ
ผาโสก ที่ปรากฏตามสื่อในขณะนี้ ถูกเรียกว่าจากุซซี่ริมหน้าผา ครับ
สำหรับใครที่อยากลองมาเที่ยวแบบผจญภัยอย่างผม ต้องเช็คช่วงเวลาเปิด-ปิดให้ดี เพราะไม่ได้เปิดให้เที่ยวตลอดทั้งปี จะเปิดแค่ช่วงหน้าฝนที่มีระดับน้ำมากพอที่จะไหลลงมาเลี้ยงบริเวณบ่อน้ำบนนั้นเท่านั้นครับ (หากน้ำแล้งแล้วต้องปิด เพื่อความปลอดภัย)
นักท่องเที่ยวทุกท่านต้องลงทะเบียนเพื่อขออนุญาตขึ้นผาโสก ยังจุดบริการนักท่องเที่ยวน้ำตกสร้อยสวรรค์เสียก่อน และจ้างรถชาวบ้านขึ้นไป (มีค่าใช้จ่าย) หรือนำรถส่วนตัวซึ่งต้องเป็นรถที่เหมาะกับการปีนเขาเท่านั้น เส้นทางค่อนข้างทุลักทุเล กำลังกายและกำลังใจต้องพร้อมมากนะครับ แต่ผมรับรองว่าคุ้มค่าและประทับใจแน่นอน
ขึ้น 1 ชั่วโมง ลง 1 ชั่วโมง โดยสารด้วย “รถอีแต๊ก” ครับ
เป็นการเดินทางที่เหนื่อย ลุย และ สนุกใช้ได้เลย ตลอดทางเราจะเจอกับทางลูกรังที่เต็มไปด้วยหลุมบ่อ และแอ่งน้ำครับ เรียกได้ว่า extreme สุด ๆ ครับ
ระหว่างทางเราจะเจอกับดอกไม้ป่ากำลังบาน เป็นดอกไม้เล็ก ๆ จุ๋มจิ๋ม ให้สีสันกระจายเป็นจุด ๆ เหมือนน้ำค้างหลากสี ทุ่งดอกไม้ป่าตามแนวอุทยานแห่งชาติผาแต้มก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจนะครับ โดยจะเริ่มบานช่วงเดือนพฤศจิกายนไปถึงเดือนมกราคม เมื่อบานสะพรั่งรวมกันแล้วจะมีสีสันที่สวยงามมาก โดยดอกไม้จำนวน 5 ชนิด ได้รับพระราชทานชื่อดอกไม้ที่มีความไพเราะจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ว่า
“สร้อยสุวรรณา(หญ้าสีทอง) , ดุสิตา(หญ้าข้าวก่ำน้อย), สรัสจันทร (หญ้าหนวดเสือ) , ทิพเกสร(หญ้าฝอยเล็ก) และมณีเทวา(กระดุมเงิน)”
นอกจากนี้ยังมีดอกไม้ป่าอื่น ๆ อีกหลายชนิด เช่น กระดุมทอง หญ้าน้ำค้าง หญ้าข้าวก่ำ หนาวเดือนห้า จอกบ่วาย เป็นต้น
คุณเคยเห็นบ่อน้ำบนหน้าผาหรือเปล่าครับ ที่ที่เราสามารถเกาะขอบบ่อพร้อมมองวิวแม่น้ำโขงจากบนหน้าผาไปได้พร้อม ๆ กัน
ผาโสกเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มหัศจรรย์มาก ๆ สำหรับผมครับ เกาะแก่งหินที่โดนกัดกร่อนตามธรรมชาติกลายเป็นแอ่งน้ำตื้น ๆ กลายเป็นทางน้ำ ที่เชื่อมกับสุดขอบผาให้น้ำไหลตกลงสู่ระดับน้ำทะเลด้านล่างครับ
ทิวทัศน์แบบนี้เรียกได้ว่า unseen จริง ๆ สำหรับประเทศไทย ไม่ใช่แค่อ่างน้ำ แต่ยังมีวิวหน้าผา และ แม่น้ำโขงด้านล่างอีกด้วย
เสาเฉลียง
เสาเฉลียงเปรียบเสมือนประติมากรรมหินทรายชิ้นเอกจากธรรมชาติ หลัก 1-2 ร้อยล้านปี เสาหินท่อนล่างเกิดจากการถูกชะล้างพังทลาย จากสภาพอากาศ ฝนและลมพายุเป็นเวลาหลายล้านปี
คุณสมบัติทางธรณีวิทยาของหินทรายนั้น ง่ายต่อการสึกกร่อนกว่าหินชนิดอื่น ที่จัดอยู่ในกลุ่มชั้นหินเดียวกัน และเมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่ง หินทรายจะประสานกันแข็งแรงแน่นหนายิ่งขึ้น สามารถทำให้คงรูปได้ (ข้อมูลจาก สำนักงานอุทยานแห่งชาติ)
เสาเฉลียง แผลงมาจากคำว่า สะเลียง แปลว่า เสาหิน ตั้งอยู่ก่อนถึงผาแต้มเพียง 1.5 กิโลเมตร สามารถแวะชมได้ ใช้เวลาไม่นานนักครับ
วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว
ผมมาถึงวัดเรืองแสงที่กำลังโด่งดังอยู่ในขณะนี้ครับ วัดสิรินธรวรารามภูพร้าวกับลวดลายวิจิตรตระการตาที่ส่องสว่างท่ามกลางความมืดมิดยามค่ำคืน เป็นสิ่งก่อสร้างที่เป็นตัวแทนของพลังศรัทธาในพุทธศาสนาของผู้คนในโขงเจียม เราไปความงดงามของที่นี่แบบใกล้ ๆ กันครับ
วัดภูพร้าว หรือมีชื่อเรียกเต็ม ๆ ว่า “วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว” นักท่องเที่ยวนิยมเรียกกันว่า วัดเรืองแสง ตั้งอยู่ที่ อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ห่างจากตัวอำเภอโขงเจียมราว 20 นาที ตั้งอยู่บนเนินเขาสูงติดกับแม่น้ำโขง ใกล้กับด่านชายแดนช่องเม็ก 3 กิโลเมตร บนยอดเขาจะมองเห็นพระอุโบสถสีทองขนาดใหญ่ จำลองป่าหิมพานต์หรือเขาไกรลาส ซึ่งไฮไลต์ของวัดที่ทำให้นักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติต้องมุ่งมายังวัดนี้คือ การได้มาชมประติมากรรมเรืองแสงต้นกัลปพฤกษ์ที่เป็นจิตรกรรมที่อยู่บนผนังด้านหลังของอุโบสถในยามค่ำคืน
ตัวอุโบสถของวัดภูพร้าวมีต้นแบบมาจากวัดเชียงทอง ประเทศลาว ศิลปะภาพวาดบนเสาแต่ละต้นเขียนลวดลายด้วยมือ เป็นลายดอกบัวและสัตว์ทั้งหลายตามคติบัว 4 เหล่า ด้านหลังพระอุโบสถที่เป็นจุดยอดนิยม คือประติมากรรมเรืองแสงต้นกัลปพฤกษ์ ฝีมือการออกแบบของ “ช่างคณากร ปริญญาปุณโณ” หรือ พี่ต๊อก เป็นผู้นำเราชมสถานที่ในวันนี้ครับ พี่ต๊อกเล่าถึงไอเดียในการสร้างงานศิลปะบนวัดภูพร้าวแห่งนี้ว่า ตัวต้นกัลปพฤกษ์นั้นได้นำความคิดจากความศรัทธาในเรื่องเขาไกรลาส ซึ่งเป็นยอดเขาอันเป็นที่สถิตของพระอิศวรหรือพระศิวะในแดนหิมพานต์ตามเทวตำนานในศาสนาฮินดู และยังเป็นชื่อยอดเขาในประเทศทิเบต ซึ่งตั้งอยู่บนเทือกเขาไกรลาส เทือกเขานี้ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของทิเบต ขนานกับเทือกเขาหิมาลัย ชาวทิเบตที่นับถือพระพุทธศาสนาเรียกเขาไกรลาสว่า เขาพระสุเมรุ เป็นศูนย์กลางของโลกหรือจักรวาล เป็นที่อยู่ของสิ่งมีวิญญาณในภพและภูมิต่าง ๆ ของสัตว์โลก จะเห็นลวดลายโมเสกที่ประดับประดาตามกิ่งก้านของต้นกัลปพฤกษ์
สิ่งที่แทนทรัพย์ศฤงคาร แก้วแหวนเงินทอง ความมั่งคั่งและบารมี โดยเคลือบสารเรืองแสงไว้ นั่นก็คือ ฟอสเฟอร์ ที่มีคุณสมบัติรับพลังงานจากแสงอาทิตย์ในตอนกลางวัน และจะคายพลังงานนั้นออกมาในยามมืด ซึ่งจะทำให้เกิดเรืองแสงเป็นสีเขียวยามค่ำคืนที่สวยงามจนทำให้วัดภูพร้าวนี้ติดอันดับสถานที่ท่องเที่ยวแนะนำจากชาวต่างชาติในตลอดระยะหลายปีที่ผ่านมา
ภายในของพระอุโบสถ องค์พระประธานมีผู้ศรัทธานำมาถวายวัด แต่เดิมเป็นองค์พระพุทธชินราช แต่ช่างคณากร หรือ พี่ต๊อก ได้ออกแบบใหม่โดยถอดรัศมีและพระเกตุมาลาออก แล้วแกะสลักไม้เป็นต้นโพธิ์นำไปวางด้านหลังพระประธาน เป็นที่เคารพสักการะของคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวเสมอมา โดยบริเวณรอบ ๆ วัดยังมีงานพุทธศิลปะจัดวางเรียงรายให้นักท่องเที่ยวชื่นชมในความงามอยู่มากมายครับ
(ข้อมูลจากเว็บไซต์วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว)
นักท่องเที่ยวบางท่านจะเอาไฟฉายมาวาดรูปมือบนพื้นเรืองแสงของวัดครับ ทำให้เกินสีสันและลวดลายสวยงาม ผมไม่แน่ใจเรื่องหลักการ หากใครทราบ ช่วยเล่าให้ผมฟังหน่อยนะครับ
แพอารยา อาหารปลา โขงเจียม
ปลาที่โขงเจียมคือปลาที่ชาวบ้านหาได้จากแม่น้ำโขง แม่น้ำมูล และแม่น้ำชี ครับ ถ้าพูดถึงอาหารปลา ที่นี่เป็นหนึ่งในแหล่งปลาสดที่มีคุณภาพและอร่อยที่สุดของประเทศเลยก็ว่าได้
สำหรับแพอารยา เป็นร้านอาหารแพเจ้าเก่าเจ้าดัง เป็นร้านรับแขกของที่โขงเจียมนี้มานานถึง 50 ปีเท่ากับอายุของลูกสาวเจ้าของร้าน คุณอารยา นับถึงปัจจุบันเป็นรุ่นของทายาทรุ่น 3 ของครอบครัวแล้ว ตัวร้านเป็นลักษณะแพไม้ไผ่ตั้งลอยอยู่ริมแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่หนึ่ง หากมาทานช่วงกลางวัน นอกจากจะเห็นวิวฝั่งตรงข้าม ซึ่งเป็นประเทศลาวแล้ว ยังมองเห็น “แม่น้ำสองสี” จุดบรรจบกันของแม่น้ำ 2 สาย การไหลรวมของแม่น้ำมูลและแม่น้ำโขงยังที่แห่งนี้ ซึ่งสีสันของสายน้ำ จะแยกออกเป็นสองสีชัดเจน ดังคำกล่าวที่ว่า “โขงสีปูน มูลสีคราม”
เสียดายที่วันนั้นปลาบึกหมดพอดี ผมเลยไม่ได้ลองชิมเมนูนั้น แต่ก็มีเมนูปลาอื่น ๆ ที่อร่อยมาก ๆ พอกันครับ ปลาเนื้ออ่อนตัวเล็กทอดกระเทียม เป็นเมนู signature ของร้านนี้ คนอุบลฯพูดว่าถ้ามาร้านแพอารยาต้องได้กินปลาเนื้ออ่อนตัวเล็กทอด ทอดมันปลา ไม่ใส่แป้ง ทอดมันปลา ใช้เนื้อปลาบดล้วน ๆ อู๋ปลาคัง กับกลิ่นหอมของผักและสมุนไพรนานาชนิด ต้มยำปลาคัง พริกต้มยำสูตรเฉพาะ 40 ปี คั่วพริก หอมแดง ข่า 3 อย่างรวมกัน ให้กลิ่นหอมน่ารับประทานลาบปลาคัง ทานง่าย ไม่มีก้างฝอย เนื้อล้วน รสชาติกลมกล่อมครับ
ทอแสง โขงเจียม รีสอร์ต
ที่นี่เป็นโรงแรมขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงที่เรามาพักกันขณะอยู่ที่โขงเจียมครับ เราเห็นวิวแม่น้ำโขงและแผ่นดินประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวได้แบบกว้าง ๆ ผ่านมุมจากห้องนอน เสิร์ฟอาหารสไตล์อุบลฯ ที่มีความเป็นญวนผสมผสานอยู่ในนั้น
จะสังเกตว่าข้าวของเครื่องใช้ในห้อง ถูกออกแบบและใช้ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายทอมือทั้งหมด เป็นโรงแรมที่ใส่ใจในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ครับ โดยผ้าฝ้ายเหล่านี้ก็มาจากทอแสง คอตตอน วิลเลจ สถานที่ที่เราจะพาไปชมต่อไปนั่นเอง
Tohsaeng Cotton Village ทอแสง คอตตอน วิลเลจ
อำเภอโขงเจียม เป็นอีกอำเภอหนึ่งในภาคอีสาน ที่เป็นแหล่งเพาะปลูกฝ้ายที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ซึ่งถือเป็นอาชีพหลักของหลายครัวเรือนในแถบนี้ โดยไร่ฝ้ายจะปลูกกันริมแม่น้ำโขงเป็นแนวยาวทั้งบริเวณ แต่เสียดายที่คราวนี้ เวลาค่อนข้างจำกัด ผมจึงไม่ได้ลงพื้นที่ชมวิถีชาวบ้านริมแม่น้ำโขงเพื่อเก็บภาพสวย ๆ มาฝากกัน คนในพื้นที่บอกว่า วิวสวยและบรรยากาศดีมาก เห็นฝั่งประเทศลาวอยู่ตรงข้ามด้วยครับ แต่ก็ถือว่าไม่เสียเที่ยว เพราะการได้มาพักในตัวอำเภอโขงเจียม ผมก็ได้มีโอกาสเยี่ยมชมโรงทอผ้าฝ้ายท้องถิ่น ที่เพิ่ง rebrand ตัวเองใหม่ จากเจ้าของที่เป็นคนอุบลฯแท้ ๆ นำเสนอผ้าฝ้ายทอมือตามแนวความคิดใหม่ ในนาม ทอแสง คอตตอน วิลเลจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโรงแรมทอแสง โขงเจียม รีสอร์ตครับ
ทอแสง คอตตอน วิลเลจ เป็นโรงทอผ้าฝ้ายพื้นเมืองและแหล่งเรียนรู้เพื่อคนในท้องถิ่นและผู้ที่สนใจเกี่ยวกับงานผ้าฝ้าย งานฝีมือ และวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นศูนย์เรียนรู้ที่เกิดจากความตั้งใจของคุณแพร แพร์รี่ อยู่ประเสริฐ ทายาทรุ่นปัจจุบันของโรงแรมทอแสง โขงเจียม รีสอร์ต ในการที่จะสืบสานการปลูกฝ้ายและการทอผ้าของโขงเจียมให้คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าของภูมิปัญญาที่สั่งสม สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ด้วยการสร้างความร่วมมือกับคนในท้องถิ่นที่มีความถนัดไปกันคนละด้าน เช่น หมู่บ้านไหนถนัดทอผ้า ให้ทอผ้า หมู่บ้านไหนถนัดสีย้อมผ้า ให้ย้อมสี หมู่บ้านไหนถนัดเข็นฝ้าย ก็ให้เข็นฝ้าย เพื่อให้เกิดการกระจายงานและสร้างรายได้กับชุมชนอย่างยั่งยืน
ทำงานร่วมกับช่างฝีมือท้องถิ่นกว่า 30 ครัวเรือนในลักษณะ outsource กล่าวคือ แม่ ๆ ช่างทอผ้า สามารถรับงานไปทอที่บ้านตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องเข้ามาที่คอตตอน วิลเลจ ประจำก็ได้ (อีกส่วนสมัครใจเข้ามาทำในทอแสงแบบมาเช้า เย็นกลับ)
ทางคอตตอน วิลเลจจะจัดหาวัตถุดิบและเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการทำงานของพวกเขา สนับสนุนให้ครบทั้งกระบวนการ รวมถึงการซื้อฝ้ายดิบจากแหล่งปลูกของชาวบ้านโดยตรง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและลื่นไหลในการทำงาน ทำให้บรรดาแม่ ๆ รู้สึกสบายใจที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโปรเจกต์ อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจในชุมชน ช่างทอสามารถทำงานใกล้บ้านมากขึ้น ลดปัญหาช่องว่างระหว่างรุ่น และมีแนวโน้มที่จะช่วยลดปัญหาการย้ายถิ่นของแรงงานเข้าสู่เมืองหลวง โดยที่นี่เป็นทั้งผู้สนับสนุนแหล่งเพาะปลูก ผู้ซื้อ ผู้ผลิต ผู้ขาย และ ส่งออก ครบวงจรครับ
เนื่องจากที่นี่เป็นอะไรที่ใหม่มาก ยังไม่ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการมากนัก และอยู่ในระหว่างการ setup ระบบต่าง ๆ อยู่ เราได้รับเกียรติจากคุณแพร พาชมกระบวนการทำผ้าฝ้ายทอมือและกิจกรรม workshop เดินป่าตามหาสีย้อมผ้าจากธรรมชาติ ซึ่งถือว่าเป็นการเข้าถึงสถานที่แห่งนี้เป็นรายแรก ๆ เลยครับ ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วยครับ
และไฮไลต์ของวันนี้คือการได้เข้า workshop กิจกรรมเรียนรู้การย้อมสีธรรมชาติ ย้อนเส้นทางสายฝ้าย สู่ขั้นตอนแรกในการเฟ้นหาวัตถุดิบเพื่อมาทำสีย้อมผ้านั้น เราต้องค้นหาอย่างไรบ้าง โดยคุณลุงรอง เป็นผู้นำทัวร์ในกิจกรรมนี้ครับ
พื้นที่โดยรวมของโรงแรมทอแสง โขงเจียม รีสอร์ตนั้น ด้านหลังจะติดกับแม่น้ำโขง แต่บริเวณด้านหน้าของโรงแรมจะมีส่วนหนึ่งที่ติดกับหมู่บ้านและป่าชุมชนซึ่งอยู่ในเขตอุทยานฯครับ แต่ทั้งชาวบ้านและโรงแรมได้รับการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์จากป่าของชุมชนได้ โดยจะต้องไม่ไปรบกวน แผ้วถาง ตัดโค่น ทำลายนะครับ ในส่วนของการนำส่วนของต้นไม้มาทำตัวตั้งต้นของสีย้อมผ้าจากธรรมชาตินี้ จะใช้แค่กะเทาะเปลือกจากลำต้น หรือใช้ใบ แค่นั้นเองครับ หลังจากนั้นจึงจะเข้าสู่กระบวนการสกัดตามเทคนิคที่มาจากภูมิปัญญาชาวบ้านผสานองค์ความรู้สมัยใหม่ เพื่อให้ได้สีย้อมผ้าจากธรรมชาติที่มีคุณภาพ สีสันสวยงาม เหมาะแก่การออกแบบตัดเย็บต่อไปครับ
ทราบไหมครับว่า พืชพรรณพื้นถิ่นต่าง ๆ ในภาคอีสานนั้นให้สีจากธรรมชาติหลากหลายมาก ยกตัวอย่างเช่น ต้นกางหุ่ง ให้สีน้ำตาล , ต้นมะม่วง ให้สีเหลือง สีเขียว , ต้นกระโดน ให้สีน้ำตาล , ต้นสีเสียด ให้สีส้ม , ต้นประดู่ ให้สีน้ำตาลแดง , ต้นตีนนก ให้สีเหลือง และต้นแสนคำ ให้สีน้ำตาล เป็นต้น ที่ยกตัวอย่างมาเป็นเพียงความมหัศจรรย์ของธรรมชาติเพียงเล็กน้อยเองนะครับ เรายังหาสีจากธรรมชาติได้จากพืชพรรณในป่าได้อีกเยอะเลยครับ
สำหรับกิจกรรมนี้ มีหลายฐานมาก นอกจากจะได้ตามหาสีย้อมผ้าจากธรรมชาติแล้ว ยังได้ลองทอผ้า และ ย้อมผ้าด้วยตัวเองด้วย ถ้าใครสนใจก็สามารถแวะมาเที่ยวกันได้ ได้รับความรู้และความเพลิดเพลินดีครับ
อุทยานแห่งชาติผาแต้ม และ ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์
อุทยานแห่งชาติผาแต้ม หรือ ผาแต้ม ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติยอดนิยมของนักท่องเที่ยวหากมาเยือนจังหวัดอุบลฯ ถือว่าจะต้องมาให้ได้
นอกจากจะเป็นจุดชมทิวทัศน์สองฝั่งแม่น้ำโขงที่ตระการตาแล้ว ร่องรอยแห่งอารยธรรมในแถบดินแดนนี้ก็มีความน่าค้นหาอย่างมากต่อนักโบราณคดีและผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ในพื้นที่นี้เช่นกันครับ
สิ่งที่เด่นชัดที่สุดที่ปรากฏเป็นหลักฐานที่รอให้ผู้รู้เข้ามาค้นคว้า ค้นหา เพื่อรอการไขปริศนา นั่นก็คือ ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ ผาแต้ม และกลุ่มภาพเขียนสีอีกหลายแห่ง ตลอดแนวหน้าผาสูงชันที่หันหน้าประจันกับแม่น้ำโขงซึ่งกั้นกลางระหว่างประเทศไทยและประเทศลาว
จากการศึกษาทางธรณีวิทยา พบว่าภาพเขียนสีเหล่านี้มีอายุกว่า 3000 – 4000 ปี ก่อนประวัติศาสตร์ ย้ำว่า ก่อนประวัติศาสตร์ นะครับ ยุคที่มนุษย์ยุคหินยังใช้ชีวิตกันในแบบสังคมล่าสัตว์ อาศัยกันในถ้ำ บนภูเขากันอยู่เลยครับ ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ผาแต้ม เป็นภาพเขียนสีบนหน้าผาที่มีขนาดยาวที่สุดในเอเชียอาคเนย์ และมีจำนวนภาพมากที่สุดในประเทศ
ภาพเขียนสีผาแต้ม ใช้เทคนิคการลงสีจากธรรมชาติ ใช้สีแดง สีดำ และสีขาว โดยภาพแบ่งออกเป็นหลายกลุ่มด้วยกัน เป็นภาพ คน สัตว์ วัตถุ สัญลักษณ์ และ มือคน โดยภาพที่เด่น ๆ จะเป็นภาพของปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ ปลาบึก นั่นเอง นอกจากนี้ยังมีภาพเครื่องมือจับปลา เครื่องจักสาน คลื่นน้ำ เต่า ปลากระเบนน้ำจืด และยังมีภาพโลมาน้ำจืดอีกด้วยนะครับ ซึ่งในสมัยโบราณเคยอาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงแถบนี้ แต่ปัจจุบันพบเห็นเพียงในประเทศลาวเท่านั้นแล้วครับ
ภาพเขียนสีเหล่านี้นักโบราณคดีถือว่าเป็นวิธีการสื่อความหมายของคนในสมัยโบราณ เนื่องจากยังเป็นยุคล่าสัตว์ ยังไม่มีการประดิษฐ์อักษรสำหรับสื่อสาร มีวัตถุประสงค์เพื่อบอกเล่าเรื่องราวหรือบันทึกเหตุการณ์ที่สำคัญเอาไว้ ภาพเขียนสีเหล่านี้จึงนับว่าเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่มีความสำคัญมาก เพราะสามารถบ่งบอกให้เห็นถึงสภาพสังคมการดำรงชีวิตของคนในสมัยโบราณ รวมถึงสามารถบ่งบอกลักษณะทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละแถบพื้นที่ได้
วิวแม่น้ำโขงขณะพระอาทิตย์ตกดินครับ
เป็นอย่างไรบ้างครับ กับการที่ผมได้พาทุกท่านมายังสถานที่ที่เป็นจุดเริ่มต้นของแสงแรก การเริ่มนับเวลาของวันใหม่ของประเทศไทย และหมายรวมถึงจุดเริ่มต้นของอารยธรรมล้ำค่า ต้นกำเนิดของสรรพสิ่งในลุ่มแม่น้ำโขงอันยิ่งใหญ่แห่งนี้ หวังว่าคอนเทนต์ของจังหวัดอุบลราชธานี ทั้งในส่วนของอัลบั้มและวิดีโอที่ผมตั้งใจนำมาฝากทุกคนจะเป็นความสุขเล็ก ๆ ที่ผมพอจะมอบให้ทุกคนได้ในช่วงเวลาปีใหม่นี้
เรื่องราวของการบรรจบกันอย่างลงตัวของความเก่าและความใหม่ที่สัมผัสได้จากการมาเยือนอุบลฯด้วยตัวเอง มันเป็นเพียงแค่ 3 วัน 2 คืนที่สนุกและคุ้มค่ามาก ๆ ครับ ฝากให้อุบลราชธานี เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางบน travel list ของคุณ หากได้ไปตามแล้ว ส่งมาบอกกันบ้างนะครับ
ลาไปกับ “แสงสุดท้าย” จากดินแดน “แสงแรก” ของประเทศไทยครับ
“จูเด้อ กวยเอิ๊ดกวยจา ไงตะไม ละเมาะละอาย” (ภาษาบรู)
ลาก่อน แล้วค่อยพบกันใหม่ครับ
เปียง
ปล. ด้วยข้อจำกัดของเวลาที่สั้นไปนิด อุบลฯ เองก็ยังมีจุดน่าเที่ยวอีกหลายจุดที่ไม่ได้เอามาฝากกันครับ ไม่ว่าจะเป็นเขมราฐ หรือ สามพันโบก หากโพสต์นี้ผลตอบรับดีมาก ๆ ผมอาจกลับไปเก็บอุบลฯในพาร์ทสุดท้ายอีกครั้งครับ