UBON TOWN GUIDE (REMIX VERSION) เลาะอุบลฯ ส่วนผสมเก่า-ใหม่ กับ 25 สถานที่รอบเมือง

UBON TOWN GUIDE (REMIX VERSION)
เลาะอุบลฯ ส่วนผสมเก่า-ใหม่ กับ 25 สถานที่รอบเมือง

สวัสดีครับ ผมเปียง ขณะนี้เราอยู่กันที่จังหวัดอุบลราชธานีครับ และรอบ ๆ ที่คุณเห็นอยู่ขณะนี้คือบรรยากาศเท่ ๆ ในย่านเมืองเก่าใจกลางเมืองอุบลฯ กับส่วนผสมที่น่าสนใจของวัฒนธรรมอันหลากหลายทั้งแบบดั้งเดิม และ สมัยใหม่ ครั้งนี้ผมเอาเรื่องราวสนุก ๆ ของหัวเมืองฝั่งอีสานเมืองนี้ มาเล่าให้ฟังผ่าน 25 สถานที่ที่ผมไปเยือนมาล่าสุดนี้ครับ

อุบลฯ มีอะไรที่น่าสนใจ?

หลายปีก่อนตอนที่ผมยังไม่มีเพจของตัวเอง ผมมีโอกาสมาฝึกงานในฐานะนิสิตแพทย์ในโรงพยาบาลจังหวัดร้อยเอ็ดครับ ในช่วงวันหยุดบางครั้ง ผมและเพื่อน ๆ จะออกไปเที่ยวในโซนจังหวัดรอบ ๆ กัน ซึ่งอุบลราชธานีก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วยครับ เท่าที่ผมเองพอจำความได้ ก่อนหน้านี้ อุบลราชธานี เป็นเมืองที่เราจะมีภาพจำในด้านวัฒนธรรมและประเพณีฝั่งอีสานครับ มีความ conservative สูง มีจุดยืนในเรื่องศาสนาที่เด่นชัด ที่โด่งดังมาก ๆ เลยก็คืองานประเพณีแห่เทียนพรรษาที่จัดอย่างยิ่งใหญ่ในทุก ๆ ปี สำหรับหมอ ๆ ด้วยกัน จะรู้จักอุบลฯในฐานะที่เป็นจังหวัดใหญ่อันเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลศูนย์สรรพสิทธิประสงค์ โรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยมาใช้บริการเยอะมาก ๆ จนเป็นที่เลื่องลือกันในวงการแพทย์ครับ และสุดท้าย ในฐานะ travel blogger ที่นี่เป็นจังหวัดที่เต็มไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติมากมาย อย่าง จุดชมแสงแรกของไทยที่ผาชะนะได แอ่งหินสามพันโบก และ ผาแต้มกับทิวทัศน์สุดอลังการของแม่น้ำโขงที่แบ่งฝั่งไทยลาวนั่นเองครับ หากแต่การกลับมาในครั้งนี้ของผม อุบลฯ เปลี่ยนไปเยอะมาก ที่นี่ดูสนุกขึ้นจากร้านรวงใหม่ ๆ ของคนรุ่นใหม่ ที่กลับไปทำกิจการของตัวเองในบ้านเกิด เราสามารถเห็นคาเฟ่ และร้านอาหารสวย ๆ สมัยใหม่ได้ตลอดทาง และในขณะเดียวกัน อาคารเดิม ๆ และกิจการเก่าก็ยังมีให้เราเห็นได้อยู่ กลิ่นอายความคลาสสิกยังคงอบอวลอยู่ในตัวเมืองแห่งนี้อย่างชัดเจนเช่นเคย ปัจจุบัน ที่นี่กลายเป็นเมืองผสมของวัฒนธรรมเก่า-ใหม่ที่น่าสนใจมาก ๆ ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวทุกช่วงวัย จนผมและทีมอยากเข้ามาดูเมืองนี้ใกล้ ๆ ครับ

– เมืองอุบลฯ กับวิถีใหม่ อะไรคือสิ่งที่เปลี่ยนไปในยุคใหม่ของอุบลฯ

– เมื่อวัดวาอารามไม่ใช่แค่สถานที่แค่มาไหว้พระ ทำบุญอีกต่อไป แต่วัดก็เป็นอีกสถานที่ท่องเที่ยวหนึ่งในการต้อนรับผู้มาเยือน

– อุบลฯ ในฐานะ gastronomy แห่งอีสาน เราสามารถเรียนรู้อุบลฯผ่านวัฒนธรรมการกินได้ อาหารขึ้นชื่ออย่าง ก๋วยจั๊บอุบลฯ ปากหม้อญวน อาหารเวียดนาม ในรสชาติดั้งเดิมที่สามารถหาได้ที่นี่ที่เดียว และขากลับ ต้องไม่ลืมแวะถนนสายหมูยอกับของฝากอร่อย ๆ ตำหรับของชาวอุบลฯด้วยนะครับ

– “อาหารพื้นถิ่นอีสาน” ถูกตีความใหม่จากลูกหลานชาวอุบลฯ ต่อยอดอาหารอีสานให้แปลกใหม่และน่าสนใจมากขึ้น โดยที่ไม่ละทิ้งรสชาติ authentic ไอเดียของคนรุ่นใหม่จะเจ๋งอย่างไร ผมไม่พลาดนำมาฝากแน่นอน

– บ้านคำปุน บ้านส่วนตัวของศิลปินแห่งชาติด้านผ้าทอพื้นเมืองอีสาน แต่อีกนัยหนึ่งคือ พิพิธภัณฑ์ชุมชนรูปแบบ open space ที่บันทึกเรื่องราวของการสืบสานตำนานลายผ้าอันยิ่งใหญ่ ส่งต่อความดีงามคืนสู่สังคม

– เมืองเก่าอุบลฯ “ตลาดใหญ่” ย่านธุรกิจใจกลางเมืองในสมัยก่อน ศูนย์กลางการค้าในเขตภาคอีสานตอนใต้ ความคึกคักที่ถึงแม้จะค่อย ๆ จางหาย แต่ร่องรอยของความเจริญรุ่งเรืองนี้ ยังถูกจัดเก็บไว้ยังที่เดิมตัดสลับกับภาพการแทรกตัวอย่างเนียน ๆ ของร้านกาแฟสมัยใหม่ สตรีทอาร์ตโดยคนรุ่นใหม่

– อุบลฯ ถูกขนานนามจาก “คนอุบลฯ” ด้วยกันเองว่า “อุบลฯ เป็นประเทศคาเฟ่” เพราะทุกหัวมุมถนน เราจะเห็นร้านคาเฟ่หรือร้านกาแฟเรียงรายให้เห็นได้อยู่ตลอดทาง รวมไปถึงสถานที่ chillout ยามค่ำคืนที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ ด้วยการ renovate อาคารเก่าให้เป็น community space สุดชิค ผมพาไปชมในครั้งนี้เช่นกันครับ

สำหรับคอนเทนต์ที่อุบลฯ พวกผมใช้เวลาทั้งหมด 3 วัน 2 คืนครับ โดยผมจะแบ่งออกเป็น 2 พาร์ทด้วยกันครับ พาร์ทแรก เป็นพาร์ท 1 day trip ของผมในตัวเมืองอุบลฯ เราจะอยู่ด้วยกันตั้งแต่เช้าจรดค่ำ กับสถานที่ต่าง ๆ ในทุกหมวดหมู่ ไม่ว่าจะเป็น เมืองเก่า ร้านอาหาร ร้านกาแฟ โรงแรม ตลาด หรือ วัดวาอาราม ทุกท่านสามารถยึดตามแพลนนี้ไปเที่ยวตามได้เลยนะครับ เพราะเราเลือกแต่สิ่งที่เจ๋งที่สุดและหลากหลายที่สุดมากฝากแล้วถึง 25 ที่ด้วยกันในครั้งนี้ ส่วนอีกพาร์ทที่จะตามมาในเร็ว ๆ นี้ เป็นอีกโซนหนึ่งของจังหวัดที่อำเภอโขงเจียม ในพาร์ทนั้นจะเน้นเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติกับทิวทัศน์สุดอลังการ อดใจรออีกนิดนะครับ

พร้อมไปเที่ยวอุบลฯ กับผมหรือยังครับ
เปียง

#PYONGSEEWHATISEE#UBONRATCHATHANI #UBON #อุบลราชธานี

สถานที่
-ย่านเมืองเก่า
-ปากหม้อเจ้เรียน
-ก๋วยจั๊บมิชชั่น-ถนนสายหมูยออุบลฯ
-ร้านอาหารอินโดจีน
-อุบลโอชา
-Zao ซาว
-Impression Sunrise
-LIFE Roaster
-Rosie Holm
-เวฬา วาริน
-Nap’s Coffee X Warin
-อารมณ์สว่าง
-De Lit
-บ้านคำปุน
-วัดศรีอุบลรัตนาราม
-พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี
-ศาลหลักเมืองจังหวัดอุบลราชธานี
-ทุ่งศรีเมือง
-ตลาดใหญ่
-ตลาดวาริน
-ตลาดโต้รุ่ง ลานโสเหล่ ศาลาประชาคม
-วัดสุปัฏนารามวรวิหาร
-วัดทุ่งศรีเมือง
-วัดพระธาตุหนองบัว

“อุบลฯเปิดแล้วครับ” เป็นสิ่งที่เพื่อนผมที่เป็นชาวอุบลฯโดยกำเนิดให้คำนิยามเกี่ยวกับเมืองอุบลฯ ในตอนนี้ คำว่าเปิดในที่นี้ หมายถึงการเปิดรับวัฒนธรรมใหม่ ๆ ให้ค่อย ๆ เข้ามาผสานกับประเพณีและวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมครับ ซึ่งจริง ๆ แล้วทุกอย่างเพิ่งเริ่มขึ้นเพียงไม่กี่ปีมานี้เอง เราจะเห็นคาเฟ่เกิดขึ้นใหม่ในอุบลฯเยอะมาก ร้านอาหารในแบบใหม่ ๆ ที่มีความสากลมากขึ้นเฉกเช่นเดียวกับเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ เช่น ร้านอาหารยุโรป จีน เกาหลี ญี่ปุ่น หรือ อินเดีย รวมไปถึงวัฒนธรรมอาหารแบบ fine dining หรือ chef’s table ก็สามารถหาทานได้แล้วในอุบลฯ คนอุบลฯเริ่มเข้าใจและเปิดรับวิถีคนเมือง ใช้ชีวิตอย่างเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลงของโลก และนี่เอง ทำให้มุมมองที่มีต่ออุบลฯในปี 2021 ที่ผ่านมาของผมได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงครับ

ลองเทียบกับครั้งก่อนที่ผมเคยมาเที่ยว ผมคิดว่า vibe ของอุบลฯ ได้เปลี่ยนไปเยอะครับ อุบลฯ ดูสนุกมากขึ้นด้วยการผสมผสานร้านรวงสมัยใหม่ แทรกสลับกันตึกเก่าและกิจการดั้งเดิมที่ยังคงดำเนินการอยู่ ที่นี่ดูใหม่ขึ้น และ มีอะไรให้น่าค้นหา และอยากบอกต่อมากขึ้นกว่าเดิม

อุบลราชธานี คือเมืองใหญ่ทางอีสานตอนใต้ริมฝั่งตะวันออกสุดของประเทศไทยครับ แม้ในสายตาของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะคนที่ไม่คุ้นเคยกับแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ หรือ คนที่เอาแต่เที่ยวทะเลภาคใต้แบบผม อุบลฯ อาจจะไม่ได้ถูกจัดอยู่ในกระแส มีเรื่องขำ ๆ เรื่องหนึ่งที่บางคนชอบเข้าใจผิดกันครับ ก็คือจังหวัดอุบลฯ จะถูกทักสลับกับจังหวัดอุดรธานีอยู่เสมอ ถึงแม้จะมีที่ตั้งอยู่กันคนละทิศกันแบบ เหนือ-ใต้ ก็ตาม ล่าสุดตอนบอกเพื่อนว่าจะไปอุบลฯ เพื่อนบอกว่า “อ๋อ อุบลฯ ที่มีเป็ดเหลืองใช่มั้ย” ซึ่งในความจริง เป็ดเหลืองอยู่ที่อุดรธานีต่างหากครับ

เรื่องราวผ่านมุมมองของผมในคราวนี้จะเป็น “คอนเทนต์แบบทางการครั้งแรก” สำหรับการ “เปิดคอนเทนต์อีสาน” ครับ

ข้อมูลจากเพื่อนที่เป็นชาวอุบลฯโดยกำเนิดเล่าให้ฟังว่าในสมัยก่อน อุบลราชธานี ถือเป็นเมืองที่มีความเข้มแข็งในด้านวัฒนธรรมและประเพณีมาก มีความอนุรักษ์นิยมค่อนข้างสูง มีการส่งเสริมและสนับสนุนงานบุญ งานศาสนา วัดวาอารามเป็นเรื่องหลัก ยึดถือตามขนบจารีต เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีจำนวนวัดมากที่สุดในประเทศ ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาที่โด่งดังไปทั่วโลก ต้นแบบช่างทำเทียน ภูมิปัญญาที่หาตัวจับยาก อุบลฯ มีนักปราชญ์ ศิลปินพื้นถิ่น ผู้รู้ อยู่หลายท่านจนมีสมญานามว่า เมืองนักปราชญ์

ชาวอุบลฯใช้ชีวิตผูกพันกับวัฒนธรรมในระดับที่เข้มข้น เมื่อก่อนหากมีใครคิดทำอะไรแบบสมัยใหม่ แหวกแนว จะดูผิดแผก แปลกประหลาด ถูกท้วงติง จนต้องพับเสื่อถอยหลังกลับไป อย่างเช่น คาเฟ่ในแบบสมัยใหม่ ก็จะไม่ถูกให้ความสนใจนัก คนอุบลฯจะมองว่า ร้านกาแฟก็คือร้านกาแฟชงแบบโบราณ แบบสภากาแฟ บรรยากาศเรียบง่ายอย่างคนถิ่นอุบลฯนี่แหละ ร้านกาแฟกระจกบานใหญ่ เปิดแอร์ เปิดเพลงฝรั่ง มันจะใช่ร้านกาแฟไปได้อย่างไร หากแต่ปัจจุบันนี้ ลูกหลาน gen ใหม่ที่ไปเรียนต่อในกรุงเทพฯ เติบโตและกลับมาทำอะไรให้อุบลฯ มีความใหม่ ค่อย ๆ นำเสนอวิถีใหม่ที่พวกเขากำลังนำพาอุบลฯ ก้าวผ่านยุคสมัยไปด้วยกัน และโดยพื้นฐานของชาวอุบลฯในเนื้อแท้แล้วล้วนมีความเป็นมิตร เปิดใจให้โอกาสธุรกิจแนววิถีใหม่นี้ของลูกของหลานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ปัจจุบันความคลาสสิกแบบเดิมและการหลั่งไหลของวัฒนธรรมใหม่ จึงสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างอบอุ่น ไม่แปลกแยกต่อกัน นี่แหละครับ ผมถึงบอกว่าอุบลฯ มีความสนุกขึ้นเสียจริง

อุบลราชธานี ราชธานีแห่งเดียวของประเทศไทย จังหวัดเดียวที่มีคำว่าราชธานีต่อท้าย เนื่องจากสมัยก่อนเคยมีฐานะเป็นหัวเมืองประเทศราช มีการแต่งตั้งเจ้านายจากเมืองหลวงมาดูแล และมีเจ้าเมืองสืบต่อมาถึง 4 คน บรรพบุรุษผู้ก่อตั้งเมืองอุบลฯ ได้ย้ายถิ่นฐานมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จากถิ่นเดิมคืออาณาจักรล้านช้าง หรือประเทศลาว เมื่อ 200 กว่าปีก่อน สร้างบ้านสร้างเมืองจนเป็น “อุบลราชธานี ศรีวนาลัย ประเทศราช” มณฑลสำคัญที่เคยเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการมณฑลอีสานมาโดยตลอด มีอาณาเขตกว้างใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย โดยมีอาณาเขตติดกับประเทศเพื่อนบ้านถึง 2 ประเทศคือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และ กัมพูชาประชาธิปไตย อุบลราชธานีมีความเจริญรุ่งเรืองมากในด้านการปกครอง ถือเป็นเมืองที่มีพื้นที่ใหญ่มาก จังหวัดยโสธร และ จังหวัดอำนาจเจริญ ก็เคยเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานีในครั้งอดีต

อุบลราชธานีเป็นจังหวัดด้านตะวันออกสุดของภาคอีสาน ครอบคลุมด้วยที่ราบและมีแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่านถึง 3 สายด้วยกันคือ แม่น้ำชี แม่น้ำมูล และ แม่น้ำโขง นอกจากนี้ยังมีลำน้ำสายใหญ่ที่มีจุดกำเนิดจากเทือกเขาในพื้นที่ เช่น ลำเซบก ลำเซบาย ลำโดมใหญ่ ลำโดมน้อย ไหลผ่านที่ราบทางด้านเหนือและใต้ไปลงแม่น้ำมูล ซึ่งทอดเป็นแนวยาวกลางพื้นที่ ไปบรรจบกับแม่น้ำโขง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของทรัพยากรน้ำและความอุดมสมบูรณ์ของสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ พืช และสัตว์น้อยใหญ่มาแต่ครั้งบรรพกาล

นอกจากความสำคัญทางด้านภูมิศาสตร์แล้ว อุบลราชธานียังมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม นับย้อนไปในยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยสังคมล่าสัตว์เลยทีเดียวครับ จากร่องรอยภาพเขียนสีในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ปรากฏบนผาแต้มที่หลาย ๆ คนต่างเคยได้ยินชื่อสถานที่นี้มายาวนาน มีการคาดคะเนอายุภาพเขียนสีบนหน้าผาหินที่มีขนาดยาวที่สุดในเอเชียอาคเนย์นี้ว่ามีอายุมากกว่า 3000-4000 ปี ก่อนประวัติศาสตร์ ยังไม่นับรวมภาพเขียนสีอื่น ๆ ที่ถูกค้นพบตามแนวผาที่เรียงรายตลอดริมชายฝั่งแม่น้ำโขงที่ยังคงปิดไว้ ยังไม่ได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการ ทิ้งร่องรอยปริศนาลึกลับต่อนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี และผู้ใฝ่รู้ทั้งหลายที่อยากเข้ามาสืบค้นให้เห็นถึงสภาพสังคม ความเป็นอยู่และจุดประสงค์เบื้องลึกที่ซ่อนอยู่หลังกลุ่มภาพวาดของจิตรกรนิรนามเหล่านั้น

ในด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจากที่ได้กล่าวมาคร่าว ๆ อุบลราชธานีมีความยิ่งใหญ่ในฐานะ “เมืองลูกพี่” ของเมืองแถบอีสาน เป็นศูนย์กลางการศึกษา จิตรกรรม สถาปัตยกรรม ศาสนา วิถีชีวิต ประเพณีท้องถิ่น ศิลปะ ตลอดจนความอุดมของอาหารการกินในทุกรูปแบบ ครบทุกมิติก็ว่าได้ ซึ่งคำขวัญของจังหวัดอุบลราชธานี ก็ได้บรรยายความเป็นอัตลักษณ์ของอุบลฯ ได้อย่างสวยงามครับ

“อุบลราชธานี เมืองแห่งดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี มีปลาแซบหลาย

หาดทรายแก่งหิน ถิ่นไทยนักปราชญ์ ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม

งามล้ำเทียนพรรษา ผาแต้มก่อนประวัติศาสตร์”

และในความพิเศษของคอนเทนต์อุบลฯ ในครั้งนี้ ผมก็จะพาทุกท่านไปยังดินแดนประวัติศาสตร์ที่ว่าในอีกคอนเทนต์หนึ่งด้วย คือ อำเภอโขงเจียม ดินแดนรับสุรีย์แรกอรุณ แสงแรกของประเทศไทยโผล่พ้นขอบฟ้า ณ ที่แห่งนี้ครับ อยากให้ติดตามกันต่อไปอีกเช่นกันครับ

เมืองเก่าอุบลฯ

ประชากรชาวอุบลราชธานี จากข้อมูลของกรมการปกครอง ปี พ.ศ. 2563 มีประชากรรวมมากกว่า 1.86 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นชาวชนบทเชื้อสายไทยลาวเช่นเดียวกับคนอีสานทั่วไป แต่บริเวณที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดจะอยู่ในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานีหรือในเมือง มีชาวไทยเชื้อสายจีนและญวนปะปนอยู่จำนวนมาก เนื่องจากเมื่อครั้งอดีตเกิดสงครามเวียดนาม ผู้คนจากเวียดนามได้หนีภัยสงครามมาทางแถบแม่น้ำโขง รอนแรมข้ามฝั่งมาปักหลักทำมาหากินในตัวเมืองอุบลฯเป็นจำนวนมาก ถือเป็นกลุ่มชนที่เป็นแรงขับเคลื่อนทางด้านเศรษฐกิจการค้าขายของจังหวัดมาแต่ช้านาน ประชากรชาวอุบลฯมีความพิเศษหล่อหลอมในช่วงเวลากว่า 200 ปีคือ “ความผสมผสานเป็นพี่เป็นน้องกัน” แม้ว่าจะมีเชื้อสายต่างกันมากมาย ไม่ว่าจะพุทธ คริสต์ อิสลาม ฮินดู ก็อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติในรูปแบบพหุสังคม และในช่วงสงครามเวียดนาม อุบลฯ ก็เคยเป็นที่ตั้งของฐานทัพทหารของสหรัฐอเมริกา ทำให้มีทหาร G.I. เข้ามาทำงานและอาศัยอยู่ในตัวเมืองเป็นจำนวนมาก (ชาติแรกที่เข้ามาคือออสเตรเลีย ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกา) เศรษฐกิจคึกคัก บ้านเมืองเจริญ การค้าขายคล่องมือ ทำให้ย่านการค้าในเมืองที่คนอุบลฯเรียกติดปากกันว่า “ตลาดใหญ่” หรือ “ในเมือง” เต็มไปด้วยร้านค้า ตึกรามบ้านช่อง อาคารพาณิชย์ และตลาดริมแม่น้ำที่มีขนาดใหญ่ เป็นแหล่งซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าในเขตอีสานใต้และกระจายไปยังพ่อค้าแม่ค้าจากทางฝั่งลาว และคนลาวก็ข้ามด่านชายแดนมาหาซื้อสินค้าด้วยตัวเองเหมือนกัน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คนอุบลฯและคนจากฝั่งลาวจะคุ้นเคยกันดีจากการติดต่อค้าขายกันนี่เองครับ สภาพอาคารถึงแม้จะเก่าไปตามกาลเวลา แต่ก็สามารถคาดเดาได้ว่า ณ ที่แห่งนี้ สมัยก่อนต้องมีความรุ่งเรืองมาก เป็นศูนย์รวมทางการค้า และสร้างฐานะให้กับเจ้าของร้านค้าได้เป็นอย่างมากทีเดียว

สตรีทอาร์ต ได้รับการเปิดใจของคนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่า ที่สละพื้นที่บางส่วนของตัวบ้าน ถึงแม้จะเป็นบ้านไม้ที่มีอายุมากกว่า 80 ปี บางหลังก็เกือบ 100 ปี มาให้ศิลปินลูกหลานชาวอุบลฯคนรุ่นใหม่ ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะบนผนังแบบสมัยใหม่

อาหารพื้นเมืองต้องลองที่อุบลฯ

มีชาวเวียดนามจำนวนมากครับที่หนีภัยสงครามเวียดนามมาอยู่ประเทศไทย บางส่วนมาตั้งรกรากที่นี่ จนอุบลฯเป็น multi culture แบบปัจจุบัน ฝังเป็นรากหนึ่งของวัฒนธรรมอุบลฯอย่างชัดเจน สิ่งหนึ่งที่เด่นชัดที่คนเวียดนามนำติดตัวมา คือวัฒนธรรมของอาหารการกิน เช่น หมูยอ ก๋วยจั๊บ แหนมเนือง ปากหม้อญวน แต่มาปรับเป็นสไตล์อุบลฯ ให้ถูกปากคนไทย และวัตถุดิบแบบไทย ๆ ฉะนั้นรสชาติจะไม่เหมือนต้นฉบับที่เวียดนามเสียทีเดียว (ใครเคยไปทานที่เวียดนามน่าจะสังเกตได้ครับ) มีความแตกต่างกัน ดังนั้น จึงเรียกว่า ก๋วยจั๊บอุบลฯ หมูยออุบลฯ เป็นต้น และคนอุบลฯก็อยากให้เรียกเมนูเหล่านี้ว่า ก๋วยจั๊บอุบลฯ หมูยออุบลฯ มากกว่า เพราะถือเป็นลายเซ็นที่ชัดเจนในแง่การนำเสนอวัฒนธรรมอาหารของชาวอุบลฯที่ชาวอุบลฯต่างภาคภูมิใจอยากให้แขกผู้มาเยือนได้ลองชิมเมื่อได้มาถึง และนำกลับไปฝากคนที่บ้านได้อิ่มอร่อยอีกต่อด้วยครับ

ปากหม้อเจ้เรียน

ข้าวเกรียบปากหม้อรสชาติต้นตำรับอยู่ที่นี่แล้วครับ หนุบหนับกับแป้งบางใสจากแป้งข้าวเจ้า ผสม แป้งมัน เครื่องแน่น ๆ เสิร์ฟพร้อมกับน้ำจิ้มสูตรพิเศษที่เข้ากันดิบดี อยากให้ลองชิมแบบทอดกับแบบที่ใส่ไข่ดูด้วยครับนะครับ อร่อยไปอีกแบบ

ก๋วยจั๊บมิชชั่น

ฉีกทุกภาพจำเกี่ยวกับก๋วยจั๊บที่ผมรู้จักครับ เพราะก๋วยจั๊บอุบลฯ น้ำซุปเป็นน้ำใส (น้ำต้มกระดูกหมู) และเส้นก็ไม่ได้เป็นหลอด ๆ สีขาวแบบที่เราคุ้นเคยกันเสียด้วย ที่นี่ใช้เส้นก๋วยจั๊บอุบลฯเลยครับ หน้าตาคล้ายเส้นเล็กในก๋วยเตี๋ยวบ้านเรา แต่รู้สึกว่ามันมีความหนุบหนับ และลื่นกว่า

ที่นี่จะเสิร์ฟพร้อมกับหมูยอทอด น่องไก่ ตีนไก่ และ กระดูกหมูต้มครับ ตอกไข่ลวกใส่ด้านบนด้วยเพิ่มความอิ่มอร่อย สำหรับการมาอุบลฯ อันนี้เป็นเมนูเด็ดอีกอันที่ต้องลองครับ

ถนนสายหมูยออุบลฯ ของฝากเมืองอุบลฯ

เป็นถนนสายที่มีร้านของฝากมากมาย เรียงรายอยู่ตลอดเส้น แถวนี้เรียกว่า หน้าอำเภอ ครับ หากให้พูดถึงเมนูเด็ดที่สุดก็คือต้องเป็นหมูยอพริกไทยดำห่อใบตองสุดคลาสสิกของที่นี่ครับ หมูยอที่นี่เป็นของขึ้นชื่อที่ไม่ว่าใครได้รับไปก็ต้องถูกใจแน่นอน เพราะมันอร่อยมาก นำไปทำต่อได้หลายแบบด้วย ไม่ว่าจะ นึ่ง ทอด หรือ ใส่ในอาหารอื่นก็ได้ทั้งนั้น หรือถ้าอยากสนุก ลองทำก๋วยจั๊บอุบลฯเอง ก็ไม่ยากครับ

ทุกร้านมีเส้นก๋วยจั๊บอุบลฯแบบสด และแบบแห้ง พร้อมตัวเครื่องปรุงทุกอย่างให้เราได้หาซื้อกลับ เพียงแค่เรานำไปต้มแบบเดียวกับที่เราต้มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หั่นหมูยออุบลฯใส่ลงไป โรยหอมเจียวที่มีให้มาด้วย คุณก็จะได้ทานก๋วยจั๊บอุบลฯแบบต้นฉบับได้ถึงที่บ้านด้วยตัวเองแบบง่าย ๆ เลยครับ

ร้านอาหารอินโดจีน

อินโดจีนเป็นร้านอาหารเวียดนามเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองอุบลฯมานานมากกว่า 60 ปี จะว่าเป็นร้านรับแขกก็ว่าได้ ด้วยรสชาติอร่อยที่คงที่มาโดยตลอด ทำให้ลูกค้าเก่า ๆ พากันแวะเวียนกลับมากินกันเรื่อย ๆ

ถ้าหากอยากจะกินอาหารเวียดนามแท้ ๆ และหลากหลายก็ต้องที่นี่ครับ พลาดไม่ได้เลยก็คือเมนูแหนมเนืองครับ นอกจากนี้ยังมีเมนูอื่นๆ อย่างสตูลิ้นวัว ปากหม้อ ขนมเบื้อง ก็อร่อยมากเช่นกัน

อุบลโอชา

Eat like a local ครับสำหรับร้านนี้ เป็นร้านอาหารเช้าที่คนอุบลมาฝากท้องในมื้อเช้าก่อนเข้างานหรือไปโรงเรียน เมนูอาหารเช้าเยอะมากครับ อารมณ์คล้าย ๆ เรานั่งในสภากาแฟ แล้วมีโจ๊ก ข้าวต้ม กาแฟ ชา ปาท่องโก๋ ก๋วยจั๊บ ไข่กระทะเสิร์ฟพร้อมขนมปังฝรั่งเศส และอีกหลายเมนูที่เป็นอาหารพื้นเมืองอุบลให้ได้เลือกทานกันครับ เป็นการเริ่มวันที่ดีสำหรับการเรียนรู้ความเป็นอุบลอีกร้านหนึ่งครับ

อุบลฯรุ่นใหม่ หลังจากพาไปชมร้านแบบดั้งเดิมไปแล้ว เราลองไปดูกิจการใหม่ ๆ ของ gen หลัง ๆ กันบ้างครับ ว่าในอุบลฯเขาทำอะไรกัน ขอเริ่มแรกที่ร้านนี้เลยครับ

Zao ซาว

ซาว ที่ไม่ได้แปลว่า ยี่สิบ ในภาษาอีสาน แต่ ซาว ในความหมายของคุณอีฟ ณัฐธิดา พละศักดิ์ เจ้าของร้าน Authentic Esan อย่าง Zao อยากจะสื่อถึงเวลาเราเดินเข้าครัว ในครัวเรามีอะไรในตู้ที่พอ หยิบ จับ คว้า ควาน ดึง หรือพูดให้เท่แบบสมัยใหม่ก็คือ grab สิ่งละอันพันละน้อย มาทำอาหารอีสานแซบ ๆ ในหนึ่งมื้อนั้นได้ ก็ “ซาว” มันมาให้หมด รวมไปถึงการเดินจ่ายตลาดเช้าที่คุณอีฟโปรดปรานอย่างมากในการเอาตัวเข้าไป “ซาว” วัตถุดิบที่ได้จากมือพ่อค้าแม่ค้าโดยตรง นอกจากสด ใหม่ สะอาด และถูกแล้ว ยังได้มีโอกาสสื่อสารกับพ่อค้าแม่ค้าโดยตรง สนับสนุนเกษตรรายย่อยในท้องถิ่น ส่วนมากจะเป็นเกษตรกรที่ปลูกเอง เพาะเลี้ยงเอง จึงสามารถแลกเปลี่ยนความรู้ในตัววัตถุดิบได้โดยตรง ซึ่งบางอย่างก็เป็นวัตถุดิบที่ค่อนข้างหายากและลึกซึ้ง โดยแนวคิด authentic Esan ของคุณอีฟนี้ เธอแน่วแน่ในการรักษารสชาติและตัวตนของเมนูนั้น ๆ ไม่เปลี่ยนแปลงสูตร ไม่ปรับให้เข้ารสปากของคนกรุงเทพฯ (คนอีสานมักเรียกคนที่มาจากภาคกลางว่า คนกรุงเทพฯ) แต่เธอขออาศัยความรักความชอบส่วนตัวในเรื่องศิลปะ การออกแบบ เติมการนำเสนอเมนูต่าง ๆ ผ่านการจัดเรียงดิสเพลย์ให้ดูน่าสนใจมากขึ้น ดึงเอางานคราฟต์ที่เธอและเพื่อน ๆ ทำโปรเจกต์อยู่มาใช้ เช่น ที่รองแก้วจากการสานตอกไม้ไผ่สีฉูดฉาด ผ้าทอมือลายที่ออกแบบเองสำหรับรองภาชนะหรือสำหรับตกแต่งโต๊ะอาหาร เป็นต้น ซึ่งถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นได้ว่า detail ในร้านจะถูกคิด ออกแบบมาอย่างดีแล้วทั้งนั้น ไม่ให้ตกหล่นสักนิดเดียว

ตกแต่งร้านได้มีกิมมิกน่ารักทีเดียวครับ มีการนำส่วนของบ้านไม้เก่ามาทำเป็น decoration ตรงบริเวณครัว ใช้ไม้เก่าและต้นไม้ประดับใบใหม่มาตกแต่งในมุมต่าง ๆ ร้านตกแต่งได้ดีมากครับ

เมนูอาหารที่นำเสนอ คุณอีฟบอกว่า จริง ๆ แล้วไม่ใช่เมนูพิเศษอะไรมาก ถือว่าเป็นอาหารอีสานที่คนอีสานคุ้นเคย เป็น comfort food ทำกินกันในครัวได้อยู่แล้วกันทุกครัวเรือนนั่นเอง อย่างเมนูในร้านก็ได้รับสูตรดั้งเดิมจากคุณยายของเธอเอง ที่ทำให้กินมาตั้งแต่เด็ก ๆ (ยายจุย ท่านอายุ 77 ปีแล้ว) แต่ความพิเศษกลับเป็นวิธีการนำเสนอที่ช่วยยกระดับอาหารพื้นถิ่นให้ดูพิเศษขึ้นด้วยวิธีการนี้ และสูตรอาหารที่ส่งต่อมาจากคุณยายอย่างที่กล่าวมา ยังคงเป็นตัวชูโรงที่พา “ซาว” ในทุกวันนี้ ให้เป็นร้านอาหารที่ถูกแนะนำลำดับต้น ๆ หากใครจะมาเยือนอุบลฯ ครับ

เมนูที่ผมสั่งทันทีที่เห็นเลย ก็คือปูนาย่างเสียบไม้ครับ วิธีกินน้องจะมีรายละเอียดเล็กน้อยครับ เริ่มจากการแกะกระดองปูออกจากทางด้านท้อง เปิดฝาออกจะพบกับมันปู ส่วนนี้คุณอีฟแนะนำให้ใช้ข้าวเหนียวจิ้มกินได้ จากนั้นจึงค่อยกินปูทีละฝั่ง กินได้ทั้งหมดเลย รวมไปถึงก้ามและขาด้วย แต่ระวังบาดปากนะครับ

และผมยังได้ลองสั่ง หมกหลามปลาปิ้ง ลาบปลาตอง ปลาวง ไก่ย่าง และ ตำซั่ว มาทานด้วยครับ บอกได้เลยว่า แซบอีหลี สมกับที่เป็นร้านแนะนำว่าต้องมากินจริง ๆ ครับ

Impression Sunrise

Impression Sunrise เกิดขึ้นในยุคเฟื่องฟูของคาเฟ่ในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งถือว่าการมาของ Impression Sunrise เป็น new in จริง ๆ ครับ

ที่นี่แตกต่างจากคาเฟ่อื่น ๆ อย่างมาก ด้วยโครงสร้างจากการนำตึกเก่าของอู่ซ่อมรถในยุค 70s – 80s ที่เคยถูกทิ้งร้างปล่อยให้ต้นไม้ขึ้นปกคลุมไปทั่วบริเวณ ทำให้มีชีวิตขึ้นมาใหม่ ที่นี่จึงเป็นคาเฟ่ที่ค่อนข้างมีหน้าตาที่แปลกกว่าคาเฟ่อื่น ๆ

ด้วยความร่วมมือจากเพื่อนซี้ 3 คนที่มีใจรักในด้านศิลปะ จัดสรรพื้นที่ของตึกเก่า 4 ชั้นนี้ได้อย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็น ลานนั่งดื่ม outdoor ด้านหน้าในบรรยากาศแบบสบาย ๆ คาเฟ่แนวยูโรเปียนบริเวณชั้น 1 art studio และ workshop ยังชั้น 2

ส่วนชั้น 3 และ ชั้น 4 ถูกแปลงร่างให้เป็น cafe and rooftop bar ในการตกแต่งสไตล์จีน-ฮ่องกง เล่นสีไฟนีออนอักษรจีนสีแดง ตัดกับคู่สีตรงข้ามอย่างสีเขียว สร้างบรรยากาศเหงา ๆ คลาสสิก ในแบบ “หว่องกาไว”

ในส่วน rooftop ยิ่งชิลขึ้นไปอีกหากมาในหน้าหนาวที่มีลมเย็น ๆ พัดขณะที่จิบเครื่องดื่มที่เราชอบ นับว่าที่นี่ประสบความสำเร็จในแง่การมองเห็นคุณค่าและประโยชน์ของอาคารเก่า นำมาปลุกให้ตื่นอีกครั้ง ต่อลมหายใจของอดีตให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งครับ

LIFE Roaster

จากความหลงใหลในกาแฟ สู่บทใหม่ของคุณนัท ณัฐพล คำรินทร์ ครับ หรือที่คนอุบลฯ รู้จักในนาม คุณหมอนัท นั่นเอง ปัจจุบันเป็น full time owner & coffee roaster ของ LIFE roaster ครับ
คุณนัทออกมาจากการเป็นแพทย์ในโรงพยาบาล มาสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองครับ ต่อยอดจากสวนกาแฟของคุณปู่ที่ดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ สร้างแบรนด์ LIFE roaster กับกาแฟคุณภาพสูง ที่คุณนัทสามารถคุมคุณภาพได้เองตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เป็นอีกหนึ่งร้านกาแฟชุมชนที่คนอุบลแวะเวียนมาเสมอครับ

Rosie Holm

holm ในภาษาสวีดิช หมายถึง เกาะ เจ้าของร้านอยากให้ลูกค้าเข้ามาในร้านแล้วรู้สึก calm down เหมือนได้เอาตัวเข้ามาสู่พื้นที่เล็ก ๆ บนเกาะโรซี่ที่มีความสงบ ซึ่งเราสังเกตว่าจริงครับ เพราะถึงแม้ภายนอกร้านจะติดกับถนนใหญ่เลยมีรถราผ่านไปมามิได้หยุด แต่พอผลักประตูบานใหญ่หน้าร้านเข้ามา เรากลับถูกดูดเข้ามาอยู่ในที่สงบและไพรเวทมาก

โรซี่ โฮม คือคาเฟ่ชาเขียวสายแข็ง ที่คุมธีมได้แข็งแรงเป็นแบรนด์คาเฟ่ชาเขียวที่ประสบความสำเร็จในระยะเวลาเพียงแค่ไม่กี่ปีโดยการดูแลทุกขั้นตอนแม้กระทั่งการเลือกวัตถุดิบ คุณคม และ คุณแป้กกี้ เจ้าของร้าน คัดสรรชาเขียวคุณภาพสูงที่ส่งตรงจากญี่ปุ่นเองกับมืออยู่หลายสายพันธุ์ กว่าจะได้ชาเขียวที่ถูกจริต และนำมาพัฒนาสูตรต่อในสไตล์ของตัวเอง เราจะเห็น “พิธีชงชา” แบบที่ “ถูกต้อง เหมาะ ควร” แบบหาที่จับผิดไม่ได้เลย แสดงว่าความรักในอาชีพนี้ มันทำให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในวัฒนธรรมต้นแบบ ลูกค้าอย่างเราก็ได้รับพลังที่เจ้าของอยากส่งต่อนั้นเมื่อเข้ามาในเกาะเล็ก ๆ อย่าง โรซี่ โฮม อุบลฯ แห่งนี้

ปัจจุบัน โรซี่ โฮม มีสาขาที่เปิดบริการแล้ว ทั้งที่จังหวัดอุบลฯและทั่วประเทศ เช่น เชียงราย นครราชสีมา และเชียงใหม่ สำหรับต้นปีหน้าจะมีสาขาใหม่ที่จังหวัด ชลบุรี ศรีสะเกษ และ ขอนแก่น ซึ่งอีกไม่นาน แว่ว ๆ ว่าน่าจะมีโอกาสได้เปิดสาขาต้อนรับ cafe hopper ในกรุงเทพฯ เร็ววันนี้แล้วครับ

Vela Warin เวฬา วาริน

อาคารไม้หลังใหญ่ทรงแปดเหลี่ยม ฟาซาดลายฉลุ หัวมุมแยกสถานีรถไฟอุบลฯหลังนี้โดดเด่นคู่ละแวกนี้มานานเป็นร้อยปีครับ ถ้าคนอุบลฯแท้ ๆ สมัยก่อนจะรู้จักกันว่าเป็นร้านส้มตำน้ำโจ้ก ร้านส้มตำที่ดังมากร้านหนึ่งของอุบลฯ (ปัจจุบันย้ายออกไปแล้ว) ซึ่งกาลเวลาได้นำพาบ้านไม้หลังใหญ่หลังนี้มาเป็นเวฬา วาริน บูทีคโฮเทล ที่เป็นตัวแทนในการต่อยอดลมหายใจของประวัติศาสตร์และกาลเวลาตั้งแต่เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่หลงใหลการเข้าพักแบบใกล้ชิดและได้ศึกษาอัตลักษณ์ เสน่ห์ของชุมชนและสถานที่นั้น ซึ่งเวฬา วารินก็สามารถตอบสนองนักท่องเที่ยวประเภท experienced traveller ได้อย่างดี

อีกส่วนหนึ่งที่เวฬา วาริน เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวทั่วไปก็คือคาเฟ่ในชั้น 1 ของโรงแรมครับ ด้วยความที่เป็นอาคารไม้ มีบานหน้าต่างรับแสงธรรมชาติอ่อน ๆ จากด้านนอก ไม้ทุกแผ่น เฟอร์นิเจอร์เก่าทุกตัว ล้วนแล้วแต่มีภาพของอดีตสะท้อนออกมา ทำให้การแวะมาพักผ่อนนั่งจิบกาแฟในบ่ายนี้ ดูพิเศษยิ่งขึ้นครับ

Nap’s Coffee X Warin

อำเภอวารินชำราบ เป็นอำเภอที่อยู่ห่างจากตัวเมืองอุบลฯ เพียงแค่ข้ามแม่น้ำมูลที่แยกสองอำเภอออกจากกันมาเท่านั้นเอง ระยะทางแค่ 2 กิโลเมตร ความรู้สึกแทบไม่ต่างกันเลยครับ แต่คนอุบลฯเขาบอกว่าคาเฟ่ในโซนวารินฯ แบบสมัยใหม่ยังมีมาเปิดไม่เยอะเท่าฝั่งเมือง แต่ Nap’s Coffee X Warin ก็ถือเป็นคาเฟ่เก๋ ๆ แบบสมัยใหม่ที่มาบุกเบิกวัฒนธรรมการกินกาแฟในแถบนี้ Nap’s Coffee X Warin นำบ้านไม้สองชั้นจับทาสีขาวแบบมินิมอล ทำให้มีความอบอุ่นขึ้นเหมือนมาจิบกาแฟบ้านเพื่อน บรรยากาศเป็นกันเอง ไม่ต้องพิธีรีตรองอะไรมากนัก เป็นอีกที่หนึ่งที่แนะนำให้ลองไปกันครับ

อารมณ์สว่าง

อารมณ์สว่าง มี mood ไปทางคาเฟ่บ้านอารมณ์ศิลป์ โดดเด่นด้วยการจัดโซนพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะ ของสะสม ของพื้นบ้านชาวอุบลฯ ตลอดจนเป็นโรงทอผ้าพื้นเมืองอีกด้วย นอกจากการเข้ามานั่งชิล ๆ จิบกาแฟ specialty ของทางร้าน ยังได้เพลิดเพลินไปกับความงดงามของของสะสมโบราณที่ตั้งอยู่ทั่วบริเวณร้านอีกด้วยครับ เป็นอีกคาเฟ่ที่ว้าว จัดองค์ประกอบของตัวร้านได้ดีทีเดียว ขับรถไม่ไกลจากตัวเมืองครับ ผมแอบถามที่มาของชื่อร้านมาด้วยครับ ซึ่งเป็นการนำคำสองคำ อารมณ์ และ สว่าง (จากชื่ออำเภอสว่างวีระวงศ์) มา compound กัน เป็นคำใหม่ที่น่ารัก ๆ “อารมณ์สว่าง” ความหมายเชิงบวก หมายถึง ความสดชื่นแจ่มใส มีความสุขนี่เองครับ

De Lit เดอ ลีท

น่าจะเป็นโรงแรมบูทีคลำดับต้น ๆ ที่ใครจะมาเยือนอุบลฯ ต้องได้รับการ recommend ให้ลองมาพักสักครั้งครับ สำหรับไอเดียในการทำโรงแรมแห่งนี้ เจ้าของโรงแรมเรียนจบสถาปัตย์มา อยากกลับมาบ้านเกิดเพื่อหาอะไรทำเป็นธุรกิจครอบครัว จึงอยากทำโรงแรมเล็ก ๆ ในพื้นที่บ้าน และโดยส่วนตัวมีความชอบบ้านเมืองแนวซานโตรินี่ จึงนำเอาแนวคิดนี้มาออกแบบเป็นโรงแรมเดอ ลีทแห่งนี้ครับ

ตกแต่งอย่างน่ารักมาก ๆ instagramable ในทุก ๆ มุม ด้วยโทนสีขาว เทา และสีฟ้าซีด สระว่ายน้ำเล็ก ๆ ด้านล่างดูน่ารักมาก ด้วยน้ำสีเทอร์คอยส์ครับ นอกจากนี้ยังมีคาเฟ่เล็ก ๆ สำหรับจำหน่ายขนมและเครื่องดื่มต่าง ๆ ด้านในสำหรับลูกค้าทั่วไปด้วยนะครับ

สำหรับคำว่า de Lit เป็นภาษาฝรั่งเศสแปลว่า ที่นอน ครับ

บ้านคำปุน
หัตถศิลป์ท้องถิ่น สู่หัตถศิลป์ของแผ่นดิน

บ้านคำปุน ในหมู่นักสะสมผ้าทอระดับไฮเอนด์จะรู้จักชื่อนี้เป็นอย่างดีในฐานะแบรนด์ผ้าไทย ทั้งผ้าไหมและผ้าฝ้ายที่มีราคาวางจำหน่ายหลาละ หลักพันไปจนถึงหลักแสน หากแต่เมื่อผ้าได้ไปสะสมอยู่ในมือของเจ้าของนานวันเข้าแล้ว มูลค่าจากหลักพันหลักแสนนั้นจะกลายเป็นหลักล้านทันที ด้วยเทคนิคการทอที่มีความซับซ้อนแห่งเดียวในโลก อาศัยฝีมือ ความชำนาญ ความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาลายผ้าใหม่ ๆ และระยะเวลาในการทอด้วยมือจากช่างพื้นเมืองที่อยู่กับบ้านคำปุนมากว่า 30 ปี ทำให้คุณค่าของผ้าแต่ละชิ้นมีมากไปกว่าแค่ผ้าสำหรับนุ่งห่มเท่านั้น

ในสมัยก่อน บ้านคำปุน ของคุณแม่คำปุน ศรีใส ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ทอผ้า) ปี พ.ศ. 2561 และครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี พ.ศ. 2553 จะเป็นโรงทอผ้าพื้นเมืองที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมเพียงแค่ 3 วันต่อปี ในช่วงเทศกาลแห่เทียนเข้าพรรษา จังหวัดอุบลฯ เท่านั้น

แต่ในระยะหลัง อาจารย์เถ่า มีชัย แต้สุจริยา ผู้เป็นบุตรชาย ได้ปรับแนวคิดใหม่ เปิดพื้นที่ที่มีทั้งคาเฟ่ ดึงคนรุ่นใหม่ให้มีโอกาสได้เข้ามาสัมผัสความงาม และนำเสนอบ้านคำปุนเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งผลิตงานหัตถศิลป์ผ้าทอมือ ผ้าไหม ผ้าฝ้าย เพื่อสืบสานภูมิปัญญาช่างฝีมือชาวอุบลฯด้านการทอผ้า อีกทั้งยังเป็นการสร้างงานสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมท้องถิ่นแก่คนรุ่นหลัง โดยนักท่องเที่ยวทั่วไปสามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์คำปุนได้ตลอดทั้งปี

อาคารหอพระธาตุ จะเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์บ้านคำปุน ที่ผมได้เข้าเยี่ยมชมในวันนี้ โดยเป็นสถานที่จัดแสดงประวัติ ผลงาน ของสะสม เช่น เครื่องมือในการทอผ้าเก่าแก่ตั้งแต่รุ่นคุณยายของอาจารย์เถ่ามาจนถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกันยังเป็นหอพระธาตุ มีบุษบกประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ด้านบนมีปูนปั้นนกหัสดีลิงค์ เพื่อบ่งบอกถึงความเป็นเมืองอุบลฯ เมืองประเทศราชที่มีเจ้าครองนครมาก่อน และมิใช่เพียงแค่โรงทอผ้า แต่จะเป็นสถานที่สืบศรัทธาต่อพุทธศาสนาควบคู่กันไปด้วย

ครั้งนี้ได้รับเกียรติจากเจ้าของบ้านคำปุน ต้อนรับและพาชมบ้านและพิพิธภัณฑ์ด้วยตัวเองครับ ขอบพระคุณคุณเถ่าหรือพี่เถ่ามาก ๆ มา ณ ที่นี้ครับ

สำหรับผมเอง อาจจะไม่ใช่คนที่เล่าเรื่องผ้าไทยได้ดีนักครับ แต่พอได้ฟังคุณเถ่าเล่าเกี่ยวกับกระบวนการต่าง ๆ ให้ฟัง ทำให้ผมรู้สึกเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องผ้าไทยมากขึ้นมาก ผ้าแต่ละผืนที่เราเห็นเกิดจากชั่วโมงในการถักทอระดับหลักเดือน เทคนิคที่ต้องอาศัยความแม่นยำมาก ๆ ในการเกี่ยวด้ายทีละเส้น ตลอดจนความอดทนในการสร้างลวดลายต่าง ๆ ของผ้ามัดหมี่ สะท้อนให้เห็นความมีคุณค่าของงานหัตถศิลป์แต่ละชิ้นที่ทางคำปุนได้มอบคืนให้แก่สังคมเป็นศิลป์ของแผ่นดินโดยแท้ครับ

รูทเดินเที่ยวแบบเชื่อมโยง วัดศรีอุบลรัตนาราม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี ศาลหลักเมืองจังหวัดอุบลราชธานี ทุ่งศรีเมือง

ตรงนี้เหมือนเป็นรูทเดินเท้าแนะนำ เหมาะกับนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้เช่ารถมาครับ สามารถเดินเที่ยวถ่ายรูปเชื่อมโยงกันทั้งหมดได้ในระยะทางที่ใกล้กันมาก กินก๋วยจั๊บเสร็จตอนเช้า เดินเล่นย่อยอาหาร ก็แค่เดินข้ามมาเริ่มเดินที่วัดศรีอุบลรัตนารามได้เลย อาจเชื่อมโยงไปเดินต่อกับเมืองเก่าอุบลฯที่อยู่ติดกันได้อีกด้วยครับ

วัดศรีอุบลรัตนาราม เป็นวัดสำคัญของจังหวัดอุบลฯ ซึ่งเป็นวัดที่ประดิษฐานพระแก้วบุษราคัม พระแก้วศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอุบลฯที่อัญเชิญมาจากกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) ตั้งแต่เมื่อครั้งบรรพบุรุษชาวอุบลฯอพยพมาตั้งเมืองที่นี่ วัดศรีอุบลฯ เป็นวัดที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ทุกคนต้องผ่านวัดนี้หากมาเยือนอุบลฯครับ พระอุโบสถของวัดศรีอุบลรัตนาราม ถอดแบบจำลองมาจากพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร ดุสิตวนาราม กรุงเทพฯ เดิมชื่อ “วัดศรีทอง” มาตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 4 (คนอุบลฯแท้ ๆ มักเรียกกันแค่ว่า วัดศรีทอง) จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2511 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จฯยังวัดแห่งนี้ ทางวัดได้ทูลเกล้าฯถวายพระอุโบสถหลังนี้ให้อยู่ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี (พระยศในขณะนั้น) และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เปลี่ยนชื่อจาก “วัดศรีทอง” เป็น “วัดศรีอุบลรัตนาราม” ตามพระนามของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ สิริวัฒนาพรรณวดี และความพิเศษอย่างมากของวัดนี้ที่น้อยคนจะทราบคือเป็นวัดที่เป็นสถานที่ประกอบพิธีปลุกเสกน้ำมุรธาภิเษก ซึ่งเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์สำหรับพิธีปลุกเสกน้ำสรงสนานในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าแผ่นดิน ในสมัยรัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9 ครับ

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี เป็นอาคารศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีหลังเดิม สร้างขึ้นตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2461 สมัยรัชกาลที่ 6 ถือเป็นพิพิธภัณฑ์ประจำจังหวัดแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่กรมศิลปากรตั้งขึ้นเพื่อสนองตอบความต้องการของท้องถิ่นที่จะให้เป็นศูนย์ศึกษา อนุรักษ์ และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ตามแนวทางการพัฒนากิจการพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ การจัดแสดงนิทรรศการถาวร จึงมุ่งเน้นเรื่องราวด้านต่าง ๆ ของจังหวัดอุบลราชธานี ทั้งทางด้านภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศาสนา วัฒนธรรมพื้นบ้าน และชาติพันธุ์วิทยา ภายในจัดแสดงของสะสมโบราณล้ำค่ามากมายรวมไปถึงโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบตามแหล่งประวัติศาสตร์รอบ ๆ จังหวัดอุบลฯ ลักษณะตัวอาคาร เป็นตึกชั้นเดียวก่ออิฐฉาบปูนหลังคาทรงปั้นหยา ยกพื้นสูง หลังคามุงกระเบื้องสีแดงชาด ผนังตึกทาสีเหลืองไข่ไก่

ผมไม่ได้เข้าไปชมด้านในเนื่องจากข้อจำกัดด้านเวลาครับ

ศาลหลักเมืองจังหวัดอุบลราชธานี เป็นสถานที่สักการะของชาวเมืองและคนทั่วไปที่มาเยือน คนอุบลฯนิยมมาไหว้ขอพรเอาฤกษ์เอาชัยและความสงบของจิตใจกับศาลหลักเมืองแห่งนี้

ทุ่งศรีเมือง เป็นสวนสาธารณะที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกายของประชาชนทั่วไป เดิมเป็นที่ทำนาของเจ้าเมือง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้งดการทำนา เพื่อใช้ทุ่งศรีเมืองเป็นสถานที่พักผ่อนและจัดงานต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นงานพิธีการสำคัญแทบจะทุกงานของจังหวัด คล้าย ๆ กับสนามหลวง กรุงเทพฯ งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาของจังหวัดอุบลฯ ก็จัดที่นี่ครับ ในส่วนบริเวณสนามหญ้าตรงกลางทุ่งศรีเมืองจะเห็นรูปปั้นเทียนขนาดยักษ์ปรากฏอยู่ตรงหน้า นั่นคือ ประติมากรรมเทียนเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีลักษณะเป็นต้นเทียนสูง 22 เมตร บนเรือสำเภา พญาครุฑและนาค ศิลปะแบบอีสานร่วมสมัย และผสานแนวคิดจากพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก อีกด้วย

ตลาดใหญ่

ตลาดใหญ่ หรือ ตลาดสดเทศบาลนครอุบลราชธานี เป็นตลาดที่เป็นศูนย์กลางการค้าเก่าแก่ของจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำมูล เชิงสะพานเสรีประชาธิปไตย ซึ่งถ้าสมัยก่อน คนอุบลฯพูดว่า จะไป “ในเมือง” ก็จะหมายถึงย่านนี้ทั้งหมดครับ

ตลาดใหญ่ ในสมัยก่อน เป็นตลาดสด ขายของสด ทั้งเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ เครื่องเทศ และสินค้าอุปโภคบริโภคทุกชนิด อีกทั้งยังเป็นคิวรถต่อไปยังอำเภอต่าง ๆ ได้ด้วย สมัยก่อนจะเป็นตลาดสดชั้นเดียว แผงร้านค้าเรียงรายกันไป แต่ปัจจุบันได้ทำการรื้อและสร้างใหม่เป็นแบบอาคารปูนขนาดใหญ่ 2 ชั้น รองรับการค้าขายและจัดระเบียบแผงค้าให้ดียิ่งขึ้น

พ่อค้าแม่ค้าส่วนมากจะเป็นคนในพื้นที่ บ้างก็เป็นเกษตรกรที่ปลูกพืชผักหรือเลี้ยงสัตว์นำมาขายเอง แต่อีกส่วนหนึ่งก็จะเป็นพ่อค้าคนกลางที่รับสินค้ามาจากแหล่งแล้วนำมาขายต่อ ตลาดใหญ่สร้างรายได้แก่ชาวอุบลฯอย่างมากโดยเฉพาะเกษตรกรที่เป็นต้นน้ำเอง เป็นเกษตรกรรายย่อยที่สามารถนำผลผลิตออกสู่แหล่งจำหน่ายได้โดยตรง ทำให้เชื่อมั่นว่าจะได้วัตถุดิบจากพื้นถิ่นโดยตรง สด สะอาด ปลอดภัย สนับสนุนเกษตรกรท้องถิ่นรายย่อยให้ยังคงมีงานทำ มีรายได้หมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง ลดการเคลื่อนที่ของแรงงานที่ย้ายเข้าไปทำงานยังเขตเมืองหลวง

และข้อมูลที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ ในปัจจุบัน พบว่ามีการเคลื่อนที่ของแรงงานชาวพม่า มาทำงานยังจังหวัดอุบลฯจำนวนเยอะมากครับ เพราะที่นี่มีโรงงานและตลาดอยู่เยอะมาก แรงงานที่เข้ามาทำงานจะเป็นแรงงานที่เข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมายนะครับ ส่วนมากจะเป็นวัยหนุ่มสาว ซึ่งน่าแปลกตรงที่อุบลฯ ไม่มีอาณาเขตที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศเมียนมาร์เลย ด่านชายแดนแม่สอด จังหวัดตากก็อยู่ห่างไปถึง 900 กิโลเมตร แต่ที่นี่กลับคึกคักไปด้วยแรงงานชาวพม่ามาทำงานเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ส่งเงินกลับไปช่วยครอบครัวยังบ้านเกิดของตน คนอุบลฯก็มีความยินดี อยู่ร่วมกันอย่างเป็นมิตร ถึงจะสื่อสารภาษากันได้กระท่อนกระแท่น แม่ค้าขายอาหารหน้าโรงงานก็บอกว่า ก็ไม่เป็นการยากเท่าใดนัก คนอุบลฯรู้จักปรับตัวและไม่กลัวที่จะทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่เสมอครับ

ตลาดวาริน

เคยได้ยินเพลงฮิต “สาววารินวันนี้ต้องกินน้ำตา เพราะหนุ่มอุบลฯไม่มา แห่เทียนพรรษาเหมือนดังปีก่อน…” ของนักร้องฉายา สาวเสียงพิณ จินตหรา พูนลาภ กันบ้างไหมครับ วาริน ที่ว่า ก็คือ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลฯ นี่เองครับ วารินชำราบ หรือที่คนอุบลฯเรียกสั้น ๆ ว่า “วาริน” เป็นอำเภอที่อยู่ใกล้กับอำเภอเมืองมาก มากแค่ระยะข้ามสะพานแม่น้ำมูล แค่ 2 กิโลเมตรเองนะครับ อารมณ์น่าจะคล้ายกับฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรีของกรุงเทพฯ วิถีชีวิตไม่แตกต่างครับ คนอุบลฯบางส่วนก็นิยมปลูกบ้านพักอาศัยในเขตอำเภอวารินชำราบอยู่เยอะครับ และทราบไหมครับว่า “นั่งรถไฟไปอุบลฯ เราจะไม่ถึงอุบลฯ” นะครับ ฟังแล้ว จะงงว่า อ้าว ทำไมล่ะ? ก็เพราะว่าสถานีรถไฟจังหวัดอุบลราชธานี ไม่ได้ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองอุบลฯเลยครับ รถไฟสายอีสานใต้ สถานีปลายทางอุบลฯ จะมาสุดปลายทางที่อำเภอวารินชำราบแห่งนี้ล่ะครับ นั่นก็เป็นที่มาของการพูดติดตลกของคนอุบลฯว่า นั่งรถไฟไปอุบลฯแล้วทำไมจะไม่ถึงอุบลฯ กันเล่า

ตลาดวาริน เป็นตลาดสดที่มีขนาดใหญ่มาก ปัจจุบันถ้านับพื้นที่ในการตั้งแผงขายสินค้า จะมีขนาดใหญ่กว่าตลาดใหญ่ในเมืองอุบลฯแล้วครับ เป็นตลาดสดยามเช้าที่ครึกครื้นและมีชีวิตชีวามากครับ นับแต่วินาทีแรกที่ผมลงไปเดินเล่น ถ่ายรูป จะพบเจอการตั้งแผงขาย ทั้งของสด ของแห้ง ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ของป่า ฯลฯ จะตั้งระเกะระกะบ้าง เป็นระเบียบบ้าง แต่ภาพนี้กลับทำให้เกิดความสวยงามในตัวของมันเองอย่างน่าประหลาด มองไปทางไหนก็ดูมีชีวิต มีเรื่องราวไปตลอดทั้งเส้นทางเลยครับ
แม่ค้าที่นี่มีความเป็นมิตรมาก เราสามารถชวนคุย ซักถามถึงของที่วางขายได้ เพราะบางอย่างก็เป็นวัตถุดิบหรือพืชผักที่ค่อนข้างลึก มีความเป็นพื้นถิ่นอีสานมาก มีขายเฉพาะแค่ในแถบนี้ หรือแม้แต่ปลา ก็เป็นปลาท้องถิ่นที่หาจับได้แค่ในแถบนี้ รวมไปถึงปลาแม่น้ำโขงที่ถือว่าเป็นไฮไลต์ของอุบลฯ มาที่นี่มีครบ ถือเป็นคลังของอาหารอีสานก็ว่าได้เลยครับ

ตลาดโต้รุ่ง ลานโสเหล่ ศาลาประชาคม

เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม เขาว่ากันว่าคนอุบลฯแท้ ๆ ตอนเย็นมักจะมาออกกำลังกายกันที่ทุ่งศรีเมือง และเดินมาหาอะไรกินมื้อเย็นกันแบบสตรีทฟู้ดที่ลานโสเหล่ หรือ เรียกกันว่า ตลาดโต้รุ่งศาลาประชาคม แห่งนี้ บรรยากาศสนุก ๆ สไตล์ตลาดโต้รุ่งครับ เต็มไปด้วยร้านรวงมากมาย และ อาหารหลากหลายให้เราได้เดินเลือกกินไปเพลิน ๆ ได้เลย

2 ร้านที่ถูก recommend โดยคนอุบลฯก็คือร้านโรตี และ ร้านลูกชิ้นมิตรสัมพันธ์ ครับ สองร้านนี้เป็นเจ้าเก่าแก่ เปิดมานาน อร่อยจริงสมคำล่ำลือ โรตีเจ้านี้กรอบนอกแต่หนุบหนับด้านใน กลิ่นหอม รสชาติอร่อยมาก ๆ ครับ ส่วนลูกชิ้นอีกร้าน เด็ดที่น้ำจิ้มครับ ทานกับเมนูไหนก็ได้ เจ้านี้ไม่ต้องยืนกินก็ได้นะครับ สามารถนั่งกินได้เลย ถ้าหากได้แวะเวียนไปอย่าลืมมองหา 2 เจ้านี้นะ

วัดสุปัฏนารามวรวิหาร

วัดสุปัฏนารามวรวิหาร หรือคนอุบลฯเรียกว่า วัดสุปัฏน์ เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยพระราชทานนามว่า วัดสุปัฏนาราม อันหมายถึง วัดที่มีสถานที่ตั้งอันเหมาะสมเป็นท่าเรือที่ดี เนื่องจากเป็นวัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำมูล ใจกลางเมืองอุบลฯ ในท่าน้ำแถบ ๆ นี้ในสมัยก่อน จะเป็นที่ควบคุมตัวเชลยสงครามโลกครั้งที่ 2 มาอาบน้ำริมแม่น้ำกันด้วยครับ

วัดสุปัฏน์ เป็นวัดธรรมยุติกนิกายแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศิลปกรรมของพระอุโบสถค่อนข้างแตกต่างจากวัดอื่นในจังหวัดอุบลฯ คือ ส่วนหลังคาเป็นศิลปะแบบไทย ส่วนกลางเป็นศิลปะแบบตะวันตก และส่วนฐานเป็นแบบขอม โดยมีปูนปั้นประดับโดยรอบและฉาบสีขาวทั้งหลัง ภายในประดิษฐาน พระสัพพัญญูเจ้า ซึ่งถือเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองอีกหนึ่งองค์ ถือเป็นอีกวัดหนึ่งที่ถ้ามีงานพิธีสำคัญหรืองานเจ้านายเสด็จฯ ทางจังหวัดจะใช้วัดแห่งนี้เป็นสถานที่จัดงานสำคัญที่ว่าครับ

วัดทุ่งศรีเมือง

วัดทุ่งศรีเมือง เป็นอีกวัดหนึ่งที่อยู่ใจกลางเมือง หากนักท่องเที่ยวคนใดที่ไม่ได้เช่ารถเที่ยว ก็สามารถเดินจากทุ่งศรีเมืองมายังวัดได้เพียงแค่ไม่กี่นาทีครับ วัดทุ่งศรีเมือง สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 มีพระพุทธบาทจำลองจากวัดสระเกศราชวรวิหาร ประดิษฐานยังหอพระพุทธบาทภายในวัด แต่ยังมีอาคารที่สำคัญอีกหลังที่ขอโฟกัสในครั้งนี้คือ หอพระไตรปิฎก ซึ่งมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นมาก เป็นหอไตรกลางน้ำ ที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ที่สุดหลังหนึ่งของประเทศไทยครับ เป็นหอไตรที่จัดเก็บรักษาพระไตรปิฎก ป้องกันไม่ให้มด ปลวก ไปแทะทำลาย มีลักษณะเป็นศิลปะผสมระหว่างไทย พม่า และลาว อาคารเป็นแบบไทย เรือนฝาปะกน ขนาด 4 ห้อง ภายในมีตู้พระธรรม ทุกด้านลงรักปิดทองทุกด้าน ส่วนของหลังคามีลักษณะศิลปะไทยผสมพม่า คือ มีช่อฟ้าใบระกา แต่หลังคากลับซ้อนกันหลายชั้นแบบศิลปกรรมพม่า ส่วนหน้าบันแกะสลักแบบศิลปะลาวชั้นสูง นับเป็นหอไตรไม้กลางน้ำที่มีความสวยงามและทรงคุณค่ามากครับ

วัดพระธาตุหนองบัว

เป็นอีกวัดที่ถ้ามาอุบลฯแล้ว ก็ต้องมา นอกจากจะเป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองแล้ว ยังเป็นวัดที่มีพระธาตุที่มีความเป็นเอกลักษณ์ต่างจากวัดอื่น ๆ โดยรอบ

ภายในวัดพระธาตุหนองบัว มีสถาปัตยกรรมสูงเด่นตั้งอยู่ภายใน คือ พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ ที่พุทธศาสนิกชนผู้เลื่อมใสร่วมใจกันสร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ครบรอบ 25 ศตวรรษของพุทธศาสนา ในปี พ.ศ. 2500 โดยจำลองแบบมาจากเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ รอบองค์พระธาตุเป็นกำแพงแก้ว โดยพระธาตุองค์เดิมสูง 17 เมตร และได้มีการสร้างองค์ใหม่ครอบองค์เดิมอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งมีความสูงถึง 56 เมตร ใหญ่โตมากครับ

ความสวยงามอีกประการคือฉัพยาปุตตะ หรือพญานาคสีรุ้ง หนึ่งในพญานาค 4 ตระกูล จำนวน 2 องค์ นามว่า ท่านปู่กริชกรกต และท่านย่ามณีเกตุ ที่สร้างขึ้นตามนิมิตของหลวงพ่อเจ้าอาวาส ซึ่งได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว เข้ามาสักการะเป็นจำนวนมาก

“..นั่งรถไฟฉึกฉัก ฉึกฉัก เหล้าสองกั๊ก ไก่ย่าง ส้มตำ กินไปนำ นั่งหลับไปนำ กินไปนำ นั่งหลับไปนำ หมดส้มตำ เราก็ฮอดอุบล..”

เสียงเพลงลูกทุ่งที่เจ้าบ้านชาวอุบลฯ เปิดให้ผมฟังระหว่างชั่วโมงท้าย ๆ ของช่วงเวลาดี ๆ ที่ได้มาเยือนอุบลฯในครั้งนี้ เป็นเพลงของศิลปินอีสานอาวุโสชาวอุบลฯ ผู้ก่อตั้งวงดนตรีลูกทุ่งเพชรพิณทอง “นพดล ดวงพร” หรือที่เรารู้จักกันดีกับประโยคฮิตของหลวงพ่อ “เซือใน่สิ่งถี่เฮ็ด เฮ็ดใน่สิ่งถี่เซือ” (เชื่อในสิ่งที่ทำ ทำในสิ่งที่เชื่อ) จากภาพยนตร์เรื่อง 15 ค่ำ เดือน 11 ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องพญานาค บทเพลงบอกเล่าถึงการมาถึงอุบลฯแบบไม่ต้องคาดหวังอะไร ปล่อยใจสบาย ๆ เมื่อมาท่องเที่ยวยังเมืองดอกบัวแห่งนี้ หากใครได้มาเยือนก็จะได้พลังความสุขติดตัวกลับบ้านไป ตัดสลับกับภาพของพญานาคที่ผมได้มีโอกาสมากราบท่านด้วยตัวเองถึงที่เมื่อสักครู่ ผมว่า จะด้วยโชคชะตานำพาหรือเหตุอะไรก็ตาม “การมาฮอดอุบลฯ” ของผมในครั้งนี้ บอกเลยว่า สนุกและคุ้มค่าจริง ๆ ผมเชื่อแบบนี้จริง ๆ ครับ ฝากจังหวัดอุบลฯไว้เป็นอีกหนึ่งจุดหมายของการท่องเที่ยวในใจคุณด้วยนะครับ

แล้วพบกันในพาร์ท 2 ของอุบลฯ “โขงเจียม” ในคอนเทนต์หน้านะครับ
เปียง