A GLIMPSE OF CHIANG RAI : Part I Chiang Rai City เมืองเชียงราย วัฒนธรรม ศิลปะ และ ไลฟ์สไตล์

สวัสดีครับ ผมเปียง เปิดเดือนมิถุนายนกับการเริ่มเข้าหน้าฝนอย่างเป็นทางการของประเทศไทยครับ ผมมองว่าตอนนี้เป็นช่วงที่เหมาะแก่ออกไปเที่ยวป่าเที่ยวเขามากที่สุดครับ เพราะว่านอกจากอากาศจะไม่ร้อนมากเกินไปแล้ว ต้นไม้ใบหญ้าก็ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสีเขียวอีกด้วยครับ บรรยากาศชื้น ๆ ท่ามกลางธรรมชาติ คงเป็นอะไรที่เติมเต็มวันหยุดที่จะถึงนี้ของทุกคนได้เป็นอย่างดี ครั้งนี้ผมพาทุกคนมาเที่ยวเชียงรายครับ เมืองเล็ก ๆ ที่เป็นเสมือนประตูบ้านที่อยู่เหนือสุดของประเทศ ที่รุ่มรวยด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ยาวนาน ตั้งแต่สมัยแคว้นหิรัญนครเงินยางและธรรมชาติ ที่ยังมีอยู่อย่างครบถ้วนซึ่งอาจถูกมองผ่านไปบ้าง

ตัวเมืองเชียงรายในทุกวันนี้ ค่อย ๆ ได้รับการเติมเต็มด้วยผลงานศิลปะของคนยุคใหม่ เราจะเห็นได้จากรอยเท้าของศิลปินยุคปัจจุบัน เปล่งประกายผ่าน สถาปัตยกรรมอันโดดเด่น วัดที่ผสมผสานศิลปะสไตล์ล้านนาดั้งเดิม นำเสนอในรูปแบบใหม่ จนเกิดเป็นสไตล์พุทธศิลป์ร่วมสมัย ไปจนถึงการสร้างพื้นที่แสดงผลงาน ที่พร้อมจะสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ ได้ออกมาแสดงผลงาน จุดประกายความคิดและสร้างสรรค์ผลงาน วัดรอยเท้าตามรุ่นปัจจุบัน เมืองกำลังค่อย ๆ เปลี่ยนแปลง ถูกเติมเต็มด้วยศิลปะ ให้เป็นเรื่องใกล้ตัวและอยู่ร่วมกับคนอย่างยั่งยืน

“มันคือศิลปะ” คำพูดอมตะ ของอ. เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ที่เราคุ้นเคยกันดี ถูกสะท้อนภาพให้เห็นเด่นชัด ในหลากหลายมิติของตัวเมืองเชียงราย เราจะเห็นได้จาก วัดร่องเสือเต้น วัดที่ถูกย้อมสีด้วยสีน้ำเงินสดใส ขัดกับสีทองสีเดิมที่เคยคุ้นตา ความแตกต่างในแบบพุทธศิลป์ร่วมสมัย ได้สื่อแสดงความหมาย สะท้อนความจริงตามเหตุและผล ได้อย่างน่าประทับใจครับ แม้ว่าศิลปะจะดูเป็นสิ่งยากที่จะเข้าใจ และห่างไกลเกินจะจับต้องได้ แต่ไม่ใช่ที่ ดอยดินแดง พื้นที่นำเสนอเครื่องปั้นดินเผา ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากวัสดุท้องถิ่น ที่นี่ได้เปิดโอกาสให้เราได้สร้าง ศิลปะ ในแบบของตัวเราเองผ่านการปั้น และซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้านได้ครับ

ในขณะที่ความดั้งเดิม ก็ไม่ถูกกระแสนิยมผันเปลี่ยนไป จนไม่หลงเหลือให้จดจำ เชียงรายยังมี ร้านอาหารพื้นเมืองรสชาติดั้งเดิมร้านหนึ่งที่เปิดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2524 อย่าง ร้านหลู้ลำ ความอร่อยในแบบที่ไม่คุ้นเคย เว้าวอนให้เราลองเปิดใจ สัมผัสถึงรสชาติที่ควรค่าแก่การชิมสักครั้งครับ และยังคงมีภาพความดั้งเดิมของศิลปะล้านนา ที่ผสมผสานกับความทันสมัยในสไตล์ Luxury Contemporary ความแตกต่างที่พอดี และน่าสนใจ รอให้เรามาสัมผัส ที่ Le Meridien Chiang Rai เท่านั้นครับ

ในทริปเชียงรายครั้งนี้ ผมอยากพาทุกท่านไปสำรวจเชียงรายให้มากยิ่งขึ้น ด้วยการแบ่งสถานที่ท่องเที่ยวออกเป็น 3 พาร์ทด้วยกัน ได้แก่ เมืองเชียงรายที่บอกเล่าสไตล์การออกแบบผ่านวัฒนธรรม ความศรัทธา และงานศิลปะ เชียงแสนกับสามเหลี่ยมทองคำสถานที่คุ้นเคยที่เราได้ยินมาตั้งแต่เด็กและรอโอกาสให้ได้ไปสัมผัส และดอยช้างในพาร์ทสุดท้ายกับทะเลหมอกยามเช้า และกลิ่นหอมของกาแฟจากแหล่งผลิตต้นน้ำ

เชียงรายในมุมมองที่ต่างออกไป ทั้งมุมเดิมที่เราเคยเดินผ่าน และมุมใหม่ที่เราอาจไม่คุ้นเคย ผมอยากพาทุกคนเดินทางไปพร้อมกันกับผมครับ

เปียง

A GLIMPSE OF CHIANG RAI
Part I Chiang Rai City 
เมืองเชียงราย วัฒนธรรม ศิลปะ และ ไลฟ์สไตล์

เชียงรายนอกจากจะเป็นเมืองแห่งศิลปะและวัฒนธรรมแล้ว ยังเป็นเมืองที่มีคาเฟ่สวย ๆ บรรยากาศดีเยอะมากครับ ร้านที่ผมจะไปในครั้งนี้ มีทั้งร้านคาเฟ่ชื่อดังในตัวเมืองริมแม่น้ำกกอย่าง ชีวิตธรรมดา หรือว่าจะเป็นคาเฟ่ร้านน้ำชาสไตล์ญี่ปุ่น – ฝรั่งเศสริมลำธารอย่าง RiRi Teahouse ก็เป็นร้านที่ Must go ครับ

เชียงรายในมุมมองที่ต่างออกไป ทั้งมุมเดิมที่เราเคยเดินผ่าน และมุมใหม่ที่เราอาจไม่คุ้นเคย ผมอยากพาทุกคนเดินทางไปพร้อมกันกับผมครับ

ดอยดินแดง หรือบางคนก็จะเรียกที่นี่ว่า “บ้านดอยดินแดง” สถานที่ที่ถูกสร้างให้เป็นทั้งโรงงานและศูนย์แสดงผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา จุดเด่นของที่นี่คือ การเลือกใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติภายในท้องถิ่น ตั้งแต่ตัวอาคารที่มีส่วนผสมของดินแดงไปจนถึงเครื่องปั้นดินเผาที่เลือกใช้สีที่ได้จากธรรมชาติ

“บ้านดำ” หรือ “พิพิธภัณฑ์บ้านดำ” ถูกสร้างขึ้นโดยอ.ถวัลย์ ดัชนี หนึ่งในศิลปินแห่งชาติชาวล้านนาที่มีชื่อเสียง ที่ได้ฝากผลงานศิลปะไว้มากมาย ทั้งงานด้านจิตรกรรม ประติมากรรม หรือด้านสถาปัตยกรรม บนพื้นที่กว่า 100 ไร่

HISTORY OF CHIANG RAI

เชียงรายเป็นหนึ่งในเมืองประวัติศาสตร์ ที่มีช่วงระยะเวลายาวนานมาตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัยครับ พญามังรายได้สร้างเมืองนี้ขึ้นเป็น ศูนย์กลางของแคว้นเหรัญนครเงินยาง แล้วใช้ที่นี่เป็นศูนย์กลางในการขยายอำนาจ รวบรวมแคว้นน้อยใหญ่ในลุ่มแม่น้ำกก ปิง และ อิงเข้าด้วยกัน ก่อนที่จะสถาปนาอาณาจักรล้านนาขึ้นที่เชียงใหม่ เชียงรายจึงแปรเปลี่ยนสถานะ จากศูนย์กลางอาณาจักร สู่เมืองหน้าด่านสำคัญทางตอนเหนือ ที่จะมีธรรมเนียมปฏิบัติในการส่งพระมหาอุปราช ว่าที่กษัตริย์คนต่อไปมาปกครองเมืองแทนครับ ด้วยตำแหน่งที่มีความสำคัญทางภูมิศาสตร์ ที่อยู่บริเวณรอยต่อระหว่างประเทศ เชียงรายถูกเปลี่ยนผ่านความเป็นเจ้าของไปมาระหว่าง พม่า ล้านนา และสยาม ทำให้เมืองประวัติศาสตร์ที่มีความเป็นมานานกว่า 700 ปีนี้ ถูกผสมผสานวัฒนธรรมจากผู้คนหลากหลายอาณาจักร จนเกิดเป็นเอกลักษณ์และวัฒนธรรมที่มีตัวตนเฉพาะตัว ทั้งศิลปะ สถาปัตยกรรม และภาษาที่มีความสวยงามและน่าหลงใหล อย่างภาษาคำเมืองด้วยครับ

LOCAL CULTURAL
– หอนาฬิกา (Chiang Rai Golden Clock Tower)
– หมู่บ้านกะเหรี่ยง (Long Neck Village)
– วัดร่องเสือเต้น (Wat Rong Suea Ten)
– วัดร่องขุ่น (Wat Rong Khun)

หอนาฬิกา

ผมขับรถมาตามท้องถนนในเมืองเชียงราย ผ่านบ้านเมืองและอาคารพาณิชย์ยุคเก่า ซึ่งสังเกตได้ว่ายิ่งเข้าใกล้เมืองมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมองเห็นการตกแต่งที่เป็นแบบฉบับของคนล้านนามากขึ้น ทำให้ผมมั่นใจว่าเส้นทางข้างหน้า ผมจะได้พบกับหอนาฬิกาที่เป็นเหมือน Landmark ของเชียงรายครับ

หอนาฬิกาแห่งนี้ออกแบบโดย อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ที่เรารู้จักกันดีจากผลงานการออกแบบวัดร่องขุ่นและงานจิตรกรรมพุทธประทีป ด้วยศิลปะไทยประยุกต์ ทำให้การออกแบบโดยรวมของหอนาฬิกานี้ได้รับอิทธิพลมาจากวัดร่องขุ่น แต่ว่ามีความแตกต่างกันหอนาฬิกาจะเป็นสีทองครับ 

โดยวัตถุประสงค์จริง ๆ ในการสร้างหอนาฬิกานี้ ก็เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ส่วนหอนาฬิกาอันเก่านั้นก็ได้ย้ายไปตั้งที่บริเวณสามแยกหน้าโรงรับจำนำ แถวตลาดสดเทศบาลแทน ซึ่งจะอยู่ห่างออกไปประมาณ 800 เมตรเท่านั้นครับ

รวมหมู่บ้าน บ้านชาวเขา

สำหรับทุกคนแล้ว ชาวเขาในความทรงจำของเราเป็นอย่างไรครับ? มุมมองชาวเขาในความทรงจำของเราอาจจะเป็น ชนเผ่าที่อาศัยบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย ผู้หญิงจะพันห่วงทองแดงรอบคอ หรือว่าชนเผ่าที่อาศัยอยู่พื้นที่ห่างไกลจากความเจริญ แต่เมื่อเวลาเปลี่ยน วิถีชีวิตของชุมชนชาวเขา ก็ค่อย ๆ พัฒนาควบคู่กันไปตามสมัยนิยมด้วยเหมือนกันครับ Social Media โทรศัพท์ อุปกรณ์ทุ่นแรงต่าง ๆ ได้เข้ามามีบทบาทให้เกิดการพัฒนาภายในชุมชน แต่ไม่ได้สูญเสียตัวตนและความมีเสน่ห์ ที่เชื้อเชิญให้เราได้มาสัมผัสวีถีชีวิตชุมชนดั้งเดิมที่ไม่จำเจเหมือนแต่ก่อน ซึ่งทำให้เราอาจจะมีมุมมองต่อชนพื้นเมืองเหล่านี้แตกต่างไปจากเดิมก็ได้ครับ

ดังนั้นผมจะขอพาทุกคนมาเที่ยว พร้อมกับสัมผัสวิถีชีวิตของชาวเขาแท้ ๆ กันที่ “รวมหมู่บ้าน บ้านชาวเขา จังหวัดเชียงราย” เป็นหมู่บ้านที่รวมชาวเขาหลายเผ่ามาอยู่รวมกัน ไม่ว่าจะเป็น อาข่า เย้า ลาหู่ ปาต่อง กะเหรี่ยงคอยาว และปะหลวง ซึ่งที่นี่เป็นทั้งสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวิถีเกษตรและการเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมของชนเผ่าแต่ละเผ่าที่อาศัยในหมู่บ้านแห่งนี้ โดยลักษณะหมู่บ้านจะเป็นพื้นราบสลับกับภูเขา ค่อนข้างกว้างขวาง สามารถมาใช้เวลาในนี้ได้ทั้งวันครับ

สำหรับไฮไลต์ของที่นี่ก็คงจะเป็นชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาว ที่นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูปกัน ซึ่งชนเผ่านี้เป็นชนกลุ่มน้อย Padaung ที่อพยพมาจากพม่า ช่วงสงครามกลางเมืองพม่า มาอาศัยบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย เมื่อประมาณ 73 ปีที่แล้ว กระจายตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงรายและแม่ฮ่องสอน โดยเอกลักษณ์ของ ชาวกะเหรี่ยงคอยาวผู้หญิงจะพันห่วงทองแดงรอบคอ ข้อมือ เข่า ตั้งแต่อายุประมาณ 9-10 ขวบ ชาวกะเหรี่ยงเชื่อว่า ห่วงจะช่วยปกป้อง ไม่ให้เสือที่ถูกภูตผีสิงมาขย้ำคอ โดยจะมีการเพิ่มความยาวทุก ๆ 4 ปีไปจนถึงอายุ 45 ปี ซึ่งห่วงทองเหลืองจะมีน้ำหนักเริ่มต้นประมาณ 2.5 กิโลกรัม และถ้ารวมน้ำหนักที่ใส่รอบคอ ข้อมือ และเข่า อาจจะมีน้ำหนักถึง 30 กิโลกรัมเลยครับ

นอกจากการถ่ายรูปกับกะเหรี่ยงคอยาวแล้ว ที่นี่จะมีกิจกรรมอื่นๆมากมายให้เราสามารถทำได้ตลอดทั้งวัน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาการเพาะปลูก การทำนาของคนในหมู่บ้าน การเดินป่า หรือจะเป็นการนั่งเกวียน นอกจากนี้ยังมีเวทีสำหรับการแสดงของเผ่าลีซอ ที่จะมีการแสดงวัฒนธรรมของชนเผ่า จะเป็นการร้องรำทำเพลงโดยใช้เครื่องดนตรีที่เป็นของชนเผ่า พวกเขาก็จะร้องบรรเลงแล้วก็เต้นรำ บริเวณลานดินให้เราชมการแสดงจะใช้เวลาประมาณ 20 นาทีครับ

และหากสังเกตดี ๆ ที่นี่จะมีขายของที่ระลึกตลอดทาง ไม่ว่าจะเป็นผ้าพันคอ ห่วงเงินห่วงทอง หรือว่าโมเดลกะเหรี่ยงคอยาวครับ

โดยก่อนจะกลับผมก็ไม่ลืมที่จะอุดหนุนผ้าพันคอมาด้วยหนึ่งผืนครับ
เปียง: น้องทำผ้าพันคอที่ไหนครับ  
สาวกะเหรี่ยง: ทำที่นี่ค่ะ // ยิ้มแล้วชี้ไปที่เครื่องทอผ้า
เปียง: QR code ได้มั้ยครับ
สาวกะเหรี่ยง: ไม่ได้เตรียมมาค่ะ
ตั้งใจจะซื้อให้ได้ นี่แหละครับเลยต้องพากันขึ้นมาที่รถเพื่อหยิบเงินสด น้องน่ารักมาก พูดน้อย เน้นยิ้มอย่างเดียว อัธยาศัยดีมาก และเป็นแบบนี้ทุกคนในทุก ๆ เผ่าที่มาต้อนรับพวกเรา

ณ รวมหมู่บ้าน บ้านชาวเขา

วัดร่องเสือเต้น

หนึ่งในวัดที่ถูกขนานนามว่าเป็น New Landmark ของจังหวัดเชียงราย มาพร้อมกับการออกแบบที่ยังคงลายน้ำของความเป็นศิลปะแบบฉบับของเชียงรายไว้อยู่ และโทนสีน้ำเงินของวัดที่อาจจะไม่เหมือนกับวัดทั่วไปที่ผมเคยไปมา จึงทำให้วัดนี้เป็นอีกหนึ่งจุดหมายที่ผมต้องได้มาสัมผัสความสวยงามกับตาสักครั้งนึง

ผมจะขอเล่าประวัติคร่าว ๆ ของวัดนี้ ให้ทุกคนได้ฟังกันก่อนที่จะไปเดินชมภายในวัดกันนะครับ เมื่อประมาณ 80-100 ปีก่อน จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่บริเวณนี้ได้เล่ากันว่า ในสมัยนั้นยังไม่ค่อยมีบ้านเรือนและผู้คนอาศัยอยู่มากเหมือนกับสมัยนี้ ทำให้บริเวณนี้มี สัตว์ป่าอยู่เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะเสือ ชาวบ้านที่ผ่านแถวนั้นมักจะเห็นเสือกระโดดข้ามร่องน้ำไป ๆ มา ๆ จึงได้เรียกบริเวณนี้ ต่อ ๆ กันมาว่า “ร่องเสือเต้น” 

ก่อนที่ผมจะเดินเข้าวิหาร จะต้องพบกับพญานาคที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะของอ.ถวัลย์ ดัชนี ที่เน้นลักษณะโครงสร้างที่เข้มแข็ง ซึ่งจะสื่อออกมาผ่านเขี้ยวเล็บแหลมคม ที่จะดูน่าเกรงขาม แต่ยังมีความอ่อนช้อยในแบบของล้านนาอยู่ครับ

เหตุผลที่เลือกทาสีวิหารด้วยสีน้ำเงินฟ้า ก็เพื่อจะสื่อถึงธรรมะขององค์สมเด็จพระพุทธเจ้าที่เผยแพร่ไปทั่วโลก ซึ่งเป็นหลักคำสอนที่เป็นความจริงตามหลักเหตุและผล เปรียบเสมือนดังท้องฟ้าที่สดใส เป็นศิลปะแนวพุทธศิลป์ร่วมสมัยที่แฝงด้วยธรรมของพุทธองค์ครับ

และภายในวิหาร จะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรัชมงคลบดีตรีโลกนาถ สีขาวมุกขนาดหน้าตักกว้าง 5 เมตร สูง 6.5 เมตร โดยมีพระรอดลำพูนจำนวนกว่า 88,000 องค์ และแก้วแหวนเงินทองหลายอย่าง ถูกฝังอยู่ใต้พระพุทธรูปองค์นี้ครับ

วัดร่องขุ่น

เดินทางมาต่อในอีกสถานที่ทางศาสนาที่กลายเป็นจุดแลนด์มาร์คที่สำคัญของเชียงรายอย่าง วัดร่องขุ่น หรือที่ชาวต่างชาติมักจะเรียกว่า “วัดขาว” เป็นวัดที่มีชื่อเสียงระดับโลกที่ผมมั่นใจ ว่าหลาย ๆ คนน่าจะเคยได้ยินชื่อหรือว่าได้เห็นผ่านตากันมาบ้างครับ ซึ่งวัดแห่งนี้เป็นผลงานอ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ที่ออกแบบและสร้างวัดนี้ขึ้นมาเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา โดยมีแนวคิดจากการสร้างงานพุทธศิลป์ที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง ในแบบของศิลปะไทยประยุกต์ครับ

องค์ประกอบสำคัญของวัดร่องขุ่นที่โดดเด่นมากที่สุดก็คือ ส่วนประกอบที่ตกแต่ง สถาปัตยกรรมทั้งภายนอก ภายใน และจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถ ที่มีการผสมผสานผลงานทัศนศิลป์ โดยนำเรื่องราวทางวัฒนธรรมในอดีตและปัจจุบัน นำมาปั้นและเขียนประดับตกแต่งไว้ตามส่วนต่าง ๆ ของอาคาร ซึ่งเน้นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธภูมิ และมีลักษณะของศิลปะตามแบบวัฒนธรรมล้านนา ขณะเดียวกันก็สอดแทรกเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน ชาวต่างชาติ สังคม การเมือง ตลอดจนเทคโนโลยีสมัยใหม่ เข้าไปไว้ในผลงานด้วยครับ ทำให้พื้นที่ว่างในแต่ละส่วนของบริเวณวัดถูกบรรจุไปด้วยผลงานทัศนศิลป์ที่สวยงามและช่วยสะท้อนถึงแง่มุมความคิด ความเชื่อ ความศรัทธาไว้อย่างน่าประทับใจมาก ๆ ครับ

มุมที่ถือว่าเป็นจุด Highlight ของวัดนี้อยู่ที่ “อุโบสถ” ที่ อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ อยากจะเนรมิตวัดให้เหมือนเมืองสวรรค์ เป็นวิมานบนดินที่มนุษย์สามารถสัมผัสได้ “อุโบสถ” จึงเปรียบเหมือนบ้านของพระพุทธเจ้า สีขาว แทนพระบริสุทธิคุณของพระพุทธเจ้า สำหรับกระจกขาว หมายถึง พระปัญญาธิคุณของพระพุทธเจ้าที่เปล่งประกายไปทั่วโลกมนุษย์ และจักรวาลครับ

โดยจะมีการตกแต่งด้วยลวดลายกระจกสีเงิน หน้าบันประดับด้วยพญานาค ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ และมีห้องแสดงภาพวาดด้วยครับ ซึ่งจะมีทั้งศิลปะประยุกต์ในยุคเก่าผสมผสานกับยุคใหม่ ที่ดูมีเสน่ห์ไม่เหมือนที่ไหนอีกด้วยครับ

ประติมากรรมที่อ้างอิงมาจากศาสนาพุทธที่ว่า ถ้าหากใครทำบาปจะต้องตกนรก และทำดีจะได้ขึ้นสวรรค์ 

CAFES AND RESTAURANTS
– ร้านพอใจ (ข้าวซอยไก่) (Khao Soi Phor Jai restaurant)
– ชีวิตธรรมดา (Chivit Thamma Da Coffee House, Bistro & Bar)
– ร้านอาหาร​ หลู้ลำ (Lulum Rimkok)
– RiRi Teahouse

ร้านพอใจ ข้าวซอยไก่

มาถึงภาคเหนือทั้งที เมนูที่ไม่ควรพลาดก็คงจะเป็นเมนู “ข้าวซอย” ซึ่งร้านที่ผมจะพามาทานวันนี้เป็นร้านข้าวซอยชื่อดังในตัวเมืองเชียงราย ซึ่งเจ้าของร้านเป็นคนสนิทสนมกับ​ อ.เฉลิมชัย​ด้วย ที่ผนังร้านทั้ง 2 ข้างก็จะมีงานศิลปะแขวนไว้เยอะมากครับ

โดยจุดเด่นของข้าวซอยร้านนี้จะอยู่ที่ส่วนผสมที่ทางร้านเลือกใส่กะทิเยอะ และรสชาติที่ไม่จัดมาก ทานง่าย มีให้เลือกทั้งข้าวซอยไก่ และข้าวซอยกุ้ง นอกจากเมนูข้าวซอยแล้ว ร้านนี้ก็ยังมีเมนูน้ำเงี้ยวหมู เกาเหลาเลือดหมู บะหมี่หมูแดงลูกชิ้นหมู ไส้อั่ว น้ำพริกหนุ่ม หมูย่าง และข้าวเหนียว ผมต้องบอกเลยว่ามาร้านนี้ร้านเดียวเหมือนได้ทานอาหารเหนือแบบครบ ๆ ครับ

และที่สำคัญชามนี้คือราคาไม่แพงด้วยครับ ชามละ 40 บาท และถ้าเป็นพิเศษจะราคา 50 บาทเท่านั้นครับ

ชีวิตธรรมดา

แวะมา Cafe Hopping กันสักหน่อยครับ กับ “ชีวิตธรรมดา” คาเฟ่และร้านอาหารชื่อดังในเมืองเชียงราย ที่ถ้าใครมาเที่ยวที่นี่จะต้องมีคาเฟ่นี้อยู่ในลิสต์ เพราะนอกจากบรรยากาศริมแม่น้ำกกที่ไม่ธรรมดาเหมือนกับชื่อร้านแล้ว เครื่องดื่ม ขนม และอาหารของที่ร้าน ผมคิดว่าน่าจะถูกปากหลาย ๆ คนแน่นอนครับ

ถ้าหากสังเกตดี ๆ เราจะเห็นร่มสีเหลืองสดใสและกันสาดลายทางสีขาวสลับดำ จากแต่ไกลก่อนที่จะถึงร้านเสียอีก ซึ่งพอนำมาอยู่กับบ้านสองชั้นสไตล์อังกฤษแล้ว กลับเข้าคู่กันอย่างไม่น่าเชื่อครับ นอกจากนี้บริเวณด้านหลังและด้านข้างของร้านยังปลูกต้นไม้เพื่อเป็นร่มเงาและไม้เลื้อยที่พันอยู่บนหลังคา ทำให้บ้านหลังนี้ดูร่มรื่นขึ้นมาในทันทีเลยครับ

หนึ่งในมุมถ่ายรูปยอดฮิตของที่ร้านชีวิตธรรมดา

เมนูที่ผมสั่งวันนี้จะเป็น “กาแฟสูตรชีวิตธรรมดา” ที่บอกเลยว่าไม่ธรรมดา เพราะว่าเป็นเมนูที่นำเอากาแฟ Espresso ไปแช่เย็นจนกลายเป็นน้ำแข็ง ถ้าหากรอให้ละลายก็จะคล้ายกับเมนู Iced Americano ครับ ซึ่งถ้าหากใครชอบดื่มกาแฟที่มีรสชาติมากขึ้น ที่ร้านจะมีน้ำเชื่อมและนมไว้ให้สำหรับเติมเองด้วยครับ โดยเมล็ดกาแฟของที่ร้านจะใช้เป็นกาแฟ Arabica จากเกษตรกรในจังหวัดเชียงราย ซึ่งจะมีทั้งที่มาจากดอยช้างและดอยผาฮี้ครับ


วันนี้ได้ลองสั่งขนมเค้ก และอาหารของที่ร้านมาหลายเมนูด้วยกันครับ มองว่าเป็นร้านที่ทำ presentation ของอาหารได้ดีในทุก ๆ จาน และรสชาติก็ยังดีมาก ๆ อีกด้วยครับ

ร้านอาหาร​ หลู้ลำ

อีกหนึ่งร้านอาหารพื้นเมืองที่เปิดมานานกว่า 50 ปีแล้ว โดยร้านจะตั้งอยู่บนแพริมแม่น้ำกก ซึ่งเมื่อก่อนร้านนี้ยังเป็นแพเล็ก ๆ มีไม่กี่โต๊ะเท่านั้น แต่ครั้งล่าสุดที่ผมมาร้านนี้ใหญ่กว่าเดิม พร้อมกับมีโซนที่นั่งให้เลือกทั้งในห้องแอร์ บนบกหรือว่าจะเป็นบนแพริมน้ำ ซึ่งถ้าหากมาทานอาหารตอนเย็นจะสามารถมองเห็นพระอาทิตย์ตกได้ด้วยครับ

ที่มาของชื่อร้านมาจากคำ 2 คำคือ “หลู้” เป็นเมนูประเภทดิบสดที่จะนำเลือดหมูสด ๆ มาใส่กับเครื่องปรุง และใช้ใบตะไคร้ เพื่อดับกลิ่นคาว ส่วนคำว่า “ลำ” ของทางภาคเหนือจะความหมายว่าอร่อย ทำให้เมนูที่ขึ้นชื่อของร้านนี้ก็จะเป็นเมนูหลู้นั่นเองครับ ซึ่งเมนูนี้อาจจะเป็นเมนูอาหารที่เข้าถึงยากสักนิดสำหรับคนทั่วไป เพราะว่าเป็นเมนูอาหารที่ทานดิบๆ แต่ไม่บ่อยเช่นกันที่เราจะมีโอกาสได้ลองทานอาหารพื้นเมืองแท้ ๆ แบบนี้ 

ร้านอาหารมี 2 โซนด้วยกันครับ อาจจะเลือกนั่งในร้านหรือจะบนเรือที่เป็นส่วนต่อขยายลงไปในแม่น้ำก็ได้บรรยากาศที่ชิลไปอีกแบบครับ 

นอกจากนี้เมนูหลู้แล้ว ที่นี่ก็ยังมีรายการอาหารให้เลือกเยอะพอสมควรเลยครับ โดยจะมีทั้งอาหารพื้นเมืองของทางเหนือแท้ ๆ อย่างไส้อั่ว น้ำพริกอ่อง น้ำพริกหนุ่ม ลาบ และเมนูที่ผมอยากแนะนำก็คือลาบหมูคั่ว รสชาติอร่อยใช้ได้เลยครับ และผักเคียงที่ให้มานั้นก็หลากหลายด้วยครับ 

RiRi Teahouse

คาเฟ่ร้านน้ำชาสไตล์ญี่ปุ่น – ฝรั่งเศส ที่เป็นหนึ่งในร้านของโครงการ Canary Farm พื้นที่ส่วนตัวของคุณเก๋-ภัทรศักดิ์ โอสถานุเคราะห์ ที่เปลี่ยนพื้นที่ริมลำธารธรรมชาติที่ไหลมาจากน้ำตกแม่กรณ์เป็นร้านอาหาร คาเฟ่ และฟาร์มครับ

RiRi Teahouse

ร้าน RiRi Teahouse เป็นร้านชาบรรยากาศน่ารัก ๆ ริมธารน้ำต่างระดับ ให้เราได้นั่งห้อยขา ฟังเสียงน้ำไหลเบา ๆ ครับ

พร้อมกับจิบเครื่องดื่ม Signature ของทางร้านอย่างเมนูชา ที่นำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่นโดยตรง ซึ่งจะมีตัวเลือกชาให้เลือกประมาณ 3-4 เมนู โดยเราสามารถเลือกได้ว่าอยากดื่มแบบร้อนหรือเย็น ถ้าเป็นเมนูแบบเย็นจะมีให้เลือกว่าจะผสมนมด้วยมั้ย ส่วนเมนูขนมของที่นี่จะมีให้เลือกทั้งขนมสไตล์ญี่ปุ่นและขนมฝรั่งเศส

RiRi Teahouse

ในพื้นที่เดียวกันก็จะมีร้าน Canary Cafe & Restaurant ร้านอาหารที่มีเมนูให้เลือกทั้งอาหารพื้นเมืองสไตล์เจียงฮาย อาหารไทยและอาหารฟิวชั่น ซึ่งที่ร้านนี้จะเลือกใช้วัตถุดิบจากในฟาร์มเป็นหลัก อย่างเช่น ผักสดต่าง ๆ ที่เสิร์ฟก็เป็นผักปลอดสารพิษทั้งหมดครับ

หรือว่าถ้าหากใครเป็นสายดื่มกาแฟ ผมแนะนำร้าน Aso Coffee Roastery ร้านกาแฟที่เลือกใช้เมล็ดกาแฟหลากหลายตัว ทั้งเมล็ดกาแฟ House Blend ของไทย จากดอยปางขอน และจากต่างประเทศ ซึ่งเมล็ดกาแฟของที่นี่การันตีรสชาติด้วยรางวัล ASEAN Coffee Award ด้วยครับ

ART AND GALLERY 
– ขัวศิลปะ (Art Bridge)
– พิพิธภัณฑ์บ้านดำ (Baandam Museum)
– ดอยดินแดง (Doy Din Dang Pottery)

ขัวศิลปะ

ที่นี่ถูกก่อตั้งขึ้นจากการรวมตัวกันของกลุ่มศิลปินในเชียงราย โดยเริ่มแรกได้รับเงินทุนจาก อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เป็นจำนวน 5 แสนบาทเพื่อจัดตั้งเป็นกองทุนสำหรับศิลปินในเชียงราย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสนับสนุน และส่งเสริมการทำงานของศิลปินและการเรียนทางด้านศิลปะในจังหวัดเชียงราย ต่อมาก็มีการระดมทุนเพิ่มเติมจากพี่น้องศิลปินด้วยกันเอง เพื่อนำเงินมาลงทุนเป็นธุรกิจที่จะสามารถทำรายได้ และอยู่ได้อย่างยั่งยืนครับ

ขัวศิลปะ เป็นการผสมคำ 2 คำ คือคำว่า “ขัว” ที่ในภาษาเหนือแปลว่า สะพาน และคำว่า “ศิลปะ” เข้าด้วยกัน พอนำ 2 คำมาต่อกันจึงหมายถึง สะพานที่จะคอยเชื่อมศิลปะไปสู่สังคม ที่นี่นอกจากจะมีการจัดแสดงงานศิลปะแบบหมุนเวียน ของศิลปินในเชียงรายทั้งรุ่นเล็กไปจนถึงรุ่นใหญ่แล้ว ก็ยังมีงานศิลปะจากศิลปินต่างชาติเข้ามาจัดแสดงด้วย นอกจากนี้แล้วที่นี่ยังมีร้านอาหารและร้านกาแฟให้นั่งพักผ่อน จิบกาแฟ ชิมอาหาร ริมแม่น้ำกก ก็ได้บรรยากาศที่พักผ่อนสบาย ๆ เหมือนกันครับ

ช่วงที่ผมเดินทางไปที่ขัวศิลปะ เป็นช่วงที่มีการจัดงาน “Landscape World” ที่รวมผลงานของศิลปินกว่า 23 คน โดย Concept ของงานจะเป็นการพูดถึงความทรงจำที่ได้จากการออกเดินทางไปเที่ยวในมุมต่าง ๆ ของโลก ซึ่งจะถูกถ่ายทอดออกมาผ่านทางงานศิลปะแต่ละชิ้นครับ

พิพิธภัณฑ์บ้านดำ

ผมคิดว่าหลายคนน่าจะรู้จักกับอ.ถวัลย์ ดัชนี กันเป็นอย่างดี เพราะว่าอาจารย์เป็นหนึ่งในศิลปินแห่งชาติชาวล้านนาที่มีชื่อเสียง ที่ได้ฝากผลงานศิลปะไว้มากมาย ทั้งงานด้านจิตรกรรม ประติมากรรม หรือด้านสถาปัตยกรรม และยังเป็นผู้สร้าง “บ้านดำ” หรือ “พิพิธภัณฑ์บ้านดำ” แห่งนี้ด้วย ซึ่งพิพิธภัณฑ์นี้มีเนื้อที่กว่า 100 ไร่

โดยเหตุผลที่ที่นี่เรียกว่า “บ้านดำ” เพราะว่ากลุ่มบ้านเล็กบ้านใหญ่จำนวนกว่า 36 หลังนี้ ส่วนใหญ่ถูกทาด้วยสีดำ ซึ่งเป็นสีโปรดของอ.ด้วยโทนสีของบ้านที่เป็นสีดำ และเป็นสีตรงกันข้ามกับวัดร่องขุ่นของอ.เฉลิมชัย จึงทำให้มีคำพูดเปรียบเทียบสองสถานที่นี้ไว้ว่า “เฉลิมสร้าง สวรรค์ ถวัลย์สร้าง นรก”

พิพิธภัณฑ์บ้านดำ

พิพิธภัณฑ์บ้านดำ

บ้านแต่ละหลังจะประดับด้วยไม้แกะสลักที่มีลวดลายต่าง ๆ และยังประดับด้วยเขาสัตว์ เช่น เขาควายมากกว่า 100 ชิ้น เขากวาง หนังจระเข้ เปลือกหอยขนาดใหญ่ และยังมีกระดูกสัตว์ เช่น กระดูกช้าง เป็นต้น แต่ว่าบ้านที่เปิดให้เข้าชมได้จริง ๆ จะมีเพียง 2-3 หลังเท่านั้น เพราะว่าส่วนใหญ่จะเป็นบ้านที่ไว้สำหรับเก็บของสะสมของอาจารย์ถวัลย์ครับ

พิพิธภัณฑ์บ้านดำ

ดอยดินแดง

ดอยดินแดง หรือบางคนก็จะเรียกที่นี่ว่า “บ้านดอยดินแดง” มีจุดเริ่มต้นมาจากที่ศิลปินเซรามิกอย่างอ.สมลักษณ์ ปันติบุญ ได้ไปเรียนวิชาการปั้นมาจาก มาสเตอร์นากาซาโตะ ทารุเอมอน ที่เมือง Karatsu เกาะคิวชู หนึ่งในสถานที่ที่มีชื่อเสียงในด้านเครื่องปั้นมามากกว่า 400 ปี และได้กลับมาเปิดเป็นโรงงานและศูนย์แสดงผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาที่นี่ขึ้นมาครับ

ซึ่งที่นี่จะมีอาคารที่ถูกสร้างให้กลมกลืนไปกับธรรมชาติ โดยมีการนำสีแดงของดิน มาผสมเข้าไปในเนื้อปูน จนบางครั้งก็ทำให้หลายคนคิดว่าเป็นบ้านที่สร้างมาจากดิน ภายในตัวอาคารจะถูกแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนครับ

ดอยดินแดง

พื้นที่ของโรงปั้นจะมีการสาธิตการผลิตเครื่องปั้นดินเผา และยังเปิดโอกาสให้เราได้ลองปั้นจริง ๆ รวมถึงสามารถสอบถามหรือพูดคุยกับช่างได้อย่างใกล้ชิดครับ

จุดเด่นของเครื่องปั้นดินเผาของบ้านดอยดินแดง คือ การใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติภายในท้องถิ่น อาทิ ดินในท้องถิ่น ขี้เถ้าฟาง ขี้เถ้าไม้ไผ่ ซึ่งชื่อดอยดินแดงก็มีที่มาจากประเภทสีของดินที่อยู่ภายในพื้นที่นั่นเองครับ

ส่วนงานเซรามิกของดอยดินแดงแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ งานเซรามิกประเภทเครื่องถ้วย จาน ชาม ที่ใช้บนโต๊ะอาหาร รวมไปถึงแจกัน กระถาง และเครื่องประดับตกแต่งอาคาร กับส่วนของผลงานทางด้านศิลปะที่แฝงไปด้วยความรู้สึก จินตนาการ และเทคนิคเฉพาะตน โดยเราสามารถที่จะซื้อติดมือกลับบ้านได้ครับ

ดอยดินแดง

STAY
– Le Meridien Chiang Rai Resort

Le Meridien Chiang Rai

โรงแรม 5 ดาวใจกลางเมืองเชียงราย ที่มีขนาดพื้นที่กว่า 26 ไร่ ซึ่งอยู่ภายใต้แบรนด์ Le Meridien โดยจุดเด่นของห้องพักที่นี่จะอยู่ที่การออกแบบที่มาในสไตล์การตกแต่งแบบร่วมสมัยผสมผสานเข้ากับศิลปะล้านนาได้อย่างลงตัว นอกจากนี้ภายในแต่ละห้องจะออกแบบด้วยเพดานสูง ให้ความรู้สึกโปร่งโล่ง และมาพร้อมกับระเบียงส่วนตัวทุกห้องเลยครับ ส่วนตัวผมชอบโรงแรมนี้มาก ๆ ครับ

Le Meridien Chiang Rai

ผมจะมาเล่า Brand story ของ Le Meridien ให้ทุกคนฟังกันสักนิดก่อนที่จะพาทุกคนไปชมห้องพักกันครับ โดยโรงแรม Le Meridien เปิดตัวครั้งแรกโดยสายการบิน Air France ที่เมืองปารีส ในปี พ.ศ. 2515 ซึ่งชื่อของแบรนด์มาจากคำว่า Meridien ที่หมายถึงเส้นเมอริเดียน สัญลักษณ์ที่ใช้อ้างอิงถึงเส้นพิกัดทางภูมิศาสตร์ โดยเราจะสามารถสังเกตเลขนี้ได้จากภายในห้องพักทุกห้องของโรงแรม Le Meridien นอกจากนี้ตัวแบรนด์ยังวาง position ของตัวเองให้เป็นเหมือนบ้านหลังที่สองของนักท่องเที่ยวทุก ๆ คนครับ

สิ่งที่ Le Meridien ไม่เหมือนกับแบรนด์อื่นๆ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นของแบรนด์ก็ได้ คือการนำเอาวัฒนธรรมในท้องถิ่นนั้น ๆ และงานศิลปะมาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบและตกแต่งของโรงแรม โดยมีการนำเสนอผ่านมุมต่าง ๆ ภายในโรงแรม ทั้ง Lobby การตกแต่งภายในห้องพัก ไปจนถึงห้องอาหาร

Reference : https://www.hospitalitynet.org/news/4080418.html

ต้นฉำฉาหรือที่หลาย ๆ คนรู้จักกันในชื่อว่า “ต้นจามจุรี” 2 ต้นไม้ใหญ่ประจำโรงแรม โดยทั้ง 2 ต้นอยู่มาก่อนที่จะสร้างโรงแรมแห่งนี้ มีอายุกว่า 120 ปีแล้วครับ 

ต้นจามจุรีอีกต้นจะอยู่บริเวณหน้าสระว่ายน้ำครับ

ห้องที่ผมเลือกพักจะเป็นห้อง Grand Deluxe ที่มาพร้อมกับ Garden Access ทำให้ผมสามารถเดินออกมาที่สวนของโรงแรมได้ โดยไม่ได้เดินออกจากห้องก่อน แถมห้องที่ผมพักก็อยู่ไม่ไกลจากสระว่ายน้ำด้วยครับ

ห้องนี้จะมีขนาดประมาณ 66 ตร.ม. มีการแบ่งสัดส่วนเป็นห้องนอน ห้องน้ำ และระเบียง เริ่มจากที่ห้องนอนกันก่อน ห้องที่ผมจองเป็นห้อง King Bed ที่จะมาพร้อมกับเตียงขนาดใหญ่และนุ่มมาก ๆ เลยครับ มี TV จอใหญ่และมุมโต๊ะทำงาน โทนสีภายในห้องทำออกมาในแบบที่ผมชอบครับ โรงแรมออกแบบวัสดุที่เป็นไม้ กระจก และโลหะ เล่นสีให้อยู่โทนสีเทาและดำ ให้ความรู้สึก Modern European อันเป็นเอกลักษณ์ของ Le Meridien ที่โดดเด่น และแตกต่างไปจากโรงแรมอื่น ๆ ในเชียงรายครับ

ส่วนมุม Highlight ของที่นี่ก็คงจะเป็นมุมระเบียงที่เราสามารถออกไปนั่งชิล ๆ รับลม ชมวิวได้ ถือว่าเป็นมุมโปรดของผมเลยครับ

สะพานข้ามทะเลสาบ อีกหนึ่งสัญลักษณ์สำคัญของ Le Meridien Chiang Rai Resort 

ส่วนเมนูอาหารเช้าของที่โรงแรมจะเป็นแบบ Line Buffet ที่มีอาหารให้เลือกหลากหลายเลยครับ ที่พิเศษกว่าที่อื่นคงจะเป็นมุมอาหารพื้นเมืองอย่าง น้ำพริกหนุ่ม และน้ำพริกอ่องที่มาพร้อมกับไข่ต้ม แคปหมู ผักต้ม และข้าวเหนียว นอกจากนี้ที่นี่ก็ยังมีเมนูอาหารพิเศษประจำวัน และเมนู Signature Eye Openers ที่จะเป็นเครื่องดื่มที่ช่วยให้เราตื่นตาก่อนที่จะเริ่มทานอาหารเช้านั่นเองครับ

Conclusion

เชียงรายครั้งนี้ในสายตาผมนั้น ค่อนข้างจะแตกต่างกับเชียงรายที่ผมเคยมาในครั้งก่อนครับ เพราะว่าเชียงรายในครั้งนี้เหมือนกับเป็นเชียงรายที่ได้มีการพัฒนาขึ้นจากเชียงรายในยุคสมัยก่อน อาจจะเพราะด้วยการที่มีคนรุ่นใหม่กลับมาพัฒนาจังหวัดเชียงรายให้ดูมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้นครับ

และเมื่อ “Ars longa, Vita brevis” หรือ ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น การพัฒนาเชิงวัฒนธรรมกลายเป็นพิมพ์เขียวใหม่ของเมือง ศิลปะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตให้เมือง เป็นเมืองที่ดีกว่าเดิม ภาพสะท้อนที่ฉายผ่านวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม และไลฟ์สไตล์ ได้เปลี่ยนเชียงรายให้เป็นเมืองที่มีสีสันฉูดฉาดไปกว่าภาพจำที่เราเคยคิด ในวันก่อน คุณอาจจะมองเห็นที่นี่เป็นเพียงทางผ่านที่ไร้การจดจำ ในวันนี้คุณได้เห็นถึงความสวยงามที่อยากจะจดจำผ่านบันทึกการเดินทางนี้ และในวันหน้าเมื่อคุณมาที่นี่ คุณอาจจะรักและจดจำ เชียงราย ในแบบเดียวกับผมก็ได้ครับ

แม้ว่าโพสต์นี้จะจบแล้ว แต่ว่าเรื่องราวในจังหวัดเชียงรายยังไม่จบนะครับ เพราะว่าผมยังมีเรื่องราวอีก 2 Part ที่อยากจะมาเล่าให้ทุกคนได้ฟังครับ ซึ่ง Part ต่อไปผมจะพาทุกคนขับรถออกไปเที่ยวนอกตัวเมืองเชียงรายกันหน่อย โดยเป้าหมายต่อไปของผมจะเป็นเรื่องราวในเมืองเชียงแสนครับ 

ไว้รอติดตามชมเร็วๆนี้นะครับ

เปียง