งานศิลปะแห่งวิถีชีวิตริมคลองฝั่งธนบุรี EXPLORING THE KHLONGS OF THONBURI

งานศิลปะแห่งวิถีชีวิตริมคลองฝั่งธนบุรี
EXPLORING THE KHLONGS OF THONBURI

มองอดีต สะท้อนปัจจุบัน จากวิถี “คนกับคลอง” สู่ วิถี “รถกับถนน” การท่องเที่ยวทางน้ำด้วยเรือหางยาว กับที่เที่ยวทั้งในกระแสและนอกกระแส

สวัสดีครับ ผมเปียง ต้อนรับเดือนตุลาคมด้วยคอนเทนต์ท่องเที่ยวแรกของครึ่งปีหลังที่ผมตั้งใจนำมาฝากทุกท่านครับ ครั้งนี้ผมอยู่บนเรือหางยาวนำเที่ยว ในเส้นทางสัญจรทางน้ำคลองบางกอกน้อย-บางกอกใหญ่ ทราบหรือไม่ครับ เส้นทางสายนี้ แท้จริงแล้วคือแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมที่ตื้นเขินต่างหาก แม่น้ำเจ้าพระยาเดิมขดเคี้ยวเป็นรูปตัว C บนที่ราบของกรุงเทพฯ จึงมีการขุดคลองลัดเพื่อร่นเวลาเดินเรือ คลองลัดเล็ก ๆ นั้นค่อย ๆ ขยายกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหญ่แบบที่เราเห็น สภาพพื้นที่จึงเป็นเกาะที่ล้อมด้วยคลองบางกอกน้อย คลองบางกอกใหญ่ และแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่แบบในปัจจุบัน เส้นทางนี้เชื่อมคลองน้อยใหญ่ในพื้นที่ฝั่งธนฯ หนาแน่นไปความน่ารักของวิถีชีวิตชุมชนริมน้ำและวัฒนธรรมผสมผสานที่ได้รับการบ่มเพาะผ่านกาลเวลามาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี

เดิมที ที่นี่คือเส้นทางที่จอแจไปด้วยเรือที่สัญจรไปมาตลอดทั้งวัน ห้อมล้อมด้วยบรรยากาศคึกคักของบ้านเรือนและวิถีชีวิตริมน้ำดั้งเดิมแบบไทยที่ดึงดูดชาวต่างชาติมากมายให้ได้มาสำรวจกัน นี่ก็เป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้วครับ ที่เรือหลายลำจอดนิ่งไม่ได้สัญจรอีกเลยตั้งแต่ช่วงเริ่มของสถานการณ์โรคระบาด จากคลองที่น้ำไม่เคยนิ่ง วันนี้ว่างเปล่า แทบไม่เห็นการสัญจรที่นี่ เรือของพวกผมคือเรือเพียงไม่กี่ลำที่กำลังแล่นอยู่เพื่อ ชื่นชมความงามของทัศนียภาพโดยรอบ

ความน่าสนใจของทริปนี้คือความ “authentic” ของประสบการณ์ที่เราได้พบเจอครับ วิถีชีวิตตามที่ดำเนินอยู่จริง คนตกปลา ไก่ย่างบนเรือ วัดริมน้ำ เรือขนทราย ชาวบ้านที่โบกมือทักทายพวกเราตลอดทาง บ้านเรือนจริงที่ไม่ได้ถูกจัดวางให้สวยงามกว่าปกติ และความสวยงามแปลกตาที่มีอยู่จริงตามเส้นทางน้ำในแบบที่เราไม่ได้คาดหวัง เป็นช่วงเวลาพิเศษที่ผมคิดว่าคุณน่าจะชอบเหมือนกัน ครึ่งวันกับการลัดเลาะไปตามคลองสายน้อยใหญ่ในย่านฝั่งธนบุรี เริ่มจากคลองบางกอกน้อย แล่นสู่คลองชักพระ คลองบางกอกใหญ่ และผ่านประตูปรับระดับน้ำก่อนออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

ครั้งนี้เราอาสาเป็นไกด์ นั่งเรือไปเล่าไปนะครับ นอกจากภาพที่ผมถ่ายมาแล้ว ผมและทีมงานได้รวบรวมเรื่องราวที่อัดแน่นไปด้วยประวัติศาสตร์น่ารู้ให้ทุกท่านได้ดื่มด่ำกัน หวังว่าจะชอบกันนะครับ

เรื่องราวของเราจะแบ่งเป็น หลายพาร์ทด้วยกัน เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของการกำเนิดกรุงธนบุรี และ เมืองบางกอกในอดีตคลองบางกอกน้อย คลองบางกอกใหญ่ จุดกำเนิดของแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหญ่ วิถีริมคลอง การท่องเที่ยวทางน้ำด้วยเรือหางยาว กับที่เที่ยวทั้งในกระแสและนอกกระแส
มองอดีต สะท้อนปัจจุบัน จากวิถี “คนกับคลอง” สู่ วิถี “รถกับถนน”

ขึ้นเรือ นั่งสบาย ๆ และ ชมและฟังเรื่องราวดี ๆ บน 2 ฝั่งคลอง ไปด้วยกันกับผมครับ
เปียง


#BANGKOKTRIP #PYONGSEEWHATISEE #PYONGDOCTOR

งานศิลปะแห่งวิถีชีวิตริมคลองฝั่งธนบุรี
EXPLORING THE KHLONGS OF THONBURI

มองอดีต สะท้อนปัจจุบัน จากวิถี “คนกับคลอง” สู่ วิถี “รถกับถนน” การท่องเที่ยวทางน้ำด้วยเรือหางยาว กับที่เที่ยวทั้งในกระแสและนอกกระแส

ข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามาในอีกพื้นที่หนึ่งที่ผมยังไม่เคยเดินสำรวจอย่างจริงจังในฝั่งธนบุรี เขตเมืองเก่าตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง กับชุมชนริมน้ำและคลองน้อยใหญ่ที่ลัดเลาะเชื่อมชุมชนหลายแห่งเข้าด้วยกัน

บ้านเรือนริมน้ำแต่ดั้งเดิมถูกต่อเติมแบบสมัยนิยม บ้างก็กลายเป็นบ้านสมัยใหม่ บ้างก็ยังคงรูปแบบเดิมเอาไว้ ในขณะที่บ้านบางหลังกำลังผุพัง และค่อย ๆ ทรุดตัวลง เด็กกระโดดน้ำ คนตกปลา เรือสัญจรขนาดเล็ก ผู้คนที่กำลังใช้ชีวิตของเขา เรียงรายเป็นงานศิลปะชิ้นงามที่ส่องสว่างตกกระทบและสะท้อนออกมาให้เห็นผ่านเงาจากผิวน้ำ เป็นภาพที่ไม่ได้สวยงามตามพิมพ์นิยม แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและงดงามยิ่งกว่าอะไรที่ถูกจัดวางทั้งหมด นี่คือสิ่งที่ผมรักครับ

หากเราลองกางแผนที่ดูกันเล่น ๆ จะเห็นว่าเส้นทางของคลองบางกอกน้อยและคลองบางกอกใหญ่จะวนกันเป็นวงกลมใหญ่ ๆ หนึ่งวงพอดี จะว่าไปก็เหมือนเป็น perfect circle วงหนึ่งที่ถ้าเราอยากจะลองสัมผัสวิถีชีวิตริมน้ำ ท่องเที่ยวเพื่อซึมซับกลิ่นอายของอดีตและประวัติศาสตร์ของชุมชนในย่านนี้ การเดินทางด้วยเรือหางยาวนำเที่ยวของชาวบ้าน จึงเป็นการตอบโจทย์ที่ดีที่สุดครับ เพราะนอกจากจะได้เข้าใกล้กับตัวสถานที่แล้ว ยังช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางไปได้มากกว่าการโดยสารทางบกด้วยรถยนต์เสียอีกครับ สถานที่ต่าง ๆ มีท่าเรือให้เราเดินขึ้นฝั่งเดินไปเที่ยวต่อได้ง่ายมากครับ

การเดินทางในเวลาสั้น ๆ เพียง 3 ชั่วโมง สำหรับผมมันคือสิ่งที่เรานิยามมันว่า unseen อย่างแท้จริง เริ่มที่คลองบางกอกน้อย เข้าสู่คลองบางกอกใหญ่ และ ผ่านประตูปรับระดับน้ำเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่เราสามารถมองเห็น สะพานพระปิ่นเกล้า สะพานพระราม 8 และ พระบรมมหาราชวังได้อย่างชัดเจน

สถานการณ์โรคระบาดสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ให้กับเส้นทางน้ำของชุมชนแห่งนี้ครับ จากที่เคยคลาคล่ำไปด้วยเรือหางยาวโดยสารสัญจร เรือท่องเที่ยวกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจากทั่วทุกมุมโลก ต้องบอกว่า ก่อนหน้านี้คลองทั้งสายนี้ไม่เคยนิ่งเลยครับ เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงแรกที่นักท่องเที่ยวชาวจีนไม่สามารถเดินทางมาเที่ยวไทยได้ ความถี่ของการสัญจรในคลองแห่งนี้ก็ค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ เรือหลายลำจอดนิ่ง ๆ ไม่ได้ใช้งานมานับ 2 ปีแล้ว นับว่าสร้างความเปลี่ยนแปลงมหาศาลให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเส้นทางสายนี้ครับ

ทริปนี้จึงเป็นทริปเรือแรก ๆ ในช่วงนี้ก็ว่าได้ โดยวันนี้ผมได้เลือกการบริการนำเที่ยวจากทาง Bangkok Boat Trip ครับ วันนี้ผมเริ่มออกสตาร์ทกันที่วัดตลิ่งชัน นำรถมาจอดและลงเรือที่นี่ครับ บริเวณที่ออกตัวนี้เรียกว่าคลองชักพระ เป็นส่วนหนึ่งของคลองบางกอกน้อยครับ แจ้งให้ทราบว่าจริง ๆ แล้วหากจะเที่ยวด้วยเรือหางยาวแบบนี้ เรามีตัวเลือกในการขึ้นเรือเยอะมากครับ แนะนำที่นี่เพราะเหมาะกับคนที่นำรถยนต์ส่วนตัวไป ภายในวัดมีที่จอดรถสะดวก และหากสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติดังเดิม ตลาดน้ำตลิ่งชันภายในวัด ก็จะกลับมาเปิดให้บริการเหมือนเช่นเคยอีกด้วยครับ

ธนบุรีคืออะไร และ บางกอกคืออะไร

เมื่ออรุณแรกแห่งรุ่งสาง เมื่อกว่า 250 ปีที่แล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรืออีกพระนามในบางตำราคือ สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 พระบรมหน่อพุทธางกูรเจ้า ได้เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคจากกรุงศรีอยุธยา ราชธานีแห่งเดิมของสยามเมื่อคราวต้องล่มสลายไปอย่างมิได้มีผู้ใดคาดคิดมาก่อน กรีฑาพลมายังเมืองบางกอก บริเวณวัดอรุณฯ หรือในขณะนั้นมีชื่อเรียกว่า “วัดมะกอกนอก” เป็นเวลารุ่งสางพอดี พระยาตากในขณะนั้น ได้ขึ้นไปสักการะพระปรางค์ริมน้ำ ที่แต่เดิมมีความสูงเพียงแค่ 16 เมตร หากในปัจจุบันมีความสูงถึง 70 เมตร หรือเกือบ 5 เท่า และได้ทรงพระราชทานนามของวัดใหม่เป็น “วัดแจ้ง” มงคลนามอันเป็นที่มาของโมงยามแห่งมงคลฤกษ์ อวยชัยในการเลือกถิ่นฐานนี้ สร้างบ้านแปงเมืองขึ้นเป็นราชธานีแห่งใหม่ในกาลต่อมา นามว่า “กรุงธนบุรี” หรือ “ธนบุรีศรีมหาสมุทร” ราชธานีลำดับที่ 3 ของประเทศไทย ตรงกับวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2313

ความน่าสนใจของการมีตัวตนของกรุงธนบุรีนั้นไม่ได้เริ่มขึ้นในช่วงที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งเมืองแห่งนี้เป็นราชธานีแห่งใหม่นะครับ หากสืบค้นกันให้ลึก จะพบว่า “เมืองทนบุรียศรีมหาสมุทร” (บ้างก็ว่า ธนบุรียศรีมหาสมุทร , ธนบุรีศรีมหาสมุทร ตามแต่หลักฐานที่เล่าขาน) หลังจากมีการตั้งกฎหมายตราสามดวง ทางราชการใช้ชื่อ ธนบุรีศรีมหาสมุทร ยืนเป็นชื่อเดียวมาตลอด เป็นเมืองที่มีความสำคัญในด้านเศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง และการทหารมาตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ 22 เลยทีเดียวครับ “ธนบุรีศรีมหาสมุทร” หมายถึง เมืองแห่งทรัพย์อันเป็นศรีแห่งมหาสมุทร แต่ชาวบ้านทั่วไปเรียกชุมชนแห่งนี้ว่า “เมืองบางกอก” ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดที่จะระบุไปตรง ๆ ได้ว่ามีการเข้ามาตั้งรกรากอาศัยของชาวบ้านกันแต่เมื่อใด เพียงแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา รู้จักชื่อของเมืองบางกอกเป็นเมืองหน้าด่านปากแม่น้ำที่มีการจัดเก็บภาษีส่งไปยังอยุธยาอยู่เดิมที รวมไปถึงหลักฐานชี้ว่าทำไมจึงเรียกว่า เมืองบางกอก ก็มีเสียงแตกกันไปหลายอย่างเช่น เมื่อสมัยก่อนบริเวณนี้มีต้นมะกอกน้ำอยู่เป็นจำนวนมาก บางก็ว่าเพี้ยนมาจาก “บางเกาะ” เพราะคุ้งน้ำในแถบนี้มีเกาะแก่ง คดโค้งไปตามกระแสน้ำ จึงพากันเรียกว่าบางเกาะ หรือบ้างก็ว่ามาจากภาษามอญโบราณ คำว่า กอก หมายถึง การเก็บรวบรวม ซึ่งน่าจะหมายถึง การเก็บภาษี ซึ่งก็จะตรงกับการที่เมืองบางกอกเป็นเมืองหน้าด่านในเก็บภาษีอย่างที่ว่ามานั่นเองครับ

กำเนิดคลองบางกอกน้อย และ คลองบางกอกใหญ่

และเหตุการณ์ครั้งสำคัญ ในการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ทางการเดินเรือของไทยเรานั่นคือ มีการขุดคลองลัดบางกอกเพื่อร่นระยะทางระหว่างปากอ่าวไทย (อ่าวสยาม) กับกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช ทราบหรือไม่ครับว่า ในสมัยก่อน แนวการไหลของแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ได้เป็นทางตรงแบบที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน แม่น้ำมีความคดเคี้ยวไปตามธรรมชาติของกระแสน้ำ กวัดไกวโค้งไปโค้งมา ซึ่งพอมาถึงจุดที่ปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลองนึกภาพตามผมนะครับ แนวของแม่น้ำจะวกเข้าไปทางขวา ซึ่งเป็นแนวของคลองบางกอกน้อยในปัจจุบัน และไหลเป็นวงกลมขนาดใหญ่ มาออกสู่ปากแม่น้ำ โดยมีการเชื่อมกับคลองบางกอกใหญ่บริเวณปากคลองชักพระ (บริเวณหน้าธรรมศาสตร์มาจนถึงปากคลองบางกอกใหญ่เคยเป็นแผ่นดินผืนใหญ่ผืนเดียวกัน) ในเวลาต่อมา หลังจากขุดคลอง กระแสน้ำหลักได้เปลี่ยนทิศทางมาไหลผ่านคลองลัดที่ขุดใหม่ คลองลัดนี้จึงค่อย ๆ กว้างใหญ่ขึ้นจนกลายเป็นแม่น้ำ ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมที่เป็นโค้งวงกลมก็เริ่มเล็กลงจนกลายเป็นคลองบางกอกน้อยและคลองบางกอกใหญ่อย่างที่เราเห็นในปัจจุบันครับ การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของสยามหรือกรุงศรีอยุธยาในขณะนั้นในการเปิดเส้นทางเดินเรือใหม่เพื่อความสะดวกแก่บรรดาทูตานุทูตชาวตะวันตกและพ่อค้าเดินเรือที่เริ่มหลั่งไหลเข้ามาทำการค้าขายและเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา และกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสายสำคัญของประเทศไทยเราจนถึงทุกวันนี้ครับ

เมื่อกระแสน้ำมีการเปลี่ยนไป นอกจากจะช่วยในเรื่องการเดินเรือที่เร็วขึ้นถึง 1 วันแล้ว และแน่นอนครับว่า landscape หรือลักษณะทางภูมิประเทศก็เปลี่ยนไปด้วย เมืองบางกอกจึงมีกายภาพที่เปลี่ยนไปเป็นเกาะ และนั่นก็อาจจะสอดคล้องกับข้อสันนิษฐานของชื่อ บางกอก ที่มาจากคำว่า บางเกาะ ตามลักษณะภูมิประเทศที่เป็นเกาะนั่นเองครับ และเหตุนี้เองสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงเล็งเห็นว่าเมืองบางกอกมีชัยภูมิที่ดี นอกจากจะเป็นเมืองหน้าด่านปากแม่น้ำแล้ว ยังถือเป็นเมืองที่เชื่อมการค้าระหว่างนครหลวงของราชอาณาจักรกับมหาสมุทรอินเดีย เป็นเมืองที่มีดินที่อุดมสมบูรณ์ เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยาได้พัดเอาดินตะกอนมาทับถม ปลูกอะไรก็งอกงาม รวมถึงมีลำคลองสายเล็กสายน้อยที่เชื่อมกับคลองเส้นหลักที่ลัดเลาะหากันได้หมดในขณะนั้น จึงเหมาะแก่การทำไร่ทำสวนอย่างมาก จนเมืองบางกอกขึ้นชื่อในฐานะเมืองแห่งแหล่งผลไม้ชั้นเลิศ ปรากฏในจดหมายเหตุของบรรดาราชทูตต่างประเทศหลายฉบับ อีกทั้งยังเป็นกำแพงเมืองปกป้องราชธานีได้เป็นอย่างดี จากที่จะเห็นว่าทรงได้โปรดเกล้าฯให้ปรับปรุงป้อมวิไชยประสิทธิ์ ที่ถูกสร้างขึ้นครั้งสมัยราชธานีเก่าโดย คอนสแตนติน ฟอลคอนหรือ เจ้าพระยาวิชเยนทร์ กลับมางดงามอีกครั้ง ซึ่งในทริปนี้เราจะเดินทางผ่านป้อมแห่งนี้ด้วยนะครับ

ชีวิตของชาวบ้านเมืองบางกอก หรือ ธนบุรี หลังการก่อร่างเป็นราชธานีแห่งใหม่ ยังคงใช้ชีวิตกันในบริเวณเมืองฝั่งตะวันตกริมคลองบางกอกน้อย และ คลองบางหลวง หรือคลองบางกอกใหญ่กันเสียส่วนมาก ด้วยความอุดมสมบูรณ์อย่างที่ว่ามาแล้ว ทำให้เมืองบางกอกมีตลาดการค้าขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า ปสาน บ้านเรือนส่วนมากอาศัยอยู่ริมน้ำ สร้างหันหน้าเข้าหากัน ใช้ไม้ไผ่ทำโครงสร้างและมุงด้วยใบจากหรือใบมะพร้าว ปลูกติดอยู่ติด ๆ กัน เป็นยุคที่คนผูกพันกับสายน้ำอย่างมาก

สำหรับคลองบางกอกใหญ่ดังข้อความในหนังสือพิมพ์ The Bangkok Recorder ฉบับวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2408 กล่าวว่า ปากคลองบางกอกใหญ่ในสมัยก่อน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงโปรดฯให้สร้างพระตำหนักหลังเล็กในคราแรกเมื่อย้ายถิ่นฐานมายังที่แห่งนี้ ด้วยความที่เป็นถึงเจ้าอยู่หัวและมีบ้านพักขุนนางและข้าราชบริพารตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านที่พายเรือผ่านไปผ่านจึงรู้สึกประหม่าและเกรงกลัวโดยที พายเรือไป ก้มหัวไป ก้มหน้าไป ด้วยเกรงอาญา จึงเรียกชื่อลำลองตรงปากคลองแห่งนี้ว่า คลองข้างหลวง คลองบางข้างหลวง หรือคลองบางหลวง เนื่องจากมีวังของพระเจ้าแผ่นดินตั้งอยู่นั่นเอง สำหรับชื่อ คลองบางหลวง หรือ คลองบางกอกใหญ่ มีการสับสนกันไปหลายแบบครับ ว่ากันว่าจะเป็นชื่อใดก็คือคลองสายเดียวกันนั่นเอง หากแต่ในเอกสารราชการของไทยให้ใช้ชื่อว่า คลองบางกอกใหญ่ แต่อีกเสียงหนึ่งก็บอกว่า เส้นคลองจากชุมชนคลองบางหลวง ตลาดน้ำคลองบางหลวงไปจนถึงแค่แยกคลองด่าน ข้างวัดปากน้ำภาษีเจริญ เรียกว่าคลองบางหลวง หลุดจากนั้นไปยังปากคลองบางกอกใหญ่ ให้เรียกว่าคลองบางกอกใหญ่ครับ (มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์บอกว่า ชื่อเดิมของวัดปากน้ำภาษีเจริญคือ วัดบางหลวง ทำให้เป็นอีกหลักฐานหนึ่งในการบ่งชี้ที่มาของคำว่า คลองบางหลวง) สำหรับปากคลองบางกอกใหญ่นี้ จะมีรูทท่องเที่ยวที่เราสามารถจอดเรือแล้วเดินเที่ยวหากันได้ภายในเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง แต่เที่ยวได้หลายที่มาก คอยติดตามกันไปเรื่อย ๆ นะครับ มาดูว่าตรงปากคลองบางกอกใหญ่นี้ มีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งใดที่ผมกล่าวถึงไปบ้างแล้ว ตามอ่านกันต่อได้เลยครับ

คลองบางกอกน้อย สายน้ำสำคัญอีกสายที่มีเส้นทางที่เชื่อมต่อกับคลองบางกอกใหญ่นั้น เดิมทีถือเป็นเส้นทางของแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมที่มีการคดโค้งตามกระแสน้ำธรรมชาติ หากเมื่อทางน้ำลัดได้เกิดขึ้นแล้ว คลองบางกอกน้อยจึงแคบลง กลายเป็นลำคลองสายเล็ก ๆ ความสำคัญจึงลดลงไปตามกาลเวลา คลองบางกอกน้อยมีความกว้างเพียงแค่ 40 เมตร ความยาววงรอบด้านใน 3.3 กิโลเมตร กินความยาวของสายน้ำจากปากน้ำตรงสถานีรถไฟธนบุรี หรือ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ไล่ไปจนถึงคลองชักพระ หรือ คลองบางขุนศรี แต่ในปัจจุบัน คลองลัดบางกรวย คลองอ้อม และ คลองอ้อมนนท์ ถือเป็นส่วนหนึ่งของคลองบางกอกน้อยด้วยนะครับ ฉะนั้นเราสามารถพูดได้ว่า หากจะโดยสารเรือไปยังเขตจังหวัดนนทบุรี เราจะต้องโดยสารผ่านคลองบางกอกน้อยกันอย่างแน่นอน ยาวไปถึงเขตอำเภอบางใหญ่เลยทีเดียวครับ

ผมคิดว่ามันมีความแตกต่างกันเล็กน้อยของผู้คนในเมือง กับชุมชนริมน้ำ อย่างที่เราอาจพอสัมผัสกันมาบ้าง บ้านใกล้กันอาจจะแทบไม่เคยคุยกันเลยด้วยซ้ำ เพื่อนบ้านห้องข้าง ๆ ไม่เคยเห็นหน้ากันเลยก็มี กลายเป็นเรื่องเคยชินของชุมชนในเมืองใหญ่ ในขณะที่ชุมชนริมคลองแห่งนี้ ขึ้นชื่อว่าอยู่ในเมืองหลวงเหมือนกัน แต่ให้ความรู้สึกเป็นกันเองกว่าอย่างไม่น่าเชื่อ

ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเพราะเหตุผลใด จากที่เรือของพวกเราขับผ่านไปตามเส้นทาง ชาวบ้านที่บังเอิญเห็นพวกเรา จะยิ้มทักทายให้อย่างเป็นมิตร บ้างโบกมือบ๊ายบาย บ้างตะโกนทักทาย ชวนทานข้าวด้วยกันก็มี (เขาคงไม่ได้ชวนจริง ๆ น่าจะแค่ชวนสนุก ๆ นะครับ) มันน่ารักนะ ผมไม่ได้คาดหวังจะเห็นอะไรพวกนี้ในกรุงเทพฯ

ลัดเลาะไปตามคลอง ลอดใต้สะพานมากมายตลอดเส้นทางครับ

วิถีชีวิตชุมชนริมน้ำตามกิจวัตรปกติ

เด็ก ๆ โบกมือให้เราตอนเรือแล่นผ่านครับ

สีสันของบ้านเมืองริมคลอง

โตขึ้นมาถึงได้มองเห็นว่า คู่สีที่เรือใช้ เป็นคู่สีที่เทสต์ดีมากๆ

พูดได้เต็มปากว่ารอบ ๆ นี้คือนิยามของคำว่า unseen Bangkok

สถานที่แรกที่เราแวะในวันนี้ คือ วัดเกาะครับ

เปิดทริปกันด้วยวัดนอกกระแสที่น้อยคนจะรู้จัก เพราะเดินทางไม่ได้ง่ายนัก หากไม่มาทางเรือ เราต้องจอดรถและเดินเท้าเข้ามา วัดแห่งนี้ไม่มีทางรถยนต์เข้าถึงครับ

วัดเกาะ อยู่ในเขตตลิ่งชัน ไม่ปรากฏหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรว่าสร้างขึ้นเมื่อใด หากแต่ตัววัด ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา (เขตที่ดินพระราชทานแก่สงฆ์) เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2473 ไม่ทราบนามผู้สร้าง

จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมของวิหารก่อปูนโบราณหลังเดิม และเจดีย์ที่ตั้งอยู่ด้านข้าง เป็นศิลปะช่างสมัยกรุงศรีอยุธยา ตัววิหารเป็นปูนเปลือยที่มีการกร่อนของปูนจนเป็นลายตามธรรมชาติคล้ายทรงก้นหอย หากสังเกตดี ๆ หน้าบันจะมีปูนปั้นตัวอักษร “ชุ่ม” สันนิษฐานว่าเป็นชื่อของผู้สร้าง และมีประดับปูนปั้นลายกนกโดยรอบ ภายในประดิษฐาน หลวงพ่อดำ พระพุทธรูปเก่าแก่อายุกว่า 327 ปี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ถือเป็นวัดนอกกระแสที่มีความแปลกตาทีเดียวครับ

บรรยากาศรอบ ๆ ตัววัด

ตัวนี้มันมานั่งจ้องผมซักพักแล้วครับ น้องอยากได้อะไรจากผมหรือเปล่า?

คำตอบอยู่ที่นี่ครับ

ไก่ย่างบนเรือเจ้าอร่อย คอนเฟิร์มโดยกัปตันของผมในวันนี้ เป็นไก่ย่างเสียบไม้ง่าย ๆ เนื้อไก่ ตับไก่ และ กึ๋นไก่ ไม้ละ 3 บาท (ถ้าจำไม่ผิด) รสชาติดีเลยแหละ ถ้าไปเที่ยวตามผม หากเจอเขาขับเรือขายอยู่ อย่าลืมเรียกอุดหนุนนะครับ อร่อย คอนเฟิร์มครับ

ให้อาหารปลาริมน้ำหน้าวัด แต่รอบนี้เราไม่ได้อยู่บนท่า แต่เราให้บนเรือเลย

แล่นเรือมาอีกซักพัก เรามาถึงวัดกำแพงบางจากครับ

ลัดเลาะผ่านบ้านเรือนริมน้ำกับบรรยากาศเย็นสบายกันมาต่อที่จุดที่เรียกกันว่าคลองบางหลวงครับ ที่นี่เราสามารถทำกิจกรรมได้หลากหลายเช่น เข้าวัด เดินเที่ยวตลาดน้ำ และแวะชิมอาหารร้านดังในย่านนี้ได้ครับ เริ่มกันที่วัดดังของย่านนี้ วัดกำแพงบางจาก

วัดกำแพงบางจาก เป็นอีกหนึ่งวัดเก่าแก่ที่ไม่ปรากฏลายลักษณ์อักษรบันทึกไว้ว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่สันนิษฐานตามคำบอกเล่าและจากลักษณะทางสถาปัตยกรรมว่า เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา อายุร่วม 300 ปี แม้แต่ชื่อวัดก็ไม่ทราบชื่อเดิม หากแต่เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกต่อ ๆ กันมา โดยมีการบูรณะในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์หลายครั้ง ครั้งหนึ่งเป็นการออกทุนทรัพย์ของ จีนสือ ขุนนางเชื้อสายจีนในกรมท่าซ้าย

ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ล้ำค่ามาก อยากให้ทุกคนได้ไปเห็นกับตามากครับ (วันนั้นมีการทำวัตรของพระสงฆ์จึงไม่สะดวกนักในการถ่ายด้านในมาให้ชมกัน) ถือเป็นภาพจิตรกรรมชิ้นใหญ่และสมบูรณ์มากทั้ง 4 ด้าน จนถูกยกย่องว่าเป็นงานจิตรกรรมชั้นบรมครู 1 ใน 6 แห่งที่มีในไทยเลยทีเดียว โดยที่เราได้เห็นในวันนี้เป็นชิ้นงานที่เสร็จสมบูรณ์จากการบูรณะใหม่แล้วจากฝีมือของช่างฝีมือเอกจากกรมศิลปากร ได้ร่วมกันใช้เทคนิคสมัยใหม่ในการลอกภาพจิตรกรรมบนฝาผนังทั้งผืนรอบอุโบสถออกมาทั้งหมด โดยไม่มีการวาดใหม่ทับลงไปแต่อย่างใด คล้าย ๆ กับการใช้ผ้าใบแปะลอกลายผ่านกรรมวิธีด้วยน้ำยาเคมีชนิดพิเศษเพื่อสกัดเอาชิ้นงานออกมาเป็นแผ่น ๆ แล้วค่อยนำกลับไปเรียงแปะและเก็บสีตรงรอยต่อเพื่อให้กลับกลมกลืนดังเดิม ภาพวาดบอกเล่าเรื่องราวตามคติไตรภูมิ พุทธประวัติ และทศชาติชาดกตามคติโบราณ พระพุทธรูปองค์ประธานภายในอุโบสถคือ หลวงพ่อบุษราคัม พระพุทธรูปปางมารวิชัย

วัดกำแพงเป็นวัดที่ยังคงรักษาสภาพดั้งเดิมของโบราณสถานได้เกือบทั้งหมด ภายนอกตกแต่งด้วยปูนปั้นลวดลายอ่อนช้อย เป็นลายดอกพุดตานแบบจีน พรรณไม้ลายไทยและลายตะวันตก ถือเป็นการผสมผสานวัฒนธรรมผ่านงานศิลปะของช่างในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี และไฮไลท์อีกอย่างของวัดกำแพงบางจากคือ วิหารเล็กด้านข้างของพระอุโบสถ ซึ่งถูกปิดตายไปกว่าร้อยปีโดยที่ไม่มีใครกล้าแตะต้องเลย แต่เมื่อไม่นานมานี้ได้ถูกสะเดาะกลอนออกเพื่อเผยความลับด้านในที่ถูกเก็บงำไว้มานาน ซึ่งภายในมีพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ตั้งเรียงรายอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งสภาพสมบูรณ์และสภาพที่โดนตัดเศียรบ้าง แต่สุดท้ายทางวัดก็ได้บูรณะวิหารและพระพุทธรูปทั้งหมดกลับคืนสู่สภาพดีดังเดิม อยากให้ลองไปเยี่ยมชมกันครับ

ชุมชนริมคลองบางหลวง
จริง ๆ แล้วชุมชนเล็ก ๆ ริมคลองบางหลวงแห่งนี้อาศัยอยู่กันสงบ ๆ ตามวิถีมาช้านาน เป็นชุมชนริมน้ำตั้งถิ่นฐานกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ช่วงหลังกลับมามีชื่อเป็นที่รู้จักก็จากการที่ “บ้านศิลปิน” บ้านไม้โบราณทรงมะนิลาของตระกูลรักสำรวจ ตระกูลช่างทองเก่าแก่ และที่นี่ยังเคยเป็นร้านทองมาก่อน ได้มีการปรับปรุงพื้นที่บ้านทั้งสองชั้นเป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ชุมชน สถานที่แสดงงานศิลปะในรูปแบบต่าง ๆ แหล่งพบปะของศิลปินที่รักงานศิลปะ และลานแสดงหุ่นละครเล็ก โดยปัจจุบันอยู่ในการดูแลของ คุณโก๊ะ ชุมพล อักพันธานนท์ เจ้าของบ้านศิลปิน คลองบางหลวง และเป็นทายาทรุ่นปัจจุบัน พลิกฟื้นกลับมามีชีวิตใหม่ เปิดเป็นที่รวมตัวของกลุ่มศิลปินที่รักงานศิลป์ จัดแสดงภาพวาด ภาพถ่าย เวิร์คช็อป ร้านกาแฟ และสถานที่จัดการแสดงหุ่นละครเล็กโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เลยครับ

การริเริ่มพลิกฟื้นความเป็นชุมชนให้กลับมาสดใสมีชีวิตชีวาอีกครั้งของบ้านศิลปิน สร้างผลประโยชน์ร่วมแก่บ้านเรือนโดยรอบ หลาย ๆ บ้านปรับตัวนำหน้าบ้านทำเป็นหน้าร้านต่าง ๆ กันไป ร้านค้า ร้านอาหารในชุมชนเก่าแก่บางร้านก็พลอยมีลูกค้าเพิ่มขึ้น ภายหลังจึงรวมใจกันเปิดบ้านของตนเป็นตลาดน้ำคลองบางหลวงที่สามารถเดินเที่ยวได้ทั้งสองฝั่งคลองเลยครับ

เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เหมาะกับวันหยุดสบาย ๆ ครึ่งวันครับ

ร้านป้าเล็ก คลองบางหลวง
เป็นร้านที่ผมแวะมาในวันนี้ครับ หาง่ายมากเพราะอยู่เชิงสะพานข้ามคลองบางหลวง เป็นร้านขายก๋วยจั๊บโบราณ ขายมา 60 ปีแล้ว นอกจากนี้ยังมีเมนูข้าวเหนียวมะม่วงที่ขายคู่กันมายาวนาน วันนั้นพี่สุขสันต์ เจริญวัฒนะโพธิ์แก้ว เจ้าของร้าน ทายาทรุ่นปัจจุบัน ทำอาหารให้เรานั่งทานกันในร้าน บรรยากาศริมคลอง ชิลและลมเย็นมาก

บรรยากาศบ้านไม้โบราณกับการตกแต่งแนววินเทจที่สวยคลาสสิก

ก๋วยจั๊บโบราณน้ำข้นครับ ชมวิวลำคลองตรงที่นั่งริมหน้าต่าง

เติมความหวานอีกนิดด้วยข้าวเหนียวมะม่วงขึ้นชื่อของที่นี่

รับประทานอาหารเสร็จแล้ว เราออกแล่นเรือกันต่อครับ

บ้านเรือนหลายหลังรีโนเวทใหม่กลายเป็นบ้านคอนกรีตที่แข็งแรงมากขึ้น บ้างก็ผุพังไปตามกาลเวลา

ริมน้ำบ้านทรงไทยโบราณ กับต้นลำพูที่โน้มตัวลงมาในคลอง เป็นภาพที่สวยงามจับใจเหมือนภาพวาดงานบนงานฝีมือต่าง ๆ ที่เราคุ้นเคยกันครับ

การสัญจรทางน้ำเปลี่ยนเป็นทางบก ภาพของรถไฟฟ้าข้ามคลองเหนือชายคาบ้านริมน้ำเป็นที่แปลกตาดีเหมือนกันครับ ภาพของการอยู่ร่วมกันของอดีตและปัจจุบัน

วัดปากน้ำภาษีเจริญ

ไม่น่าเชื่อว่าการเดินทางด้วยเรือจะพาเรามาถึงอีกฝั่งเมืองอย่างเขตภาษีเจริญในเวลาอันรวดเร็วแบบนี้ได้ และแน่นอนวัดที่อยู่ตรงหน้านี้เป็นวัดเก่าแก่ที่พุทธศาสนิกชนต่างก็เลื่อมใสและรู้จักกันเป็นอย่างดีครับ แม้ว่าเราจะเดินทางเข้าวัดมาทางด้านไหน หรือมองมาจากตึกสูง ๆ เชื่อได้ว่าสายตาทุกคู่จะต้องมองเห็นและสะดุดตากับพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางสมาธิองค์มหึมาความสูงถึง 69 เมตร หรือสูงเท่าตึก 30 ชั้นเบื้องหน้าเรานี้ ตะลึงไปชั่วครู่กันเลยทีเดียวครับ

สำหรับ พระพุทธธรรมกายเทพมงคล เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ที่ทางวัดปากน้ำภาษีเจริญสร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า รวมไปถึงเพื่อบูชาพระคุณ “หลวงพ่อสดวัดปากน้ำ” หรือพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) อดีตเจ้าอาวาส พระวิปัสสนาจารย์ผู้มีคุณูปการแก่วงการสงฆ์ไทยอย่างยิ่งยวด อีกทั้งยังสร้างถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ด้วยครับ

ความพิเศษของพระพุทธรรมกายเทพมงคลนี้ นอกจากจะเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯเท่าที่เคยมีมาแล้ว ยังสร้างด้วยเนื้อทองแดงบริสุทธิ์ 99.99% ภายในบรรจุดอกบัวสัตตบงกชทองคำแท้ น้ำหนัก 6 กิโลกรัม และมีหัวใจทองคำบรรจุอยู่ด้านซ้ายพระอุระ น้ำหนัก 6 กิโลกรัมเช่นเดียวกัน แนะนำว่าหากมีเวลา อยากให้เข้าไปสักการะสรีรสังขาร หลวงพ่อสด ที่บรรจุไว้ในหีบทองภายในหอสังเวชนีย์มงคลเทพนิรมิตและแวะไหว้พระมหาเจดีย์มหารัชมงคล หนึ่งในแลนด์มาร์คสำคัญของวัดปากน้ำฯแห่งนี้ด้วยครับ

ชื่มชมความวิจิตรภายในวัดที่เก็บได้ครบทุก ๆ รายละเอียด

พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางสมาธิองค์มหึมาความสูงถึง 69 เมตร หรือสูงเท่าตึก 30 ชั้น

ไหว้พระขอพรอันเป็นมงคลกับชีวิตแล้ว ก็ลงเรือไปกันต่อเลยครับ จุดหมายหน้า ผมภูมิใจนำเสนอมากสำหรับการเติมเต็มทริปให้ครบรสชาติเข้าไปอีก ตามผมมาครับ

ชมบ้านเรือน ที่ค่อย ๆ มีการพัฒนาเป็นเมืองมากขึ้น จากบ้านไม้ เป็นอาคารสูง

ผสมผสานวิถีชีวิตหลายศาสนา ไม่ว่าจะเป็น พุทธ คริสต์ หรือ อิสลาม

หากท่านใดที่ชอบเดินเที่ยวถ่ายรูปแบบผม กำลังขาเหลือ ๆ ก้าวขึ้นจากเรือที่ท่าน้ำตามผมมาลองเดินเที่ยวรูทแบบที่เหมาะสำหรับคนที่ชอบเดินเที่ยวศึกษาวิถีชุมชน หามุม unseen สำหรับถ่ายภาพ หรืออยากเดินเที่ยวต่อในรูทที่เงียบ ๆ สงบ ๆ สไตล์ “เดินขึ้นท่า ก้าวขาเที่ยวต่อ” ให้ลองได้ตามเที่ยวกันดูครับ เส้นทางนี้สามารถเดินเที่ยวเชื่อมต่อหากันได้หมดเลยนะครับ

จดเอาไว้ลิสต์เดินเที่ยวต่อในเพื่อสร้างทริปใหม่ ๆ ตามแบบฉบับของตัวเองตามสถานที่ต่อไปนี้ได้เลยครับ

วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร – ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช – มัสยิดต้นสน – วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร – มัสยิดบางหลวง – วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร – โบสถ์ซางตาครู้ส – ชุมชนกุฎีจีน

นั่งเรือ enjoy ยาว ๆ จากคลองบางหลวง มาถึงอีกที่หมายสำคัญกับภาพความน่ารักของชาวบ้านริมฝั่งแบบนี้

ผมขอยืดเส้นยืดสายเดินเที่ยวถ่ายรูปในแบบฉบับของผมอย่างที่เกริ่นไปแล้วกันดีกว่าครับ แนะนำให้บอกพี่คนขับเรือจอดที่ท่าวัดหงส์ฯ เริ่มต้นกันตรงนี้ perfect สุดครับ

วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร , ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร หรือที่ชาวบ้านเรียก วัดหงส์ ในความคิดผม สมัยก่อนค่อนข้างเป็นวัดนอกกระแส เนื่องจากหากเดินทางมาเที่ยวในละแวกนี้ ผู้คนมักเทความสนใจไปกับวัดใกล้ ๆ ถัดกันไปคือ วัดอรุณฯ วัดแลนด์มาร์กชื่อดังของประเทศไทยเรา วัดหงส์จึงเป็นวัดที่ซ่อนตัวอย่างสงบ เพิ่งจะมีชื่อกลับมาเข้าหูกันก็ตอนสถานีรถไฟฟ้า MRT อิสรภาพ สร้างเสร็จ ทำให้คนได้ยินชื่อวัดผ่านหูมากขึ้น และทาง MRT ก็ยังให้ความสำคัญด้วยการนำเอาสัญลักษณ์รูปหงส์ ไปเป็นโลโก้แทนตัวสถานีรถไฟฟ้าแห่งนี้ด้วยครับ

วัดหงส์ สร้างมาตั้งแต่สมัยเมืองบางกอกยังเป็นเมืองหน้าด่านของกรุงศรีอยุธยา ก่อนสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ จะทรงมาสร้างราชธานีแห่งใหม่ครับ เป็นวัดที่พระองค์ทรงมีความผูกพันและเลื่อมใสอย่างมาก เนื่องจากมีอาณาเขตที่ใกล้กับพระราชวังของพระองค์ จึงเป็นหนึ่งในวัดที่พระองค์ทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์อยู่เสมอมา ทั้งโปรดเกล้าฯให้บูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ รวมไปถึงพระองค์และบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ต่างเสด็จฯ มานั่งวิปัสสนากรรมฐานในพระอุโบสถตลอดรัชสมัยของพระองค์เสมอ

ภายในพระอุโบสถหลังใหญ่ประดิษฐาน “หลวงพ่อแสน” พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสมัยอู่ทอง และยังมีหลวงพ่อทองคำ หรือหลวงพ่อสุข ที่วิหารเล็กด้านหลัง ถือเป็นพระพุทธรูปที่มีความล้ำค่าทางประวัติศาสตร์มาก

ภายในมีภาพจิตรกรรมบนผนังโบสถ์ที่มีความวิจิตรมาก ลวดลายไทยจีนปนฝรั่ง ความพิเศษคือเป็นเทคนิคสีฝุ่นของช่างในสมัยรัชกาลที่ 3 บอกเล่าเรื่องราว ตำนานพระแก้วมรกต ด้านนอกพระอุโบสถ ประดับปูนปั้นลายพฤกษาและหงส์ สวยแปลกตาดีครับ

สำหรับใครที่สนใจมาเยี่ยมชมวัด นอกจากเดินชื่นชมความงามภายในพระอุโบสถด้านในแล้ว ผมแนะนำให้เดินไปไหว้ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชด้วยครับ ที่นี่หลายคนที่มากราบไหว้ขอพรพระเจ้าตากรู้จักกันดีครับ หลังจากนั้นควรเดินต่อ ไปชมสระน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ สถานที่ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เสด็จฯมาสรงน้ำแห่งนี้ก่อนหากมีการสำคัญอันใดที่เป็นพระราชพิธีสำคัญ รวมไปถึงเป็นสระน้ำที่สมเด็จพระสังฆราชองค์แรกเคยมาสรงน้ำ ประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์ด้วยครับ

มัสยิดต้นสน
เดินมาทางหลังวัดหงส์แค่ 50 เมตร ก็จะถึงมัสยิดต้นสนกันแล้วครับ มัสยิดต้นสน หรือ กุฎีใหญ่ หรือ กุฎีบางกอกใหญ่ เป็นมัสยิดนิกายซุนนีที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นตั้งแต่ปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา อาคารมัสยิดเดิมเป็นเรือนไม้สักยกพื้น หลังคามุงกระเบื้องดินเผา รูปทรงคล้ายศาลาการเปรียญอย่างศาสนสถานของพุทธ ในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เคยเสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีศาสนกิจฝังศพ เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ (หมุด) นายทหารคู่พระทัยด้วยครับ ภายหลังในสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวมุสลิมบางกอกใหญ่ได้ร่วมใจกันบูรณะมัสยิดหลังนี้ขึ้นใหม่เป็นแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก และปลูกต้นสนคู่ไว้หน้าประตูมัสยิด และเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น “มัสยิดต้นสน” นับแต่นั้นมาครับ

วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร
อย่าเพิ่งท้อนะครับ อากาศดี ๆ แบบนี้ ไปต่อกันที่วัดถ่ายรูปสวยอีกวัดเลยแล้วกันครับ ระยะแค่เดินจากมัสยิดต้นสนลอดใต้สะพานอนุทินสวัสดิ์ไปแค่ 50 เมตร ก็จะถึง วัดโมลี หรือ วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร วัดที่สำหรับผมแล้วก็เป็นวัดที่ค่อนข้าง unseen ซ่อนตัวในหมู่วัดดังน้อยใหญ่ในแถบนี้ทีเดียวครับ วัดโมลีโลกยารามฯ แน่นอนครับ เป็นวัดโบราณตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาคล้ายกับวัดทั่วไปในย่านนี้ครับ มีชื่อเรียกในสมัยก่อนว่า วัดท้ายตลาด เพราะตั้งอยู่ท้ายตลาดเมืองธนบุรี แต่เดิมในสมัยกรุงธนบุรีเนื่องจากเป็นวัดที่มีอาณาเขตอยู่ภายในเขตพระราชฐานพระบรมมหาราชวัง (วังเดิม) จึงไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา (วัดอรุณฯ และ วัดโมลี สองวัดนี้เคยเป็นวัดที่อยู่ในเขตวังมาก่อน) ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้ทรงนิมนต์พระสงฆ์มาจำพรรษา และบูรณปฏิสังขรณ์วัดขึ้นให้เป็นศรีคู่แผ่นดิน

วัดนี้มีความสำคัญน่าศึกษาอยู่หลายประการครับ อาทิ เป็นวัดที่พระเจ้าแผ่นดิน 4 รัชกาลเป็นอย่างน้อยทรงโปรดเกล้าฯบูรณะทั่วทั้งพระอาราม อีกทั้งยังเป็นสถานที่ศึกษาการอ่านเขียนเบื้องต้นของพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และในกาลต่อมาพระราชโอรสเหล่านั้นได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินถึง 3 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงปัจจุบันนี้ วัดแห่งนี้ก็ยังคงเป็นสำนักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีที่มีผู้สอบได้เปรียญธรรมมากเป็นระดับต้น ๆ ของประเทศ ว่ากันง่าย ๆ คือเป็นวัดติวเตอร์บาลีของพระ,เณรนั่นเองครับ

ไฮไลต์ของที่นี่คือสิ่งนี้ครับ “อาคารโมลีปริยัตยากร” รูปทรงแปลกสะดุดตา ถ้าวันไหนมาวันที่แสงแดดดี ๆ รับรองว่าได้รูปสวย ๆ กลับไปแน่นอนครับ และอีกที่คือ วิหารฉางเกลือ ซึ่งอดีตสมเด็จพระเจ้าตากสินฯทรงใช้เป็นอาคารเก็บเกลือมาก่อน ในสมัยก่อน เกลือ เป็นทรัพย์ที่มีค่า มีความสำคัญในการถนอมอาหารยามเดินทัพออกศึก นับเป็นยุทธปัจจัยสำคัญในการรบมากเลยครับ ภายหลังจึงบูรณะเป็นวิหารฉางเกลือที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ให้เราได้มาเรียนรู้จนถึงทุกวันนี้ ห้ามพลาดครับ

มัสยิดบางหลวง
เราเดินข้ามสะพานอนุทินสวัสดิ์ มาฝั่งตรงข้ามครับ เป็นชุมชนมุสลิมเล็ก ๆ ด้านในมีมัสยิดสีสวยหลังย่อม ๆ อยู่ ที่นี่คือ “มัสยิดบางหลวง” มัสยิดทรงไทยแห่งเดียวในโลกครับ
มัสยิดบางหลวง หรือชาวบ้านเรียกว่า “กุฎีขาว” ด้วยเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมแบบเรียบง่าย อาคารปูนชั้นเดียวฉาบสีขาว-เขียว ซึ่งต่างจากมัสยิดหรือสุเหร่าโดยทั่วไปที่เรามักจะเห็นเป็นทรงโดมแบบอาหรับหรือเปอร์เซียครับ ภายนอกประดับประดาหน้าบัน ลวดลายปูนปั้นศิลปะจาก 3 สัญชาติ กรอบหน้าบันมีเครื่องลำยอง (ส่วนประกอบช่วงบนของปั้นลม – แผ่นไม้ที่วางทาบปิดโครงหลังคาจั่ว) ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ศิลปะแบบไทย ในกรอบหน้าบันประดับปูนปั้นรูปกิ่งไม้ ใบไม้สไตล์ยุโรป แทรกด้วยดอกเมาตาล ศิลปะแบบจีน ถือเป็น unseen อีกที่หนึ่งเพราะเราต้องเดินเท้าเข้าไป ไม่มีทางรถยนต์ผ่าน คนเข้ามาเยี่ยมชมไม่เยอะครับ

วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร
จากมัสยิดบางหลวง เราแค่เดินมุ่งหน้าไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา ก็จะทะลุประตูวัดกัลยาณมิตรแล้วครับ วัดนี้ถือเป็นวัดที่โดดเด่นเป็นสง่าเวลาเราโดยสารเรือข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยความที่พระอุโบสถมีขนาดใหญ่มากและกระเบื้องมุงหลังคามีสีสันที่สะดุดตาท้าแสงแดดทั้งเช้าและเย็น การได้มาถ่ายรูปที่นี่คือความสุขอย่างหนึ่งเลยครับ

วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ปากคลองบางกอกใหญ่ตามเส้นทางเที่ยวของเราเลยครับ เมื่อก่อนที่ดินตรงนี้เคยเป็นที่พำนักของนักบวชจีนอยู่ จนกระทั่งได้สร้างเป็นวัดเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวงแด่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ในพระอุโบสถประดิษฐาน หลวงพ่อโต ตามพระราชนิยมที่มักสร้างวัดนอกกำแพงเมืองที่มีพระองค์โตประดิษฐานอยู่ ตามอย่างกรุงศรีอยุธยา เช่นวัดพนัญเชิงเลยครับ

โบสถ์ซางตาครู้ส , ชุมชนกุฎีจีน
ถ้าใครติดตามผมมาก่อนหน้านี้ น่าจะพอเห็นคอนเทนต์ “กุฎีจีน” ที่ผมเคยมาเที่ยวละแวกนี้หนหนึ่งแล้ว ถ้าใครยังไม่เคยอ่าน สามารถย้อนกลับไปติดตามได้ที่นี่ครับ

https://www.facebook.com/pyongdoctor/posts/2687673771295913

สำหรับคราวนี้ ด้วยความที่รูทเดินเที่ยวนี้เชื่อมต่อกันแบบเดินหากันไม่ยาก จึงอยากแนะนำให้ลองมาเดินเที่ยวดูครับ เริ่มที่โบสถ์ซางตาครู้ส คริสตศาสนสถานนิกายโรมันคาทอลิกริมน้ำเจ้าพระยา และต่อด้วยการเดินเที่ยวชุมชนกุฎีจีน ชุมชน 3 ศาสนา 4 ความเชื่อ ที่มีทั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชน คาเฟ่เก๋ ๆ ร้านอาหาร และ ร้านขายขนมโบราณอย่างขนมฝรั่งกุฎีจีน เจ้าต้นตำรับ ซื้อเป็นของฝากกลับบ้านก็ดีทีเดียวครับ


เก็บครบกับเส้นทางเดินเที่ยวแนะนำของผมแล้ว ลองเอาไปปรับให้เหมาะกับความชอบของแต่ละคนดูครับ พลังขายังไหวครับ ตอนนี้ได้เวลาลงเรือไปกันต่อแล้ว

หลายคนที่ไม่เคยโดยสารเรือแบบผมอาจจะยังไม่ทราบว่าการนั่งเรือจากในลำคลอง เราจะจู่ ๆ ออกไปเลยทันทีไม่ได้นะครับ เพราะระดับน้ำของแม่น้ำใหญ่ กับ น้ำในลำคลอง ไม่เท่ากัน ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะสูงกว่าในคลองมากในช่วงน้ำขึ้น และในช่วงน้ำทะเลหนุน ค่าระดับความเค็มของน้ำจะเกินค่ามาตรฐาน ส่งผลต่อการเพาะปลูก อีกทั้งพื้นที่ด้านในคลองเป็นพื้นที่ต่ำ น้ำอาจท่วมได้ ดังนั้นจึงต้องมีการปิดประตูน้ำ ฉะนั้น เราจะเห็น ประตูน้ำ ตั้งอยู่บริเวณปากคลองเสมอ และมีพี่ ๆ พนักงานคอยอยู่ดูแลการเปิดปิด ขึ้นลง ของประตูน้ำ

และตอนนี้ผมกำลังนั่งรอปรับระดับน้ำเพื่อเปิดประสบการณ์ครั้งใหม่ในการออกเที่ยวแบบสุดพิเศษกลางแม่น้ำเจ้าพระยาครับ

ประตูน้ำค่อยๆ เปิดออก ให้เราได้เห็นแม่น้ำเจ้าพระยาด้านหน้า อาจไม่ใช่ภาพที่ดูแปลกตาอะไรของคนแถวนี้ แต่สำหรับผม มันว้าวมาก ๆ นึกถึงฉากในหนังครับ

ปากคลองบางกอกใหญ่ , พระราชวังธนบุรี (วังเดิม) , พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ทราบไหมครับว่า บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ อยู่ตรงจุดไหน ? ทางออกของลำคลองสู่แม่น้ำเจ้าพระยาผืนใหญ่ ณ บริเวณแห่งนี้มีความสำคัญและเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ทั้งสิ้นครับ ถ้าใครเคยมาเที่ยววัดกัลยาณมิตรบ้างแล้ว จะพอนึกภาพออกว่า มีลำคลองเล็ก ๆ ข้างวัดอยู่ ตรงจุดนี้แหละครับ คือปากคลองบางกอกใหญ่ที่ผมกำลังพูดถึง

และที่ผมได้เกริ่นไปตอนต้นแล้วว่า ในสมัยแรกตั้งราชธานี สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ได้ทรงสร้างพระราชวังไว้เป็นที่ประทับ และเป็นพระราชวังแห่งแรกของกรุงธนบุรียังที่แห่งนี้ครับ สมัยก่อน บ้านเรือนฝั่งคลองบางหลวงมักจะมีบ้านเจ้าขุนมูลนาย ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาปลูกบ้านเรือนในแถบนี้เป็นจำนวนมาก พอใครบอกว่ามีบ้านอาศัยอยู่ “ฟากข้างโน้น” นั่นเป็นอันรู้กันครับว่า เป็นลูกหลานข้าราชการรับใช้สมเด็จฯแน่นอน สำหรับวังเดิมนี้ ภายนอกจะมองเข้าไปไม่เห็นเนื่องจากมีพื้นที่ของวัดโมลีฯและต้นไม้บดบังอยู่ แต่เราสามารถมองเห็นพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งอยู่อย่างสงบริมน้ำ ซึ่งเป็นบริเวณเดียวกับเขตพระราชวังธนบุรีได้อย่างชัดเจนครับ

เนื่องจากเป็นเขตพระราชฐานของพระราชวังธนบุรี ภายในจึงยังเป็นพื้นที่ปิด แต่ถ้าใครอยากลองเข้าไปเยี่ยมชม ต้องรอวันเปิดพระราชวังธนบุรี หรือวังเดิม ประจำปี รอบประชาชนเท่านั้น หรือติดต่อขอเยี่ยมชมเป็นกรณีพิเศษ ได้ทางเฟซบุ๊ก “มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานภายในพระราชวังเดิม” กันดูนะครับ

ป้อมวิไชยประสิทธิ์
ไม่ต้องเกริ่นให้ยาว เพราะหลายคนน่าจะคุ้นชื่อจากละครเรื่องดังเรื่องหนึ่งเมื่อ 3 ปีที่แล้ว หากเอ่ยว่า นี่คือ “ป้อมที่ฟอลคอน หรือ คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือ เจ้าพระยาวิชเยนทร์ เป็นผู้ทูลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชให้ทรงโปรดเกล้าฯสร้างป้อมแห่งนี้” อ๋อ กันแล้วใช่ไหมครับ ป้อมที่ว่านี้ อยู่เบื้องหน้าผมนี่เอง วันนี้ได้มาเห็นกับตาแล้วกับป้อมปราการดูแลความสงบเรียบร้อยยังหน้าด่านแม่น้ำแห่งนี้ อยู่ในพื้นที่เดียวกับพระราชวังธนบุรีครับ 

ถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นว่ามีการชักธงราชนาวีไทยขึ้นสู่ยอดเสาอยู่ด้วยครับ โดยธงราชนาวีไทยนี้ เป็นธงราชนาวีที่มีแต่โบราณ มีขนาดและลักษณะอย่างเดียวกับธงชาติไทย (ธงไตรรงค์) แต่มีวงกลมสีแดงตรงกลางและมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องหันหน้าเข้าสู่ตัวเสาธงครับ

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
ถัดจากวังเดิม ข้าง ๆ กัน ในที่สุดก็ได้มาถึงจุดเริ่มต้นของ “ธนบุรี” อย่างแท้จริงที่ผมเล่าไว้ตอนต้นแล้วครับ คงไม่ต้องบรรยายอะไรมาก เพราะเป็นวัดที่ทุกคนรู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี

มองย้อนเข้าไปตรงปากคลอง หรือตรงที่เป็นป้อมวิไชยฯ และวัดอรุณฯ เรือลอยลำอยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสายใหญ่ของกรุงเทพฯ ให้เราได้ซึมซับบรรยากาศที่น้อยครั้งนักที่จะได้มา บวกกับในภาวะเช่นนี้ ความเร่งรีบหรือขวักไขว่ของเรือโดยสาร เรือนำเที่ยวหรือเรือสินค้าต่าง ๆ กลับหายเงียบไปเลย กลายเป็นภาพที่ไม่ค่อยคุ้นตานัก

ชมภาพจากสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจากมุมมองบนเรือที่ลอยลำอยู่กลางแม่น้ำกันครับ

ท่าเตียน ท่าพระจันทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ท่าราชวรดิฐ เบื้องหลังคือ พระบรมมหาราชวัง

เรือพาเราเลี้ยวซ้ายเข้าหัวมุมจุดตัดกับคลองบางกอกน้อยแล้วครับ พื้นที่ตรงนี้เป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ แต่ตรงนี้ไม่ได้เป็นแค่โรงพยาบาลเท่านั้นนะครับ เมื่อก่อนจะเป็นอะไร และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างไร มีอะไรซ่อนอยู่ ขออุบไว้ไปเปิดเผยในคอนเทนต์ที่น่าสนใจอีกคอนเทนต์หนึ่ง ที่ผมตั้งใจรอนำมาเสนอ ในเร็ว ๆ นี้ครับ

Chann Bangkok Noi & Arch x Chann cafe

แวะสถานที่สุดท้ายก่อนกลับครับ ณ โรงแรม และ คาเฟ่ Chann Bangkok Noi & Arch x Chann cafe ตั้งอยู่อย่างโดดเด่นตรงข้ามกับร.พ.ศิริราช ปากทางเข้าคลองบางกอกน้อย แทรกตัวอยู่ภายในชุมชนวัดดุสิตาราม ตกแต่งอย่างงดงามด้วยการใช้ไม้เป็นโครงสร้างอาคารทั้งหลัง ผสมผสานการตกแต่งแบบร่วมสมัย ห้อยไฟดวงเล็ก ๆ ในบรรยากาศริมน้ำ ดูน่ารักและโรแมนติกมากทีเดียวครับ

บรรยากาศภายในโรงแรม

อเมริกาโนเย็นอีกแก้ว สำหรับเย็นวันนี้

ฟ้ายามโพล้เพล้ จากมุมของ Chann ครับ และทางซ้ายมือคือร.พ.ศิริราชนั่นเอง

การที่ได้มีโอกาสนั่งเรือเที่ยว สัมผัสวิถีชีวิตริมคลองที่ทรงคุณค่าในเรื่องราวของประวัติศาสตร์ย่านธนบุรี ราชธานีเก่าของไทย นอกจากการซึมซับบรรยากาศของแม่น้ำลำคลอง บ้านเรือน วิถีชีวิต และรอยยิ้มของชาวบ้านระหว่างทางที่ผมนั่งเรือผ่านในแบบที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน ยังทำให้ได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงอดีตอันรุ่งเรืองของวิถี “คนกับคลอง” ชีวิตของชาวบ้านที่ผูกพันกับสายน้ำในทุกแง่งามของชีวิต ถึงแม้ว่ากาลเวลาที่ประเทศสยามพาตัวเองเปิดสู่สังคมโลก ขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความศิวิไลซ์ นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจในกรุงเทพฯเป็นอย่างมาก ส่งผลถึงการดำเนินชีวิต แต่นั่นก็คือการได้แลกกับการเกิดย่านการค้าใหม่ ชุมชนใหม่ มีการตัดถนนใหม่เพื่อแสดงถึงความเจริญที่ทัดเทียมนานาอารยประเทศ ก้าวเข้าสู่ยุคของ รถลาก รถม้า รถจักรยาน รถยนต์ รถเมล์ รถราง รถสามล้อ รถไฟ จนกระทั่งเป็นรถไฟฟ้าทั้งใต้ดินและลอยฟ้าในที่สุด ก้าวเข้าสู่วิถี “รถกับถนน” อย่างเต็มตัวแทนที่วิถีริมคลองแบบเดิม

บ้านเรือนที่ปลูกริมน้ำ เริ่มผุพังทรุดโทรมไปมาก หลายต่อหลายหลัง มีน้อยหลังที่จะรีโนเวทพลิกฟื้นขึ้นมาเป็นบ้านเรือนทรงสมัยใหม่ หรือบางที่ก็อาจเก็บรักษาเอาไว้ตามแต่เรี่ยวแรงจะพอมี แต่กระนั้น หลายหลังที่ตกทอดสู่ทายาทรุ่นใหม่ รอวันขายต่อเปลี่ยนมือหากไม่คิดจะเก็บไว้ก็มี สะท้อนถึงความไม่จีรัง ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ แต่สิ่งหนึ่งที่เรายังสามารถชื่นชมและเรียนรู้เอาไว้ได้คือความงดงามของอดีตที่เป็นรากฐานหยั่งลึกให้ปัจจุบันมีความแข็งแกร่ง ยืนหยัดอย่างภาคภูมิ อดีตและปัจจุบันเป็นแรงสะท้อนหากันเสมอครับ เชื่อว่าทุกคนเห็นภาพนั้น

ฝากทริปแบบนี้เป็นแนวทางในการท่องเที่ยวด้วยเรือ เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าและสนับสนุนรายได้แก่ชุมชนด้วยนะครับ

แล้วพบกันใหม่ในคอนเทนต์หน้า
เปียง

อ้างอิง
-หนังสือ 230 ปี ศรีรัตนโกสินทร์ มรดกความทรงจำกรุงเทพมหานคร
-รายการพินิจนคร Youtube Channel ThaiPBS
-ป้ายข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวโดยกรุงเทพมหานคร